Thursday, 4 July 2024
แก้รัฐธรรมนูญ

"ปิยบุตร" โพสต์จับตา ส.ส. โหวตร่าง รธน.ฉบับปชช. เหน็บ ส.ว. ขอให้จิตสำนึกอยู่เหนือฝักฝ่าย พร้อมถามหาโอกาสใช้อำนาจที่แท้จริงของประชาชน

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า 

ความหวังถึงรัฐสภา : ขอให้จิตสำนึกอยู่เหนือฝักฝ่าย ทำเพื่อชาติและประชาชนจริง ๆ สักครั้ง

ส.ว. มักทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองตลอด เวลาจะมีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญ ๆ ที่ลดทอนอำนาจของตนเอง แต่กลับไปสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับวุฒิสภา เช่น ระบบเลือกตั้ง ส่วนอะไรก็ตามที่นำไปสู่การทำให้ตนเองเสียประโยชน์ หรือกระทั่งนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ส.ว. ก็ไม่เคยเอาด้วย

คำถามก็คือตกลงแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 จะอยู่ชั่วฟ้าดินสลายไปอย่างนั้นหรือ โดยที่เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้เลย? หรือเราจะได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเฉพาะเรื่องประเด็นเล็กน้อยเท่านั้น? นี่คืออุปสรรคใหญ่ จนนำมาซึ่งวิกฤติการเมืองที่เป็นอยู่ตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งเสียงเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เสียงเรียกร้องจากพี่น้องประชาชน

อุปสรรคการแก้รัฐธรรมนูญมีเยอะพอสมควร ขั้นแรกต้องมี ส.ว. เห็นด้วยจำนวน 1 ใน 3 แล้วต่อให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เราผ่านด่านนี้ไปได้ เมื่อไปถึงการลงมติวาระที่สาม ก็ยังต้องมี ส.ว. และเสียงของฝ่ายค้านด้วย สุดท้ายด้วยความที่เราแก้ไขหลายประเด็น ก็จะต้องประชามติอีก ยังไม่นับรวมว่าจะมีมือดีร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่ ๆ

การแก้รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ต้องผ่านผู้ออกใบอนุญาตไม่รู้กี่ด่าน ปัญหาก็คือแล้วประชาชนอยู่ตรงไหนของสมการแบบนี้? ประชาชนซึ่งถูกอ้างว่าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่เป็นเจ้าของอำนาจ แต่ถึงเวลาพอประชาชนจะใช้อำนาจจริงกลับถูกสกัดขัดขวางตลอดเวลา

ครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า “ระบบผู้แทน” จะสนองต่อความต้องการของประชาชนมากน้อยแค่ไหน? เปิดให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ ประชาชนก็ทำตามกระบวนการทั้งหมด แต่แล้วแต่ถึงเวลา ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีอำนาจที่จะขัดขวางได้ตลอด

‘ไอติม-ปิยบุตร’ ผิดหวังร่างรธน. ไม่ผ่านสภา ขอโทษประชาชน 1.3 แสนคน ดันภารกิจไม่สำเร็จ 

วันที่ 17 พ.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution ในฐานะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ….ฉบับภาคประชาชน ที่มีการเข้าชื่อจำนวน 135,247 คน ร่วมกันแถลงภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติไม่รับหลักการในร่างฯ

นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าผิดหวัง ตรงที่ข้อเสนอของเราไป ถูกนำไปปฏิบัติในสังคม ขอย้ำอีกครั้งว่า ข้อเสนอเราไม่ได้สุดโต่ง หรือพยายามให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบ เราไม่อยากให้ติดกับดักวาทกรรมสุดโต่ง ที่พูดกันในสภาฯ วานนี้ (16 พ.ย.) หรือมี ส.ว. บางคนทำให้เราเข้าใจผิดเช่นนั้น เพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น คือ 

ค. คืนศักดิ์ศรีให้กับสถาบันการเมือง ที่กำลังเสื่อมศรัทธา โดยให้เป็นสภาฯ เดี่ยว และที่มาของศาล องค์กรอิสระ ให้มีความเป็นกลาง สามารถเป็นที่พึ่งพาของประชาชน 

ว. ไว้ใจ สร้างระบบการเมืองที่ไว้ใจประชาชนให้กำหนดอนาคตตัวเอง มีอิสระเสรีภาพในการเลือกนโยบายพรรคการเมือง สามารถลงโทษพรรคการเมืองที่ไม่ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ มากกว่ามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มาครอบงำ 

