Friday, 28 June 2024
วันครู

เปิดคำ 'พล.อ.เกษม' ครูผู้สอนนายกฯ สมัย จปร. ยก ‘บิ๊กตู่’ มี ‘คุณธรรม-จริยธรรม-ความซื่อสัตย์’

นายกฯ ร่วมพิธีงานวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี 2566 คารวะครูอาวุโส พร้อมมอบโล่รางวัลแด่ครูของแผ่นดิน เชื่อมั่นพลังของครู คือหัวใจการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา ขอร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาการเรียนรู้เด็กเพื่ออนาคตของประเทศ

(16 ม.ค. 66) ณ หอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีงานวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี พ.ศ. 2566 เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดี หรือทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนและเป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม ภายใต้แนวคิด ‘พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา’ (Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality) โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะครู และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสักการะปฐมบูรพาจารย์ฯ แท่นที่บูชาศีรษะครู จำนวน 7 องค์ ตามลำดับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีสักการะพระรัตนตรัย ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคารวะครูอาวุโส พลเอก เกษม นภาสวัสดิ์ อดีตครูผู้สอนนายกรัฐมนตรี วิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และรับชมวีดิทัศน์เรื่อง ‘ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต’ ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีมอบโล่รางวัล จำนวน 17 รางวัล ประกอบด้วย 1) รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2566 จำนวน 8 ราย และ 2) รางวัลคุรุสภา ประจำปี 2565 ‘ระดับดีเด่น’ จำนวน 9 ราย

นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศรัยเนื่องในวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ว่า การได้เข้าร่วมสักการะปฐมบูรพาจารย์ คารวะครูอาวุโส นับเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูผู้มีพระคุณ ผู้คอยเสริมสร้างภูมิปัญญาให้แก่ศิษย์ด้วยความอุตสาหะ อดทน เสียสละ ด้วยความหวังให้ลูกศิษย์มีความเจริญก้าวหน้าด้านสติปัญญา มีจิตใจที่มีคุณธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ซึ่งนับว่าเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของครูในการสร้างสรรค์ศิษย์ให้มีคุณลักษณะที่ดี เป็นพลเมืองดี และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของสังคม และเชื่อมั่นว่าพลังของครูคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการสร้างและการพัฒนาคนเพื่ออนาคตของประเทศ ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษานับเป็นผู้มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นผู้นำการเรียนรู้ กระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน โดยเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาวที่คุณครูทุกคนจะต้องร่วมกันแต่งแต้มถักทอให้สวยงาม ทำให้เด็กสนใจการศึกษา สนใจการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปตามลำดับ ทั้งยังต้องเป็นผู้เติมเต็มความรู้และพัฒนาผู้เรียนให้มีปัญญาที่งอกงาม พร้อมจุดประกายให้ผู้เรียนรู้จักคิดเป็น แก้ไขปัญหาได้ มีหลักคิดที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่ แบ่งปัน และมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ อันจะทำให้ผู้เรียนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพ และมีสมรรถนะในการปรับตัวได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบริบททางสังคมในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วควบคู่กับความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ดังนั้นครูและผู้บริหารการศึกษาจึงต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางการจัดการศึกษาให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้แก่...

1) เน้นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีสมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ มีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน และทักษะการใช้ชีวิตในโลกอนาคต รวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม ครอบครัว รู้รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2) ส่งเสริมการสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้นในอนาคต

3) การจัดสถานการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนได้รู้จักรากเหง้าความเป็นมาของชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคนไทย โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องออกแบบจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจ หวงแหนแผ่นดินเกิด และเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น รวมทั้งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ปลูกฝังความเป็นไทย ความรักและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติประวัติศาสตร์ชุมชน ปลูกฝังจิตสำนึกตอบแทนคุณแผ่นดินและพัฒนาบ้านเกิดในอนาคต และต้องอยู่บนหลักการที่ทำให้นักเรียนสามารถสร้างความรู้ขึ้นเองด้วยหลักของเหตุและผล

4) การยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความปรารถนาและมุ่งมั่นมากที่สุด โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะต้องพุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียน และต้องใช้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นตัวตั้ง จากนั้นครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษาจะต้องนำปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนมาเป็น “ประเด็นท้าทาย” แล้วลงมือทำงานร่วมกันในลักษณะของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพภายใต้กระบวนการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพนักเรียน นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการนำความสำเร็จในการแก้ปัญหามาเป็นตัวชี้วัดผลปฏิบัติงานและความเจริญก้าวหน้าในเส้นทางวิชาชีพของครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย

'นายกฯ' มอบคำขวัญวันครู ปี 2567 "ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์"

(9 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X มอบคำขวัญวันครู ประจำปี 2567 ว่า...

'ครู' คือผู้นำความรู้ทั้งจากทั้งในตำรา และจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาถ่ายทอดให้กับศิษย์ งานของครูในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จึงไม่ใช่แค่การสอนหนังสือให้ความรู้ตามตำรา แต่ครูยังต้องใส่ใจสอนวิธีคิด และวิธีจัดการกับข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพื่อให้ศิษย์สามารถจัดระเบียบความคิดได้ รวมถึงเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างมีคุณภาพ

คำว่าครูสำหรับผม คือ ผู้สร้าง และ ผู้ให้ ครับ 'สร้าง' คือ สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับสังคม 'ให้' คือ ให้หลักคิดแก่ผู้คนเพื่อนำไปต่อยอดได้ 

ดังคำขวัญวันครูแด่ครูทุกท่านที่เสียสละดังนี้ครับ... “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์”

16 มกราคม 'วันครู' รำลึกบริบทแห่งอาชีพแสนพิเศษ แม้เลิกเป็นนักเรียน ก็ยังขอเคารพและเรียก 'ครู' ตลอดไป

