Monday, 1 July 2024
โซลาร์เซลล์

Bloomberg เผย 'โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ' ที่เขื่อนสิรินธร ขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล 70 สนาม

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า... 

สำนักข่าว Bloomberg ตีข่าว “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก" ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว โดยมีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 70 สนาม มีแผงโซลาร์เซลล์ทั้งสิ้นถึง 145,000 แผง รวมกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งความพิเศษอีกอย่างคือเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดจ์ ผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ โดยโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงกลางวัน และพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงกลางคืนหรือช่วงที่มีแสงไม่เพียงพอ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง

‘ชาวโซเชียล’ เผย ทุ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ กว่า 3 แสนบาท เปิดแอร์จัดเต็ม บิลค่าไฟมาแค่ 71 บาท ปกติจ่าย 4-5 พันบาท

กลายเป็นที่ฮือฮาในสังคมโซเชียล หลังหนุ่มรายหนึ่งแชร์ประสบการณ์ การใช้พลังงานทดแทนอย่าง 'ระบบโซลาร์เซลล์' จัดเต็มเปิดแอร์กลางวัน 4 บิลค่าไฟมา 71 บาท เผย ก่อนหน้านี้เคยจ่าย 4-5 พันบาท

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘หัสธนนท์ หลักหลวง’ ได้ออกมาบอกเล่าประสบการณ์ ของการใช้โซลาร์เซลล์จนทำให้ตนเองสามารถประหยัดไฟได้อย่างมาก โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า

"ค่าไฟเดือนนี้พอได้ กลางวันเปิดแอร์ 12000 BTU 4 ตัว กลางคืน 3 ตัวจ่ายไฟบ้าน 3 หลัง ติดตั้งเอง ใช้งานเอง"

‘พระปัญญาวชิรโมลี’ สุดยินดี แนวคิด ‘โรงเรียนเสียดายแดด’ ถูกนักวิจัยมหิดลนำไปทำวิทยานิพนธ์ เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง

(9 มิ.ย. 66) พระปัญญาวชิรโมลี (นพพร ธีรปญฺโญ) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางพระสังฆาธิการ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่รู้จักในวงกว้างว่าเป็น ‘พระนักพัฒนา’ จากการที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม หรือ ‘โรงเรียนเสียดายแดด’ ได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาโซลาร์เซลล์มาต่อยอดเป็นพลังงานทดแทนไว้ใช้ในโรงเรียน และสร้างระบบ Smart Farm, รถเข็นนอนนา (สถานีไฟฟ้าเคลื่อน), บ้านกินแดด, รถไฟฟ้า Ev Car จากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น จนทำให้ลูกศิษย์บางคนตั้งฉายาให้ท่านทั้ง ‘พระเสียดายแดด’ และ ‘เจ้าคุณโซลาร์เซลล์’

ล่าสุด พระปัญญาวชิรโมลี ได้โพสต์บอกเล่าผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ ‘พระปัญญาวชิรโมลี นพพร’ ถึงนักวิจัยที่ได้นำเรื่องราวการทำงานของพระปัญญาวชิรโมลี ที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาพัฒนาคน พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศชาติ ไปจัดทำเป็นวิทยานิพนธ์ โดยระบุว่า…

“2 นักวิจัย มาทำวิทยานิพนธ์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับแนวคิดการทำงานของพระปัญญาวชิรโมลี ที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพัฒนาพัฒนาคน พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศชาติ จนเป็นที่รู้จักในนาม ‘โรงเรียนเสียดายแดด’ ที่นำโซลาร์เซลล์มาจัดการเรียนการสอน จนสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้นักเรียนและชุมชนสามารถรับงานติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ทั่วประเทศ และการทำเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ณ แปลงพระราชทานโคก หนอง นา พุทธอารยเกษตร

ทราบว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ถ้าเสร็จจะเป็นเล่มที่ 2 ของประเทศไทย เล่มแรกเป็นของเราเอง ทางเจ้าของจะพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่หลายคนอยากให้ทำเป็นภาษาไทย เผื่อรุ่นต่อไปจะได้อ้างอิงง่าย”
 