และ ร. ระบบกติกาที่เป็นกลาง สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีเป็นธรรม รวมถึงทุกรัฐบาลต้องถูกตรวจสอบโดยศาล องค์กรอิสระที่เป็นกลางจริง ตนต้องขอโทษประชาชน 135,247 คน ที่มาร่วมเดินทางกับเรา รวมถึงที่ติดตามการอภิปราย คาดหวังจะให้ร่างฯ ของเราผ่าน

“ยอมรับว่า ภารกิจเรายังไม่ได้สำเร็จ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงต้องเดินหน้าต่อไป ถ้ายังมีรัฐธรรมนูญที่มีที่มา กระบวนการเนื้อหาไม่ชอบธรรม มันไม่สามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้ ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว ตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 มีการแก้ไขร่างฯ มา 3 ครั้ง ผ่านฉบับเดียว คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ นี่หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ว่า เป็นนโยบายเร่งด่วน พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคได้กล่าวไว้ว่าจะเป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาล หวังว่า คงไม่ใช่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญใด ๆ ก็ตาม ที่ไม่แตะ ส.ว. กลไกสืบทอดอำนาจ ก็ไม่สามารถแก้วิกฤตได้” นายพริษฐ์ กล่าว

'โภคิน' หนุนตัดอำนาจ ส.ว. เล็งเปิดโอกาสปชช.ร่วมแก้ รธน.

13 ม.ค. 65 - นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยถึงข้อเสนอคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 272 และบทเฉพาะกาล ที่ให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ย้อนกลับไปยังรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดกับการต่อสู้ทางรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 

นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และประธานรัฐสภา ต้องเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามาจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ควรให้ ส.ส. เลือก ในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคต่างๆ ได้ ต้องให้มีการลงมติ 2 ใน 3 ของรัฐสภา โดยการเข้าชื่อต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 272 (2) สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส. ก็ได้ ซึ่งสามารถเสนอชื่อคนนอกได้ 

'สมชัย' ปลื้ม คนแห่ลงชื่อแก้ 'ม.272' หั่นอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ

‘สมชัย’ ปลื้มล่าชื่อแก้รธน. ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ แค่ 3 วัน ทะลุ 5 หมื่นคนแล้ว ลุยต่อให้ครบ 7 หมื่น ยื่นสภาฯ 1 มี.ค. ให้บรรจุวาระทันสมัยประชุมแรก เดือนพ.ค.

21 ม.ค. 65 - นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะแกนนำคณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เพียง 3 วันเศษ นับแต่วันเปิดโครงการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565

‘วิษณุ’ เผย ‘บิ๊กตู่’ ไม่เคยถาม ปมบัตรเลือกตั้ง ย้ำชัด ไม่ควรกลับไปใช้บัตรใบเดียว เหตุต้องแก้รธน.อีกรอบ

‘วิษณุ’ เผย ‘บิ๊กตู่’ ไม่เคยถาม ปมบัตรเลือกตั้ง ชี้ หวนใช้บัตรใบเดียวไม่ควรเกิด แจง แก้กฎหมายลูกต้องให้ทัน 15 ส.ค. นี้ ลั่น หากไม่ทัน ถือเป็นความบกพร่องสภาฯ ต้องขุดร่างกกต.มาใช้ทุกมาตรา 

เมื่อเวลา 10.35 น.วันที่ 1ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงข้อถกเถียงเรื่องของการใช้บัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ กับสองใบ ในอนาคตจะสามารถกลับไปใช้หนึ่งใบ ได้หรือไม่ ว่า ไม่เคยได้ยิน แต่เห็นจากข่าวและไม่รู้ว่าจะกลับไปใช้บัตรใบเดียวได้อย่างไร เพราะเดิมมีการใช้บัตรใบเดียว ต่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ดังนั้นหากจะกลับไปใช้บัตรใบเดียวอีก ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และไม่รู้ว่าจะทำอย่างนั้นทำไม 

ผู้สื่อข่าวถามว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เคยพูดถึงเรื่องนี้หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เคยพูดถึง ไม่เคยมีการถามทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไม่เคยมีใครมาคุยกับตนเรื่องนี้เช่นกัน 

เมื่อถามว่าแสดงว่าแนวทางที่จะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวไม่ควรเกิดขึ้นใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า  ใช่ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้หาร 500 หรือ 100 นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เห็นเถียงกันนานหลายเดือนแล้ว ว่าจะใช้สูตรหารด้วย 500 หรือ 100 

