Thursday, 4 July 2024
ศาลปกครอง

เตรียมร้องต่อ! ศรีสุวรรณ จ่อยื่น ป.ป.ช. หลัง ศาลปค.เพชรบุรี สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฟาร์มเลี้ยงไก่กำนันดังราชบุรี

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมฯ ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2, หมู่ 11, หมู่ 12 ต.รางบัว และหมู่ 10 ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ว่าได้รับความเดือดร้อน และเสียหายจากการที่นายก อบต.รางบัว และปศุสัตว์ราชบุรี ได้อนุญาตให้กำนันตำบลรางบัว และนายทุนทำฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ 2 ฟาร์มกว่า 1 แสนตัว ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคไข้หวัดนก หรือเชื้อ H5N1 และเชื้อ H5N8 จนสมาคมฯ ต้องนำชาวบ้านไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพชรบุรีเมื่อ 29 พ.ย. 62 แล้วนั้น

บัดนี้ศาลปกครองเพชรบุรีได้มีคำพิพากษาออกมาแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา โดยมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการเลี้ยงไก่ ลงวันที่ 11 ก.ย. 62 และใบอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตฟาร์มของกำนันในพื้นที่ดังกล่าว ฉบับวันที่ 10 ก.ย. 63 ที่นายกอบต.รางบัว ออกให้เสีย โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีคำสั่งออกใบอนุญาตและคำสั่งต่ออายุใบอนุญาตโดยทันที

‘ศาลปกครอง’ สั่งเพิกถอน ‘ระเบียบกกต.’ ให้ผู้สมัคร สว.ติดประกาศแนะนำตัวออกสื่อได้

(24 พ.ค. 67) ที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 67 - 15 พ.ค. 67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ ในคดีที่ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. และคดีที่ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพวก รวม 6 ราย ยื่นฟ้อง กกต.และประธาน กกต.ร้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

โดยศาล ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยมีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การทำหน้าที่ของ สว. ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก สว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่น ๆ การที่ระเบียบ กกต. การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร สว. ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเอง เพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร สว. เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนั้น ศาลเห็นว่าระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร สว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด จึงพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 67 - 15 พ.ค. 67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ 

‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นศาลปกครองฟ้อง ‘ภูมิธรรม’ ฐานละเลยหน้าที่ ปมเปิดประมูลขายข้าว 10 ปี

(31 พ.ค.67) ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เข้ายื่นศาลปกครองฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 (1)(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ในข้อหาดำเนินการประมูลขายข้าวเก่า 10 ปี ขัดต่อประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณามีคำสั่งระงับหรือให้ อคส. กระทรวงพาณิชย์ หรือ นบข. สั่งทบทวนการจัดทำ TOR ประมูลขายข้าวเก่าดังกล่าวเสียใหม่ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป และในการยื่นฟ้องในวันนี้ ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือกำหนดมาตรการอย่างใด ๆ เพื่อคุ้มครองชั่วคราวด้วยการสั่งระงับการยื่นซองและเปิดซองประมูลข้าวดังกล่าวที่จะมีขึ้นในเดือนมิ.ย.2567 นี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนไว้ก่อนด้วย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีรัฐบาลมีนโยบายนำข้าวสารเก่ามีอายุ 10 ปี จากโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโกดังจังหวัดสุรินทร์ทั้ง 2 โกดัง ปริมาณ 15,000 ตันออกมาประมูลขาย โดยไม่ให้ผู้เข้าร่วมประมูลตรวจสอบคุณภาพข้าวอีก ทั้งที่มีข้อมูลที่ขัดกันระหว่างนักวิชาการจากสถาบันวิชาการต่าง ๆ กับข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ขัดแย้งกัน เกี่ยวกับคุณภาพของข้าวเก่า 10 ปีจะนำมาบริโภคได้หรือไม่ ประชาชนไม่รู้ว่าจะเชื่อใคร

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า มีนักวิชาการ และทางมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ออกมาบอกว่า ข้าวเก่าอายุ 10 ปี ไม่มีคุณค่าทางอาหาร รวมถึงมีความเสี่ยงในเรื่องของจุลินทรีย์ เชื้อโรค สารพิษ เพราะต้องมีการอบข้าว ๆ ทุก 6 เดือนอยู่แล้ว โดนอาจจะมีสารพิษเหล่านี้เจือปนอยู่ โดยรัฐบาลมีความพยายามแก้เกม โดยส่งตัวอย่างไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พิสูจน์ แต่กรมวิทย์ฯ ได้พิสูจน์แล้วก็มีบางส่วนที่ระบุว่าข้าวมีการเจือปนของตัวมอด แมลง ต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมาะกับการนำมาเป็นอาหาร เพียงแต่ว่าสารพิษต่าง ๆ ที่มีคนวิตกนั้นไม่เกินไปกว่าที่มาตรฐานกำหนด แต่ในทางวิชาการ การหยิบสุ่มตรวจข้าวไม่มีใครรู้ว่าสุ่มจากจุดไหนของกองข้าว หรือนำมาจากแหล่งใด เพราะกรมวิทย์ฯ อยู่ที่สำนักงานของตัวเอง เขาไม่ได้ไปสุ่มตรวจที่โกดังข้าว จึงเป็นข้อสงสัยอาจนำข้าวจากที่อื่นมาให้กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจก็ได้

