Thursday, 4 July 2024
ลดอุบัติเหตุ

เพชรบุรี - ห่วงใย!! แจกหมวกนิรภัย ช่วยลดอุบัติเหตุปีใหม่ 2565

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางจันทิมา มีโส ผู้อำนวยการภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ภาค 7 นางสาวพนอจิต คลอวุฒิเสถียร ผอ.คปภ.จ.เพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ร่วมรับมอบหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน๊อค ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี

นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ได้กล่าวแสดงความขอบคุณน้ำใจแห่งความห่วงใย จาก คปภ. ซึ่งในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกังวลมาก ๆ ก็คือความปลอดภัยทางถนน ทั้งการกำหนดมาตรการและรณรงค์ให้ประชาชนขับขี่โดยสวมหมวกกันน็อคเป็นหลัก ไม่ใช้ความเร็วสูง โดยจะได้นำหมวกกันน็อคสำหรับเด็กจำนวน 100 ใบ ส่งต่อให้กับโรงเรียนอนุบาลที่เป็นเด็กขนาดเล็ก ส่วนหมวกกันน๊อคสำหรับผู้ใหญ่ 100 ใบ จะนำไปไว้ที่จุดตรวจต่าง ๆ ซึ่งจะมีรถสัญจรไปมาค่อนข้างมาก ซึ่งหากช่วง 7 วันนี้มีพี่น้องประชาชนขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค เราจะเรียกมาเตือนแล้วมอบหมวกกันน็อคให้ ซึ่งถ้าพี่น้องประชาชนสวมหมวกกันน็อคก็จะช่วยลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์ ขับขี่อย่างปลอดภัย ในช่วง 7 วันอันตรายนี้

 

'บิ๊กป้อม' กำชับมาตรการป้องกัน-ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น เพื่อลดการบาดเจ็บ-เสียชีวิต

พลเอก ประวิตร เน้นมาตรการเชิงรุกในการจัดการแก้ไขปัญหาป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ย้ำบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการสร้างจิตสำนึก และมีความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมเพิ่มจุดตรวจถนนสายรอง 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (25 ตุลาคม 2565) ว่าคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติเห็นชอบแผนบูรณาการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2566 โดยให้วิเคราะห์จุดเกิดเหตุซ้ำซาก ทั้งช่วงเทศกาล และไม่ใช่เทศกาล เพื่อนำมาวางแผน ป้องกันความเสี่ยงเชิงรุก และใช้ระบบ War Room ช่วยในการติดตาม ประเมินผล 

รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยกวดขันการกระทำที่ผิดวินัยจราจรอย่างสม่ำเสมอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาสาสมัครต่างๆ เตรียมความพร้อมล่วงหน้า และแจ้งให้หน่วยงานในสังกัด ที่เกี่ยวข้องทราบ รวมถึงให้ส่งเสริมการสร้าง 'วัฒนธรรมความปลอดภัย' ตลอดจนให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่กับการสร้างความตระหนักให้มีจิตสำนึก และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับและการไม่สวมหมวกนิรภัย โดยเพิ่มจุดตรวจในถนนสายรอง เน้น ในช่วงเวลา 16.00 -  20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 - 2570 เน้นมาตรการเชิงรุกในการจัดการและแก้ไขปัจจัยเสี่ยง ด้านคน ถนน และยานพาหนะ พร้อมทั้งเร่งรัดมาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่อำเภอที่มีจำนวน ผู้เสียชีวิตจากการไม่สวมหมวกนิรภัยสูง ตลอดจนมุ่งเน้นมาตรการสร้างการรับรู้การบังคับใช้กฎหมาย อย่างเข้มงวด

ผู้ช่วย ผบ.ตร. ห่วงใยประชาชน ติดตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เผยสถิติ 2 วัน ควบคุมเข้มข้น เทียบค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเป้าหมาย กำชับทุกหน่วยเร่งอำนวยความสะดวกการจราจร ลดการสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์

