Tuesday, 2 July 2024
ระบบสำรองน้ำมันสร้างชาติ

📌'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ราคาเชื้อเพลิงพลังงานของไทยต้องเป็นธรรม 'SPR' คือ คำตอบสุดท้ายของ 'พีระพันธุ์' คนไทยจะได้อะไร❓️

ปัญหาเกี่ยวกับราคาพลังงานของบ้านเรานั้นมีมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีมาแล้ว ทั้งอย่างสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อชาติโดยรวมอย่างกว้างขวางในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนกระทั่งเรื่องของความมั่นคง ฯลฯ และปัญหาราคาพลังงานยิ่งส่งผลกระทบมากยิ่งขี้นเมื่อภาครัฐต้องเริ่มวางมือจากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลดลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้วให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ แทน 

ทั้งยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาทำหน้าที่กำกับดูแลแทน และด้วยความฉ้อฉลของฝ่ายการเมืองที่ทำให้ ‘การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย’ รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซของชาติแปรรูปจนกลายเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ต้องสูญเสียจุดยืนในการเป็นหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐ 

โดยแทนที่จะดำเนินกิจการเพื่อเป็นบริการในลักษณะที่ช่วยเหลือประชาชนได้ แปรเปลี่ยนเป็นบริษัทเอกชนที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ขององค์กรอันได้แก่ผลกำไรเป็นตัวตั้งแรก ทำให้แนวคิดตลอดจนวิธีในการดำเนินการแปลกแยกไปจากวัตถุประสงค์แรกตั้งไปเป็นอย่างมาก

เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้รัฐค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในการควบคุมราคาพลังงานไปเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบด้านพลังงานส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทพลัง ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเกิดความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนคนไทยได้นั้นจึงเป็นความยากยิ่งและถูกปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด 

เมื่อ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มากำกับดูแลกระทรวงพลังงาน ภารกิจในการ 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพลังงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมจึงได้กำเนิดเกิดขึ้นเป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 

ด้วยมาตรการเข้ม 6 เดือนแรกเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย 

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันให้มีการลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจนกระทั่งสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ 

2) น้ำมันเชื้อเพลิง ได้ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันด้วยการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง และเร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันทุก ๆ เดือนเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลง และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ เร่งรัดติดตามการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุก

นโยบายด้านพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ ‘พีระพันธุ์’ นำมาใช้เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีความถูกต้องและเป็นธรรมคือ 

(1) การประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาน้ำเชื้อเพลิงในประเทศ และช่วยให้กรมสรรพกรสามารถคำนวณภาษีจากข้อมูลที่แท้จริงและมีความเป็นปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน 

(2) การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) นอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงแล้ว และหาก SPR เกิดขึ้นจริงในไทยเราได้จริง รัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วันเลยทีเดียว 

ในขณะที่ปัจจุบันทุกวันนี้เอกชนผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในปริมาณที่สามารถรองรับการใช้งานได้เพียง 25-36 วันเท่านั้นเอง ซ้ำร้ายหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐต้องการเข้าควบคุมเพื่อจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเว้นแต่จะใช้กฎหมายพิเศษบังคับ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก 

น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR นั้นไม่ใช่การถือครองโดยภาครัฐล้าเก็บสำรองเอาไว้อย่างเดียว เพราะจะต้องมีการหมุนเวียน เข้าและออก มีการจำหน่ายถ่ายโอนให้โรงกลั่นและบริษัทที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดเวลาอีกด้วย 

ดังนั้น SPR ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในการดูแลของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการต่อรองและเพิ่มการถ่วงดุลให้กับระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอีกด้วย อันจะทำให้ภาครัฐสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้ตลอดเวลา จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนต้นทุน ณ เวลาที่ซื้อมาหรือจำหน่ายออกไปได้อย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์อย่างมากมายต่อพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นที่สุด

🔎ส่อง ‘ตะวันออกกลาง เอเชีย และโอเชียเนีย’ SPR ทำยังไง?

ด้วยปัจจุบันทุกวันนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก เป็นทรัพยากรสุดยอดปรารถนาของทุกประเทศบนโลกใบนี้ กระทั่งทุกการดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ แทบจะขาดพลังงานที่มาจากน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไม่ได้ แม้จะมีการใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรถึงจะพัฒนาจนสามารถทดแทนพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้

เมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจึงมีความต่อเนื่องตามแต่ความต้องการของผู้บริโภคย่อมจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่สะดุดและหยุดนิ่ง แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมของโลกมิได้มีเสถียรภาพทั้งด้านปริมาณและด้านราคา เมื่อปริมาณการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แน่นอนว่า ย่อมทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมพุ่งสูงขึ้นจึงเป็นที่มาของวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม

วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมในปี 1973 ถือเป็นวิกฤตครั้งที่ใหญ่และส่งผลกระทบมากที่สุดเมื่อ OPEC เกิดความขัดแย้งกับอิสราเอลและประเทศที่สนับสนุนจึงทำให้ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสูงขึ้นถึงเกือบ 300% จึงทำให้เกิด ‘สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)’ และเป็นที่มาของ ‘การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve)’ ซึ่งเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา และปัจจุบันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรอง SPR มากที่สุดในโลก 

การเกิดขึ้นของวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมมากมายหลายหน จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ทำให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้รวมทั้ง ตะวันออกกลาง เอเชีย และโอเชียเนีย ล้วนแล้วแต่มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งในรูปแบบ SPR และการสำรองเพื่อการพาณิชย์ทั้งสิ้น 

แม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางซึ่งส่วนใหญ่แล้วต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันก็มี SPR เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำรองในประเทศเหล่านั้นแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงเป็นน้ำมันดิบใต้พื้นดินที่ยังไม่ได้สูบขึ้นมาเพื่อกลั่นใช้แต่อย่างใด โดย ซาอุดีอาระเบีย มีน้ำมันดิบสำรอง 266.5 พันล้านบาร์เรล, คูเวต 102 พันล้านบาร์เรล, อิรัก 145 พันล้านบาร์เรล, ยูเออี 98 พันล้านบาร์เรล, กาตาร์ 25 พันล้านบาร์เรล, โอมาน 54 พันล้านบาร์เรล, ซีเรีย 2.5 พันล้านบาร์เรล, อิหร่านมีปริมาณน้ำมันดิบสำรอง 209 พันล้านบาร์เรล (SPR ของอิหร่านดำเนินการโดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC) ได้สร้างถังเก็บน้ำมันดิบ 15 ถังที่มีความจุ 10,000,000 บาร์เรล ในปี 2023 อิหร่านได้นำน้ำมันสำรอง SPR จำนวน 7.55 ล้านบาร์เรลออกจำหน่ายเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ทำให้มีน้ำมันสำรอง SPR เหลืออยู่เพียง 4.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งพอใช้บริโภคในประเทศได้ 4 วันเท่านั้น), อิสราเอล ตั้งแต่ปี 1975 มีปริมาณน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 270 วันของการบริโภค และจอร์แดนมีปริมาณสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 60 วันของการบริโภค

เอเชีย หลายประเทศทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกของ ‘สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)’ ต่างก็มีการจัดเก็บน้ำมันสำรอง SPR 

• จีน ในปี 2007 มีการประกาศการขยายปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นระบบสองส่วน เงินสำรองของจีนจะประกอบด้วยน้ำมันดิบสำรองทางยุทธศาสตร์ที่รัฐควบคุม (SPR) เสริมด้วยน้ำมันดิบสำรองเชิงพาณิชย์ตามที่ได้รับคำสั่งจากรัฐ ปริมาณน้ำมันดิบสำรอง SPR ของจีนอยู่ที่ 475.9 ล้านบาร์เรล เท่ากับ 90 วันของการบริโภค 

• อินเดีย ปัจจุบันปริมาณน้ำมันดิบสำรอง SPR ของอินเดียอยู่ที่ 36.9 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะใช้บริโภคได้ 9.5 วัน แต่โรงกลั่นน้ำมันของอินเดียต้องจัดเก็บน้ำมันดิบไว้ 64.5 วัน ดังนั้นจึงมีปริมาณสำรองน้ำมันโดยรวมเท่ากับ 74 วันของการบริโภค

