Tuesday, 2 July 2024
อานนท์_ศักดิ์วรวิชญ์

'ผศ.ดร.อานนท์' โพสต์!! เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดี กรณี 'อานนท์ นำภา' ถูกจำคุก 112 ไม่รอลงอาญา 4 ปี

(27 ก.ย. 66) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Arnond Sakworawich' ระบุว่า...

คดีที่อานนท์ นำภา ถูกศาลพิพากษาจำคุกมาตรา 112 ป.อาญา ไม่รอลงอาญา 4 ปีนั้น อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีนี้เองครับ และทนายอานนท์ นำภา เป็นทนายความว่าความให้ตัวเองด้วยตัวเองด้วยครับ

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อานนท์ ยังได้ยกข้อความปราศรัยช่วงหนึ่งของนายอานนท์ นำภา อีกด้วย ระบุว่า…

นอกจากนี้ อัยการยังเห็นว่าอานนท์ปราศรัยเข้าข่ายความ ผิดตามมาตรา 112 โดยกล่าวคำปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่ชุมนุมว่า "ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้ จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อย ๆ และ นิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อย ๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือ ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด"

"อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจาก…"

“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือ…ให้รู้ไว้เช่นนั้น"

ข้อความข้างต้น อัยการเห็นว่าไม่ใช่การกระทำหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริต เป็นการใส่ร้ายกษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนหลงเชื่อข้อความที่จำเลยได้พูดออกไป ทำให้ไม่เป็นที่เคารพสักการะต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

‘ดร.อานนท์’ ชวนจับโป๊ะ ‘พิธา’ เคยอ้างได้ ‘ป.ตรี 2 ใบ’ แท้จริง!! แลกเปลี่ยนที่ ‘UT at Austin’ และโอนหน่วยกิตมา มธ.

เมื่อวานนี้ (20 พ.ย. 66) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Arnond Sakworawich’ ระบุว่า…

เมื่อวานอาจารย์อาวุโสแห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งข้อความมาบอกว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้ปริญญาตรีสองใบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจาก University of Texas at Austin อย่างที่ให้สัมภาษณ์ในหลายสื่อ

ผมเช็กแล้วใน Dek-D.com นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ให้สัมภาษณ์จริงว่า ได้รับปริญญาตรีสองใบจากทั้งธรรมศาสตร์ และ UT at Austin

แต่ท่านอาจารย์ท่านยืนยันว่า โปรแกรม BBA ภาคภาษาอังกฤษของธรรมศาสตร์ได้ปริญญาตรีใบเดียวของธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ Dual degree แต่อย่างใด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแค่นักเรียนแลกเปลี่ยนที่ UT at Austin แล้วโอนผลการเรียนกลับมาเทียบหน่วยกิตที่ธรรมศาสตร์

เรื่องนี้น่าจะตรวจสอบได้ไม่ยาก ขอเชิญชาวโซเชียลฯ ลองตรวจสอบดูนะครับว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พูดจริงหรือว่าโกหก

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อานนท์ โพสต์เฟซบุ๊กอีกด้วยว่า เวลาเราพูดอะไร ถ้าเป็นคนตรงไปตรงมาไม่โกหก อะไรที่เป็นข้อเท็จจริง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อะไรที่เป็นความคิดเห็น เปลี่ยนแปลงได้

จะจับคนไหนว่า โกหกหรือไม่โกหก ให้ดูว่าเขาพูดข้อเท็จจริงหลาย ๆ ครั้งเรื่องเดียวกันตรงกันหรือไม่ อยู่กับร่องกับรอยหรือไม่

พ่อลิเกนี่เป็นตัวอย่างให้จับโป๊ะแตกง่ายที่สุด เพราะพูดข้อเท็จจริงไม่เคยตรงกันสักที

‘ดร.อานนท์’ เตือน 2 บุตรีของปรีดี อย่าใช้แค่วาทกรรม แนะ!! งัดหลักฐานโต้ หาก ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ นำเสนอบิดเบือน

