Monday, 1 July 2024
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

‘สนค.’ เผย ภาคเหนือครองใจประชาชน อันดับ 1 หลังคนไทยแห่เที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น 30.28%

(13 ธ.ค. 66) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือนพฤศจิกายน 2566 ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลเฉลิมฉลอง และเป็นการสำรวจต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยพบว่า ประชาชนมีแผนท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ภาคเหนือยังเป็นจุดหมายที่ครองใจประชาชนอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ภาคกลาง และภาคใต้ และคาดว่าจะใช้จ่าย 5,001-10,000 บาท/คน/ทริป เพื่อเป็นค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก

อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านภาระทางการเงิน ระดับราคาสินค้าและบริการ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่ายและยังไม่มีแผนการท่องเที่ยว

โดยแผนการท่องเที่ยวในภาพรวม พบว่ามีผู้ตอบ 32.19% ที่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจในปี 2565 (30.28%) ซึ่งผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นพนักงานของรัฐ 43.10% พนักงานบริษัท 41.85% นักศึกษา 40.25% โดยมีรายได้ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป

นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแผนท่องเที่ยวในสัดส่วนที่มากกว่าครึ่ง คือ 52.91% ส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะกำลังซื้อที่สูงตามระดับรายได้ของครัวเรือนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่ไม่มีแผนท่องเที่ยวยังคงมีความกังวลใน 3 เรื่องหลักเช่นเดียวกับปี 2565 คือ ภาระทางการเงิน ระดับราคาสินค้าและบริการ และไม่ชอบการเดินทาง อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบบางส่วน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ พนักงานของรัฐฯ และมีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป ให้เหตุผลว่าจะมีแผนท่องเที่ยวหลังจากนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2567

“การท่องเที่ยวในประเทศช่วง 2 เดือนสุดท้ายปี 2566 มีแนวโน้มคึกคัก โดยเฉพาะในภาคเหนือ และการท่องเที่ยวภายในภูมิลำเนา ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้น หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนประชาชนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน” นายพูนพงษ์ กล่าว

‘สนค.’ ชี้ช่อง!! โอกาสไทยรับกระแส ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ มุ่งขยายตลาดส่งออก ‘โซลาร์เซลล์’ เพื่อก้าวสู่ 1 ใน 3 ผู้นำโลก

สนค.ติดตามสถานการณ์โลก พบความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็เพิ่มขึ้น ชี้เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดส่งออก และก้าวไปเป็นผู้ส่งออกติด 1 ใน 3 ของประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดในโลก จากปัจจุบันอยู่ลำดับที่ 4 พร้อมแนะภาคธุรกิจ ครัวเรือน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนพลังงาน

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก มาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 116 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025  

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research ระบุว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 และมูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย  ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต ร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

โดยไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน 55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63 เนเธอร์แลนด์ 9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11 และมาเลเซีย 5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6 โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 75) เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 11) อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 5) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 4) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022

นายพูนพงษ์กล่าวว่า จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว โดยเห็นว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป   

ปัจจุบันไทยมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือโครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมายให้ภาคธุรกิจภาคสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

‘ภูมิธรรม’ เผย ‘Pride Month’ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ยัน!! รัฐบาลพร้อมสนับสนุน ‘สมรสเท่าเทียม’

(15 มิ.ย.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยการนำของท่านนายกรัฐมนตรี ประกาศสนับสนุนทุกความหลากหลาย ได้ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชนฉลองเทศกาล Pride Month เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ LGBTQIAN+ ตลอดช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โอกาสในการขยายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME และสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าโดยการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ด้วย

ซึ่งล่าสุด ได้รับรายงานจากนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ถึงการวิเคราะห์การจัดงาน Pride Month ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและการค้า และการบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ภายใต้นโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ของรัฐบาล ที่มุ่งกระจายการท่องเที่ยวสู่ 55 จังหวัด 'เมืองน่าเที่ยว' ที่มีศักยภาพเสริมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเป็นศูนย์กลางการจัดงาน Event ระดับโลก ซึ่งการจัดงานเทศกาล Pride Month จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรของผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIAN+ (Pride Friendly Destination) ทั้งไทยและต่างชาติที่มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มมากขึ้นและเป็นกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง

