Thursday, 4 July 2024
แร่ลิเทียม

สำรวจแหล่งแร่ลิเทียมในไทย ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 'ลบจุดอ่อน-เพิ่มศักยภาพ' ไทย สู่ผู้นำการผลิตรถ EV ในอาเซียนเต็มตัว

นับเป็นข่าวดี สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี ของไทย ที่นอกจากจะมีจุดแข็งในด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีคุณภาพสูง ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ และยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่โดดเด่นกว่าประเทศคู่แข่ง ล่าสุดก็ได้มีการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี ทำให้เพิ่มศักยภาพดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ได้มากขึ้น และจะมีการลงทุนโรงงานแบดเตอรี่อีวีต้นน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูงอย่างรอบด้าน

โดยไม่นานมานี้ นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี

โดยที่ผ่านมา ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัวและตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% อยู่ในเกรดระดับกลาง และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

สำหรับแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียมมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน เป็นรองเพียงประเทศโบลิเวีย และอาร์เจนตินา ซึ่งหากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน คาดว่าจะสามารถออกประทานบัตรผลิตแร่ได้ภายใน 2 ปี จึงเริ่มการทำเหมืองได้

ทั้งนี้ นอกจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว กพร. ยังได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไปแล้ว 6 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และฝั่งตะวันตกที่ จ.ราชบุรี คาดว่าจะพบแร่ลิเทียมได้อีกหลายแหล่ง แต่ทั้งนี้ ในแหล่งแร่บางแห่งอาจจะไม่สามารถผลิตได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงทางทหาร ซึ่งปัญหานี้อาจจะหาทางออกได้ในอนาคต ทำให้คาดว่าจะสำรวจพบแร่ลิเทียมอีกหลายแห่งในประเทศไทย

ส่วน ข้อกังวลในด้านการทำเหมืองแร่ลิเทียมนั้น เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในกระบวนการสกัดแร่ลิเทียม ก็ไม่มีสารเคมีอันตรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ในส่วนของ กพร. ก็จะเข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต จึงมั่นใจว่าเหมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมืองลิเทียมอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถ Reuse และ Recycle แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วและนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานซ้ำ (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วในอนาคตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย

ทั้งนี้ นโยบาย EV 3.5 ของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เข้ามาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีปริมาณสำรองลิเทียมเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มูลค่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ จะส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชนทั้งระบบ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งด้านการลงทุนและการจ้างงาน

รวมทั้งยังสร้างความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์อีวี อันดับ 1 ของอาเซียน ลบจุดอ่อนเดิมที่ไม่มีเหมืองแร่ต้นน้ำแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับข้อมูล บริษัท สยามโลหะ อุตสาหกรรม จำกัด ได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ 3 ใบ ได้แก่...

อาชญาบัตรพิเศษที่ 1/2562มีพื้นที่ 7,670 ไร่ (ประมาณ 12.27 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 2/2562 มีพื้นที่ 7,433 ไร่ (ประมาณ 12.64 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา

อาชญาบัตรพิเศษที่ 3/2562 มีพื้นที่ 7,417 ไร่ (ประมาณ 11.87 ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่ ต.ถ้ำ ต.กะไหล และ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ปรับตัวทันเทคโนโลยี แต่ต้องรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของไทยให้มากที่สุด เพื่อจะทำให้เด็กก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งที่ยังมีวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของประเทศ

วิเคราะห์!! ไทยค้นพบแร่ลิเทียม 14.8 ล้านตัน โอกาสทำไทยรวยทางลัดกว่า 14 ล้านล้านบาท

(19 ม.ค.67) เป็นที่ฮือฮาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เผยข่าวการค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศไทย 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา มากกว่า 14,800,000 ตัน อีกทั้งยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก

โดยปัจจุบัน ประเทศที่มีแร่ลิเทียมมากที่สุด 5 อันแรก ได้แก่...