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค. 67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Arnond Sakworawich’ ระบุว่า…

“ผมเข้าใจได้นะครับว่าทายาทของตระกูลพนมยงค์ย่อมไม่พอใจกับภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ และมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นปกป้องบรรพบุรุษของตนหรือแม้แต่ฟ้องร้องผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังได้ครับ

“แต่ผมคิดว่าในฐานะของลูกหลานปัญญาชนผู้อภิวัฒน์สยาม ก็ควรแสดงหลักฐานและเอกสารชั้นต้นออกมาต่อสู้กันว่าในภาพยนตร์มีสิ่งใดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ อะไรที่ทางครอบครัวพนมยงค์คิดว่าไม่เป็นความจริง ก็โต้มาด้วยหลักฐาน

“แต่การประดิษฐ์วาทกรรมลอย ๆ เรียกตนเองเป็นฝ่ายธรรมะ และเรียกทีมผู้สร้างภาพยนตร์ว่าเป็นฝ่ายอธรรม ช่างเป็นสงครามวาทกรรมที่แสนเหยียด ขาดความเคารพในความเห็นต่าง ไม่เป็นประชาธิปไตย คงใช้ชีวิตและเติบโตมาจากภาพยนตร์จีนกำลังภายในมากไปหรือไม่”

ผศ.ดร.อานนท์ ระบุต่อว่า “บรรพบุรุษของท่านทั้งสอง เป็นผู้ประดิษฐ์มนูธรรม เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ทำไมลูกหลานจึงเป็นได้แค่ผู้ประดิษฐ์วาทกรรม ช่างแตกต่างจากบรรพบุรุษเหลือเกินครับ การกระทำเช่นนี้ของทายาทของครอบครัวพนมยงค์ ทำให้เกียรติยศของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เสียหายมากนะครับ ว่าลูกหลานขาดวุฒิภาวะในการแสดงความคิดเห็นเยี่ยงอารยะและผู้มีการศึกษา

“การเขียนแถลงการณ์โดยไม่แสดงภูมิปัญญาความรู้ มีแต่วาทกรรมเหยียดและอารมณ์คุกรุ่นเต็มไปด้วยความไม่พอใจ หาใช่วิสัยปัญญาชนอย่างท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ไม่

“ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เองก็ยอมรับในบั้นปลายชีวิตเมื่อให้สัมภาษณ์กับนักข่าวแอนโทนี่ พอลว่าข้อผิดพลาดประการหนึ่งในชีวิตคือการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

“ไฉนเลยลูกหลานแห่งตระกูลพนมยงค์จะยังคงซ้ำรอยวิธีการที่ผิดพลาดในการนำเสนอความคิดเห็น ซึ่งน่าจะทำได้ดีกว่านี้มากครับ อย่าได้ทำอะไรผิดพลาดเช่นที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้เคยทำผิดพลาดด้วยการนำเสนอผิดวิธีอีกเลยครับ”

สำหรับข้อความเห็นจาก สุดา พนมยงค์ และดุษฎี พนมยงค์ 2 บุตรีของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ระบุไว้ว่า…

ข้อคิดเห็นบางประการเรื่องที่ฝ่ายอธรรมกำลังปลุกกระแส โดยสร้างและเผยแพร่ ภาพยนตร์ 2475 อยู่ในขณะนี้

1. การโต้ตอบโดยตรง อาจไม่เป็นผลดีต่อสถาบันปรีดีฯ ทำให้เข้าทางฝ่ายตรงข้าม ที่หวังสร้างข้อมูลเท็จบิดเบือนประวัติศาสตร์ ยั่วยุเพื่อให้เกิดกระแสด้านลบต่อฝ่ายธรรมะ

2. สถาบันปรีดีฯ เผยแพร่ความรู้ และข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อผู้ที่สนใจจะสามารถสืบค้น เข้าถึงได้สะดวกขึ้น

3. เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เคยมีการสร้างสื่อในลักษณะใส่ร้ายและโจมตีการอภิวัฒน์ 2475 แต่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม จึงไม่ประสบความสำเร็จในการปลุกกระแสดังกล่าว

