Friday, 5 July 2024
วิทยานิพนธ์

'อ.ไชยันต์' ตามชำแหละวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล'  อ้างอิงนสพ.ฉบับ 10 พ.ย. 2490 ที่ก่อตั้งปี 2500

'อ.ไชยันต์' ตามชำแหละวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล ใจจริง' ประเด็น 'ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน' อ้างอิงนสพ.เอกราชวันที่ 10 พ.ย. 2490 แต่นสพ.เอกราชก่อตั้ง 24 มิ.ย. 2500

10 พ.ย. 64 - ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้ 

“ทุ่นดำ-ทุ่นแดง”

กรณีการกล่าวว่า "ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน" ของ ณัฐพล ใจจริง

ประเด็นสำคัญอีกประเด็น คือ “ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน” ซึ่ง ณัฐพล กล่าวว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า 'ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว' ทั้งนี้ พล.ท.กาจ กาจสงคราม ให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร”

โดย ณัฐพล อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พวกเราต้องการบอกทุกท่านเป็นอย่างแรกคือ จะเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือพิมพ์เอกราชจะลงข่าวในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ?

เนื่องจากว่า “หนังสือพิมพ์เอกราชถือกำเนิดขึ้นโดยโรงพิมพ์เอกราชได้ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2500” !

กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งปี พ.ศ. 2500 จะนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปลงข่าว 10 ปีที่แล้วก่อนการก่อตั้งได้อย่างไร!?

(ดูประวัติการก่อตั้งจาก พัชราภรณ์ ครุฑเมือง, การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เอกราช ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ ภาควิชาสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)

มิหนำซ้ำ เรายังรู้สึกแปลกใจที่ ณัฐพล ใช้ปี ค.ศ. 1947 ในการระบุปี ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เขากลับใช้ พ.ศ. ทั้งหมด

ดังนั้น การอ้างถึง “หนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947” ของ ณัฐพลจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีที่มาจากไหนกันแน่?

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่เคยปรากฏหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นในบรรณพิภพในเวลานั้น

ประกอบทั้งการใช้ปี ค.ศ. ที่ไม่ปรากฏความต่อเนื่องสม่ำเสมอ (consistency) กับการเขียนวิทยานิพนธ์ในส่วนอื่น ๆ ของณัฐพล

เราจึงสงสัยว่าณัฐพลเอาข้อมูลในส่วนนี้มาจากไหนกันแน่ ?

หรือถ้ามีจริงทำไมเขาไม่อ้างจากหลักฐานชั้นต้นเช่นในจุดอื่น ๆ ?

นอกจากนี้ ก่อนการรัฐประหาร 2490 บรรยากาศขณะนั้นก็เป็นที่รับรู้ทั่วไป ดังปรากฏข่าวลือว่าจะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแน่ ๆ ไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง

'คอลัมนิสต์ดัง' ถาม 'จุฬาฯ' ผลสอบวิทยานิพนธ์บิดเบือน 'ณัฐพล ใจจริง' ชัด แต่ทำไมทางสถาบันยังไม่จัดการถอดปริญญาจากผู้มีมลทินเสียที

(7 มี.ค. 67) จากกรณีศาลอาญายกฟ้อง อ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คดีหมิ่นประมาท นายณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ และ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งอ้างอิงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ ของนายณัฐพล ใจจริง ซึ่งกำลังถูกทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสอบสวนวิทยานิพนธ์

ล่าสุด นายสุรวิชช์ วีรวรรณ คอลัมนิสต์ประจำเครือผู้จัดการ แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Surawich Verawan ระบุว่า แว่วว่าผลสอบวิทยานิพนธ์ผิดจริง แต่ไม่ถอนปริญญาเพราะไม่มีระเบียบ

การสอบสวนวิทยานิพนธ์ที่บิดเบือนเสร็จสิ้นไปนานแล้ว แต่ถึงวันนี้จุฬาก็ยังเก็บงำอยู่

นิสิตเก่าจุฬาฯ ร่อนหนังสือถึงอธิการบดีฯ จุฬาฯ ถาม 6 ข้อคืบหน้าถอดถอนวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล ใจจริง'

(8 มี.ค. 67) นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 ทำหนังสือถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อหาดังนี้…

เรียน อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์  

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567 ศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีนายณัฐพล ใจจริง ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ได้วิพากษ์วิจารณ์นายณัฐพล ว่าใช้ข้อมูลที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าคณะกรรมการสอบสวนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญและเป็นกลาง ขึ้นมาตรวจสอบวิทยานิพนธ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้ส่งผลการสอบสวนให้ท่านประธานคณะกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว เรื่องดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาฯ ได้มีมติรับรองผลการสอบสวนวิทยานิพนธ์แล้ว

บัดนี้เวลาได้ผ่านไป 3 ปี จนศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แล้ว แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่มีการประกาศผลการสอบสวนออกมาเพื่อเปิดเผยให้สังคมที่กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากได้รับทราบ ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ การเก็บเรื่องที่สำคัญมากเช่นนี้อย่างเงียบโดยไม่ชี้แจงแสดงผล และการที่มีข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ทำให้มีผู้กล่าวถึงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในทางที่เสียหาย ข้าพเจ้าในนามนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกติฉินนินทา แต่เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนของชาติเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ผิด ซึ่งจะมีผลลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรสำเหนียกให้มาก

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อสืบสานพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงประดิษฐานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุถึงภารกิจหลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมี "คุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการโดยยึดหลัก ความมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการ มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การนําความรู้ที่ถูกต้องสู่สังคม ความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคม ตลอดจนประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ตามนโยบายการบริหารงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด ‘Open to Transparency’

ข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนท่านอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้ :

1. ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยมติของคณะกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของนายณัฐพล ใจจริง เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491 - 2500)’ ให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนทราบ

2. ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง หลังสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับรองมติดังกล่าว

3. ถ้ายังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการเมื่อใด และอย่างไร

4. ถ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ข้าพเจ้าขอทราบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะ ‘ถอดถอนวิทยานิพนธ์’ ของนายณัฐพล ใจจริง แทนได้หรือไม่ เนื่องจากการถอดถอนวิทยานิพนธ์ก็น่าจะมีผลต่อวิทยฐานะของของนายณัฐพล ใจจริง โดยไม่ต้องถอดถอนปริญญา ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘ถอดถอนวิทยานิพนธ์’ นั้นโดยเร็วที่สุด แล้วแจ้งให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนรับทราบด้วย 

5. ถ้าข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ เป็นความจริง ข้าพเจ้าขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรับปรุงระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้รัดกุมและครอบคลุมบทลงโทษเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

6. ขอทราบนามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอคำตอบทุกข้อภายใน 15 วัน ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. 2540

ขอแสดงความนับถือ
นางวิรังรอง ทัพพะรังสี            
นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30
หมายเหตุ : หนังสือนี้ทำ 2 ฉบับ
ส่งถึงอธิการบดี 1 ฉบับ
และสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ฉบับ
มีเนื้อหาข้อความตรงกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top