วันนี้ ที่ตำรวจภูธรภาค 5 พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.(มค) ได้ให้ความสำคัญในการอำนวย  ความสะดวกการจราจร การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนและสังคม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศูนย์ฯ ประชุม  ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 เพื่อติดตามข้อมูลและสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ข้อมูลและสถิติอุบัติเหตุใหญ่ การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก การตั้งจุดตรวจ แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่ ตลอดจนสภาพการจราจรและปริมาณรถในพื้นที่ โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทน บช.น., ภ.1 - 9 และ บช.ก. เข้าร่วมประชุม 

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า สถิติสะสมในห้วง 2 วัน ควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 12 เม.ย.66 มีการเกิดอุบัติเหตุ  618 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 75 ครั้ง (+13.81%) โดยลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี 107 ครั้ง  (-14.76%) สถิติผู้เสียชีวิต 63 ราย ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 13 ราย (-17.11%) และลดลงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี  26 ราย (-29.21%) สถิติผู้บาดเจ็บ 618 คน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของสงกรานต์ปี 65 จำนวน 84 ราย (+15.73%) โดยลดลง กว่าค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี จำนวน 112 คน (- 15.34%) จำนวนอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ 25 ครั้ง เสียชีวิตสูงสุด ในพื้นที่ กทม. 7 ราย บาดเจ็บสูงสุดในพื้นที่ จว.เชียงใหม่  27 ราย โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ร้อยละ 38.51 และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสูงสุดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 57.71 โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นในถนนทางหลวงมากที่สุด ร้อยละ 41.59 สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.75 ซี่งช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือช่วง 19.00 - 20.00 น. โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้บังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก รวม 143,436 ราย ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 54,135 ราย ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 31,913 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 28,093 ราย ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 54,135 ราย เมาแล้วขับ 5,858 ราย ตามลำดับ

พล.ต.ท.ประจวบฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติตามแนวทางข้อสั่งการของ ผบ.ตร. โดยเคร่งครัด และขอชมเชยการปฏิบัติงานของทุกหน่วยในการป้องกันและลดอุบัติเหตุในห้วง 2 วันของช่วง 7 วัน ควบคุมเข้มข้น แม้ว่าสถิติ   การเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บ จะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่สถิติเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ยังอยู่ในเกณฑ์ค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถิติเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ.2563 - 2565) ดังนั้น จังหวัดใดที่มีแนวโน้มสถิติที่สูง ให้ปรับแผนการปฏิบัติเพิ่มเติมให้สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม เพื่อให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ลดลงตามเกณฑ์ที่กำหนด การตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจรและการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน SOP ที่ ตร. กำหนด ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ กล้อง CCTV ป้ายข้อความ การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครจราจร มีการจัดเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และให้เน้นกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต เช่น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถในขณะเมาสุรา และขับรถด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด

ขอนแก่น-มข. มอบหมวกกันน็อกฟรีให้ นศ. ดัน “สวมหมวก 100% ลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์”

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น จัดพิธีมอบหมวกนิรภัยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น การดำเนินงาน “จังหวัดขอนแก่นขับขี่ปลอดภัย  365 วัน” บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันพฤหัสบดีที่  28  กันยายน 2566

ในการนี้ รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น โดยระบุว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ขับเคลื่อนงานเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมาโดยตลอด  ทั้งในส่วนของการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้  การกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัย  เสริมสร้างวัฒนธรรมในการขับขี่อย่างปลอดภัย ให้กับนักศึกษาและบุคลากร  รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางการจราจร ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง
 
การที่จังหวัดขอนแก่น โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ประกาศวาระ “จังหวัดขอนแก่นขับขี่ปลอดภัย 365 วัน” และนำหมวกนิรภัย จำนวน 500 ใบมาส่งมอบให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันนี้ นับเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดพฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์อย่างปลอดภัย  เป็นส่วนผลักดันที่สำคัญ ในการลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บ ลดความสูญเสียในชีวิต และทรัพย์สินของนักศึกษา ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติร่วมในพิธีมอบหมวกนิรภัยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และขอต้อนรับทุกท่าน ด้วยความยินดียิ่ง
 

