Thursday, 4 July 2024
ไอดอล

‘ธนกร’ โพสต์ซึ้งถึง ‘บิ๊กตู่’ ผู้นำที่มอบโอกาสในการทำงาน ยกเป็น ‘โมเดลนายกรัฐมนตรี’ ที่มุ่งอุทิศชีวิตเพื่อประเทศชาติ

‘ธนกร’ โพสต์ขอบคุณ ‘บิ๊กตู่’ ผู้ให้โอกาส ชื่นชมเป็นผู้จงรักภักดีชาติ สถาบันฯ นักบริหารยอดเยี่ยม มุ่งอุทิศแรงกาย-ใจ ตลอด 9 ปี พัฒนาประเทศทุกมิติ นำพาก้าวข้ามความแตกแยก ยกเป็น ‘โมเดลของการเป็นนายกรัฐมนตรี’ ชี้!! “ตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานอยู่ตลอดไป”

(27 ส.ค. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุหัวข้อ ‘ลุงตู่’ ในดวงใจ พร้อมกล่าวถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า…

- กราบขอบพระคุณ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และยึดมั่นต่อประชาชน ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ยาวนานของไทย 9 ปี

- กราบขอบพระคุณ พลเอก ประยุทธ์ฯ นายกรัฐมนตรีที่พาสังคมไทย ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความแตกแยกทางความคิดทางการเมือง กลับมาเป็นไทยแลนด์ 4.0 ที่เดินหน้ามุ่งสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

- กราบขอบพระคุณ พลเอก ประยุทธ์ฯ นายกรัฐมนตรี สำหรับการจัดการวิกฤตโควิด-19 จนไทยได้รับเสียงชื่นชมทั่วโลกและถูกยกย่องให้เป็นประเทศที่ฟื้นตัวหลังโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับ 1 ของโลก

- กราบขอบพระคุณ พลเอกประยุทธ์ฯ นายกรัฐมนตรี ที่ยืนหยัดดูแลคนไทย สร้างความเท่าเทียมอย่างทั่วถึง วางรากฐาน สร้างโอกาสพัฒนาประเทศทั้งเศรษฐกิจ เกษตร อุตสาหกรรม  คมนาคม เทคโนโลยี สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งงานด้านต่างประเทศที่ประสบคำเสร็จ คืนความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 30 ปี

สำหรับผมแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ‘โมเดลของการเป็นนายกรัฐมนตรี’ เป็นนักบริหารที่ยอดเยี่ยม มุ่งมั่นทำงาน อุทิศแรงกาย-ใจ สติปัญญา ยึดหลักกฎหมาย-นิติธรรม ในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นผู้บังคับบัญชาดุจกัลยาณมิตร แนะนำการทำงาน ให้คำปรึกษา ในการทำงานของผม ทั้งโฆษกรัฐบาล และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งบทบาทผู้แทนประชาชนในฐานะ สส.ด้วย

เชื่อว่า ข้าราชการและนักการเมืองหลายท่านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพลเอก ประยุทธ์ฯ พร้อมจะทำหน้าที่ สานต่อนโยบาย แผนงานและโครงการต่างๆ ที่ท่านได้ริเริ่มไว้ เพราะวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ฯ ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงาม ทั้งในการบริหารราชการแผ่นดินและการทำงานการเมือง ให้หลายคนกลับมาเชื่อในความซื่อสัตย์ สุจริต ผลของความมุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศชาติและประโยชน์ของพี่น้องประชาชน สมคำกล่าวที่ว่า “ตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานอยู่ตลอดไป”

ในฐานะส่วนตัว พลเอก ประยุทธ์ เป็นคนที่ให้โอกาสผมในทุกๆเรื่อง สำหรับผมแล้ว ท่านเป็นผู้มีพระคุณท่านจะอยู่ในใจผมตลอดไป

ด้วยจิตคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของไทย

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ

‘เฟท’ อดีต Siamese Kittenz แชร์ประสบการณ์การออดิชั่นเป็นไอดอล ล้มกี่ครั้งไม่เคยท้อ สุดท้ายเอาความฝันมาทำธีสิส หวังเปิดโอกาสให้ผู้อื่น

(29 พ.ย.66) ‘เฟท’ ฐิตา เกษรสมบัติ อดีตสมาชิกวง Siamese Kittenz ได้ออกมาโพสต์คลิปผ่านช่อง TikTok ‘withyourfate’ แชร์ประสบการณ์ในการวิ่งตามความฝันกับอุปสรรคที่ต้องเผชิญ พร้อมเปิดตัว ‘FiNESSE Project’ ซึ่งเป็นโปรเจกต์วงไอดอลระยะสั้นสำหรับใครที่ยังไม่หยุดวิ่งตามความฝันในการเป็นไอดอลเหมือนตน ที่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็น Senior Project คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 โดยระบุว่า…