‘นครซีอัน’ เปิดให้บริการ ‘รถไฟสินค้าจีน-ยุโรป’ สายใหม่ ส่งโซลาร์เซลล์ล็อตแรก 50 ตู้คอนเทนเนอร์ สู่อุซเบกิสถาน

(4 ส.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ซีอัน รายงานว่า ‘รถไฟสินค้าจีน-ยุโรป’ ขบวนหนึ่งที่บรรทุกชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ และมุ่งหน้าสู่ประเทศอุซเบกิสถาน เปิดให้บริการในนครซีอัน มณฑลส่านซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา

รถไฟดังกล่าวบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 50 ตู้ ประกอบด้วยชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ขนาด 20 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุดแรกของโครงการโซลาร์เซลล์ขนาด 1 กิกะวัตต์ ในประเทศอุซเบกิสถาน โดยโครงการนี้เป็นโครงการพลังงานใหม่ขนาดใหญ่แห่งแรก ที่บริษัทสัญชาติจีนได้ดำเนินงานในแถบเอเชียกลาง นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลาง (China-Central Asia Summit) เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

มีการคาดการณ์ว่า รถไฟทั้งหมด 60 ขบวน ซึ่งบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 3,000 ตู้ จะมุ่งหน้าสู่ประเทศอุซเบกิสถาน ผ่านบริการรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป สำหรับโครงการดังกล่าว

‘สาธารณสุข’ เผย ‘โซลาร์’ บนหลังคา รพ. คืบหน้า ช่วยลดปล่อยคาร์บอน เซฟค่าไฟกว่า 300 ล้านต่อปี

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ระบุถึง ความคืบหน้าการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย Smart Energy and Climate Action 

ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่ง ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 35,420 tCO2-eq /ปี ประหยัดค่าไฟได้กว่า 322 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งจากโรคต่างๆ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น โดยผลการศึกษาในปี พ.ศ.2565 พบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วน 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ หรือ 33,766,720 tCO2-eq /ปี

โดยกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุดคือ การเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย และญาติ และการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลการจัดการพลังงาน ปี 2564 พบว่า มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าถึง 1,217 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4,730 ล้านบาท/ปี

สำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับต่างๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ต.ค.2566 มีหน่วยบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่งจากทั้งหมด 1,857 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 62,245.80 กิโลวัตต์

‘รทสช.’ เดินหน้าผลักดันนโยบาย Solar Rooftop เสรีในครัวเรือน หนุน ‘แก้ไขกฎ-ลดขั้นตอนติดตั้ง’ ช่วยปชช. เข้าถึงไฟฟ้าราคาถูก

(24 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยภายหลังประชุมพรรคว่า พรรคมีมติในการสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนของครัวเรือน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะมีปัญหา และอุปสรรคในการขออนุญาตติดตั้ง Solar rooftop บนหลังคาบ้านเรือน เนื่องจากต้องขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และขออนุญาตติดตั้งได้ยากมาก

ดังนั้น ทางสส.ของพรรค จึงมีมติให้นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้ยื่นกระทู้ถามสดในสภาฯ ในวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ ถามนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงความคืบหน้าในโครงการ Solar rooftop เสรีซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงในการเข้าถึงโครงการ Solar rooftop เสรี เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน และเสริมในสิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว คือการลดค่าไฟให้กับประชาชน 

โดยโครงการติดตั้ง Solar rooftop เสรีมีส่วนสำคัญในการลดค่าไฟให้กับประชาชน ถ้าประชาชนต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน สามารถทำได้โดยง่ายไม่ต้องติดกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยุ่งยากเหมือนในอดีต ถือเป็นการใช้พลังงานราคาถูก

นายอัครเดช กล่าวต่ออีกว่า เดิมทีการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านเรือน มีขั้นตอนยุ่งยาก เพราะต้องมีการเขียนแบบ มีการตรวจสอบ มีการติดตั้ง ซึ่งต้องเป็นไปตามนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จากนี้ไปจะง่ายขึ้น ส่วนเรื่องความปลอดภัย ยังเหมือนเดิม เพียงแต่จะลดขั้นตอนการอนุญาตติดตั้งในระดับครัวเรือนได้เร็วขึ้น

