Thursday, 4 July 2024
แบตเตอรี่EV

‘บีโอไอ’ เผย!! ‘จีน’ สนใจลงทุนผลิตเซลล์แบตฯ อีวีในไทย คาด!! ปลายปี 67 ตอบรับ 2 ราย เงินลงทุนกว่า 3 หมื่น ลบ.

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากการนำคณะเดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2567 ณ มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า ทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อ ‘มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน’ ที่บีโอไอเพิ่งออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อดึงให้ผู้ผลิตระดับโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

โดยมาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนหลายด้านที่สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร  

ผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 ราย มองว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาล
มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จะทำให้มีความต้องการใช้เซลล์แบตเตอรี่จำนวนมากในอนาคต จะเห็นได้จากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งรถยนต์ BEV, PHEV และ HEV อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งรถกระบะ ไปจนถึงรถบัส รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบ 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต ประกอบกับประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับการลงทุน บุคลากร และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย และบางรายจะผลิตต่อเนื่องไปถึงขั้นปลายคือ โมดูลและแพ็ค 

ภายในปีนี้ คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละรายจะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท 

สำหรับรายอื่น ๆ บางส่วนกำลังเจรจาธุรกิจกับผู้ร่วมทุนฝั่งไทย และบางรายอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากเดิมวางแผนลงทุนผลิตเฉพาะโมดูลและแพ็ค แต่เมื่อทราบว่าประเทศไทยออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการผลิตเซลล์ จึงให้ความสนใจและจะพิจารณาแผนการลงทุนใหม่ ซึ่งบีโอไอจะติดตามอย่างใกล้ชิด

“ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนจากบริษัทผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าให้เข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศ แต่การผลักดันให้ไทยเป็นฐานยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร แบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะเซลล์ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของแบตเตอรี่ และเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพและระยะทางวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้า จากการตอบรับอย่างดีของผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ครั้งนี้ เชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มซัพพลายเชนและทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีฐานที่มั่นคงในระยะยาว” นายนฤตม์กล่าว 

ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลก ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์จากจีนมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 60 โดย CATL มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 37 บริษัทเหล่านี้มิได้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนเท่านั้น แต่ล้วนมีเครือข่ายระดับโลก และผลิตป้อนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกด้วย เช่น CATL ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla, Ford, BMW, Mercedes-Benz, Volkswagen, Kia และเป็นพันธมิตรกับ Toyota 

ขณะที่ Gotion มี Volkswagen เข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต ส่วน EVE Energy ผลิตป้อนให้กับ BMW และ SVOLT มีลูกค้าเป็นแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ เช่น BMW และ Stellantis สำหรับ Sunwoda ก็ผลิตแบตเตอรี่ให้กับแบรนด์ชั้นนำจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Renault, Nissan, Volkswagen, Volvo

บริษัทเหล่านี้อยู่ในห้วงเวลาที่กำลังพิจารณาขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทั่วโลก รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตบางส่วนได้เริ่มลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในโซนยุโรป และสหรัฐอเมริกาแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ ภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งดึงการลงทุนและสร้างความร่วมมือกับบริษัทกลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด 

'อัครเดช' ห่วงไทยไร้มาตรฐานดับเพลิงไหม้จากแบตฯ รถ EV เตรียมตั้งคณะกรรมเร่งศึกษาเรื่องนี้ต่อรัฐบาลโดยเร็ว

เมื่อวานนี้ (20 พ.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงมาตรการในการป้องกันเหตุเพลิงไหม้จากยานยนต์ไฟฟ้าและโรงงานผลิตแบตเตอรี่ EV ว่า...

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ทำให้พบว่ามาตรการระงับเพลิงไหม้และการควบคุมผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ของประเทศไทยยังต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับรูปแบบของการประกอบอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ตั้งเป้าเป็นประเทศของศูนย์กลางในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 170,000 คัน สถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 2,500 แห่ง กระจายทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าในอาคารบ้านเรือน และตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจรวมถึงมาตรการอุปกรณ์ในการระงับเพลิงไหม้และควบคุมผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ในลิเทียมไออน ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้านั้น ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมาตรการการควบคุมอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการดำเนินการระงับเหตุเพลิงที่เกิดจากการลุกไหม้ของ ลิเทียมไอออน 