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น การต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะ และฝ่ายอธรรม ยังคงดำเนินต่อไปในสังคมอีกยาวนาน ขอบคุณกรรมการทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันพิจารณาวิถีทางรับมือกับกระแสดังกล่าว และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านยืนหยัดอยู่กับความถูกต้องเสมอไป

‘ดร.อานนท์’ แจง!! ตนเป็นลูกหลานคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินไทย การให้ข้อมูล ‘ปกป้องสถาบัน’ ทำโดยสมัครใจ ไม่มีใครชี้นิ้วสั่ง

(9 เม.ย. 67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Arnond Sakworawich’ ระบุข้อความว่า ผมเขียนหรือพูดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเรื่องภาษีกู ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และเรื่องอื่น ๆ ที่มีคนไม่หวังดีใส่ร้ายป้ายสีสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมก็นำความจริงและข้อมูลมาพูดมาเขียนมาเผยแพร่มาโดยตลอด

ไม่เคยแอบอ้างว่าตนเองเป็นราชสกุลหรือราชินิกุลใด ๆ

ผมเป็นแค่ลูกหลานคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินไทยเท่านั้นครับ

ไม่เคยมีใครสั่งให้ผมพูดหรือเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลยครับ ผมทำของผมเองจริง ๆ ครับ และไม่ได้ค่าจ้างค่าแรงแม้แต่บาทเดียวครับ

ผมไม่เคยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใด ๆ ในการเขียนหรือพูดเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ครับ และก็ไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานใด มาบอกหรือมาสั่งให้ผมขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต

ขอโทษนะครับ ไอ้พวกล้มเจ้า มันเขียนมันพูดมันทำงานศิลปะด่าแซะเสี้ยมสถาบันพระมหากษัตริย์ มันก็ไม่เคยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนะครับ

ถ้าทุกคนที่ต้องการจะเขียนและพูดความจริงเพื่อปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต แบบนั้นจะมีใครกล้าเขียนกล้าพูดความจริงเพื่อปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์กันละครับ

ผมเชื่อว่าหากเจตนาเราพูดเราเขียน เราทำงานด้วยความจริง ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเหมาะสมแก่กาลเทศะและถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ทำไปเลยครับ ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปทุกเรื่องหรอกครับ

พวกล้มเจ้าเขาชอบอ้างสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อใส่ร้ายป้ายสีสถาบันพระมหากษัตริย์

คนที่ต้องการปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ หากทำด้วยเจตนาดีและเจตนาบริสุทธิ์ คำนึงถึงความถูกต้องแม่นยำเหมาะสม ก็ทำไปเลยครับ ไม่ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพราะเราก็มีสิทธิและเสรีภาพในการปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกันครับ

ขออภัยที่แสดงความในใจออกมา หลังจากวันนี้เกิดดราม่าว่าผมนำรายชื่อราชสกุลและราชินิกุลออกมาเขียน วิเคราะห์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยไม่ได้ขออนุญาต

ผมถือว่าผมทำเพื่อปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยหลักวิชาการและหลักสุจริต และผมไม่เคยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใด ๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว และก็ไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานไหนมาสั่งให้ผมทำในสิ่งที่ผมทำ

เพราะฉะนั้นผมมีเจตนาดีต่อราชสกุลและราชินิกุล ผมก็คงไม่ขออนุญาตและไม่สามารถขออนุญาตได้ทุกคนจริง ๆ เพราะเป็น non-finite population ประชากรอนันต์ ที่ไม่รู้ว่ากระจัดกระจายไปที่ไหนบ้าง หากจะต้องขออนุญาตทั้งหมดก็คงไม่สามารถพูดหรือเขียนอะไรเกี่ยวกับราชสกุลหรือราชินิกุลได้เลยครับ