“การที่รัฐบาลผลักดันให้มีการออกมาจำหน่ายข้าว เพื่อให้ข้าวโครงการรับจำนำข้าวเมื่อปี 2555-2556 หมดไปอาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะเงื่อนไขทีโออาร์ไม่มีข้อจำกัดให้ผู้ที่จะประมูลได้ดำเนินการนำข้าวดังกล่าวไปขาย หรือจำหน่ายให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งการส่งออกข้าวก็จะเป็นการดิสเครดิต คุณภาพ และชื่อเสียงของข้าวไทยที่สั่งสมมานำ 10 ปี 100 ปี” นายศรีสุวรรณ กล่าว

เมื่อถามว่าประชาชนยังไม่เชื่อมั่นผลการตรวจสอบสารปนเปื้อนข้าวของรัฐบาล ควรเปิดโอกาสให้แล็บเอกชน มาร่วมตรวจสอบได้หรือไม่นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจต่อประชาชน ควรจะตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา โดยเชิญนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาหรือแล็บทดสอบต่าง ๆ มาดำเนินการตรวจสอบคุณภาพเข้า โดยเริ่มตั้งแต่การไปสุ่มเก็บตัวอย่างให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ในการสุ่มเก็บตัวอย่างกองข้าวทั้งด้านข้าง ด้านกลาง ด้านใน ต้องเก็บตัวอย่างให้ครบทุกพื้นที่ ไม่ใช่หยิบเอาตัวอย่างจากไหนมาก็ไม่รู้แล้วมาอ้างว่าเป็นข้าวมาจากโกดังข้าว ซึ่งประชาชนไม่มีใครสนใจแล้ววันนี้

‘คปภ.’ ชนะคดี ‘สินมั่นคงฯ’ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล.  กรณีสั่งห้ามยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด ‘เจอ-จ่าย-จบ’

(18 มิ.ย.67) ศาลปกครองกลาง ได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 752/2565 กรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เพื่อเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล้านบาท โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้สำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายชนะคดี ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวไม่เกินความคาดหมายของสำนักงาน คปภ. เนื่องจาก สำนักงาน คปภ. ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เว้นแต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัย

โดยมูลเหตุสำคัญในการออกคำสั่งดังกล่าวมาจากในช่วงกลางปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ขายประกันภัยโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ หรือ COVID 2 in 1 นับ 1,000,000 ฉบับ ได้ส่งหนังสือถึงลูกค้าของบริษัทฯ โดยกล่าวอ้างเหตุของการบอกเลิกสัญญาสรุปได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้เอาประกันภัยของบริษัทฯ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้เอาประกันภัยของบริษัทอื่นและกรมธรรม์อื่นว่าจะถูกบอกเลิกกรมธรรม์หรือไม่ และทำให้เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจประกันภัยในแง่ลบ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลาม เพราะถ้าหากบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดได้เป็นผลสำเร็จ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกนำไปเป็นโมเดลให้กับบริษัทประกันภัยรายอื่น ๆ สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ในลักษณะเดียวกันนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดรายอื่นทั้งหมดด้วย

สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย จึงได้อาศัยฐานอำนาจที่มีอยู่ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19 ทั้งระบบจำนวน 16 ล้านฉบับ มูลค่าสินไหมทดแทนเกือบ 100,000 ล้านบาท ให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปจนกว่าจะหมดอายุกรมธรรม์ 

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นว่าหากปล่อยให้มีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ในขณะที่สถานการณ์โควิดรุนแรงและประชาชนหาซื้อประกันภัยโควิด-19 ไม่ได้ ก็จะเป็นการปล่อยปละละเลยให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเอาเปรียบประชาชนจนถึงขั้นอาจถูกมองได้ว่าเป็นการลอยแพประชาชนไปตามยถากรรม เนื่องจากหากประชาชนรู้ว่าจะถูกยกเลิกกรมธรรม์เมื่อเกิดภัย ก็คงไม่มีใครซื้อประกันภัยอย่างแน่นอน 

ดังนั้น คำพิพากษาในคดีนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากสำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายแพ้คดี ก็อาจถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับบริษัทผู้รับประกันภัยใช้เป็นแนวทางบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ หากเห็นว่ารับประกันภัยไปแล้ว แต่มีแนวโน้มที่บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก บริษัทผู้รับประกันภัยอาจใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้แบบเหมาเข่งในทุกกรณี ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสารบบของธุรกิจประกันภัยทั่วโลกมาก่อน และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัยในภาพรวมทั้งหมด

สำนักงาน คปภ. ขอกราบขอบพระคุณศาลปกครองกลางที่ให้ความเป็นธรรมกับหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ให้ปฏิบัติตาม กฎ กติกา มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และพร้อมที่จะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและรักษาความเชื่อมั่นของระบบประกันภัยไทยไว้อย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อให้ระบบประกันภัยไทยเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top