เมื่อถามว่าหากดึงเวลาให้ผ่านวันที่ 15 ส.ค.นี้ จะต้องกลับไปใช้ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อถึงวันที่ 15 ส.ค. แล้วการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส ยังไม่เสร็จ ก็จะถือว่าทำเสร็จไม่ทันตามกรอบเวลา 180 วัน ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมที่กกต.เสนอมาทุกมาตรา 

‘ก้าวไกล’ โต้ ส.ว. อภิปรายบิดเบือน ยื้อ!! ประชามติแก้ รธน.ไปอีก 45 วัน

‘ณัฐพงษ์’ โต้ ส.ว. อภิปรายบิดเบือน ยื้อประชามติแก้ รธน.ไปอีก 45 วัน ยัน!! แจงเหตุผลชัดเจนแล้ว ถูกต้องตามข้อบังคับ ไม่มีเหตุต้องเตะถ่วงอีก

(21 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงคัดค้านกรณีเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) ที่ประชุมวุฒิสภามีมติมติส่งเรื่องคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ขอให้กรรมาธิการพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าว ได้ขยายเวลาการพิจารณาออกไป 45 วัน จากระยะเวลาเดิมที่ขอพิจารณา 30 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธ.ค. 

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่าที่ประชุม ส.ว.ได้มีการลุกขึ้นอภิปปราย โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ระบุข้อที่เป็นลักษณะบิดเบือนไม่เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับตน และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้เสนอญัตติ ว่าผู้เสนอญัตติยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนเองเสนอมานั้นถูกต้องหรือไม่ โดยระบุว่าเมื่อ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตนได้เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการชุดนี้ โดยแถลงข้อกังวล 3 ข้อของกรรมาธิการฯ ซึ่งเชื่อว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้จะเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่ทำให้ที่ประชุมวุฒิสภาที่ผ่านมา ควรลงมติในญัตติดังกล่าวได้แล้ว ไม่ใช่ขยายเวลาไปอีก 45 เพื่อเป็นการเตะถ่วงหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีเหตุผลใดต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ที่มาที่ไปขอญัตตินี้ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อน ว่าประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ การเสนอญัตติดังกล่าวจึงเป็นไปตามข้อบังคับ ไม่เกี่ยวข้องกับว่าเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นอย่างไร

“คณะกรรมาธิการฯ มีความหวาดระแวงว่า การที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตตินี้ เพื่อจะแก้ไขเนื้อหาหมวด 1 หรือหมวด 2 หรือไม่ ซึ่งผมได้ปฏิเสธอย่างแข็งขัน และยืนยันในเหตุผลดังที่กล่าวไปแล้ว ว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรอบการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะเป็นคนละกระบวนการกันกับการทำประชามติ” นายณัฐพงษ์ กล่าว

‘พี่เต้’ ชำแหละ ‘รธน.ฉบับคณะก้าวหน้า’ ก๊อปปี้ญี่ปุ่นร่างโดยมะกัน เน้นชงให้ ‘ลด-ยกเลิก-ตัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์’

เมื่อไม่นานนี้ ผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่ง ชื่อ ‘wakeupthailand’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอของ ‘นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์’ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่ออกมาพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้า โดยในคลิประบุว่า…

“ผมได้มาแล้วครับ ต้นฉบับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้า โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกลเป็นคนดําเนินการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คล้ายๆ ประเทศญี่ปุ่น คือเอารัฐธรรมนูญฉบับที่สหรัฐอเมริกาให้ประเทศญี่ปุ่นไปทํา มาให้เราใช้ เป็นการลอกแบบรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นมาให้รัฐบาลไทยทํานั่นเองครับ”

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ในมาตรา 6 คือ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้” อันนี้คือมาตรา 6 ของเก่านะครับ ส่วนในฉบับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดมาตรา 2 ก็คือเขาให้ยกเลิกนะครับ ยกเลิกหมวดพระมหากษัตริย์ทั้งหมดเลย ยกเลิกตั้งแต่มาตรา 6 ถึง 24 แล้วเขียนมาตราใหม่

ในมาตราเก่าคือ “พระมหากษัตริย์ทรงดํารงไว้เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ กล่าวหาฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดมิได้” จะขอแก้ไขเป็น “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยและทรงเป็นกลางทางการเมือง”