- โบลิเวีย 21.0 ล้านตัน
- อาร์เจนตินา 19.0 ล้านตัน
- ชิลี 9.8 ล้านตัน
- สหรัฐฯ 9.1 ล้านตัน
- ออสเตรเลีย 7.3 ล้านตัน

นั่นหมายความว่า การค้นพบแร่ลิเทียมในไทยตามปริมาณที่กล่าวมานั้น จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกทันที

ยิ่งไปกว่านั้น หากประมาณการมูลค่าดูแล้ว น่าจะอยู่ที่ 14-15 ล้านล้านบาท หากคิดจากราคาแร่ลิเทียมในปัจจุบันที่ขายกันอยู่เฉลี่ยตันละ 30,000 ดอลลาร์ หรือ 1 ล้านบาท

ถ้าให้เปรียบว่ามากขนาดไหน ก็เทียบกับมูลค่าการแจกเงินผ่าน Digital Wallet ที่ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท แล้วการค้นพบของไทยหนนี้ สามารถเอามาแจกเงินดิจิทัลได้เกือบ 30 รอบได้เลยทีเดียว

สำหรับแร่ทั้งสองชนิดนี้ ถือเป็นแร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ซึ่งแน่นอนว่าการค้นพบครั้งนี้จะเสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาคได้อย่างมาก

ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค ภายใต้การคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี พ.ศ. 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2573

ฉะนั้น หากจะพูดว่าประเทศไทยเหมือนตกถังข้าวสารขนาดยักษ์ ก็คงไม่ผิด เพราะปัจจุบันนี้ 70% ของลิเทียมที่ผลิตทั่วโลก ได้ถูกใช้ไปกับแบตเตอรี่ EV หรือรถยนต์ไฟฟ้านั่นแล

เห็นภาพแบบนี้แล้ว เศรษฐกิจไทย คงพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงกันเลยทีเดียว...

‘อ.ลอย’ เตือนอย่าเพิ่งดีใจไทยมีลิเทียม 14.8 ล้านตัน ชี้!! ส่วนใหญ่คือ ‘หิน-สินแร่’ อาจเป็นลิเทียมแค่ 3 หมื่นตัน

เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ว่าค้นพบแหล่งแร่ลิเทียม-โซเดียมที่คาดการณ์ว่ามีปริมาณมากถึง 14.8 ล้านตัน จากแหล่งแร่คุณภาพดี 2 แห่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา

ล่าสุด (19 ม.ค. 67) อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง นักคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์คำนวณ และยูทูบเบอร์ ผู้ก่อตั้ง ‘Loy Academy’ ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า…

หยุดแหกตา โกหกประชาชน!! เรื่องแหล่งแร่ #ลิเทียม ที่พังงา แร่ Lepidolite ที่ตะกั่วทุ่งมี % Lithium Oxide ราว 0.35-0.45%

1. สินแร่ (หิน) Lepidolite 25 ล้านตัน ไม่ใช่ลิเทียมออกไซด์ 25 ล้านตัน ตามที่ตีข่าวใหญ่โต มีลิเทียมออกไซด์ ไม่เกิน 0.45% ของหินชนิดนี้ ที่แหล่งนี้

2. แหล่งเล็กมาก ต่อให้เอา 2 แหล่ง และต่อให้มีหินแร่รวมกัน 25 ล้านตัน ก็คาดว่าขุดหินแร่มาใช้ได้อย่างเก่งแค่ 10 ล้านตัน ถ้าแยกแร่ได้ดีเยี่ยม ก็เหลือลิเทียมออกไซด์ไม่เกิน 3 หมื่นตัน

3. ที่สำคัญสุดคือเกรดห่วย ต่อให้นำสินแร่ขึ้นมาได้ ยกสินแร่ให้ผมฟรี ๆ ผมก็ไม่เอาครับ เพราะเกรดต่ำมาก 0.45% ปรกติเกรดที่คุ้มค่าการลงทุนแต่งแร่ คือ 0.9% ค่าสกัดให้เป็นลิเทียมออกไซด์ ต่อตันอาจแพงกว่าราคานำเข้าเสียอีก ประมาณว่า แหล่งนี้ต้องใช้หินแร่ (สินแร่) ถึง 300 ตัน จึงจะสกัดลิเทียมออกไซด์ได้ 1 ตัน

อย่างไรก็ตามนั่นหมายความว่าประเทศไทยไม่ได้มีแร่ลิเทียม 14.8 ล้านตันอย่างที่เป็นข่าว แต่เป็นสินแร่ (หินที่มีแร่) จำนวน 14.8 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งหากสกัดออกมาเป็นลิเทียมออกไซด์เรียบร้อยแล้วจะมีเพียง 3 หมื่นตันเท่านั้น และประเทศไทยอาจไม่ได้เป็นอันดับที่ 3 เหมือนที่คาดการณ์ไว้

‘ก.พ.ร.’ แจง!! ข้อมูล ‘แร่ลิเทียม’ ในไทย เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ชี้!! ไทยไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก แต่มีความสมบูรณ์กว่าหลายๆ แห่ง

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 67 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ก.พ.ร.) ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่ กรมฯได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน และสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 จะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันนั้น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงว่า คำว่า ‘Mineral Resource’ มีความหมายถึง ‘ปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่’ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ‘Lithium Resource’ ซึ่งหมายถึง ‘ปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม’

ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า ประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ เป็น ‘แร่เลพิโดไลต์’ (lepidolite) ที่พบใน ‘หินเพกมาไทต์’ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียม หรือเกรดลิเทียมออกไซด์ เฉลี่ย 0.45% แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติม หากมีการสำรวจในอนาคต

ปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จ.ราชบุรี และ จ.ยะลา

โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ชี้แจงว่า ตัวเลข 14.8 ล้านตัน เป็นปริมาณของหินเพกมาไทต์ ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่เฉลี่ย 0.45% เมื่อถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาแล้ว จะได้ลิเทียมประมาณ 6-7 หมื่นตัน

เปรียบเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา โมเดล S หนึ่งคัน ใช้ลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62,600 ตัน

ปริมาณลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ เท่ากับ 6.66 หมื่นตัน ซึ่งหากนำมาเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเทียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า ไทยยังห่างไกลจากประเทศ Top 10 เป็นอย่างมาก โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ โบลิเวีย 21 ล้านตัน, อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน, ชิลี 11 ล้านตัน, ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน และ จีน 6.8 ล้านตัน

พบแร่ลิเทียมในสวนปาล์ม อ.ตะกั่วทุ่ง คนแห่คึกคัก!! ติดต่อขอซื้อ-เช่าที่ดิน

(24 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากมีการนำเสนอข่าวเรื่องการพบแหล่งแร่ลิเทียม ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และมีบางสื่อได้นำเสนอว่ามีปริมาณของแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากของชาวจังหวัดพังงาและประชาชนทั้งประเทศ 

ซึ่งล่าสุดทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลเรื่องผลการสำรวจแหล่งลิเทียมในประเทศไทย คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม 

ดังนั้นการนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้ สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolte) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegnatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.459 แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมากแต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า

ล่าสุดผู้สื่อข่าวพร้อมด้วยนายสุเทพ ทองวล ประธานสภา อบต.ถ้ำ ลงพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของนายสุชาติ ขันภักดี บ้านบางทราย ม.2 ต.ถ้ำ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งอยู่ในพื้นที่แหล่งแร่ลิเทียมบางอีตำ พบว่าเจ้าหน้าที่กำลังเร่งขุดเจาะเก็บตัวอย่างใต้ดินออกมาเป็นแท่งทรงกระบอก ส่งต่อให้ทางนักธรณีวิทยาวิเคราะห์หาปริมาณของแร่ลิเทียม เนื่องจากทางบริษัทได้รับอนุญาตให้เจาะสำรวจได้ถึงวันที่14 กุมภาพันธ์ 2567 นี้

นายสุชาติ ขันภักดี บอกว่า รู้สึกดีใจที่ในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของตนเองเจอแร่ลิเทียมในชั้นใต้ดิน ส่วนในประเด็นที่ว่าต่อไปจะมีการทำเหมืองหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งต้องว่าด้วยกฎหมายเป็นหลัก และหากจะมีการทำเหมืองในพื้นที่ของตัวเองก็ไม่ขัดข้องแต่จะต้องมีการชดเชยที่น่าพอใจ ส่วนในการทำเหมืองจะมีการฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องผลดี ผลเสียในทุก ๆ ด้าน ในขณะที่หลุมที่เจาะเสร็จแล้วและที่เจอตาน้ำบาดาลดี ตนก็เก็บไว้เตรียมไว้ใช้ในหน้าแล้ง

ด้านนางวารุณี สงวนนาม เจ้าของร้านเจ้น้อง อาหารพื้นเมืองพังงา กล่าวว่า ในฐานะคนตำบลกะไหลก็รู้สึกดีใจที่เจอแร่ลิเทียมในพื้นที่ตำบลกะไหล เรื่องแรกก็ทำให้บ้านกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่งเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ หลังจากมีกระแสสำรวจเจอแร่ลิเทียมในพื้นที่ ก็ทำให้ราคาที่ดินในตำบลกะไหลคึกคักขึ้น มีคนติดต่อจะขอซื้อและขอเช่ากันเป็นจำนวนมาก ในส่วนที่ว่าถ้าหากจะมีการทำเหมืองแร่ลิเทียมก็จะต้องรับฟังความคิดเห็นกันทุกฝ่ายทั้งในเรื่องของผลดี ผลเสีย โดยเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพราะจากที่ได้ยินมานั้นทุกคนต่างก็เป็นห่วงในเรื่องของมลภาวะสิ่งแวดล้อมหากมีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่

