Sunday, 30 June 2024
เมืองอัจฉริยะ

บอร์ดอีอีซี คิกออฟสร้างรถไฟความเร็วสูง ต.ค.นี้ พร้อมเคาะแผนแม่บทเมืองอัจฉริยะ 1.3 ล้านล้าน

อีอีซี เคาะแผนแม่บทศูนย์ธุรกิจ - เมืองอัจฉริยะ วงเงิน 1.3 ล้านล้าน เพิ่มจุดแข็งโครงการอีอีซี พร้อมเตรียมคิกออฟก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูง – สนามบินอู่ตะเภา ต.ค.นี้ หลังสามารถส่งมอบที่ดินให้เอกชนได้ 100%  

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติร่างแผนแม่บทและแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหญ่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุนประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท โดยในขั้นตอนต่อไปหลังจากผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดแล้ว เตรียมให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ต่อไป 

สำหรับร่างแผนแม่บทโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ มีพื้นที่โครงการฯ ประมาณ 14,619 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลห้วยใหญ่ จังหวัดชลบุรี อยู่ในเขต สปก. ระยะเวลาพัฒนาโครงการ 10 ปี มีเงินลงทุนโครงการประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท โดยโครงการลงทุนประกอบด้วย ภาครัฐลงทุนเรื่องที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการส่วนกลาง โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนเพื่อให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเช่าที่ดินหรือร่วมลงทุนหรือลงทุนในกิจการด้านระบบสาธารณูปโภค หรือเอกชนเช่าพื้นที่ลงทุนด้านพื้นที่พาณิชย์  

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC คือสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ประมาณ 150-300 กิจการ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย สะดวกสบาย  มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายคมนาคมอัจฉริยะที่สะดวกรวดเร็ว เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเน้นความน่าอยู่ จะช่วยกระตุ้นการขยายตัว GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี สินทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 5 เท่า 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 4 โครงการ โดยในส่วนของ 2 โครงการสำคัญที่จะออกหนังสือส่งมอบที่ดินให้กับเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการ (NTP) เพื่อจะก่อสร้างในเดือน ต.ค.นี้ ได้แก่

 

'บิ๊กตู่' มอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2565 แก่ 15 ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ พร้อมมอบหมาย ดีป้า ผลักดันบัญชีบริการดิจิทัล ส่งเสริมการเข้าถึงระบบบริการที่มีคุณภาพแก่หน่วยงานภาครัฐ

เมื่อวันที่ (9 ม.ค. 66)ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2565 แก่ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) จำนวน 15 เมือง โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมในพิธีฯ โดยพร้อมเพรียง ณ อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล 

จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความยินดี และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในหมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตั้งแต่เริ่มต้น โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งผู้นำเมือง เจ้าหน้าที่ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อให้ความต้องการของทุกภาคส่วนได้รับการพิจารณาและถูกระบุอยู่ในเป้าหมายของการพัฒนาเมือง มองโอกาสจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงมุ่งจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากร ตั้งแต่การพัฒนาบุคลากร งบประมาณการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในทุกมิติ

“นอกจากนี้ รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่เท่าทันกับสถานการณ์ พร้อมสร้างมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกและเป็นแรงจูงใจ อาทิ การมอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของประเทศได้อย่างเท่าเทียม เกิดการลงทุนในภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมที่ดี และเพิ่มโอกาสในชีวิตให้กับประชาชน” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในทุกภูมิภาคทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จำนวน 15 เมืองใน 14 จังหวัด ครอบคลุมการให้บริการประชาชนกว่า 16 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดผ่านการพิจารณาการประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะจากที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มี พลเอก ประวิตร เป็นประธาน โดยมีการประเมินว่า 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทยจะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมูลค่ารวมกว่า 15,000 ล้านบาท 

‘บิ๊กป้อม’ นำทีมประชุม ขับเคลื่อน ‘เมืองอัจฉริยะ’ ทุ่มงบฯ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ กลับพัฒนาบ้านเกิด

(3 มี.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เพื่อเร่งขับเคลื่อนกลไกส่งเสริมการพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยี

โดยที่ประชุม เห็นชอบ กรอบคำของบประมาณปี 67 ตามหมุดหมายที่ 8 ให้ไทย มีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ ( Smart City ) ที่น่าอยู่ปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืนจำนวน 53 โครงการจาก 30 จว.และ 11 กลุ่ม จว. โดยให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สภาพัฒน์ฯ และสำนักงบประมาณ ร่วมพิจารณากลั่นกรองโครงการโดยมุ่งเป้าหมาย พร้อมทั้งเห็นชอบ โครงการทูตเยาวชนพัฒนาเมือง เพื่อส่งเสริมสายอาชีพใหม่ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในภูมิภาค โดยเป็นการสร้างโอกาสและความต่อเนื่องให้เกิดสายอาชีพ 'นักดิจิทัลพัฒนาเมือง' ในหน่วยงานตัวแทนเมือง 200 คน และ นศ.จบใหม่ 200 คน เพื่อกลับไปพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่เป็นบ้านเกิด

