Sunday, 30 June 2024
ภูกระดึง

‘ป่าภูเขียว-อช.น้ำหนาว-ภูกระดึง’ ได้ขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน ภาครัฐฯ พร้อมเดินหน้าคุ้มครอง-รักษาสภาพธรรมชาติอย่างยั่งยืน

(5 ก.ค. 66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 34 (34th Meeting of the ASEAN Senior Officials on the Environment : 34th ASOEN) วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ได้พิจารณารับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Park : AHP) ของประเทศไทย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 
- อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57

ได้พิจารณารับรองให้โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน เข้ารับรางวัลโรงเรียนที่มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมดีเด่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ กลุ่ม ASEAN ‘ASEAN Eco-Schools’ ระดับมัธยมศึกษาและระดับประถมศึกษา รวมทั้งรับรองให้นายมนตรี เจือไธสง เข้ารับรางวัลนักวิจัย / ครูผู้สอนสิ่งแวดล้อมศึกษาดีเด่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ กลุ่ม ASEAN ‘ASEAN Youth Eco-Champions Award’

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกอาเซียน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการนำเสนอ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 หลายภาคส่วนได้ร่วมกันเตรียมเอกสารนำเสนอข้อมูลพื้นที่ ตลอดจนเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อให้สามารถผ่านเกณฑ์การประเมินได้ ซึ่งไทยมีความโดดเด่นหลายประการ อาทิ การอนุรักษ์ธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ มีพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

“โลกมีการตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาแนวความคิดของคนไทยอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ การสนับสนุนให้พื้นที่ในประเทศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นที่คุ้มครอง รักษาสภาพธรรมชาติ ร่วมกับให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งอุทยานแห่งชาติจะช่วยรักษาสภาวะสมดุลธรรมชาติ พร้อมกันนี้ รัฐบาลสนับสนุนให้ระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างการตระหนักรู้ตั้งแต่เยาวชน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะส่งผลต่อการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

'อดีตทูตนริศโรจน์' โพสต์!! ส่วนตัวไม่ขัดสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ช่วย 'อำนวยความสะดวก-ดูแลจราจรมนุษย์-ธรรมชาติไม่เสื่อม'

(4 ธ.ค.66) นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Fuangrabil Narisroj ว่า...

โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงครับ ด้วยเหตุผล...

1.กระเช้าไม่ได้ทำลายธรรมชาติ ต้นไม้ก็ยังขึ้นได้ด้านล่าง ยกเว้นแค่ที่ตั้งเสาเท่านั้น National Park ในต่างประเทศเขามีมานานแล้ว

2.ข้างบนภูกระดึงมีชุมชน มีคนอาศัย มีสำนักสงฆ์ ที่ต้องการเดินทางโดยสะดวก

3.การมีกระเช้าสามารถควบคุมการบริหารจัดการจำนวนคนได้ดีกว่าปล่อยให้เดินขึ้นไปแบบสะเปะสะปะ แบบควบคุมไม่ได้

4.กรณีมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องขนย้ายคนก็สามารถทำได้รวดเร็วกว่า

5.ถ้ามีรถกระเช้าขนส่งสิ่งของเหลือใช้ / ขยะก็สามารถขนย้ายระบายนำมาฝังกลบ / กำจัดด้านล่างได้แทนที่จะทิ้งบนยอดภู

'อ.ศศิน' เผย 'สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง' อาจมีประโยชน์ แต่ยังมีโจทย์ 3 ข้อ ที่ยังไม่มีใครตอบ หากตัดสินใจจะสร้างจริงๆ

(7 ธ.ค. 66) นายศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อดีตประธานมูลนิธิ สืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า...

#กระเช้าภูกระดึง โจทย์ที่ต้องตัดสินใจของประเทศไทย 3 ข้อ

ถ้าทำกระเช้าภูกระดึง จะมีสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์หลายประการ...

ประการแรก ธุรกิจที่สัมพันธ์กับอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารพาณิชย์ ที่มีคนครอบครองอยู่รอบ ๆ ภูเขาภูกระดึง และเส้นทางสู่ภูกระดึงจะคึกคัก ทั้งการเพิ่มมูลค่า การหมุนเวียนของเม็ดเงินต่าง ๆ ในการขยายกิจการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น และหมุนเวียนมาเยือนเพื่อขึ้นลงกระเช้าไปที่ราบกว้างใหญ่บนยอดเขา ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้สองเท้าเดิน

ประการที่สอง ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองขึ้นไม่ไหว ไม่มีเวลา และไม่กล้าขึ้น รวมถึงผู้มีข้อจำกัดเรื่องอายุและสภาพร่างกายมีโอกาสขึ้นไปได้

และกระเช้าไฟฟ้าอาจช่วยนำคนเจ็บป่วย บาดเจ็บ ขยะ ขนส่งข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ขึ้นไปได้ง่ายขึ้น

นี่เป็นเหตุผลง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน และไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่…การสร้างกระเช้าภูกระดึง มีโจทย์ที่ไม่มีใครคิดจะตอบ 3 ข้อ 3 ระดับ...