จีนขุดพบแหล่ง 'แร่ลิเทียม' เกือบ 1 ล้านตัน เชื่อ!! ช่วยรองรับตลาดรถ EV ที่กำลังเติบโต

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัว เผยรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมของจีน ระบุว่า จีนค้นพบแร่ลิเทียมเกือบหนึ่งล้านตัน ในย่าเจียง มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งถูกยืนยันแล้วว่าเป็นแหล่งแร่ลิเทียมชนิดเพ็กมาไทต์โมโนเมอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ลิเทียม เป็นโลหะอัลคาไล สีขาวเงิน มีเลขอะตอม 3 และขึ้นชื่อในเรื่องคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น เป็นโลหะที่เบาที่สุด มีศักยภาพทางไฟฟ้าเคมีสูงสุด และไวต่อน้ำ

ในฐานะ 'โลหะพลังงานสีเขียวแห่งศตวรรษที่ 21' แร่ลิเทียมมีความสำคัญอย่างมากต่อความพยายามในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน นอกจากนี้ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรีลิเทียมไอออน และแบตเตอรีโซลาร์

ทั้งนี้กระทรวงฯ จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการจัดสรรพื้นที่เหมืองแร่ลิเทียมอย่างต่อเนื่อง เพิ่มปริมาณแร่ลิเทียม และกระตุ้นการพัฒนาตลาดเหมืองแร่ลิเทียม เพื่อรองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วและความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจีนเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยสัดส่วนกว่า 60% ในปี 2022

โดยปกติแล้วแร่ลิเธียมมักพบในประเทศต่าง ๆ เช่น อาร์เจนตินา, โบลิเวีย, ชิลี, ออสเตรเลีย, จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่

‘รมว.ปุ้ย’ รับสื่อสารคลาดเคลื่อนกรณีแร่ลิเทียม แต่ยัน!! มีอยู่จริงในปริมาณหินที่มีการแทรกอยู่

(25 ม.ค. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดที่นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ สอบถามนายกรัฐมนตรีถึงกรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ แถลงระบุประเทศไทยพบแหล่งแร่ลิเทียม จ.พังงา ที่มีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก เพื่อใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แสดงให้เห็นสัญญาณดีประเทศไทยอาจเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก แต่นักวิชาการหลายคนมองว่า ไม่น่าจะมีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก อยากทราบว่า พบมาเป็นอันดับ 3 ของโลกจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงก็เป็นเฟกนิวส์ของรัฐบาล ไม่ได้หลอกคนไทย แต่หลอกไปทั่วโลก ศูนย์เฟกนิวส์ต้องตรวจสอบให้ดีว่า ข่าวรัฐบาลเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และการทำเหมืองแร่ลิเทียมจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ดังนั้นรัฐบาลมีแนวทางบริหารจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร

ด้านน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า ประเทศไทยมีการสำรวจแหล่งแร่ลิเทียม 2 แหล่ง ที่ จ.พังงา คือแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม เป็นแหล่งที่เข้าไปสำรวจแล้ว พบมีหินที่มีแร่ลิเทียมเป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะแหล่งเรืองเกียรติมีปริมาณหินที่มีลิเทียมแทรกอยู่ 14.8 ล้านตัน ความสับสนที่เกิดขึ้นเป็นศัพท์เทคนิคของเหมืองที่เข้าใจยาก 14.8 ล้านตันที่พบเป็นปริมาณหินที่มีแร่ลิเทียมแทรก ไม่ใช่จำนวนแร่ลิเทียม ให้กรมฯ ไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจแล้ว ยืนยันมีแหล่งแร่อยู่จริง 

แต่ด้วยความที่ทุกคนตื่นเต้น การสื่อสาร ความเข้าใจศัพท์เทคนิคอาจไม่เป็นทางเดียวกัน ยอมรับมีการสื่อสารผิดพลาดเกิดขึ้น จะพยายามใช้ศัพท์ให้ตรงกันมากขึ้น เลี่ยงใช้ศัพท์เทคนิค แต่เรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่า เรามีสารตั้งต้นผลิตแบตเตอรี่ ไม่ว่าจะอยู่ลำดับใด ไม่ควรด้อยค่ากัน ให้ภูมิใจประเทศไทยมีแหล่งแร่ลิเทียม เป็นฮับผลิตรถอีวี จะมีการบริหารจัดการที่ดีเรื่องแร่ลิเทียมให้สามารถอยู่คู่กับชุมชน ไม่ต้องกังวล 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top