Sunday, 30 June 2024
สะพาน

สะพานขึงพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก เสร็จแล้ว 100% ถือเป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่กว้างที่สุดในประเทศไทย

(10 พ.ค. 66) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นการก่อสร้างสะพานขึงคู่ขนานสะพานพระราม 9 ในสัญญาที่ 4 มูลค่าสัญญา กว่า 6,000 ล้านบาท โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ลงนามสัญญาจ้าง กับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีระยะเวลาการก่อสร้าง 39 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2566 ถือเป็นสะพานขึงที่กว้างที่สุดในประเทศไทย

โครงการฯ มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 ฝั่งธนุบรี เป็นสะพานซึ่งคู่ขนานสะพานพระราม 9 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่อง จราจร มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร และมีความยาวของสะพาน 780 เมตร ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ สิ้นสุดโครงการฯ ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร โครงการทางพิเศษพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก มีลักษณะเป็น Double Deck เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ทำให้เพิ่มพื้นผิวจราจรแก้ปัญหาจุดตัดจุดร่วม รองรับการเดินทางจากนอกเมืองเข้าในเมืองได้เป็นอย่างดี

โดยในการดำเนินโครงการได้จัดทำแบบจำลองสะพาน Full Model สำหรับทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม ซึ่งสามารถรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด ดังนั้น สะพานจึงมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างยิ่ง และตัวสะพานมีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 เดิม ทำให้ไม่เกิดการชะลอตัวสะสมในช่วงขาขึ้นสะพาน

นอกจากสะพานคู่ขนานแห่งใหม่นี้ จะมีการออกแบบเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แล้ว ยังได้ออกแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานงานไทยกับความงดงามด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ของการก่อสร้างทางวิศวกรรม และมีการประดับไฟเพื่อเพิ่มสีสันให้แก่สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ซึ่งไฟสามารถเปลี่ยนสีให้เข้ากับบรรยากาศเทศกาลต่าง ๆ ได้ โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้ สีเหลืองทอง แสดงถึง การตั้งมั่นในศีล การตั้งมั่นในธรรม, สีขาวแสดงถึงความมีตบะ, สีฟ้าแสดงถึงความอ่อนโยน, สีชมพูแสดงถึงการให้ การบริจาค และสีส้มแสดงถึงความซื่อตรง ความไม่เบียดเบียน

บมจ. ช.การช่าง ระบุว่า การก่อสร้างสะพานแห่งนี้ได้แล้วเสร็จตามกำหนดในสัญญาซึ่งเป็นส่วนหน้าของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก ที่จะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดสะสมโดยเฉพาะช่วงสะพานพระราม 9 นับเป็นโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาจราจรได้เป็นอย่างดีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

‘กทพ.’ จ่อชง ครม.ใหม่ อนุมัติสร้างทางเชื่อมข้ามเกาะสมุย เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง คาดเริ่มปี 71 เปิดบริการปลายปี 75

(8 ส.ค. 66) ณ ห้องประชุม Fortune 2 โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย

โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ แนวคิดเบื้องต้น แนวเส้นทางเลือก รูปแบบเบื้องต้น กระบวนการ ขั้นตอน และแผนการดำเนินงาน ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และได้มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ครอบคลุมทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ ประมาณ 150 คน

เหตุผลความจำเป็นของโครงการ คือ เกาะสมุยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ‘การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้’ แต่ในปัจจุบันการเดินทางมายังเกาะสมุยสามารถเดินทางได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว

นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุยมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการมีทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้

กทพ. จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ระยะเวลา 720 วัน (24 เดือน) เมื่อแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2571 และเปิดให้บริการปลายปี พ.ศ. 2575

ในเบื้องต้น จุดเริ่มต้นโครงการฝั่งแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี แห่งที่ 2 บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา แห่งที่ 2 บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด

ทั้งนี้ มีแนวเส้นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้เชื่อมต่อจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด จำนวน 7 แนวทางเลือก สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลข่าวสารของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.samuibridge.com และทางเฟซบุ๊ก ‘โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย’ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางไลน์กลุ่ม ‘Samui bridge’

'สุชัชวีร์' ห่วงความปลอดภัย การซ่อมสะพานลาดกระบัง  ชี้!! ไม่ได้มาตรฐาน บทเรียนราคาแพงก่อนหน้าไม่ช่วยอะไร

(19 ก.ย. 66) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตนายกสภาวิศวกรและอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เปิดเผยทางเฟซบุ๊ก เอ้ สุชัชวีร์ ระบุว่า

“สะพานลาดกระบัง ยังน่ากลัวเหมือนเดิม”

การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอาจเกิดขึ้นอีก หรือนี่คือ มาตรฐานกทม.

คนหัวตะเข้-ลาดกระบัง ตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ต้องลอดผ่านสะพานที่กำลังก่อสร้างนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกวัน ทั้งที่รู้ว่าชีวิตอยู่กับอันตราย น่าเห็นใจที่สุด

จากรูป สะพานเดิมที่กำลังจะทุบ หรือจะปรับปรุง อยู่ในสภาพที่อันตรายมาก เพราะ

1.การก่อสร้างหรือรื้อถอนโครงสร้างสะพาน โดยไม่มีการค้ำยันที่เพียงพอ อันตรายมาก สังเกตจากรูป ไม่มีการค้ำยัน ทั้งที่มีการสัญจรของคนและรถ จำนวนมากทุกวัน หากคานแอ่น พังลงมา ไม่กล้าคิดว่าจะเกิดความสูญเสียมากเพียงใด

2.คานเริ่มมีรอยร้าว เพราะคานถูกสกัดอย่างหยาบ โดยไม่ระมัดระวัง เห็นสภาพแล้วแย่มาก หากของหล่นใส่คนเดินผ่าน หรือรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ไม่เจ็บก็ตายได้

3.การป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้าง ถือว่ามาตรฐานต่ำมาก ไม่ปิดกั้นบริเวณก่อสร้างให้ดี เปิดถ่างไว้ รถผ่านไปมา เสี่ยงที่สุด อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ยิ่งมองเข้ามาข้างใน ยิ่งสลด เพราะการจัดการก่อสร้างแย่มาก ไม่เป็นระเบียบ งานลักษณะนี้สะท้อนถึงความใส่ใจของผู้รับเหมา และผู้ควบคุมงานได้ จริงไหมครับ

โครงการนี้ ผมเคยเตือนมาแล้ว สุดท้ายก็เกิดเหตุ ถล่มลงมา คนตาย ผมเคยคิดว่า กทม. เจ้าของโครงการได้บทเรียนราคาแพงไปแล้ว จะใส่ใจมากกว่านี้ แต่ที่เห็น ก็แทบไม่ต่างจากเดิม เสียใจและห่วงใยจริง ๆ ผมเองก็ต้องไปส่งลูกไปโรงเรียน ต้องผ่านทางนี้ เลี่ยงไม่ได้เช่นกัน จึงขอพูดในทั้งฐานะวิศวกรอาชีพ และชาวบ้านลาดกระบังคนหนึ่ง

ทำให้ดีเถอะครับ ท่านต้องคิดว่า ชาวบ้านเปรียบเสมือนครอบครัวของเรา คงไม่มีใครอยากให้ครอบครัวเราเดือดร้อน ใช่ไหมครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top