Wednesday, 26 June 2024
สุขภาพจิต

"นายกฯ" ห่วง สุขภาพจิตวัยรุ่น ย้ำ หน่วยงานเฝ้าระวัง วอนผู้ปกครองให้ปิดบังข้อมูล อย่าป้องในทางที่ผิด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมกังวลเป็นห่วงสุขภาพจิตวัยรุ่น จากสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่ามีวัยรุ่นลงมือก่อเหตุกระทำความรุนแรงต่อบุคคลที่ใกล้ชิดในครอบครัว รวมถึงการฆ่าบุพการี ซึ่งเป็นเรื่องที่หดหู่บันทอนความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างมาก กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามปัญหา ตรวจสอบสาเหตุแรงจูงใจการก่อเหตุอย่างใกล้ชิด

นายธนกร กล่าวว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่สำคัญของชีวิต การเปลี่ยนแปลงของสังคม และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัววัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นมีความเครียด และบางครั้งไม่สามารถปรับตัวให้เผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หากวัยรุ่นมีความเครียดสะสมในระดับที่มากเกินไปจะส่งผลกระทบทางด้านลบต่อปัญหาสุขภาพกาย ทำให้รู้สึกเครียด กังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง สับสนฟุ้งซ่าน เซ็ง กลัว ระแวง หงุดหงิดหรือครึกครื้น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย รู้สึกไร้คุณค่าในตนเอง หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการควบคุมตัวเอง ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ลงมือกระทำใดลงไปเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ นอกจากนี้ การคบเพื่อน รวมถึงการใช้สารเสพติด ก็มีผลต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นด้วย

‘จีน’ มุ่งสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีใน ‘กลุ่มเด็ก-วัยรุ่น’ ปกป้องเด็กจากภาวะวิตกกังวล - โรคซึมเศร้า

(12 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคสังคมของจีนดำเนินความพยายามร่วมกันเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตในหมู่เด็กและวัยรุ่นตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อนึ่ง จีนเฉลิมฉลองวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ครั้งที่ 32 ซึ่งตรงกับเมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) ภายใต้หัวข้อ ‘การส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น’

หลี่ต้าชวน เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการฯ กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (9 ต.ค.) ระบุว่ากุญแจสำคัญในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น คือการให้ความสำคัญกับการป้องกันเป็นอันดับแรก และดำเนินการป้องกันและควบคุมในสังคมวงกว้าง อีกทั้งเน้นย้ำความสำคัญในการจัดให้งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในบริการสังคม บริการสาธารณสุข และระบบประกันสังคม

ข้อมูลการสำรวจสุขภาพจิตที่ครอบคลุมวัยรุ่นมากกว่า 30,000 คน ซึ่งจัดทำโดยสถาบันจิตวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน ในปี 2022 พบว่าร้อยละ 14.8 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าในระดับต่าง ๆ โดยจำเป็นต้องมีการเข้าช่วยเหลือและการปรับเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพและทันเวลา

เจิ้งอี้ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กจากโรงพยาบาลปักกิ่ง อันติ้ง สังกัดมหาวิทยาลัยการแพทย์นครหลวง ระบุว่าเด็กและวัยรุ่นอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนาด้านสุขภาพจิตอย่างรวดเร็ว ภาวะทางจิตของพวกเขามีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางชีวภาพ สภาพจิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เย่ไห่เซิน นักจิตวิทยาคลินิกประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน ระบุว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มมีอาการทางสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยความผิดปกติทางจิต อาทิ ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า พบได้เด่นชัดในเด็กและวัยรุ่น

คณะกรรมการฯ ดำเนินมาตรการหลายรายการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งรวมถึงการออกแนวปฏิบัติส่งเสริมบริการด้านสุขภาพจิต โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อีก 16 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ ออกแผนปฏิบัติการระยะเวลา 3 ปี เพื่อปรับปรุงงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของนักเรียน

แผนดังกล่าวกำหนดความรับผิดชอบของรัฐบาลระดับต่างๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น อีกทั้งเน้นย้ำการประสานงานระหว่างหน่วยงานและความพยายามร่วมกันระหว่างสถาบันทางการแพทย์ โรงเรียน และครอบครัว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางได้จัดสรรกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนการป้องกันและการรักษาความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อย พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการนำร่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

หลี่กล่าวว่าการทดลองต่าง ๆ ถูกจัดขึ้นทั่วประเทศเพื่อเดินหน้าบริการด้านจิตวิทยาสาธารณะภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการฯ โดยปัจจุบันหมู่บ้านและชุมชนร้อยละ 96 โรงเรียนประถมและมัธยมร้อยละ 95 ตลอดจนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั้งหมดในพื้นที่นำร่องเหล่านี้ สามารถเข้าถึงบริการด้านจิตวิทยาสาธารณะได้แล้ว

อนึ่ง จีนยังทุ่มเทความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มการจัดสรรทรัพยากร การสนับสนุนทางการเงิน และการพัฒนาบุคลากรทั่วประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับการส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น

‘สธ.’ กังวล!! เยาวชนป่วย ‘ซึมเศร้า’ พุ่ง เล็งพัฒนา ‘หมอพร้อม-AI’ ช่วยคัดกรอง

(16 ม.ค. 67) กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาสุขภาพจิตคนไทย ‘เยาวชน’ มีภาวะซึมเศร้าสูง 2,200 ต่อประชากรแสนคน เผยผลสำเร็จใช้ปัญญาประดิษฐ์ DMIND เชื่อมโยงระบบ ‘หมอพร้อม’ ช่วยคัดกรองภาวะซึมเศร้าได้สะดวกรวดเร็วเกือบ 2 แสนคน พบภาวะเสี่ยงรุนแรง 8.7% เตรียมพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลสายด่วน 1323 เพื่อการดูแลกลุ่มวิกฤตเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ทันท่วงที 

ผลสำรวจพบ UK เป็นชาติที่มีความทุกข์มากสุดอันดับ 2 ของโลก สุขภาพจิตดำดิ่งตั้งแต่โควิดระบาด ยังไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัว

(11 มี.ค.67) สหราชอาณาจักรกลายเป็นชาติที่ไร้ความสุขมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก จากผลสำรวจที่จัดทำโดย Sapien Labs กองทุนประสาทวิทยาศาสตร์ โดยผลสำรวจพบ สุขภาพจิตของชาวสหราชอาณาจักรดำดิ่งนับตั้งแต่วิกฤตโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และยังไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัว

รายงานประจำปี ‘สถานะทางจิตของโลก’ Mental State of the World ของ Sapien Labs ซึ่งปีนี้จัดทำเป็นปีที่ 4 ได้ทำการประเมินสุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing) ของผู้เข้าร่วมทางอินเทอร์เน็ต 419,175 คน จาก 71 ประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ได้ให้ภาพอันมัวหมองของโลกที่พูดภาษาอังกฤษ โดยใน 71 ประเทศ บรรดาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ (Anglophone) ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย.และนิวซีแลนด์ อยู่ในลำดับล่างๆ โดยเฉพาะพลเมืองสหราชอาณาจักรที่มีความสุขมากกว่าประชาชนชาวอุซเบกิสถานเท่านั้น

ผลสำรวจจัดให้สหราชอาณาจักร ตามหลัง เยเมน 8 อันดับ และตามหลังยูเครน 12 อันดับ ในแง่ของสุขภาพจิตโดยรวมของประชาชน โดยประชาชนชาวสหราชอาณาจักรราว 36% บอกกับ Sapien Labs ว่าพวกเขาทั้ง "เป็นทุกข์และกำลังประสบปัญหา" ลดลงเพียงแค่ 0.7% จากปีที่แล้ว ครั้งที่พวกเขารั้งที่สุดท้าย ในการจัดอันดับ