#ระดับที่ 1 ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท การจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวไม่แพง รวมถึงเมื่อขึ้นไปแล้วมีที่สวย ๆ ให้เดินเที่ยวมากมาย เรียกว่าคุ้มค่าเดินขึ้นและเดินเที่ยวสิ่งที่ว่ามาทำให้ภูเขาลูกนี้ทำหน้าที่มอบความรักธรรมชาติ ให้เราได้ซึมซับความงามทั้งจากธรรมชาติและมิตรภาพระหว่างทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่บังเกิดขึ้นมากมายระหว่างความอดทนตอนเดินขึ้น สถานที่แบบนี้ในไทยมีที่เดียวคือ 'ภูกระดึง' ส่วนที่อื่น ๆ มีถนนขึ้นถึง หรือเดินไกลเกินไป เดินไปถึงแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก

ดังนั้น เมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามา ย่อมสู้ความสบายเย้ายวนจากการขึ้นกระเช้าไม่ได้

คนจะเดินขึ้นก็คงมีน้อยยิ่งกว่าน้อย

พวกที่เลือกเดินจึงเป็นคนที่รักธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ไม่ต่างจากการขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่น ๆ ที่กลับมาแล้วไม่มีความหมายอะไร ภูกระดึงทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมากว่า 50 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงปัจจุบัน

การมีกระเช้าหมายถึงเราเลิกใช้ฟังก์ชันนี้ของภูกระดึงแล้ว จะเทียบไปคงเหมือนเปลี่ยนวัด โบสถ์ วิหาร เป็นบอร์ดนิทรรศการพุทธศาสนา

นี่คือเรื่องที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกทิ้งคุณค่าจากสิ่งนี้ไปหรือไม่

#ระดับที่ 2 จากผลการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (เช่นตัดต้นไม้ไม่กี่ต้น) แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้า ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เช่นเมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ ๆ เช่น อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ

ที่สำคัญคือ ถนนหนทางข้างบนที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่เตรียมตัวไป ‘เดิน’ และไม่พร้อมจะรับรู้ทั้งนั้นว่าทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมที่ท่องเที่ยวที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่

รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่าง ๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ

เราพร้อมจะปล่อยให้ที่สวย ๆ ข้างบนพังไปอีกที่ใช่หรือไม่

#ระดับที่ 3 ถ้ามีคนขึ้นไปจำนวนมาก เราพร้อมเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์อันอุดมด้วยธรรมชาติไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวข้างบนในอนาคตเลยหรือไม่

หากนโยบายวันข้างหน้าจะเอาอย่างนั้น ยกเลิกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไปเลย

นี่คือเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระเช้ามาในระดับท้ายสุด

รัฐบาลนี้ต้องตอบทั้ง 3 คำถามก่อนตัดสินใจ ผมรอฟังอยู่ ก่อนตัดสินใจขึ้นกระเช้าไปทำลายภูกระดึงเดิม ๆ ด้วยกัน

สุดยอด!! ‘คุณยายวัย 74’ โชว์สกิลแบกเป้ พิชิต ‘ภูกระดึง’ ชาวเน็ตแห่ชื่นชม-ยกให้เป็นแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยว

(18 ธ.ค.66) เป็นเครื่องยืนยันว่าหากเราดูแลร่างกายตัวเองดี ๆ อายุเยอะก็เป็นแค่ตัวเลขเท่านั้น เหมือนกับคุณยายท่านนี้ ในวัย 74 แล้ว สามารถท่องโลกกว้าง เดินขึ้นภูกระดึงได้อย่างชิล

โดยผู้ใช้ Tiktok รายหนึ่ง เดินทางไปท่องเที่ยวพิชิตยอดภูกระดึง ได้ถ่ายคลิปบันทึกเหตุการณ์สุดประทับใจเอาไว้ โดยระบุไว้ว่า “ขออนุญาตคุณยายในคลิปครับ อายุเป็นแค่ตัวเลข พิชิตภูกระดึง”

ทว่าในคลิปจะเห็นคุณยายสวมชุดเดินป่าทะมัดทะแมง แบกเป้ และกระเป๋าข้าง สวมหมวกสีขาวปีกกว้าง มีเพียงไม้เล็ก ๆ ช่วยพยุงทรงตัวเท่านั้น ซึ่งเจ้าของคลิปได้ถ่ายวิดีโอนี้ พร้อมให้กำลังใจคุณยายว่า “สู้ ๆ ครับ” ซึ่งคุณยายตอบกลับว่า “จ้า ยายแก่แล้ว ตอนนี้อายุ 74”

หลังจากคลิปดังกล่าวเผยแพร่ไปไม่นาน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก หลายคนยกให้เป็นแรงบันดาลใจในการออกเดินทางท่องเที่ยว

- “คุณยายไปได้ ป้าก็ต้องไปได้เนาะ”
- “อายุไม่ได้ทำอะไรยายได้ ขึ้นไหวเก่ง ส่วนเรารอกระเช้า ชาตินึ้จะได้เห็นภูกระดึงกับเขาไหมหนอ”
- “เดินสวนกับยาย ยายบอกว่าขึ้นจนจำไม่ได้แล้วว่าขึ้นกี่รอบ ยายเก่งมากก”
- “นี่แหละสิ่งที่ท้าทาย อายุจะเพิ่ม แต่พลังไม่ถอย สู่ยอดเขาผู้พิชิตภูกระดึง”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top