(16 ม.ค.67) วันครู มีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 จากการที่ราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2488 ประกาศพระราชบัญญัติครูขึ้น ซึ่งได้ให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการโดยเรียกว่า ‘คุรุสภา’ ซึ่งให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นในเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไป เพื่อที่ทางกระทรวงศึกษาธิการจะสามารถจัดสวัสดิการให้แก่ครูให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครูอีกด้วย

มาในปี พ.ศ.2499 ที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ว่าตนมีความเห็นว่าควรมีสักวันหนึ่งที่ลูกศิษย์จะได้แสดงความเคารพสักการะต่อครูในฐานะผู้มีพระคุณ เป็นที่มาให้เกิดการพิจารณาและมีมติเห็นควร ให้มี ‘วันครู’ ขึ้น นำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น ‘วันครู’ โดยเลือกวันที่ได้มีประกาศพระราชบัญญัติครู ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 หลังจากนั้นกระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว 

งานวันครูจึงได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรีฑาสถานแห่งชาติ ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 เป็นวันที่ศิษย์ทั้งหลายได้มาร่วมระลึกนึกถึงคุณครูที่สะสมสั่งสอนตัวเองและเป็นแม่พิมพ์ในการใช้ความรู้ประกอบสัมมาชีพเรื่อยมานั่นเอง

ในปีนี้วันครูเวียนมาครบอีก 1 ครั้ง ก็ต้องขอบคุณครูที่มอบความรู้และประสบการณ์ให้กับเรา ทำให้เราก้าวผ่านความยากลำบากในบางเรื่องมาได้ ขอบคุณครูทุกท่าน เชื่อว่า ครู คืออาชีพพิเศษ เพราะต่อให้ครูไม่ได้เป็นครูแล้วนักเรียนก็ยังเคารพและเรียนครูว่า ‘ครู’ ตลอดไป 

‘สุนัขตำรวจ K-9’ ร่วมรำลึกพระคุณครู เรียงแถวนำพานดอกไม้ไหว้ครูฝึก

(16 ม.ค.67) เป็นวันครูแห่งชาติ ศูนย์ฝึกสุนัขตำรวจ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้โพสต์ภาพสุดอบอุ่น สุนัขตำรวจ K-9 เข้าแถวมอบพวงมาลัย ไหว้ครูฝึก

โดยมีแคปชันน่ารักๆ ว่า “16 ม.ค.คือวันครู แต่ I Miss You คือ ทุกวัน ‘น้อมระลึกถึงพระคุณครู’ #ครูฝึก K-9 #K9Police” ภายหลังที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ได้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ลูกศิษย์ของครูน่ารักมาก, น่ารักครับ

สำหรับ K9 นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีกองกำกับการสุนัขตำรวจ (กก.สข.) เรียกกันว่า K9 เล่นคำมาจากคำว่า Canine ที่แปลว่าสุนัข ภายใต้สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) เป็นเหมือนโรงเรียนฝึกสุนัขตำรวจ

บัดดี้สี่ขาผู้ซื่อสัตย์ของตำรวจเหล่านี้มักมีบทบาทค้นหาวัตถุระเบิดหรือยาเสพติด เนื่องจากมีสัญชาตญาณการค้นหาดีกว่ามนุษย์ โดยเฉพาะด้านการรับกลิ่น และการได้ยิน ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น อาชญากรรมมีความซับซ้อนได้พัฒนารูปแบบการหลอกลวง โดยเฉพาะการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก สร้างรอยแผลบาดลึกในจิตใจของเหยื่อเป็นอย่างมาก

‘เด็กตรัง’ ผุดไอเดียพานไหว้ครู ‘ขนม-ลูกอม-เหนียวไก่ทอด’ เสร็จกิจกรรมแบ่งกันกิน - มีความสุขถ้วนหน้า โดยไม่เสียของ

(13 มิ.ย. 67) โรงเรียนเทศบาลวัดตรังคภูมิพุทธาวาส สังกัดเทศบาลเมืองกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 123 คน ภายใต้การนำของ นายกาลสิษฐ์ เพชรคง ผู้อำนวยการโรงเรียน และนายชาตรี บุญมี หรือ ครูแว่นดำ ครูผู้พิการทางการมองเห็นชื่อดัง ในฐานะรองผู้อำนวยการโรงเรียน

โดยได้จัดให้มีพิธีไหว้ครู ประจำปีการศึกษา 2567 ขึ้น เพื่อให้เด็ก ๆ ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ และประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติ และประชาชนเป็นอันมาก ด้วยการสั่งสอนศิษย์ หรือถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ มีคุณธรรม และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อสังคมในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้พิธีไหว้ครูของปีนี้ มีความแปลกแตกต่างไปจากทุกปี ดังนั้น นายกาลสิษฐ์ จึงคิดใหม่ ทำใหม่ ในยุคใหม่ นอกจากเหนือไปจากการเจิมหนังสือ หรือตำราเรียนแล้ว ยังเจิมไอแพด และสมาร์ตโฟนด้วย ถือว่าเป็นสิ่งที่ลูกศิษย์สามารถเข้าไปหาความรู้ได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังให้จัดทำพานไหว้ครูแห่งความสุข ด้วยวัสดุอะไรก็ได้ และความหมายก็ให้คิดกันมาเอง จนทำให้เกิดการทำพานไหว้ครูที่สร้างสรรค์มากมาย เช่น พานข้าวเหนียวไก่ทอด พานเยลลี่ พานขนม พานคุกกี้ พานลูกอม พานตัวการ์ตูน ซึ่งหลังทำพิธีไหว้ครูเสร็จ สามารถกินพานไหว้ครูได้เลย ทำให้นักเรียนมีความสุขกันทุกคน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top