'ดร.อานนท์' สรุป!! วิวาทะประชาธิปไตย 'ส.ศิวรักษ์-ศ.ดร.ไชยันต์' เปี่ยมด้วยตรรกะ ภายใต้ท่าทีอ่อนน้อม ไร้ซึ่งการแถ-ตีแสกหน้า

(5 พ.ค.67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วิจารณ์ แอนิเมชั่น 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ แบบไม่มีเชิงอรรถอ้างอิง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นส่วนตัวของอาจารย์สุลักษณ์เอง พอ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ไปยืนยันด้วยเอกสารหลักฐานอ้างอิงจำนวนมากอย่างแน่นหนัก 

ข้อดีของอาจารย์สุลักษณ์คือ ไม่แถต่อ ยอมรับว่าไม่เคยอ่านหลักฐานหรือไม่มีเอกสารอ้างอิงใดๆ เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ เป็นจำนวนมาก 

หรือหากเถียงด้วยตรรกะไม่ได้ อาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ได้พยายามแถต่อไป

ข้อดีของอาจารย์ไชยันต์ คือ การถกเถียงโต้แย้งด้วยท่าทีอันอ่อนน้อมแต่หนักแน่นด้วยหลักฐาน อาจารย์ไชยันต์ไม่ได้เถียงอย่างก้าวร้าว ไม่เหยียบซ้ำอาจารย์สุลักษณ์ ไม่ไล่ต้อนอาจารย์สุลักษณ์ อาจารย์ไชยันต์ ไม่ได้เหยียบ อาจารย์สุลักษณ์จนราบเป็นหน้ากลอง ทั้งๆ ที่อาจจะทำได้ แต่อาจารย์ไชยันต์ก็ไม่ได้ทำ 

เช่นนี้ผู้ชมอาจจะไม่สะใจ แต่สำหรับผู้ชมที่มีการศึกษาและมีใจเป็นกลางน่าจะชอบครับ 

ผมดูแล้วสนุกมากครับ บันเทิงและประเทืองปัญญาโดยแท้ ดูจากลิงค์ในคอมเมนต์แรกครับ

ในฐานะที่อานนท์เคยเป็นแฟนคลับอาจารย์สุลักษณ์มาก่อน ผมชอบวิธีของอาจารย์ไชยันต์มากนะครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นผมไปพบอาจารย์สุลักษณ์เองผมจะมีท่าทีหรือวิธีการที่อ่อนน้อมถ่อมตนเท่าอาจารย์ไชยันต์หรือไม่ เพราะผมเป็นคนพูดตรงๆ แบบเรียบๆ แต่ตีแสกหน้าเสมอ หรือไม่ก็จะถามกลับด้วยคำถามที่ใครเจอเข้าไปก็หงายหลัง ผมเลยคิดว่าอาจารย์ไชยันต์ทำได้ดีมากครับ ขอชมเชยจากใจว่าหนักแน่นในเนื้อหา อ่อนน้อมในท่าที

ชมคลิป >> https://youtu.be/mOiOMpW3Ny0?si=RSIX4E82ATX-Guc8

‘ดร.อานนท์’ ชี้!! คนที่เกี่ยวกับ ม.112 ล้วนมีความทุกข์ ส่วนคนยุยงเด็กทำผิด ม.112 ไม่ทุกข์!! และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’

(27 พ.ค. 67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

“ผมอดทนไม่พูดอะไรเลยมานาน แต่วันนี้ขอพูดนะครับ 

พออ่านสิ่งที่นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีพูดแล้ว ก็ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำให้ไม่อาจจะเห็นด้วยกับนายอานันท์ ปันยารชุนแล้วกันนะครับ

ผมคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ในกรณีมาตรา 112 ล้วนมีความทุกข์หมด คนที่ไม่มีความทุกข์คือคนที่ยุแหย่ยุยงอยู่เบื้องหลังเด็กให้เด็กออกมากระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายนี่แหละครับ

1. จำเลยผู้กระทำความผิดก็มีทุกข์

2. พนักงานสอบสวนที่ต้องทำคดีก็มีทุกข์ เพราะเป็นเรื่องยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยมาในการทำสำนวนคดี

3. คณะกรรมการกลั่นกรองคดีความมั่นคง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีความทุกข์ ต้องอ่านและตัดสินใจอย่างละเอียดในการทำคดี

4. พนักงานอัยการก็มีทุกข์ที่ต้องทำความเห็นสั่งฟ้อง ต้องเรียกขอหลักฐานเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน

5. ผู้พิพากษาในคดีมาตรา 112 ก็มีความทุกข์ที่ต้องตัดสินพิพากษาจำคุกผู้กระทำความผิด 

6. พยานในคดีมาตรา 112 ก็มีทุกข์ครับ 

ผมขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า ผมเองเมื่อเริ่มต้นต้องไปเป็นพยานคดีอาญามาตรา 112 ผมไม่สบายใจเลย เครียด เพราะว่าสงสารจำเลยที่จะต้องติดคุก แต่ผมเองก็รักษาหลักนิติรัฐและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ตลอดจนปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 อันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยครับ

ผมมีอาการปวดท้องหรือปวดกระเพาะอาหาร หลังจากไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีมาตรา 112 ได้ไม่กี่คดี อาการคือปวดแสบปวดร้อนในท้อง จนตัดสินใจไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หมอยังไม่ทันส่องกล้อง ก็กล่าวเลยว่า ไม่จำเป็นต้องส่องกล้องเลย หมอคิดว่าอาจารย์อานนท์เครียด กินยาลดความวิตกกังวลสักหน่อยอาการน่าจะดีขึ้น ผมก็ยืนยันว่าจะส่องกล้องดู หมอก็บอกว่าดี ก็เลยนัดส่องกล้อง ผมตัดสินใจส่องกล้องโดยไม่วางยาซีม (Sedate) การส่องกล้องเข้าไปส่องกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานมากครับ นอนตะแคงดูหน้าจอไปด้วย หมอที่ส่องกล้องก็บรรยายไปด้วยครับ ราวกับชม Discovery Channel ของร่างกายตัวเอง เป็นสารคดีชั้นเยี่ยม หมอขลิบชิ้นเนื้อในกระเพาะอาหารไปตรวจเชื้อโรค ก็ไม่พบการอักเสบ ลำไส้และกระเพาะอาหารสะอาดสะอ้าน ไร้ริ้วรอยแผลเป็นใดๆ สรุปคือปวดท้องเพราะเครียดแล้วน้ำย่อยหลั่งออกมามาก หมอจ่ายยาแก้เครียดมาให้ทัน อาการผมดีขึ้นทันตาเห็น

ผมได้ไปเจอพี่ทหารผ่านศึกที่เคยไปทำสงครามลับในลาว พี่เขาก็เล่าประสบการณ์ในสนามรบให้ฟัง ว่าทำไมอย่างไร จำเป็นอย่างไรจึงต้องฆ่า แล้วก็บอกว่าถ้าเครียดก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติไม่ได้ ต่างคนต่างมีหน้าที่ ผมฟังแล้วก็เกิดบรรลุ เข้าใจสัจธรรม ของการทำหน้าที่ 

ผมฟังแล้วก็ผ่อนคลาย คิดได้ ทำใจได้ ก็เลยเลิกกินยาคลายวิกตกังวลมาแต่บัดนั้น แล้วก็ไม่ปวดท้องอีกมาจนบัดนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์หรือไม่เครียด หรือสะใจ แต่ทุกข์แล้วรู้เท่าทันทุกข์ และรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ทำหน้าที่อะไรอยู่

ดังนั้น ผมอยากพูดว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112 มีความทุกข์กันทั้งสิ้น แต่คนที่ไม่ทุกข์เลยคือคนที่ยุยงส่งเสริมเด็กให้กระทำความผิดมาตรา 112 คนที่รับผลกระทบมากที่สุด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ครับ 

คงต้องถามว่า คุณอานันท์ ปันยารชุน มีความทุกข์หรือมีความสุขกับคดีมาตรา 112 บ้างแหละครับ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top