ด้วยเหตุนี้ กมธ.อุตสาหกรรมจึงได้ประสานงานและ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของไฟที่ลุกไหม้จากลิเทียมไอออนหรือแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งวิธีการระงับเหตุเพลิงไหม้และผลกระทบจากเพลิงไหม้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคู่มือและฝึกอบรมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงของเหตุเพลิงไหม้ และความปลอดภัยในด้านอื่นๆ พร้อมผลักดันให้มีการทดสอบสารเคมีที่สามารถช่วยในการระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ ทาง กมธ.อุตสาหกรรม ได้แนะให้หน่วยงานภาครัฐเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุเพลิงไหม้และการควบคุมเพลิงไหม้จากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ทำมาจากลิเธียมไอออน รวมถึงเพลิงไหม้โรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวและโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมเป็นอุปกรณ์ติดรถยนต์อีกด้วย โดยกรรมาธิการอุตสาหกรรมจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวนำเสนอรัฐบาลเป็นวาระเร่งด่วนต่อไป

‘CATL’ พัฒนาแบตเตอรี่ EV ขนาด 500 Wh/kg ‘น้ำหนักเบา-วิ่งไกลขึ้น’ เริ่มทดสอบในเครื่องบินแล้ว

(27 มิ.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ โพสต์ข้อความถึงกรณี ‘CATL’ กำลังซุ่มพัฒนาแบตเตอรี่ EV ที่มีความหนาแน่น 500 Wh/kg พร้อมเริ่มการทดสอบแล้วบนเครื่องบิน โดยระบุว่า…

Dr. Robin Zeng ผู้ก่อตั้ง และประธานของบริษัท Contemporary Amperex Technology (CATL) ผู้พัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเปิดเผยว่าบริษัทกำลังสนใจพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไปอีกขั้น โดยจะพัฒนาแบตเตอรี่ EV ที่มีความหนาแน่น 500 Wh/kg 

>> ความหนาแน่นแบตเตอรี่เยอะดีอย่างไร ?
ปัจจุบันยิ่งความหนาแน่นของพลังงานของแบตเตอรี่สูงขึ้นเท่าใด พลังงานก็จะยิ่งสามารถจัดเก็บต่อหน่วยปริมาตรหรือน้ำหนักได้มากเท่านั้น

นั่นหมายความว่า CATL จะสามารถทำแบตเตอรี่ที่ ‘เบา’ กว่าเดิม แต่สามารถวิ่งได้ ‘ระยะทาง’ ที่ไกลมากยิ่งขึ้น หรือ Shenxing Battery ที่จะสามารถวิ่งได้ไกล 1,000 กิโลเมตรอาจกำลังเป็นจริงเข้ามาเรื่อย ๆ 

อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่การพัฒนาแบตเตอรี่เท่านั้น แต่การพัฒนาเครื่องชาร์จแบตเตอรี่อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ CATL เหนือยิ่งกว่าบริษัทผลิตแบตเตอรี่อื่น ๆ ทั่วโลก

>> CATL ทดสอบแบตเตอรี่กับเครื่องบิน
ทั้งนี้แบตเตอรี่ความหนาแน่นสูงของ CATL กำลังถูกทดสอบบนเครื่องบินขนาด 4 ตัน โดยสามารถทำให้เครื่องบินบินขึ้นสูงได้อย่างน่าประหลาดใจ และในอนาคต CATL ตั้งเป้าหมายที่จะขยับการทดสอบไปสู่เครื่องบินขนาด 8.8 ตัน หรือเทียบเท่ากับ 1 ใน 5 ของน้ำหนักเครื่องบิน Boeing เฉลี่ย โดยตั้งเป้าเริ่มทดสอบภายในปี 2570

ในเร็ว ๆ นี้นักวิเคราะห์คาดว่าจะเห็นแบตเตอรี่ของ CATL ถูกใช้บนเครื่องบินขนาด 4 ที่นั่ง ซึ่งสามารถบินได้ไกลถึง 2,000-3,000 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันยังเรียกได้ว่าห่างไกลจากเครื่องบินเชิงพาณิชย์ยิ่งนัก

อย่างไรก็ตาม CATL กำลังผลิตแบตเตอรี่ Shenxing เริ่มผลิตช่วงสิ้นปีนี้และจะส่งมอบให้กับผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ในปี 2024 เตรียมใช้งานกับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ NETA, CHERY, BAIC, BJEV, JIDU และ VOYAH ซึ่งอาจเป็นแบตเตอรี่ที่กำลังทดสอบอยู่นี้ก็เป็นได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top