อันนี้คือลอกแบบรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมาเลย แต่รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นร่างโดยสหรัฐอเมริกานะครับ และอย่าลืมว่าญี่ปุ่นเขาตกเป็นเมืองขึ้นของอเมริกานะครับ มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ตอนนี้คือ “พระมหากษัตริย์ทรงดํารงตําแหน่งจอมทัพไทย” ในรัฐธรรมนูญของฉบับนายปิยบุตรนั้นไม่ได้เขียนไว้ อ่านดีๆ นะครับ ทุกท่านสามารถเข้าไปดาวน์โหลดเอกสารฉบับนี้ได้ที่เพจเฟซบุ๊กของคณะก้าวหน้า หรือสามารถไปดาวน์โหลดได้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของนายปิยบุตรนะครับ”

“ส่วนมาตรา 7 ในหมวดของการปฏิรูปพระมหากษัตริย์ ในส่วนของฉบับอาจารย์ปิยบุตร ฉบับคณะก้าวหน้า ฉบับก้าวไกล ทั้งหมดคืออันเดียวกัน ซึ่งเขาได้ระบุไว้ว่า “การกระทําของพระมหากษัตริย์ทั้งปวง ที่เกี่ยวกับกิจการของรัฐฯ ต้องได้รับคําแนะนําและความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีแล้วแต่กรณี” นั่นหมายความว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับของปิยบุตร คณะก้าวหน้านั้น บอกว่า “พระมหากษัตริย์ ต้องฟังคําสั่ง สส. ต้องฟังคําสั่งรัฐมนตรี ต้องฟังคําสั่งคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี”

นั่นหมายความว่า รัฐธรรมนูญของฉบับญี่ปุ่น ลอกแบบมาทั้งหมดเลยนะครับ ยกเลิกมาตรา 6 ถึงมาตรา 24 คือหมายความว่า ยกเลิกมาตรา 11 ถึงมาตรา 14 ไปเลย กล่าวคือในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะก้าวหน้านี้ จะไม่มีองคมนตรีแล้ว ยกเลิกองคมนตรีไปทั้งหมดเลยนะครับ และในวรรคสองของมาตรา 7 ของฉบับนายปิยบุตรนั้น คือ ‘ตัดพระราชอํานาจ’ ที่พระมหากษัตริย์ไทย เคยใช้ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือการใช้อํานาจผ่านนิติบัญญัติบริหารตุลาการ ตั้งแต่ 2475 จนถึง 2539 แต่พอ 2540, 2550 และ 2560 นั้น พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจผ่านนิติบัญญัติบริหารตุลาการ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนะครับ เพราะฉะนั้น ฉบับของนายปิยบุตรจะตัดอํานาจในส่วนนั้นทั้งหมดเลยนะครับ”

“ส่วนอีกอันนึง ซึ่งเราไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2475 คือก่อนเข้ารับหน้าที่ พระมหากษัตริย์ต้องปฏิญาณตนในสภาผู้แทนราษฎร คือต้องทําเหมือนกับองค์จักรพรรดิญี่ปุ่นนะครับ ซึ่งองค์จักรพรรดิญี่ปุ่นถูกสหรัฐอเมริกายึดอํานาจไปหมดแล้ว คนละแบบกันกับประเทศไทยนะครับ แต่คนกลุ่มนี้ ไปเรียนเมืองนอกมา พอไปเรียนเมืองเมืองนอก โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส นิสัยก็จะเหมือนกับพวกจอมพล ป.พิบูลสงคราม, พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาฤทธิอัคเนย์ หรือนายปรีดี พนมยงค์กันหมดเลย ก็เลยจะเอารัฐธรรมนูญฉบับญี่ปุ่นนี้มาเป็นต้นแบบเพื่อใช้ในประเทศไทยนะครับ”

“ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้น ไม่เหมือนกับพระมหากษัตริย์ของประเทศอื่นๆ ประเทศของเรายังไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใครเลย ถ้าเราไม่มีล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 แล้วเราจะเหลือแผ่นดินไหม ถ้าเราไม่มีรัชกาลที่ 5 เราคงปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ เป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วนะครับ เราคงไม่ได้มีประเทศไทยที่เข้มแข็งเหมือนในปัจจุบันนี้”

“พรรคการเมืองแบบพรรคก้าวไกล คือเขาเกิดมาเพื่ออะไร? เพื่ออเมริกาหรือเปล่า? เกิดมาเพื่อดําเนินการตามนโยบายของอเมริกาที่เคยทํากับญี่ปุ่นหรือไม่? การแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 จะกระทําได้ตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องผ่านการประชามติของประชาชน 65 ล้านคนก่อนนะครับ เพราะว่ามีหลายเรื่องที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหมดแบบไม่มีชิ้นดีเลยนะครับ”

‘เพื่อไทย’ เชิญชวนทุกฝ่ายสร้างประวัติศาสตร์การเมืองใหม่ เดินหน้าทำประชามติ ตั้ง ‘สสร.’ เร่งแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อปชช.