• ญี่ปุ่น ในปี 2010 ญี่ปุ่นมี SPR ดำเนินการโดยบริษัท Japan Oil, Gas and Metals National Corporationประกอบด้วยสำรองน้ำมันที่รัฐควบคุม ณ แหล่งต่าง ๆ 11 แห่ง รวม 324 ล้านบาร์เรล ปริมาณน้ำมันสำรองของเอกชนที่ถือครองตามกฎหมายการกักเก็บน้ำมัน 129 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันสำรองผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภาคเอกชนอื่น ๆ อีก 130 ล้านบาร์เรล ปริมาณน้ำมันสำรองทั้งหมดประมาณ 583 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะบริโภคได้ 224 วัน

• เกาหลีใต้ ตามกฎหมายกำหนดให้ โรงกลั่น ผู้จัดจำหน่ายที่ระบุ และผู้นำเข้า มีหน้าที่ระงับการจำหน่ายหรือการผลิตที่กลั่นได้ในแต่ละวันเป็นเวลา 40-60 วัน โดยอิงจาก 12 เดือนที่ผ่านมา ปลายปี 2010 เกาหลีใต้มีปริมาณน้ำมันสำรอง 286 ล้านบาร์เรล ซึ่งประกอบด้วย 146 ล้านบาร์เรล ณ South Korea National Oil Corporation สำหรับคลัง SPR รัฐบาลและคลังน้ำมันร่วมระหว่างประเทศ (อาทิร่วมกับคูเวต) และน้ำมันสำรองอุตสาหกรรมและคลังน้ำมันอุตสาหกรรมบังคับ (เอกชน) อีก 140 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะบริโภคได้ 240 วัน (SPR 124 วันและเอกชน 117 วัน) ณ มีนาคม 2014

• ไต้หวัน มี SPR โดยมีขนาดตามรายงานในปี 1999 อยู่ที่ 13,000,000 บาร์เรล ในปี 2005 มีการเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ที่รัฐสามารถควบคุมอีก 27,600,000 บาร์เรล รวมแล้วเพียงพอที่จะบริโภคได้ 60 วัน

• ปากีสถาน มีการประกาศแผนน้ำมันสำรองฉุกเฉินเพียงพอที่จะบริโภคได้ 20 วัน และกำลังเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บ SPR อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับประเทศโอเชียเนีย มีข้อมูล SPR ของ 2 ประเทศหลัก ๆ คือ

• ออสเตรเลีย ในปี 2008 ออสเตรเลียถือครองปิโตรเลียมไว้สามสัปดาห์ แทนที่จะเป็น 90 วันตามมาตรฐาน IEA ที่ได้ตกลงไว้ ปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2023 รัฐบาลกำหนดให้ผู้นำเข้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมัน : น้ำมันเบนซิน 27 วัน, น้ำมันดีเซล 32 วัน และน้ำมันเครื่องบิน 27 วัน

• นิวซีแลนด์ ในปี 2008 มีปริมาณสำรองทางยุทธศาสตร์อยู่ที่ 1,200,000 บาร์เรล น้ำมันสำรองส่วนใหญ่อิงตามสัญญาซื้อขายน้ำมันปิโตรเลียมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสัญญารับประกันการซื้อน้ำมันปิโตรเลียมของนิวซีแลนด์กับประเทศคู่สัญญาในกรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้น

จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้แทบทุกประเทศในโลกมี ‘การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve)’ โดยรัฐเพื่อความมั่นคงและประชาชน และเสริมด้วยการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์ของเอกชน ในขณะนี้ไทยเรามีเพียงแต่การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์โดยเอกชนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เท่านั้น และหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้นไทยเราจะมีน้ำมันสำรองเพียงพอใช้เท่ากับ 25-36 วัน ดังนั้น SPR น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งอยู่ภายใต้ถือครองของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจัดการแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่ง อันเป็นการบรรเทาเบาคลายปัญหาอีกมากมายจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและเป็นการป้องกันความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนคนไทยให้สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติสุขเช่นที่เป็นอยู่ได้ต่อไป

🔎ยกเครื่องพลังงานไทยด้วยกฎหมายในการจัดตั้ง ‘SPR’ ฉบับแรกของไทย โดยรองฯ พีระพันธุ์

หลังจากคนไทยต้องฝากความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนมาอย่างนี้ยาวนาน วันนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันให้จัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้น จากเดิมบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องเป็นผู้จัดเก็บน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน เป็นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจัดเก็บน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 50 วันตามมาตรฐาน IEA หรือ 90 วันเช่นเดียวกับประเทศสมาชิก IEA ส่วนใหญ่ (ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกสมทบของ IEA) 