ขณะที่ รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ กล่าวรายงานว่า ตามที่จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศวาระ จังหวัดขอนแก่นขับขี่ปลอดภัย 365 วัน การสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น นักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุระหว่าง 15 – 22 ปีนั้น สอดคล้องกับนโยบายด้านความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้จัดทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อส่งเสริมป้องกัน รวมถึงการสร้างความตระหนักในการป้องกันการบาดเจ็บจากการใช้รถใช้ถนนของนักศึกษา และบุคลากรมาโดยตลอด

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สำรวจความต้องการหมวกนิรภัยของนักศึกษาจากทุกคณะ โดยมีนักศึกษาแจ้งความประสงค์ จำนวน 574 คน โดยจังหวัดขอนแก่นได้สนับสนุนหมวกนิรภัยเพื่อมอบให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 500 ใบ และในวันนี้มีตัวแทนนักศึกษาเข้ารับมอบหมวกนิรภัยจำนวน  90 คน
 
ด้าน นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานในพิธี กล่าวว่า ทางจังหวัดจึงได้ดำเนินงาน “จังหวัดขอนแก่นขับขี่ปลอดภัย 365 วัน” มาต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยนอกจากการให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายจราจรแล้ว จังหวัดขอนแก่นยังดำเนินการแจกหมวกนิรภัยซึ่งเป็นหนึ่งในการป้องกันอุบัติเหตุ โดยตลอด 2 เดือนที่ทำโครงการมาพบว่า สถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงจริงถึงครึ่งหนึ่ง และคาดว่าในเดือนสุดท้ายของโครงการจะมีตัวเลขลดลงต่อไป “หากขับขี่แล้วสวมหมวกนิรภัยอย่างน้อยจะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากหนักเป็นเบา ป้องกันการสูญเสีย เพราะเรื่องอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หวังว่าหมวกนิรภัยนี้จะช่วยปกป้องชีวิตของน้อง ๆ ให้ขับขี่ได้อย่างปลอดภัย ขอบคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ร่วมผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นกลายเป็นจังหวัดสวมหมวกกันน็อก 100%”
 
ภายในงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ยังได้เป็นเกียรติมอบรางวัลแก่ นายวิทวัส นามคำมูล และนายนพพล ช่างชัย นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 2 ผู้ได้รับรางวัลจากการประกวดโปสเตอร์รณรงค์และประชาสัมพันธ์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้หัวข้อ “การสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์” จัดโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย 

นายวิทวัส และ นายนพพล กล่าวว่า หลังจากอาจารย์มาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการนี้ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมประกวด และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ทั้งเรื่องเทคนิคการจัดวางและการออกแบบโปสเตอร์จนได้รับรางวัลกลับมา ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลมีจุดเด่น คือ การออกแบบ Pop art ผสมผสานกับ Isometric ส่วนอีกชิ้นงานมีจุดเด่น คือ การใช้สี โดยเลือกสีแดงและเขียว เพื่อเป็นการสื่อสารเกี่ยวกับจราจรและเป็นเฉดสีที่โดดเด่นด้วย “หวังว่าโปสเตอร์ของพวกผมจะทำให้คนเล็งเห็นว่าการสวมหมวกนิรภัยเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นความปลอดภัยของชีวิตทุกคน”
 
จากนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้บริหารจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมมอบหมวกนิรภัยให้แก่ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยตัวแทนนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ชั้นปีที่ 3 ระบุว่า ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นนักศึกษาใช้รถมอเตอร์ไซค์เยอะ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ฝนตก หากมีอุปกรณ์ที่มาช่วยป้องกันอุบัติเหตุให้เราได้แบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งนอกจากแจกหมวกกันน็อกแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรและอบรมเกี่ยวกับใบขับขี่มาอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักศึกษาจริง ๆ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมกำชับตำรวจกวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และอำนวยความสะดวกการจราจรให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย

วันนี้ (10 เมษายน 2567) เวลา 13.30 น. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ดังกล่าวจะมีการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 - 18 เมษายน 2567 ในการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทุกมิติ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายและสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยกำหนดให้มีการประชุมติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุและการจราจรทุกวันในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น วันที่ 11-17 เมษายน 2567

พล.ต.ท.กรไชยฯ เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยและได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ในห้วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 พร้อมกำชับมาตรการกวดขันผู้ขับขี่รถที่ฝ่าฝืนกฎจราจรก่อให้เกิดอุบัติเหตุ โดยในที่ประชุมได้มีการเน้นย้ำเรื่องการวางแผนบริหารการจราจร เพื่อทำให้การจราจรเกิดความคล่องตัว พร้อมวางแนวทางป้องกันอุบัติเหตุและบังคับกฎหมายอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในการคืนพื้นผิวจราจรก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ , การตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ , กรณีเกิดอุบัติเหตุสำคัญต้องจัดการบริหารเหตุการณ์ให้เกิดความเรียบร้อย อีกทั้งวางมาตรการห้ามรถบรรทุกวิ่งในช่วงประชาชนเดินทางไป-กลับ แต่หากมีความจำเป็นให้ขออนุญาตกับตำรวจทางหลวง ตลอดจนอำนวยความสะดวกการจราจรในสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจราจร ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการจราจรให้แก่ประชาชน

สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางสูงสุดในช่วงวันที่ 11 - 12 เมษายน 2567 แต่เมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกันบ้างแล้ว คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับมากที่สุดในวันที่ 16 - 17 เมษายนนี้ เบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับภูมิลำเนา มากกว่าช่วงสงกรานต์ปี 2566 ประมาณร้อยละ 3.1

นอกจากนี้ ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้พร้อมก่อนออกเดินทาง และตรวจสอบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างเส้นทางก่อนการเดินทาง เพื่อการเดินทางโดยสวัสดิภาพ ปลอดภัย ไร้กังวล ซึ่งตำรวจทางหลวงได้รวบรวมเส้นทางสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยพี่น้องประชาชนสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อดูและวางแผนการเดินทางได้ และหากรถยนต์ไฟฟ้าของพี่น้องประชาชนเกิดปัญหาระหว่างการเดินทาง สามารถขอความช่วยเหลือกับตำรวจทางหลวง ได้ที่สายด่วน 1193

พล.ต.ท.กรไชยฯ กล่าวด้วยว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้อยากให้ประชาชนเดินทางกลับอย่างปลอดภัยและเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด กำชับให้ตำรวจกวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะ 10 ข้อหาหลัก ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่ดำเนินการมานั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการจราจรให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดกฎจราจรจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายบนท้องถนน ทั้งนี้ หากพบอุบัติเหตุ หรือรถเสีย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 หรือ สายด่วนกรมทางหลวง 1586 หรือ สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง

'พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วย ผบ.ตร.' ลงพื้นที่ตรวจสอบ ร่วมสังเกตการณ์ และเร่งแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร รองรับการเปิดภาคเรียน มุ่งลดอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชน

ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว โดยได้รับฟังสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการจราจร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหารถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่ และรถสามล้อ จอดกีดขวางส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้โดยสาร และเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ประกอบกับเป็นช่วงของการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 และเข้าสู่ฤดูฝนในบางพื้นที่อาจเกิดผลกระทบในด้านการจราจร

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2567) เวลา 17.00 น. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และคณะ ลงพื้นที่ตรวจการจราจรบริเวณแยกปทุมวัน แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังแนวทางการดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดเป็นเวลานาน และเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนการศึกษาของโรงเรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายในสัปดาห์นี้เป็นต้นไป ตามนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) ในการอำนวยความสะดวกการจราจรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด เช่น พื้นที่ที่มีรถรับจ้างสาธารณะ รถขนส่งจอดกีดขวางพื้นผิวการจราจร และเส้นทางที่มีการจราจรติดขัดเป็นประจำในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน เพื่อรองรับช่วงการเปิดการศึกษาและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดแบบต่อเนื่อง