‘กระทรวงดิจิทัลฯ - ดีป้า’ จัดงาน SCA on Tour มุ่งกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำด้วยเทคโนโลยี

(4 มี.ค. 66) ที่จังหวัดปทุมธานี กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า พร้อมเครือข่ายพันธมิตรลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จัดกิจกรรม SCA on Tour ภาคกลาง ขยายความสำเร็จโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 มุ่งสร้างความตระหนักรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เข้มแข็งในระดับพื้นที่ ระหว่างนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ และผู้แทนจากหน่วยงานในโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ มุ่งเป้ากระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน
เปิดกิจกรรม SCA on Tour ภาคกลาง ที่จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี, ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต, ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า, ผู้บริหารและผู้แทนจากเครือข่ายพันธมิตรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ, ภาคเอกชน, ภาคประชาชน รวมถึงน้อง ๆ จากโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (Smart City Ambassadors: SCA Gen 2) และผู้แทนจากหน่วยงานในโครงการฯ (กัปตันเมือง) ร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียง

นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการขยายความสำเร็จโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า จึงจัดกิจกรรม SCA on Tour ภาคกลาง จังหวัดปทุมธานีขึ้น หลังประสบความสำเร็จอย่างมากจาก SCA on Tour ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 มกราคมที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความตระหนักรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเครือข่ายความร่วมมือผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เข้มแข็งในระดับพื้นที่ระหว่างนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 กัปตันเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง

“ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
ในระดับท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ที่กำหนดให้ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยการผลักดันการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดระบบบริการที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การบริหารจัดการเมืองที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง เท่าเทียม พร้อมรองรับนักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

เติมเต็มเมืองหลวง ‘พุทธิพงษ์’ ดันนโยบาย ‘กรุงเทพฯ เมืองอัจฉริยะ’ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สร้างเมืองให้ทันสมัย-น่าอยู่

(8 มี.ค. 66) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง กทม. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงนโยบาย ‘กรุงเทพฯ เมืองอัจฉริยะ’ ของพรรคภูมิใจไทย ว่า วันนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในเรื่องของการนำ Technology Digital มาใช้ผลักดัน และสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ เราเคยได้ยินคำว่า ‘Smart City’ เรื่องนี้ไม่ได้ยาก และเชื่ออย่างยิ่งว่าการเอา Technology Digital การใช้ข้อมูลที่ทันสมัย การนำเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาเติมเต็ม แวะมาเติมให้กับคนกรุงเทพฯ ได้สะดวกสบายมากขึ้น คิดว่า วันนี้เราพร้อมจริง ๆ

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า อยากให้ทุกคนลองมองในมิติหนึ่งซึ่งคิดว่าวันนี้ทั่วโลก กำลังผลักดันเรื่องนี้ให้ความสำคัญในการเอา Technology Digital มาใช้ผลักดันและสร้างเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ เราเคยได้ยินคำว่า ‘Smart City’ เมืองอัจฉริยะบ้าง, เมืองแห่งอนาคตบ้าง, เมืองแห่งความสุข, เมืองแห่งความทันสมัย เรื่องนี้ไม่ได้ยาก กรุงเทพมหานครต้องยอมรับว่า วันนี้กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยเท่านั้น แต่กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่คนทั่วโลกคลั่งไคล้ อยากจะมาอยู่ อยากจะมาเที่ยว อยากที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ จนพูดได้ว่า จริง ๆ แล้วกรุงเทพฯ ไม่ต้องแข่งกับใครเลย แค่เสน่ห์ของกรุงเทพฯ ที่มีอยู่แล้ว ทั้งบุคคล สถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เรามีพร้อมทุกอย่าง สิ่งที่เราต้องติดปีกและเติมเข้าไปให้กับเมืองกรุงเทพฯ คือ ความทันสมัย นำเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดเวลา ช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยทำให้ทุก ๆ ท่าน มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นมาใช้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำให้ดีที่สุดคือ เรื่องเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ การใช้ที่เราเรียกว่าโครงสร้าง Network ต่าง ๆ เอามาผลักดันให้ทุกอย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น 

นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า อย่างเครือข่าย 5G เราใช้เวลาแค่ไม่ถึงปีสามารถผลักดันให้ 5G ได้รับการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งถ้าถามว่า ระบบ 5G ที่เกิดขึ้นมันจะดีอย่างไรกับประเทศไทยและมันจะดีอย่างไรกับคนกรุงเทพฯ 5G ไม่ใช่แค่สัญญาณโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ระบบ 5G จะไปดูแลในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่จะไปผลักดันในเรื่อง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ Robotic หรือหุ่นยนต์ เรามีการดาวน์โหลดฐานข้อมูลที่กว้าง เราดูหนังฟังเพลงระบบ 5G จะไปอยู่เบื้องหลังในการผลักดันสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ให้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ 