“รายละเอียดเรื่องนี้ ขอให้ประชาชนรอฟังการชี้แจงของน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ที่จะมาตอบกระทู้สดในสภาฯ ถือเป็นนโยบายสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตั้งใจทำงานให้กับประชาชน” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว

‘โซลาร์เซลล์’ ทนแดดไม่ไหว ไฟลุกพรึบ กลางหมู่บ้าน ชาวเน็ตวิเคราะห์ ‘ตัวชาร์จแบตเตอรี่ไม่ตัด-ความร้อนเกินมาตรฐาน’

(4 พ.ค.67) โซลาร์เซลล์ ทนแดดไม่ไหว ไฟลุกพรึบกลางหมู่บ้าน ชาวเน็ตหวั่นของไม่ได้มาตรฐาน

ผู้ใช้ TikTok ‘seephumeegarage’ โพสต์คลิปวิดีโอความยาวกว่า 30 วินาที ในคลิป เป็นภาพขณะที่ เสาโซลาร์เซลล์ที่ตั้งอยู่กลางแดด แต่แล้วมีควันลอยขึ้นมาจนเกิดไฟไหม้ และท้ายสุดโซลาร์เซลล์ ก็หักและหล่นลงพื้น

ผู้โพสต์คลิป ระบุข้อความว่า “ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับอากาศร้อนเปล่า อยู่ดี ๆ โซลาร์เซลล์ก็ไฟไหม้เอง”

หลังจากโพสต์ไปไม่นาน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถามจำนวนมาก ว่า เหตุใดโซลาร์เซลล์ ที่ควรจะต้องทนความร้อน ถึงสามารถไฟลุกได้ 

หรือจะมาจากส่วนอื่นที่ไม่ใช่ 'โซลาร์เซลล์' เช่นแบต หรือตัวเชื่อมแผงวงจรอื่นๆ กันแน่

อย่างไรก็ตาม คนก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เช่น

“แล้วที่ติดตั้งตามหลังคาบ้านล่ะ ไม่อยากจะคิดเลย”

“1 ร้อนเกิน 2 ชาร์จเกิน ไม่แน่ใจว่ามีBMSไหมน่ะครับ”

“ความคิดส่วนตัวผมว่าการรับแสงเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ยิ่งแดดแรงๆ วัสดุต้องรับความร้อนเป็นอย่างมาก วัสดุจึงทนความร้อนไม่ไหวจึงทำให้ติดไฟ มั่วเอาครับ”

“ไหม้อยู่แล้วเพราะแผงโซลาเซลล์ บนตัวรับแสงมีเนื้อกระจกบางๆ เพราะรับความร้อนเกินมาตรฐานที่กำหนด”

“แบตเตอรี่ไม่ตัดชาร์จตลอดเต็มก็ไม่ตัด”

“แบตลิเธียม ทนความร้อนไม่ไหว”

“แดดดีจัดชาร์ทเต็มอัตราจนแบตบอกไม่ไหวแล้วน้องพลีชีพเลย”

สหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีน 4 เท่าตัว เพิ่มจาก 25% เป็น 100% ขวางทางโต EV ขั้นสุด

(11 พ.ค.67) TechHangout รายงานว่า สหรัฐฯ กำลังจะประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายประเภท รวมถึงสินค้ารักษ์โลกต่าง ๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ เวชภัณฑ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในจีน จาก 25% เป็น 100%

ปัจจุบัน รถยนต์ที่ผลิตในจีนทั้งหมดต้องเสียภาษีนำเข้า 25% เมื่อนำเข้ามายังสหรัฐฯ นอกเหนือจากภาษีรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศอีก 2.5% ซึ่งรวมเป็น 27.5% ภาษีที่สูงนี้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้ารถยนต์จีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำกว่าเป็นเรื่องง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่มีราคาไม่แพง แม้จะมีภาษี 25% ราคาก็ยังคงแข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่า ไม่ว่าอย่างไร รถยนต์ไฟฟ้าจีนก็อาจเข้ามาทำตลาดในสหรัฐฯ อยู่ดี

