Saturday, 29 June 2024
อุตสาหกรรมฮาลาล

‘รัฐบาล’ เตรียมผลักดัน ‘กรมอุตสาหกรรมฮาลาล’ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว-ส่งออกไปตลาดที่มีศักยภาพ

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล ว่า อุตสาหกรรมฮาลาลมีมากกว่าเรื่องอาหาร​ แต่รวมถึงการผลิตหรือการบริการอื่น ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ได้แก่ เครื่องสำอางค์ เครื่องใช้ประจำวัน เครื่องนุ่งห่ม สาธารณูปโภค การผลักดันให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือ ฮาลาลฮับ (Halal Hub) และเป็นครัวโลกนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น​ ฮาลาลเป็นยิ่งกว่าอาหาร​ ฮาลาลคือความศรัทธาและวิถีชีวิต เราจะไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องอาหาร

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ในก้าวแรกนี้​ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการผลักดันกรมก่อตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากลอย่างเต็มที่ ​

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.5 ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 เพียงครึ่งปีแรก (ม.ค.-ก.ค.) สามารถส่งออกมีมูลค่าถึง 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ ในขณะที่กลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์-อาหารทะเล อาหารแปรรูป ฯลฯ มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 7.5 และ 10.3 ตามลำดับ ซึ่งไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ดังนั้น หากจะผลักดันให้อาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก 

นางรัดเกล้า กล่าวว่า การผลักดันครั้งนี้​ เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนไทย​ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม ซึ่งการที่ไทยมีพรหมแดนติดกับประเทศมาเลเซียนั้นเป็นจุดแข็งให้สามารถเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือ ฮาลาลฮับ (Halal Hub) เป็นฐานการผลิตที่ดีสำหรับทั้งชาวมุสลิมในประเทศเองและเพื่อส่งออกรองรับตลาดโลก สอดรับกับการเป็นครัวของโลกอย่างชัดเจน​ และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือนี่เป็นเพีบงแค่จุดเริ่มต้น

‘พิมพ์ภัทรา’ เร่งขับเคลื่อน ‘อุตสากรรมฮาลาล’ ตั้งเป้า!! GDP เติบโต 1.2% ภายใน 3 ปี

(19 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก

โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก ร้อยละ 2.7 เป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 78 เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือร้อยละ 22 ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน

ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน ซึ่งเน้นการทำวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ฮาลาล

โดยกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในแต่ละปี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ฮาลาล ให้คำปรึกษาและแนะนำทางวิชาการ และเป็นศูนย์กลางบูรณาการข้อมูลด้านการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของเรื่องดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี ต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้ กรอบการดำเนินงานของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ประกอบด้วย ด้านการขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ได้แก่ อาเซียน OIC/ GCC (เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย) แอฟริกา จีน ผ่านการเจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาล สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฮาลาล (Thai Halal Network)

ส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมจัดงาน Halal Expo 2024 และกิจกรรมทางการทูต เช่น งาน Thai Night เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าและบริการฮาลาลไทยในภารกิจ MICE

รวมทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต้นแบบเพื่อผู้บริโภคมุสลิม ได้แก่ การจัดอบรม การวิจัยและพัฒนา (R&D) การยกระดับบุคลากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อการส่งออก เช่น โรงงานแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ โดยผ่านการให้คำปรึกษา ตรวจประเมิน

โดยกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในระยะแรก เช่น เนื้อสัตว์/อาหารทะเล อาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ แฟชั่นฮาลาล เครื่องสำอาง ยา/สมุนไพร ท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ศูนย์ฯ คาดว่าจะทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 ภายในระยะเวลา 3 ปี

'รมว.ปุ้ย' เตรียมร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องแร่ธาตุที่ซาอุฯ พร้อมหารือดันอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน

(5 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดการร่วมคณะกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อหารือความร่วมมือในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีในการประชุมฟอรั่มแร่ธาตุแห่งอนาคต (Future Minerals Forum หรือ FMF) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติคิง อับดุล อาซิซ (King Abdul Aziz International Conference Center) ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า การประชุม FMF เป็นเวทีหารือเกี่ยวกับประเด็นที่สำคัญด้านแร่ธาตุในระดับพหุภูมิภาค โดยหัวข้อสำคัญของการหารือในปีนี้ จะเน้นไปที่การพัฒนากรอบยุทธศาสตร์และการกำหนดเป้าหมายระดับภูมิภาคในการจัดหาแร่ธาตุที่สำคัญ (Critical minerals) การสร้างห่วงโซ่คุณค่าหรือซัพพลายเชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลก การสร้างขีดความสามารถผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านแร่ (Centers of Excellence) และการกำหนดแนวทางสนับสนุนการผลิตแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีเวทีการประชุมย่อยในระดับเจ้าหน้าที่อีกกว่า 75 เรื่อง 