“สวัสดี…เมื่อ 8 ปีที่แล้วเราเคยเป็นไอดอลมาก่อน ถึงใครหลายคนจะไม่รู้จักแต่ก็ไม่เป็นไร…เราเริ่มเป็นไอดอลตอนอายุ 14 แต่ก็จบการศึกษาไปประมาณตอนอายุ 17 จากนั้นก็ได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เราก็ยังคงชอบการเป็นไอดอลอยู่มาก ๆ เพราะอย่างนั้นถึงอยู่ที่นั่นเราก็ยังเต้นอยู่ตลอด จนกลับไทยเราก็ได้ไปออดิชั่นเพื่อทําตามความฝันอีกครั้ง ทุกอย่างก็เหมือนกำลังจะไปได้ดี แต่สุดท้ายบางสิ่งก็ได้เข้ามาทําร้ายทุกอย่างลง นั่นก็คือโควิด…แต่ถึงอย่างงั้นเราก็ไม่ได้ยอมแพ้กับความฝันของตัวเอง เรายังคงร้องเพลง เต้น คอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด แค่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราก็ไม่รู้ว่าเราส่งออดิชั่นไปทั้งหมดกี่ครั้งแล้ว แต่จากทั้งหมดที่ส่งไป เราไม่เคยผ่านออดิชั่นเลย…

จนตอนนี้เราเรียนอยู่ปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราก็ยังไม่รู้เลยว่าเรียนจบแล้วจะทํายังไงดี…แถมยังมีธีสิสที่ต้องทําอีก และระหว่างที่เรากําลังกังวลเรื่องอายุที่ใกล้ถึงขีดจํากัดในการออดิชั่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราก็นึกขึ้นมาได้ว่า…ถ้าเราเอาความฝันของเรา มาทำเป็นธีสิสล่ะ และนี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘FiNESSE Project’ ซึ่งเรากําลังตามหาอดีตไอดอลที่เคยยอมแพ้กับความฝันไปเหมือนเรา และคนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นไอดอล เพื่อฟอร์มวงไอดอล T-POP ระยะสั้นด้วยคอนเซ็ปต์แบบ ‘FEMININE GROUP’ โดยรับสมัครตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป หรือเรียนม.ปลายขึ้นไป แบบไม่จํากัดเพศ ซึ่งจะเปิดรับสมัครวันนี้ถึง 20 ธันวาคมนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรายละเอียดดูได้ที่ Facebook หรือ IG ตามชื่อของโปรเจกต์

ทั้งความฝันที่วาดไว้และความฝันที่เคยยอมแพ้ไป มาทําให้เป็นจริงด้วยกันนะ…”

'อาจารย์อุ๋ย' จี้!! กสทช. กำชับสื่อหยุดสร้างอาชญากรเป็นไอดอล แนะ!! ควรนำเสนอสิ่งที่ผู้รับสาร 'ต้องรู้' ไม่ใช่แค่สิ่งที่ผู้รับสาร 'อยากรู้'

'อาจารย์อุ๋ย-ปชป.' จี้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำกับดูแลสื่อให้นำเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ จำกัดการให้พื้นที่สื่อแก่ผู้กระทำผิด เน้นนำเสนอแง่มุมของผู้เสียหายและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิด 

จากกรณีที่ศาลมุกดาหารมีคำพิพากษาสั่งจำคุก 20 ปี นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ใน 2 ข้อหา คือ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า...

ในฐานะที่ตนเคยเป็นอนุกรรมการ กสทช. ในชุดที่แล้วที่ดูแลด้านกฎหมาย ขอเรียกร้องไปยัง กสทช. ชุดปัจจุบันให้ใช้อำนาจกำกับดูแลสื่อตามมาตรา 27 แห่ง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 37 แห่ง พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปในแนวทางตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า “สื่อมวลชนพึงเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป โดยตระหนักถึงความสำคัญและอรรถประโยชน์ของข่าวต่อสาธารณะ และไม่เสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อหรือเร้าอารมณ์ให้คนสนใจในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” 

นอกจากนี้ สื่อควรลดพื้นที่การเสนอข่าวเกี่ยวกับตัวผู้กระทำผิด เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้กระทำความผิดกลายเป็นต้นแบบ (Idolization) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาชญากรรมเลียนแบบ (Copycat Crime) จากผู้ที่บริโภคสื่อ ซึ่งอยากมีชื่อเสียงโด่งดังหรืออยากเป็นจุดสนใจของสังคมเหมือนผู้กระทำผิด และยังเป็นการเบียดบังพื้นที่ในการนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์สังคมอื่นๆ หรือสื่ออาจเลือกที่จะนำเสนอข่าวในแง่มุมอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น ผลกระทบที่ผู้เสียหายได้รับจากการกระทำผิด กลไกการเยียวยา หรือวิธีป้องกันตนเองหรือคนใกล้ชิดไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมในทุกรูปแบบ คือ สื่อควรนำเสนอสิ่งที่ผู้รับสาร ‘ต้องรู้’ ไม่ใช่นำเสนอแต่สิ่งที่ผู้รับสาร ‘อยากรู้’

ซึ่งตนหวังว่าคดีนี้จะเป็นบทเรียนให้กับสังคมและสื่อมวลชนว่า ควรนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในสังคมตามมา ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่กับการทำให้ผู้ต้องหาคนหนึ่งที่สมควรได้รับมาตรการเชิงลงโทษจากสังคมกลับกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ได้ออกงานออกสื่อ กอบโกยประโยชน์ได้มากมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพจิตใจของครอบครัวผู้เสียหายหรือความรู้สึกของวิญญูชนในสังคมเลย และขอย้ำว่าการใช้อำนาจ กสทช. ในลักษณะนี้ ไม่ใช่การแทรกแซงเสรีภาพของสื่อ แต่เป็นการกำกับดูแลสื่อมวลชนให้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. โดยตรง 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top