ทางการสหรัฐฯ จึงมองว่าภาษี 25% ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจีน ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะขึ้นเป็น 100% ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนจะมีราคาขายเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อนำเข้ามาสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ นโยบายนี้ยังไม่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะมีการประกาศเกี่ยวกับภาษีใหม่ในวันอังคารนี้ (14 พ.ค.67)

ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ และยุโรป หลายรายเรียกร้องให้มีการขึ้นภาษี เนื่องจากการผลิต รถยนต์ไฟฟ้าจีน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2015 ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าของจีนอยู่ที่เพียง 0.84% ซึ่งใกล้เคียงกับส่วนแบ่งการตลาดของสหรัฐฯ ที่ 0.66% แต่ในปี 2023 แม้ส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นเพียง 7.6% แต่ส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนกลับพุ่งสูงไปถึง 37% แซงหน้าหลายประเทศในอุตสาหกรรมนี้

ปัจจุบันภายใต้ความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้การผลิตยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีรถล้นตลาดและพอที่จะทำให้มีรถเหลือเฟือสำหรับการส่งออก และผู้ผลิตรถจีนก็ได้เริ่มส่งออกไปยังยุโรปจำนวนมาก จนถึงขั้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาเรือขนส่งได้เพียงพอ

ฉะนั้นเพื่อไม่ให้โอกาสการขยายตัวของรถไฟฟ้าจีนเพิ่มไปกว่านี้ การขึ้นภาษีรถไฟฟ้าจีนที่จะเข้ามาในสหรัฐฯ จึงเป็นเกมกีดกันการค้าที่ดุเอาเรื่อง และนั่นก็จะส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีโอกาสได้สัมผัสรถยนต์ไฟฟ้าจีนราคาประหยัดและเทคโนโลยีล้ำสมัยน้อยลงด้วยไปโดยปริยาย

‘3 การไฟฟ้า’ ร่วมกับ ‘ก.ศึกษาธิการ’ ติดตั้ง ‘Solar Cell’ ในสถานศึกษา หวังลดค่าใช้จ่าย ‘ด้านพลังงาน’ ส่งเสริม ‘การใช้พลังงานทดแทน’

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค. 67) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมี นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง คณะผู้บริหาร 3 การไฟฟ้า และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพิธี ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือที่จะช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์และการจัดการพลังงานไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการ และปลูกฝังเยาวชนให้ช่วยลดการใช้พลังงานและรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการใช้พลังงานทดแทน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานในสถานศึกษา และหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ สอดคล้องกับการส่งเสริมของรัฐบาลในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยรูปแบบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และแบบผลิตใช้เองบนพื้นดิน (Solar Ground Mount) นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางการบริหารจัดการพลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน และนวัตกรรมเทคโนโลยีอื่น ๆ มาปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป

‘สนค.’ ชี้ช่อง!! โอกาสไทยรับกระแส ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ มุ่งขยายตลาดส่งออก ‘โซลาร์เซลล์’ เพื่อก้าวสู่ 1 ใน 3 ผู้นำโลก

สนค.ติดตามสถานการณ์โลก พบความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็เพิ่มขึ้น ชี้เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดส่งออก และก้าวไปเป็นผู้ส่งออกติด 1 ใน 3 ของประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดในโลก จากปัจจุบันอยู่ลำดับที่ 4 พร้อมแนะภาคธุรกิจ ครัวเรือน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนพลังงาน

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก มาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 116 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025  

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research ระบุว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 และมูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย  ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต ร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

โดยไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน 55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63 เนเธอร์แลนด์ 9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11 และมาเลเซีย 5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6 โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 75) เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 11) อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 5) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 4) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022

นายพูนพงษ์กล่าวว่า จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว โดยเห็นว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป   

ปัจจุบันไทยมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือโครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมายให้ภาคธุรกิจภาคสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top