แม้จะมีน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน แต่น้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านั้นถือครองโดยเอกชน (เป็นการสำรองน้ำมันตามกฎหมายของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) รัฐบาลจึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือบริหารจัดการได้ นอกจากเกิดเหตุฉุกเฉินและมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก จึงจะเข้าไปควบคุมจัดการน้ำมันสำรองที่มีอยู่ได้ และวิกฤตน้ำมันที่ผ่านมามากมายหลายครั้งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่รัฐต้องถือครองน้ำมันสำรองในรูปแบบของ SPR ด้วยตนเองเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน 50 วันเป็นอย่างน้อยหรือ 90 วัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับที่เข้มแข็งทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเป็นหลักประกันที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติโดยรวม

มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและด้านพลังงานในสาขาต่าง ๆ ร่วมกันหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน เพื่อทำการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และศึกษาวิธีการและรูปแบบการสำรองน้ำมันในต่างประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแนวทาง ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่’ ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงาน จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยพิจารณาผลการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และเยอรมนี ถึงมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อวางรูปแบบ (Model) ของ SPR ที่จะเกิดขึ้นให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการระบบ SPR เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการและนโยบายที่จะลดผลกระทบด้านพลังงาน และเพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรมกับภาคประชาชนในอนาคตต่อไป 

แนวคิดเกี่ยวกับ SPR เบื้องต้นคือการกำหนดนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ เพื่อให้สามารถนำน้ำมันที่มีการเก็บสำรอง มาใช้ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูง ในลักษณะที่คล้ายกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้วิธีการเก็บเงินเข้าออก และปรับอัตราการจัดเก็บน้ำมันแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วง 

โดยใช้เงินที่มีอยู่ในกองทุนน้ำมันฯ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับการสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ จะใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ในคลังออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันแทน ไม่ต้องใช้เงินเหมือนเช่นกองทุนน้ำมันฯ ตลอดจนให้มีการศึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมอัตราการของการเก็บสำรองน้ำมันโดยผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสามารถลดลงได้

ปัจจุบันการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยเป็นการสำรองโดยภาคเอกชนโดยกำหนดให้เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่ 2,374,768 บาร์เรล (100,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ 1,187,384 บาร์เรล (50,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) 

ทั้งนี้การกำหนดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมายจะอ้างอิงจากปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการจัดหาน้ำมันดิบรวมระยะเวลาในการขนส่งจากแหล่งจัดหาหลัก (แหล่งตะวันออกกลาง) มายังประเทศไทย เพื่อให้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา 

ในปี พ.ศ. 2566 ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีหน้าที่สำรองน้ำมันดิบในอัตราร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราร้อยละ 1 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งปี หรือคิดเป็นอัตราสำรองเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ 22 วัน (น้อยกว่า 25-36 วันตามข้อมูลที่มีการเผยแพร่) โดยมีกรมธุรกิจพลังงานเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้รับแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บน้ำมันสำรองตามกฎหมายคงเหลือรายวัน การตรวจวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย ณ คลังน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งทั่วประเทศ ในกรณีที่มีความจำเป็น ภาครัฐโดยกรมธุรกิจพลังงานสามารถสั่งให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 งดจำหน่าย หรือให้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองไว้ตามกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมาย เพื่อให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ หลังจากนั้น ผู้ค้าต้องเก็บสำรองน้ำมันให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดเช่นเดิม

จะเห็นได้ว่า การมี SPR นั้นจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน แน่นอนที่ผลกระทบทางบวกย่อมเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทย ในขณะที่เอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมได้ผลกระทบทางลบทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SRP เลย ดังนั้นจึงต้องมีการยกร่างและออกกฎหมายใหม่ขึ้นมา ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาฯ ดังนั้นหากมีการพิจารณาร่างกฎหมาย SPR ประชาชนคนไทยต้องช่วยกันสนับสนุนกฎหมาย SPR ให้สามารถประกาศใช้ให้สำเร็จให้จงได้ เพราะการเก็บสำรองน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ในปริมาณที่มีความเหมาะสมและมากพอย่อมจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสามารถลดลงได้อีกนั้นเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top