เพื่อสรุปถึงสุขภาพจิตโดยรวมของประชาชนในแต่ละชาติ กองทุนแห่งนี้ได้ถามคำถามแต่ละคน 47 คำถาม เกี่ยวกับ ‘อารมณ์และทัศนะ’ ของพวกเขา อัตมโนทัศน์ด้านสังคม (Social-Self) แรงผลักดันและแรงจูงใจ การปรับตัวและความยืดหยุ่น เช่นดียวกับอื่นๆ แม้ Sapien Labs คำตอบของคำถามเหล่านี้เป็นลักษณะคำตอบแบบอัตนัย แต่รายงานต่างได้ผลสรุปออกมาคล้ายๆ กัน

ท่ามกลางมาตรฐานการดำรงชีพที่ตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักรเผยแพร่รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พบว่า ชาวสหราชอาณาจักรมีความสุขและความพึงพอใจส่วนบุคคลลดลงในช่วงขวบปีสิ้นสุดเดือนมีนาคมปีก่อน และจากรายงานที่เผยแพร่ในนิตยสารทางการแพทย์ The Lancet เมื่อเดือนที่แล้ว พบว่าประชาชน 1.8 ล้านคน ปัจจุบันกำลังรอการเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิต

ทั้งนี้ Sapien Labs ระบุว่า ระดับความผาสุกทางจิตของโลกที่พูดภาษาอังกฤษดำดิ่งลงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และภาวะตกต่ำนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่พบเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานพบว่าความผาสุกทางจิตใจลดต่ำลงในประเทศต่างๆ ที่รับประทานอาหารแปรรูปโดยทั่วไป เด็กๆ มีสมาร์ทโฟนตั้งแต่อายุยังน้อย และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเหินห่าง ซึ่งประเทศต่างๆ ที่พูดภาษาอังกฤษทำคะแนนได้ค่อนข้างน้อยในมาตรวัดทั้ง 3 นี้

สาธารณรัฐโดมินิกันรั้งอันดับสูงสุดในบัญชีประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ส่วนอันดับ 2 เป็นของศรีลังกาและแทนซาเนีย ตามมาเป็นอันดับ 3 โดยทุกประเทศที่ติดอันดับท็อปเท็นมาจากแอฟริกา เอเชีย หรือไม่ก็ละตินอเมริกา "รูปแบบดังกล่าวบ่งชี้ว่าความมั่งคั่งและเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งความผาสุกทางจิตใจ" Sapien Labs ระบุ

‘จีน’ ผุดโครงการส่งเสริม ‘สุขภาพจิต’ นักเรียนทั่วประเทศ เล็งใส่ใจเด็กที่ถูกทิ้งตามลำพัง เหตุผู้ปกครองต้องไปทำงาน

(14 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หนังสือเวียนจากกระทรวงศึกษาธิการของจีน เปิดเผยการดำเนินโครงการรณรงค์ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้และการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของนักเรียน โดยจะจัดต่อเนื่องตลอดเดือนพฤษภาคม และเป็นโครงการระยะหนึ่งเดือนโครงการแรกของจีนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้

หนังสือเวียนกำหนดให้หน่วยงานด้านการศึกษาท้องถิ่น จัดการศึกษาด้านสุขภาพจิตและโครงการแนะแนวสำหรับเด็กและนักเรียนในหลายระดับการศึกษา โดยหน่วยงานควรมุ่งให้ความใส่ใจกับสภาพจิตใจของเด็กที่ถูกทิ้งไว้ตามลำพังในพื้นที่ชนบทเนื่องจากผู้ปกครองต้องทำงานอยู่ในเมือง รวมถึงลูก ๆ ของแรงงานต่างถิ่น และจัดการให้คำปรึกษาและการบำบัดทางจิตวิทยากับเด็กกลุ่มดังกล่าวเมื่อจำเป็น

ด้านคณะครูควรเข้าร่วมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ด้านจิตวิทยา และช่วยดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนผ่านงานสอนหนังสือ

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านการศึกษาและโรงเรียนควรจัดการบรรยายและให้บริการคำปรึกษาแก่ผู้ปกครองเพื่อให้คำแนะนำเชิงวิชาการแก่พวกเขาเกี่ยวกับประเด็นนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top