ข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Ipsos ซึ่งทำการสำรวจประชาชน จำนวน 22,514 คน จาก 30 ประเทศในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566 ระบุว่า ร้อยละ 9 ของประชากรโลกที่บรรลุนิติภาวะระบุตนเองว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และประชากรไทย ร้อยละ 9 ก็ระบุตนเองว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้จำนวนประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันอาจมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่คาดการณ์ว่าประชากรที่อยู่ใน Gen Z (เกิดหลังปี 2540) มีแนวโน้มระบุตนเองเป็นผู้มีหลากหลายทางเพศมากกว่าประชากรกลุ่ม Millennial, Gen X และ Baby Boomer จึงเห็นได้ว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ นี้ถือเป็นตลาดผู้บริโภคสำคัญที่สามารถมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยได้ นอกจากนี้ ผลสำรวจของ LGBT Capital บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินยังพบว่า ในปี 2566 กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกมีกำลังซื้อสูงถึง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยมีกำลังซื้อ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้การจัดงานยังมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจการจัดอีเวนต์ ธุรกิจบริการด้านอาหาร ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านการจัดกิจกรรมภายในงานเฉลิมฉลอง อาทิ การจัดนิทรรศการแสดงสินค้า แฟชั่นโชว์การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายในงานรวมทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการขนส่ง ที่ให้บริการรองรับผู้เข้าร่วมงานก็ยังได้ประโยชน์ร่วมด้วย และช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยไทยเริ่มจัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542

และปัจจุบันมีการจัดงานอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่าง ๆ อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังชุมชนในทุกภูมิภาค สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับท้องถิ่น โดยในปี 2567 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน Pride Month มากกว่า 860,000 คน สามารถสร้าง เงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท

และเพื่อสนับสนุนให้ไทยมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 และได้ประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐกิจ ต้องเดินหน้าส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมรับและปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเสมอภาคและยั่งยืน ผ่านการสร้างระบบนิเวศที่พร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยเฉพาะการพัฒนายกระดับธุรกิจบริการของไทยให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความประทับใจและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งการนำ Soft Power ของไทยมาใช้ดึงดูดและออกแบบการจัดงานของไทยให้โดดเด่น พร้อมกับการจำหน่ายสินค้าและบริการของไทย ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ อาทิ ซีรีส์วายและซีรีส์ยูริของไทยที่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแสดงถึงความเปิดกว้าง อีกทั้งเป็นกระบอกเสียงในการสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นการส่งเสริมความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่สอดแทรกไปกับการผลักดันสินค้าและบริการชุมชนสู่ตลาดโลก และรัฐบาลเดินหน้า ผลักดัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมให้สำเร็จด้วย

'ส่งออก' ติดสปีด!! พ.ค.โต 7.2% แรงหนุนจากสินค้าเกษตร ชวนจับตา 'ทุเรียน' โตแรง!! มั่นใจครองแชมป์ตลาดจีน

(22 มิ.ย.67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.2% โดยมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน และขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 960,220 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 947,007 ล้านบาท เกินดุลการค้า 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 13,214 ล้านบาท รวม 5 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออก มูลค่า 120,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.6% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 4,298,248 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 4,542,224 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 243,976 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 19.4% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 36.5% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.8 สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้ 5 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 4.7%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 4.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 5 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2.4%

ทางด้านตลาดส่งออก ตลาดหลัก เพิ่ม 8% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.1% CLMV เพิ่ม 9.6% จีน เพิ่ม 31.2% แต่อาเซียน (5) ลด 0.6% และสหภาพยุโรป (27) ลด 5.4% ญี่ปุ่น ลด 1% ตลาดรอง เพิ่ม 5.1% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 22.4% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 14.8% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 2.7% แต่ทวีปออสเตรเลีย ลด 1.4% ตะวันออกกลาง ลด 8.1% แอฟริกา ลด 19% สหราชอาณาจักร ลด 1.5% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 11.5% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 28.1%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้ พลิกกลับมาเป็นบวกสูงถึง 128% โดยในนี้เป็นการส่งออก ทุเรียน 83,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% แสดงให้เห็นว่า ทุเรียนของไทยยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน หลังจากที่ลดลงช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า เพราะผลผลิตปีนี้ออกล่าช้า แต่พอเดือน พ.ค. ผลผลิตมีเต็มที่ ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น และคาดว่าเดือนต่อ ๆ ไปก็จะส่งออกได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีทุเรียนภาคใต้ ที่จะเข้ามาเสริม ทำให้มั่นใจว่าไทยยังคงเป็นแชมป์ส่งออกไปจีนเหนือคู่แข่งแน่นอน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกเดือน มิ.ย.2567 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และยังเป็นบวก แม้ว่าฐานเดือนเดียวกันของปี 2566 จะอยู่ในระดับสูงที่ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และตัวเลขครึ่งปี เป็นบวกแน่นอน ส่วนครึ่งปีหลัง การส่งออกยังจะเติบโตได้ดี โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การค้าโลก ปัญหาเงินเฟ้อที่เบาบางลง ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ค่าระวางเรือ ที่เป็นผลลบต่อการส่งออก แต่ตัวเลขทั้งปียังมั่นใจจะขยายตัว 1-2%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกยังคงเติบโตได้ดี แต่ภาคเอกชนมีความกังวลในเรื่องค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยค่าระวางเรือไปยุโรป เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และเส้นทางไปสหรัฐฯ ก็เพิ่ม 2 เท่าเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นต้นทุน แต่ยังประเมินส่งออกครึ่งปี 2567 น่าจะบวกได้ 2%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top