(14 ส.ค.66) นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้งเตรียมตัวไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อใช้แทนฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 60 ซึ่งมั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 และ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ครั้งแรก ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะมีมติ ครม.ให้ทำประชามติโดยกระบวนการจัดตั้ง สสร. พรรคเพื่อไทยจะไม่บิดพลิ้ว โอ้เอ้ ประวิงเวลาเพราะตระหนักดีว่า คนไทยที่รักประชาธิปไตยกำลังรอคอยอยู่ 

นางสาวตรีชฎา กล่าวต่อว่า สภาสมัยที่ผ่านมา แม้พรรคเพื่อไทย และพรรคต่าง ๆ จะพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปิดสวิตซ์ สว.แต่ก็ไม่สำเร็จ พยายามจะให้มี สสร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน เมื่อย้อนหลังกลับไปจะพบว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติให้ลงประชามติ เพื่อนำไปสู่การมีสสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แต่เมื่อไปถึงวุฒิสภา วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาก่อน เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อศึกษาเสร็จ วุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบให้ทำประชามติกระบวนการจึงถูกตัดตอนไปไม่ถึง ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำประชามติ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง หากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะจัดทำฉบับใหม่ คือ ครั้งแรกก่อนจะมี สสร.มาจัดทำ กับเมื่อ สสร.จัดทำเสร็จแล้ว ให้ลงประชามติอีกครั้ง หากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเห็นชอบ ถึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้

นางสาวตรีชฎา กล่าวอีกว่า ด่านสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ คือการประสาน และร่วมมือกับทุกพรรคทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับวุฒิสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้กำเนิด สสร. จะมีที่มาอย่างไร จะให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่ องค์ประกอบ คุณสมบัติ จำนวน อำนาจหน้าที่ ระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ อาจจะดูง่ายดาย แต่เอาเข้าจริงอาจไม่ง่ายดังที่คิด เพราะการเมือง และอำนาจระยะเปลี่ยนผ่านกรณีการโหวตนายกฯ และการฟอร์มรัฐบาลก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มีความยากลำบากอย่างยิ่ง อีกทั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เคยกำหนดไว้เป็นโนบายเร่งด่วนว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ผ่านไป 4 ปี ก็ไม่ขับเคลื่อนให้เป็นจริง ทั้งๆ ที่มีการเคลื่อนไหวกดดันของหลายฝ่ายก็ไม่เป็นผล ดังนั้น การจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยจะต้องพยายามเต็มที่ โดยจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมิให้มีกลไกอำนาจใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง

นางสาวตรีชฎา กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ที่ร่างโดย สสร.เป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการร่าง บทบัญญัติต่างๆ ก็เป็นที่ยอมรับ จัดเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง แต่ใช้ได้เพียง 8 ปี 11 เดือน ก็ถูกฉีกโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ต่อมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 หลังจากใช้มาได้ 6 ปี 9 เดือน ก็ถูก คสช. ฉีกทิ้งในการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 60 ถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปี 5 เดือน นับว่านานพอสมควรแล้ว ดังนั้น จะต้องเร่งให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า 

“พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำให้ผิดหวัง ขอยืนยันเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ตามแถลงการณ์ และการหาเสียงซึ่งกำหนดเป็นนโยบายพรรคไว้ชัดเจนที่ประกาศว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน การสืบทอดอำนาจจะต้องถูกปิดฉากลงเสียที ขอเชิญชวนทุกพรรค ทุกฝ่ายมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกัน” นางสาวตรีชฎา กล่าว

'นายกฯ' ยัน!! แก้รธน. 'ไม่ปรับแก้ 112-ไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์' ลั่น!! นักโทษการเมืองให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

(15 ก.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านเพจ THE STANDARD ตอนหนึ่งถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีมีการตั้งคณะทำงานเพื่อทำประชามติหรือไม่เป็นการซื้อเวลาหรือไม่ ว่า ไม่ใช่การซื้อเวลาแน่นอน เป็นการตั้งคณะทำงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เราทำประชามติแน่นอน ผ่านกลไกรัฐสภา ที่เป็นตัวแทนประชาชนอยู่แล้ว โดยไทม์ไลน์จะเป็นอย่างไรนั้น สสร.ต้องฟังประชามติก่อน ตอนนี้เริ่มแล้ว