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องใช้แร่จำนวนมากในการผลิต การขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ความต้องการแร่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านวัตถุดิบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มของความต้องการใช้แร่เหล่านี้เพิ่มขึ้นภายใต้นโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน 

ดังนั้น การหารือความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสในการเชื่อมโยงการลงทุนในระดับพหุภูมิภาคเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเชิงวัตถุดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้

“นอกจากการเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมเรื่องแร่ธาตุแห่งอนาคตแล้ว นางสาวพิมพ์ภัทราฯ ยังมีกำหนดร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณีของซาอุดีอาระเบีย เพื่อผลักดันความร่วมมือในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมทั้งร่วมหารือกับ Saudi Standards, Metrology and Quality Organization หรือ SASO หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานต่างๆ ของซาอุฯ ซึ่งเป็นตลาดสินค้าฮาลาลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและแถบตะวันออกกลาง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย” นายอดิทัตฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ เข้าหารือ ‘เจ้าการกระทรวงกลาโหม’ ส่งเสริม ‘อุตฯ ฮาลาล’ ใน 3 จว.ชายแดนภาคใต้

เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.67) นางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยถึงสาระสำคัญในการเยือนกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมฮาลาล’ กับ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำข้อราชการสำคัญเข้าหารือกับเจ้ากระทรวงกลาโหม ในประเด็นการเร่งผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ในพื้นที่ภาคใต้ 

สืบเนื่องจากคุณลักษณะความเหมาะสมเชิงพื้นที่ มีพี่น้องชาวไทยมุสลิมจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งวัตถุดิบ ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นมาเลเซีย ตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่สำคัญพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย มีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สูงสุดได้ถึง 8 ปี ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมการส่งเสริมการลงทุนอย่างมาก ทางกระทรวงฯ จึงได้เข้าหารือเพื่อขอรับความร่วมมือจากเจ้ากระทรวงกลาโหมในการสนับสนุนพัฒนาและความมั่นคงในเชิงพื้นที่ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จแก่เศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

ทั้งนี้ รมว.ได้เผยอีกว่า “ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดี เพราะนอกจากจะได้เข้าพบกับท่านสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ก่อนหน้าไปพบท่านสุทินปุ้ยก็ได้ถือโอกาสเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ที่คู่มากับกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการเข้าไปสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นไปสักการะหอเทพารักษ์ทั้ง 5 ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าเทพารักษ์ทั้ง 5 เป็นเทพยดาผู้ปกป้องป้องบ้านเมืองของเรา อันมีพระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, เจ้าพ่อเจตคุปต์, พระกาฬไชยศรี, เจ้าหอกลอง โดยได้สักการะตามขั้นตอนประเพณีที่สืบกันมาอย่างครบครัน รวม 5 ขั้นตอน อานิสงส์ทั้งหลายที่ได้กระทำการมงคลนี้ ขอสำเร็จ สัมฤทธิ์ผลแด่พ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาทุกๆ ท่าน”

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมเปิดบูธ ‘ศูนย์อุตฯ ฮาลาลไทย’ ในงาน THAIFEX 2024 พร้อมส่งเสริม-ผลักดัน ‘อุตฯ ฮาลาลไทย’ สู่ศูนย์กลางของภูมิภาค

(29 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 พร้อมเปิดเผยว่ากระทรวงฯ เตรียมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ผ่านการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย การจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และยกระดับศักยภาพด้านมาตรฐานของผู้ประกอบการฮาลาลในประเทศ 

โดยในงานวันนี้ กระทรวงฯ นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมีศักยภาพพร้อมส่งออก เข้าร่วมออกแสดงสินค้าภายใต้บูธของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงานกว่า 200 ล้านบาท และหลังจากนี้ กระทรวงฯ จะส่งเสริมให้ขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก

ตลาดสินค้าฮาลาลมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด 

สำหรับตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี โดยมีแนวโน้มขยายตัวเร็วตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างมาก และมีนโยบายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยมอบกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างรอบด้านและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ผ่านกลไกสำคัญ ดังนี้

1. จัดตั้ง ‘คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.)’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มอบหมาย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงาน ด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

2. เสนอ ‘แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยในระยะ 1 ปีแรก หรือ Quick Win กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่