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองสัตหีบ กับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อการพัฒนาเมืองสัตหีบสู่ความเป็น 'เมืองอัจฉริยะ'

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.66 ที่ห้องประชุม อบจ.ชลบุรี สัตหีบ ร่วมใจ อำเภอสัตหีบ ได้จัดให้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระหว่างบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กับเทศบาลเมืองสัตหีบ โดยได้รับเกียรติจาก นายสุนทร มูเนาวาเราะ นายอำเภอสัตหีบ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่าง นายณรงค์ บุญบรรเจิดศรี นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ กับ นายปิยะ รัชตวรคุณ ผู้จัดการฝ่ายประจำรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและปฏิบัติการลูกค้าภาคตะวันออก ตัวแทนจาก บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (จำกัดมหาชน) โดยมีนายสุนทร มูเนาวาเราะ นายอำเภอสัตหีบ และนายพงศกร เหราบัตย์ ผู้จัดการส่วนประจำ รักษาการผู้จัดการฝ่ายขายปฏิบัติการลูกค้าภาคตะวันออกตอนล่างร่วมลงนามเป็นพยาน 

นายสุนทร มูเนาวาเราะ นายอำเภอสัตหีบ กล่าวว่า ความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงความเจริญเติบโตของเมืองในพื้นที่จังหวัด EEC เมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สภาพสังคมและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City จึงเป็นคำใหม่และเป็นคำที่เราพบเห็นได้ยินกันอย่างแพร่หลายในระยะเวลาไม่นานนี้ นั่นก็เพราะว่ารัฐบาลกำลังให้ความสำคัญและกำลังเดินหน้าพัฒนาเมืองต่าง ๆ ไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ สัตหีบเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี เป็นเมืองแห่งฐานทัพเรือ มีทะเลที่สะอาด สวยงาม มีประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง เหมาะแก่การเป็นที่พักอาศัย จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองให้มีความปลอดภัย มีการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระหว่างเทศบาลเมืองสัตหีบ กับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเมืองสู่ความเป็น Smart City

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลโครงการติดตั้งเทคโนโลยี 5G

(9 มิ.ย 2566) นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะผู้บริหารสดช. พร้อมด้วยนางสุรีพร พรโสภณวิชญ์ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผล โครงการติดตั้งเทคโนโลยี 5G สำหรับระบบบริหาร จัดการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 2 ที่ เทศบาลตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เทศบาลตำบลบ้านฉางดำเนินการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้วยระบบดิจิทัล ตามนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)

โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการนำศักยภาพทางเทคโนโลยีและการสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะด้วยระบบ 5G สำหรับปฏิบัติงานในการบริการประชาชน และบริการสาธารณะมาใช้งาน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านโครงข่ายการสื่อสารระหว่างหน่วยงานหรือองค์กร รวมทั้งปัญหาด้านระบบจัดเก็บข้อมูล อีกทั้งการจัดทำโครงการติดตั้งเทคโนโลยี 5G สำหรับระบบบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ เป็นการช่วยยกระดับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชน และการสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจในพื้นที่ท้องถิ่น

โดยมุ่งเน้นไปที่มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชน ผู้อาศัยในอำเภอบ้านฉาง นักท่องเที่ยว และเอกชนผู้ประกอบการธุรกิจ จะได้รับบริการและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G Smart city และหน่วยงานของรัฐจะพัฒนาเป็นองค์กรดิจิทัล สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ทั้งนี้ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้เดินทางไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Data Center ซึ่งเป็นห้องควบคุมระบบความปลอดภัยและกล้องวงจรปิดของตำบลบ้านฉางทั้งหมด เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุขัดข้องทางเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการลงพื้นที่ช่วยได้อย่างทันท่วงที ลดอุบัติเหตุและการก่ออาชญากรรมในพื้นที่ สร้างความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และเดินทางไปสำรวจเสาอัจฉริยะ ณ โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา ซึ่งเป็นจุดติดตั้งเสาอัจฉริยะอีกหนึ่งจุดของโครงการติดตั้งเทคโนโลยี 5G สำหรับระบบบริหารเมืองอัจฉริยะและเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโดยกล้องวงจรปิด CCTV พร้อมอุปกรณ์แจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน SOS และกระจายสัญญาณ Wireless Fidelity (Wi-Fi) ฟรีให้กับประชาชน