“ยืนยันทำตามไทม์ไลน์ไม่ใช่การซื้อเวลา เราต้องการให้คนเห็นต่างร่วมพูดคุยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร โดยสิ่งที่ไม่แก้ คือ หมวดพระมหากษัตริย์ชัดเจน ส่วนเรื่องอื่นก็รอฟังประชามติ ส่วนเรื่อง 112 ยืนยันไม่มีการปรับแก้ ขณะที่นักโทษทางการเมืองก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม” นายเศรษฐา กล่าว

‘วิษณุ’ ชี้ช่อง แก้รัฐธรรมนูญ ลดขั้นตอนทำประชามติเหลือ 2 ครั้ง แนะ เลือกแก้มาตราเฉพาะหน้า-เว้นเรื่องยุ่งยาก ช่วยลดงบประมาณ

(24  ก.ย. 66) นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ตอบไม่ถูก ให้เขาคิดกันเองเอง เพราะว่ายุ่งยากซับซ้อน ข้อสำคัญจะใช้วิธีไหนก็ตามควรจะหลบหลีกการทำประชามติหลายครั้ง และเห็นด้วยกับแก้ไขเป็นรายมาตรา ทีละหลายๆมาตรา เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้แต่เพียงว่า ในกรณีที่เป็นการแก้ไขหมวด 1 ทั่วไป  หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 เรื่องการแก้ไขอำนาจและหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขององค์กรอิสระ โดยเรื่องเหล่านี้ เมื่อแก้ไขวาระ1 วาระ2 และ วาระ3 แล้วเสร็จ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องทำประชามติ

นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ไข ที่ควรทำคือ ถ้าต้องการแก้เกี่ยวกับองค์กรอิสระ และไปกระทบกับเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ตรงนี้ต้องทำประชามติ เพราะฉะนั้นเก็บไว้ทำคราวหลังได้หรือไม่ ตอนนี้ถ้าอยากแก้ไปก่อนคือหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาชนต้องการและ หมวด 4 หน้าที่ของรัฐ หมวด 5 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย หมวด 6แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา ซึ่งแก้ได้ตามใจชอบไม่ต้องทำประชามติ หมวด 8 ครม. หมวด 9 ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน หมวด10 เรื่องศาล หมวด 11 องค์กรอิสระ ซึ่งเรื่องเหล่านี้แก้ได้หมด แต่พอไปถึงองค์กรอิสระอำนาจหน้าที่ และคุณสมบัติต้องห้ามจะไปเจอเรื่องทำประชามติ อย่าเพิ่งไปทำ

เมื่อถามว่าการทำประชามติควรทำครั้งเดียวตอนแก้ไขเสร็จแล้ว ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ต้องทำประชามติเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ ถ้าแก้มาตรา256 ว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องทำประชามติ ก็ไม่ต้องทำประชามติ แต่การจะแก้หนแรกในเรื่องมาตรา 256 ต้องทำประชามติหนึ่งครั้งก่อน จะลบล้างเรื่องประชามติไปได้

เมื่อถามย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต้องทำประชามติ 3-4 ครั้ง หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวย้ำว่า ต้องแก้ไขมาตรา 256 เสียก่อน พอเสร็จวาระ 1-3 ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไปจะไม่ได้เจอเรื่องทำประชามติ แต่ถ้าแก้ตามแนวทางของรัฐบาลก็ต้องทำประชามติ  1.ต้องทำประชามติแก้ทั้งฉบับว่าเห็นด้วยหรือไม่ 2.ต้องตั้งส.ส.ร. และ 3. ถ้าตั้งส.ส.ร. ต้องไปทำประชามติทั้งประเทศอีก  ซึ่งการทำประชามติครั้งหนึ่งใช่งบประมาณ 3 พันล้านบาท ฉะนั้นก็แก้ที่มาตรา256  แต่การแก้มาตรา256 หากพูดกันไม่ดีเพราะอาจไม่ผ่าน เพราะต้องผ่านความเห็นของส.ว.หรือไม่ และเขาก็กลัวว่าจะไปแก้อะไรต่อมิอะไรกัน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยการทำประชามติควรทำ2 ครั้งก็ยังดี คือต้องเริ่มแก้ไข และตอนจบที่จะไปประกาศใช้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top