(1) จัดตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ เพื่อสร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณายกระดับศูนย์ดังกล่าวเป็น ‘สถาบันอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ หรือ Thai Halal Industry Institute โดยเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ ซึ่งจะเร่งดำเนินการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาโดยเร็วต่อไป

(2) สร้าง ‘การรับรู้ถึงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เช่น Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) รวมถึง THAIFEX-Anuga Asia 2024 ในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยของรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์อาหารไทยฮาลาลที่เชื่อมโยง Soft Power เอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นให้เกิดเป็นเมนูอาหารฮาลาลไทย ผลักดันไปสู่ภาคบริการ เช่น การให้บริการบนสายการบิน การประชุมและสัมมนานานาชาติ การโรงแรมและท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดงาน Kick Off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทยไปสู่ผู้บริโภคและคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม เช่น Business Matching การสัมมนาฮาลาลระดับนานาชาติ การสาธิตการทำอาหารฮาลาลโดยเชฟไทยที่มีชื่อเสียง

(3) ผลักดัน ‘การส่งเสริมการค้าและขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ’ ผ่านการเจรจาและจัดทำกรอบความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของไทย โดยประเทศเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยขณะนี้ มีแผน การเจรจาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี ไทย-บรูไน ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 และในการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) จะดำเนินอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เช่น อาหาร แฟชั่นมุสลิม ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก รวมถึงการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและขยายกลุ่มประเทศเป้าหมายไปยังเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ควบคู่การยกระดับ Thai Halal Ecosystem ด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินค้าและเพียงพอ การยกระดับฝีมือแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลสาขาต่าง ๆ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการส่งออกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินค้าและบริการฮาลาลไทยในตลาดโลก ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไป

สำหรับงานในวันนี้ กระทรวงฯ ได้นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันอาหารกว่า 40 รายเข้าร่วมแสดงสินค้า เช่น โรงงานแปรรูปโคเนื้อฮาลาลมาตรฐานสากลที่มีศักยภาพดีที่สุดในอาเซียน ‘Befish’ ข้าวเกรียบปลาเมืองนราธิวาส ทำจากปลาทะเลแท้ มีแคลเซียมสูง และ ‘ท่าทองรังนก’ ที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีวัตถุเจือปนอาหาร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพพร้อมส่งออก และมีการสาธิตการทำอาหารจากเชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เชฟอาหารไทยมุสลิม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน ‘Blue Elephant’ ร้านอาหารไทยชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก เพื่อสร้างความรับรู้ถึงศักยภาพของอาหารฮาลาลไทยและนำเสนอผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ 

นอกจากนี้ ยังจัด Business matching เพื่อขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน 200 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสริมความเข้มแข็งและผลักดันการส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป

'รมว.ปุ้ย' หารือ 'ผบ.ทบ.' ดัน 'ฮาลาล' สร้างอาชีพ-ศก. 3 จว.ชายแดนใต้ เชื่อ!! หากผู้คนมีความเป็นอยู่ดี เศรษฐกิจดี ความขัดแย้งก็จะลดลง

(21 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าพบ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก เพื่อหารือถึงแนวทางการดําเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาแนวทางการฝึกอาชีพให้แก่ทหารกองประจําการและการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า มาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็น Halal Valley โดยกลไกหนึ่ง คือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยจะสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริการในพื้นที่ภาคใต้ และผลักดันให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล โดยมีแผนปฏิบัติการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาฝึกอาชีพให้กับทหารกองประจําการ ก่อนที่จะปลดประจําการออกไป โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการฝึกอาชีพโดยการพัฒนาทักษะฝีมือตามความถนัด และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงการจัดหางานให้แก่ทหารกองประจําการ ภายหลังจากปลดประจําการไปแล้วให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสําคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกด้วยว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จำเป็นต้องปรับปรุงกรอบระยะเวลาการส่งออกให้มีความกระชับมากขึ้น โดยในปัจจุบันการขออนุญาตส่งออกยุทธภัณฑ์ ใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นจึงต้องหารือถึงแนวทางแก้ไขเพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตและการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย

ด้าน พล.อ.เจริญชัย กล่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุนในทุกเรื่องที่ได้มีการหารือมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่ง รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้เร่งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าให้เป็นรูปธรรม 

อย่างไรก็ตาม รมว.อุตฯ เชื่อว่าอุตสาหกรรมฮาลาลจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย เพราะทหารทำงานเพียงลำพังไม่ได้ เพราะความมั่นคงไม่ได้เกิดจากทหารแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย ถ้าประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี เศรษฐกิจที่ดี ความขัดแย้งก็จะลดลง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top