โดย พล.ต.ท.กรไชย ฯ ได้ดูการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า MBK และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และเป็นสถานที่ตั้งของสถานศึกษาหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียง อยู่ในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น โดยจะประเมินสภาพการจราจรในช่วงเปิดภาคเทอม ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญส่งผลกระทบกับปัญหาการจราจรในภาพรวมทั้งระบบ 

พล.ต.ท.กรไชย ฯ กล่าวว่า วันนี้ได้สั่งการให้แต่ละพื้นที่วิเคราะห์สถานการณ์การจราจรในห้วงการเปิดภาคการศึกษาวันแรกทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติที่หน่วยปฏิบัติมีแนวทางดำเนินการอยู่แล้ว แต่อาจมีปัจจัยด้านอื่นที่ส่งผลทางอ้อม เช่น ปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น สภาพอากาศ ฝนตก น้ำท่วมขัง หรือพื้นผิวการจราจรที่ซ่อมสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกว่า 4,000 นาย คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณหน้าสถานศึกษา ประสานการทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อรับรถเข้าเมือง เร่งระบายออกเมือง และบริหารสัญญาณไฟจราจรให้มีความสัมพันธ์กับปริมาณรถ ซึ่งสภาพการจราจรอาจจะมีติดขัดบ้างตามหน้าสถานศึกษาที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่น โดยกำชับความร่วมมือระหว่างตำรวจ ผู้ปกครอง และสถานศึกษา ในการบริหารจัดจุดรับส่งนักเรียน-นักศึกษาอย่างเป็นระบบ มีการนำจิตอาสาจราจรมาช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ใช้รถใช้ถนน บริเวณหน้าโรงเรียน โดยเฉพาะบริเวณทางข้ามทางม้าลาย พร้อมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะการใช้อุปกรณ์นิรภัยในการขับขี่ ได้แก่ การสวมหมวกนิรภัย การรัดเข็มขัดนิรภัย ตลอดจนขอความร่วมมือกับโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ในการใช้มาตรการองค์กร เพื่อให้ผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา ปฏิบัติตามกฎจราจร ทั้งภายในและบริเวณโดยรอบพื้นที่ ทั้งนี้ ตำรวจจราจรได้มีการประสานงานกับสถานีตำรวจนครบาลข้างเคียง ให้ปล่อยสัญญาณไฟจราจรให้สัมพันธ์กัน และจะได้มีการประชุมเพื่อปรับแผนการอำนวยจราจรในภาพรวมทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ที่มีสภาพการจราจรหนาแน่นคล้ายกับพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ดียิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ได้กำชับในการเพิ่มมาตรการกวดขันวินัยจราจรและอำนวยความสะดวก ขนส่งสาธารณะ การบริหารจัดการจราจรในภาพรวม รวมทั้งการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ พร้อมประสานงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มในจุดที่เป็นปัญหา เพื่อเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนได้สั่งห้ามไม่ให้มีการเรียกรับประโยชน์โดยมิชอบเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีโทษทางวินัยและอาญาเป็นตัวกำกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว

นอกจากนี้ พล.ต.ท.กรไชย ฯ กล่าวว่า ขอฝากถึงผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ รถประจำทาง ขอให้การจอดรับส่งผู้โดยสารในจุดที่กำหนด เพื่อไม่ให้กระทบกับปัญหาจราจรโดยรวม และฝากถึงผู้ขับรถโดยสารแท็กซี่ หรือรถตุ๊กตุ๊ก ว่า การเรียกเก็บค่าโดยสารขอให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม เป็นธรรมกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ หากมีมิเตอร์ขอให้กดมิเตอร์เพื่อให้ราคาอยู่ในอัตราที่กำหนดในทุกกรณี เพื่อร่วมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top