ด้าน นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้มาติดตามการจัดสรรทุนตามนโยบายของคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ ซึ่งจะควบคุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร การศึกษา และการคมนาคม เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในตำบลบ้านฉาง เรื่องของระบบนิเวศหรือมลพิษ จะมีเสาที่นำมาติดตั้งจำนวน 20 เสาและมีห้องควบคุมในการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากบ้านฉางจังหวัดระยองเป็นการนำร่องจังหวัดตัวอย่าง Smart city ให้กับเมืองอื่นๆ ที่อยากจะพัฒนาในส่วนนี้

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังกล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ จะทำให้ระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการส่วนกลางข้าราชการส่วนท้องถิ่น ก็สามารถที่จะนำข้อมูลนั้นnมาวิเคราะห์ประมูลข้อมูลสามารถทราบได้ว่าจำนวนครัวเรือนที่เกิดขึ้นการศึกษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน นักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวต่างๆรวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะฉะนั้นเทคโนโลยี 5Gจึงเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่จะมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และช่วยให้ผู้บริหารนำมาวางแผนนำมากำหนดโครงการนำมาติดตามประเมินผลเพื่อที่จะใช้แก้ไขงานที่ดำเนินไปแล้วให้ปรับปรุงได้ดียิ่งขึ้น

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่าผลตอบรับจากประชาชนที่อยู่ในตำบลบ้านฉางต่างรู้สึกพึงพอใจกับโครงการนี้ เนื่องจากทำให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นด้วยระบบ Wireless Fidelity (Wi-Fi) ฟรี และระบบการรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมพื้นที่จากกล้อง CCTV ของเสาอัจฉริยะ

‘ดีอีเอส’ – ‘ดีป้า’ แถลงผลสำเร็จโครงการ The Smart City Ambassadors รุ่นที่ 2 สร้าง 'นักดิจิทัลพัฒนาเมือง' เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

(วันนี้) 14 มิ.ย. 66 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดีป้า โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ร่วมประกาศผลสำเร็จจากโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ

และเตรียมความพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่สู่การเป็น 'นักดิจิทัลพัฒนาเมือง' ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบบริการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม เผยช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแผน Smart City มากกว่า 120 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยประเมินว่าจะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนตามแผนฯ ได้กว่า 66,000 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่นักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ กัปตันเมืองท้องถิ่น และผู้นำเมืองร่วมขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ผลสำเร็จจาก "โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2" (The Smart City Ambassadors 2 (SCA#2)) โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า คณะผู้บริหาร ผู้นำเมือง และหน่วยงานพันธมิตรร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมให้คนในพื้นที่สามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตอบโจทย์การดำเนินชีวิต พร้อมยกระดับบริการจากหน่วยงานท้องถิ่นผ่านโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม

"โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ กัปตันเมือง และผู้นำเมืองได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเองด้วยความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับ อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้น เพื่อกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกระดับ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ 446 คน จาก 170 หน่วยงาน 57 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็น 'นักดิจิทัลพัฒนาเมือง' ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบบริการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม

"โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดแผน Smart City ใหม่ 126 พื้นที่ โดยได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นกว่า 50 พื้นที่ ประเมินมูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามแผนฯ กว่า 66,000 ล้านบาท พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงการนำร่องต่อยอดระบบบริการเมืองอัจฉริยะและเป็นนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่มากกว่า 10 พื้นที่ สามารถส่งต่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเมืองแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานที่ร่วมโครงการฯ จำนวน 5,813 คน อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่ประชาชนในพื้นที่กว่า 10,000 คน ซึ่งถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

‘ดีป้า’ เผย ดัชนีชี้วัดความสามารถ ในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะ ชี้!! ‘วังจันทร์วัลเลย์-ภูเก็ต’ ครองแชมป์ จาก 5 องค์ประกอบ

(22 มิ.ย.67) ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) แถลงรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2566 (Thailand Smart City Competitiveness Index (TSCCI) 2023) จาก 30 เมือง 23 จังหวัด 

โดยพิจารณาจาก 5 องค์ประกอบของแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และลักษณะของเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและดิจิทัล การพัฒนาระบบข้อมูลและความปลอดภัย การบริการระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน และการระบุแนวทางการลงทุนและการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ (City-based) และการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะตามจังหวัด (Province-based)

สำหรับเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ (City-based) ที่ได้รับคะแนนชี้วัดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 3 อันดับแรกของปี 2566 ประกอบด้วย เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง 83.55% สามย่านสมาร์ทซิตี้ กรุงเทพมหานคร 79.02% และคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร 74.55% 

ขณะที่เมืองอัจฉริยะตามจังหวัด (Province-based) ที่ได้รับคะแนนชี้วัดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ จังหวัดภูเก็ต 83.60% จังหวัดฉะเชิงเทรา 76.78% และ จังหวัดขอนแก่น 53.81% 

โดยสามารถดูรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2566 (TSCCI 2023) ได้ที่ https://short.depa.or.th/mpITe และผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะประเทศไทยได้ที่ http://www.smartcitythailand.or.th


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top