Friday, 28 June 2024
อาหารเสริม

'ปคบ.' จับ 'นารา เครปกระเทย' ปมขายอาหารเสริมผสมสารอันตราย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ (27 ก.ย. 65) ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารประชาอารักษ์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงการจับกุมเครือข่ายผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) หลังเปิดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 7 จุดในจ.ราชบุรี, มหาสารคาม และพระนครศรีอยุธยา สามารถจับกุม นายอนิวัต ประทุมถิ่น อายุ 23 ปี หรือ 'นารา เครปกะเทย' เน็ตไอดอลชื่อดัง, นายเมธากร จันทวงศ์ อายุ 39 ปี, น.ส.นิชกานต์ แก้วมีสี อายุ 28 ปี, 3 ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาในข้อหา 'ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า'

พ.ต.อ.เนติ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก, ติ๊กต๊อก และไลน์ มาสุ่มตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนพบว่า ผลิตภัณฑ์ 'ชาร์มาร์ กลูต้า' มีส่วนผสมของสารวัตถุออกฤทธิ์ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน (desoxy-D2PM) ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ จึงสืบสวนขยายผลจนทราบว่า บริษัท ชาร์มาร์เพอร์เฟค จำกัด ของ น.ส.นิชกานต์ ได้ว่าจ้างให้ โรงงานสิรินดา คอสเมติกส์ ผลิตสินค้าดังกล่าวขึ้นมา ก่อนว่าจ้างให้นายอนิวัต หรือ นารา เป็นอินฟลูเอนเซอร์หลักในการโฆษณาและขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ

‘ปคบ.-อย.’ บุกทลายโกดังอาหารเสริม-เครื่องสำอางปลอม พบนำเข้าจากจีน ตรวจยึดของกลางมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท!!

(24 มี.ค. 66) ที่ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารประชาอารักษ์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายโกดังเก็บผลิตภัณฑ์อาหารเสริม, ยาปลอม และเครื่องสำอางปลอม ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 19 รายการ รวม 6,320 กล่อง มูลค่าสินค้าปลอมกว่า 10,000,000 บาท

‘อย.’ พบ ‘ไซบูทรามีน’ ในอาหารเสริมยี่ห้อดัง ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ ชี้!! มีฤทธิ์ต่อจิต-ประสาท ส่งผลร้ายแรงต่อระบบหัวใจ-หลอดเลือด

(5 มิ.ย. 67) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านช่องทางออนไลน์จากเฟซบุ๊กเพจชื่อร้าน ‘ITCHA XS by เบนซ์ พรชิตา - เพจหลัก’ ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยฉลากระบุรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้ 

“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อิชช่า เอ็กซ์เอส (ตรา อิชช่า) อย.10-1-03464-5-0018 ผลิตโดย : บริษัท คาร์บีบ๊อค แลบบอราทอรี่ส์ จำกัด เลขที่ 41/160-161 ถนนกัลปพฤกษ์ แขวงบางแค เขตบางแค จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10160 จัดจำหน่ายโดย : บริษัท ไบโอ จีโนมิคส์ จำกัด 30 ซอยสุขุมวิท 61 (เศรษฐบุตร) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10110 น้ำหนักสุทธิ : 10 แคปซูล (6.26 กรัม)…วันที่ผลิต MFG : 10/01/2024 วันหมดอายุ EXP : 09/01/2026”

ผลการตรวจวิเคราะห์พบ ‘ไซบูทรามีน’ (Sibutramine) ซึ่งมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นอาหารที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน และเพื่อป้องกันผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชน

จึงประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อหรือบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ทั้งนี้ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด

หากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

'ตำรวจ' บุกทลายเครือข่ายนายทุนเวียดนาม ขาย ‘8 นมผงชื่อดัง’ ด้วยสรรพคุณเกินจริง

เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายนายทุนชาวเวียดนาม โฆษณาขายนมผง อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง พร้อมจับกุมแรงงานต่างด้าว 6 ราย พร้อมของกลาง 41 รายการ รวมกว่า 20,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 18,000,000 บาท

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ปัจจุบันค่านิยมผู้บริโภคได้สนใจสุขภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สุขภาพจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการดูแลสุขภาพ จึงทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการลักลอบนำเข้า, ผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอมที่ด้อยคุณภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

โดยเมื่อประมาณเดือน พ.ย.2566 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ร่วมกับ อย. ได้กวาดล้างเครือข่ายกลุ่มผู้กระทำความผิดชาวเวียดนามที่โฆษณาสรรพคุณนมผงเกินจริง และมีมาตรการเฝ้าระวังการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพในลักษณะเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น...

การอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางร่างกายในระยะเวลาสั้นๆ แอบอ้างใช้ภาพ-ชื่อบุคลากรทางการแพทย์ บุคคลที่มีชื่อเสียง นำมาตัดต่อ สร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สินค้าอ้างว่าผลิตภัณฑ์มีผลวิจัยจากต่างประเทศรองรับ ฯลฯ แล้วขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน โดยเมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้า ปรากฏว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง บางรายเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และไม่สามารถขอคืนเงินได้

ต่อมา กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. จึงได้ทำการสืบสวนพบมีเว็บไซต์ที่มีการตัดต่อภาพ วิดีโอเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ และปรากฏมีการโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นวงกว้าง มีเนื้อหาที่มีการบรรยายสรรพคุณผลิตภัณฑ์อาหารอันเป็นเท็จ จำนวน 11 เว็บไซต์ ได้แก่...

1. https://enzosureth.com/
2. www.enzosure-official.com
3.https://www.youtube.com/channel/UCU4NSuv7whiL6BzP68JCwvg
4. https://www.sicasure.asia/
5. https://www.faligold-thailand.com/oder
6. https://www.faligold.store/diabetes1
7. https://www.faligold.store/sakit-lutut
8. https://www.amesure.asia/
9.https://www.mirakidsthai.store/searchwuang
10.https://www.matticare.com/
11.https://www.hiup-thailand.asia/

จากการตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าว พบว่า มีการโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับผู้มีภาวะโรคที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ผู้สูงอายุ และเด็ก โดยโอ้อวดสรรพคุณนมที่เกินจริง เช่น เมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์แล้ว ส่งผลให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับคงที่ กระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ 26 เท่า เสริมสมรรถภาพทางเพศ 

โดยมีการกล่าวอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง จาก FDA (องค์การอาหารและยา) สหรัฐอเมริกา นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และขายดีเป็นอันดับ 1 ในประเทศนิวซีแลนด์ ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์นมผงยี่ห้อ ENZO SURE และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมผงดังกล่าว อย. ได้มีประกาศผ่านสื่อออนไลน์ ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. และโฆษณาสรรพคุณที่เกินจริง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจนทราบถึงแหล่งจัดเก็บ และกระจายสินค้า โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจค้น โกดังเก็บสินค้า ในพื้นที่ ต.บางครุ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์อาหาร, ยา และบรรจุภัณฑ์อื่นๆ รวมจำนวน 41 รายการ จำนวนกว่า 20,000 ชิ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์นมผง ยี่ห้อต่างๆ 12,625 กระปุก, ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับเด็ก 1,776 ชิ้น, วิตามินที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร 95 ชิ้น, ยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา 3,660 ชิ้น รวมมูลค่ากว่า 18 ล้านบาท พร้อมจับกุมผู้ต้องหาสัญชาติลาว และสัญชาติเมียนมา รวม 6 ราย

สำหรับ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจยึดเป็นนมผงยี่ห้อต่างๆ และยา รวม 8 ยี่ห้อ ได้แก่...

- ผลิตภัณฑ์ FALIGOLD อ้างสรรพคุณ ช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

- ผลิตภัณฑ์ Amesure Diabest Nut Milk อ้างสรรพคุณ หลังรับประทาน 40 วัน ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ถึง 70 -90 มก. ลดอาการชาแขนขา ตาพร่ามัว และปวดตา

- ผลิตภัณฑ์ Faligold Canxi อ้างสรรพคุณ ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดกระดูกและข้อ เพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากกล้ามเนื้อที่เสียหาย

- ผลิตภัณฑ์ Colostrum Mirakids อ้างสรรพคุณ ช่วยให้เด็ก เพิ่มการดูดซึม เพิ่มน้ำหนักสม่ำเสมอตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างภูมิต้านทาน พัฒนาสมอง สติปัญญา และความคล่องตัว

- ผลิตภัณฑ์ Matti Mum อ้างสรรพคุณปรับปรุงการทำงานของต่อมน้ำนม กระตุ้นให้มีน้ำนมมากขึ้นหลังผ่านไป 24 ชม.

- ผลิตภัณฑ์ Sica SURE canxi wemee อ้างสรรพคุณ ช่วยให้เด็กสูงขึ้น 3 – 5 เซนติเมตร ภายใน 3 เดือน เสริมสมอง เพิ่มภูมิต้านทาน

- ผลิตภัณฑ์ HIUP – นมเพิ่มความสูง อ้างสรรพคุณ เพิ่มความสูง 3-5 ซม. ภายใน 3 เดือน มีสรรพคุณสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป 10 เท่า

- ผลิตภัณฑ์ยา Boca spray, Boca (เม็ดฟู่), Boca Premier โฆษณาสรรพคุณรักษาอาการปวดเข่า

พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวเสริมว่า ขณะตรวจค้น พบชาวต่างชาติผู้ต้องหา สัญชาติลาว และเมียนมา รวม 6 ราย กำลังแพ็กบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อรอจำหน่าย เมื่อตรวจสอบหนังสือเดินทางพบมีเอกสารการเดินทางเข้าออกถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีใบอนุญาตการทำงาน

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี ในข้อหา 1.ร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง 2.ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ร่วมกันขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา 4.เป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 5.เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน

จากการสืบสวนขยายผลทราบว่า กลุ่มผู้กระทำผิดมีกลุ่มนายทุนชาวเวียดนาม โดยนำเข้าสินค้ามาจากประเทศเวียดนาม แล้วนำมาเก็บไว้ตามอาคารให้เช่าต่างๆ เพื่อรอการจำหน่าย โดยทำการกระจายโดยการเปิดเว็บไซต์เป็นจำนวนมากเพื่อโฆษณาจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ต่างประเทศ และหลบเลี่ยงการขายผ่านแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada

โดยใช้วิธีการชำระเงินค่าสินค้าด้วยการเก็บเงินปลายทางเพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบ โดยจะโฆษณาสรรพคุณพร้อมกับเสนอโปรโมชั่นต่าง ๆ ให้ลูกค้ารีบตัดสินใจซื้อ เช่น ซื้อภายในเวลาโปรโมชั่น หรือซื้อครั้งละจำนวนมากๆ จะได้รับราคาที่ถูกกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะต้องกรอกข้อมูลชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ลงไปในเว็บไซต์ จากนั้นผู้ขายจะโทรศัพท์ติดต่อกลับมาเพื่อโน้มน้าวสรรพคุณ และให้ลูกค้าซื้อสินค้าปริมาณมากขึ้น

อีกทั้งเมื่อได้รับผลิตภัณฑ์แล้ว 2-3 สัปดาห์ จะมีการติดตามสอบถามผลการใช้ผลิตภัณฑ์ และเสนอขายผลิตภัณฑ์ต่อไปอีกด้วย โดยขายกระปุกละ 1,090-1,190 บาท และมียอดขายเดือนละ 3,000-6,000 ออเดอร์

เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้า กลุ่มเครือข่ายดังกล่าว จะส่งข้อมูลการสั่งซื้อ ให้ผู้ดูแลโกดังในประเทศไทย ทำการบรรจุ และส่งให้กับลูกค้า โดยกลุ่มเครือข่ายชาวเวียดนามจะสั่งการอยู่ต่างประเทศ และเดินทางมายังประเทศไทยเพียงเดือนละ 1 ครั้ง

โดยกลุ่มนายทุนชาวเวียดนาม มีการติดตามสื่อประชาสัมพันธ์ของไทยอยู่ตลอด โดยเมื่อมีการประชาสัมพันธ์เตือนภัยเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์นม ที่ไม่ผ่านการรับรองจากอย. หรือ มีความเสี่ยง ที่จะสืบสวนพบแหล่งเก็บและกระจายสินค้า จะย้ายแหล่งที่เก็บ และกระจายสินค้า เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจพบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน

- พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6 (10) ฐาน ‘จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง’ ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

- พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน ‘ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต’ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

- พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72 (4) ฐาน ‘ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา’ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- พ.ร. บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ฐาน ‘เป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต’ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- พ.ร.ก.การบริหารจัดการทำงานของบุคคลต่างด้าว พ.ศ. 2560 ฐาน ‘เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน’ ระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 -10,000 บาท

- กรณีการนำเข้าข้อมูลเท็จและโฆษณาสินค้าดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ฐาน ‘นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ’ ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ด้าน ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ขอขอบคุณตำรวจ บก.ปคบ. ที่สืบสวนจนสามารถจับกุมผู้ค้าตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้จำนวนมาก

ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบในครั้งนี้เป็น ยา อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย ลักลอบนำเข้า และพบการโฆษณาหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ไม่มีหลักฐาน หรือผลการทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน

จึงขอเตือนผู้บริโภคว่า ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกร ก่อนซื้อก่อนใช้ให้สังเกตยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับ สำหรับอาหารต้องมีเลขสารบบอาหารหรือเครื่องหมาย อย.

และ อย.ขอย้ำไม่มีอาหารหรืออาหารเสริมชนิดใดที่มีสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษาโรค ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จ โฆษณาเกินจริง

ขณะที่ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ปฏิบัติการดังกล่าว เป็นผลมาจาก อย. ได้ประกาศเตือนให้ระมัดระวังการบริโภคผลิตภัณฑ์นมผง ที่ไม่มีเลข อย. ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงได้รับอันตราย โดยหลังจากประกาศแล้ว ยังพบเห็นว่า ทางออนไลน์มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อยู่ จึงนำมาสู่การกวาดล้างแหล่งเก็บและกระจายสินค้า

และขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์อาหารนมผง จะต้องขออนุญาตเลขสารบบอาหาร จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้น ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีแหล่วงผลิตมาจากที่ใด มีมาตรฐานหรือไม่ มีส่วนประกอบ

และการจัดทำฉลากตรงตามที่กำหนดหรือไม่ เมื่อออกสู่ท้องตลาด ผู้บริโภคจะได้ทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความปลอดภัยจากการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้บริโภคที่มีภาวะของโรคเบาหวาน หรือ โรคอื่นการจะรับประทานผลิตภัณฑ์ใด ต้องใส่ใจเป็นการเฉพาะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top