Friday, 28 June 2024
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ ในพื้นที่อีสานพุ่ง อานิสงส์จากรัฐ-เอกชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง

จากบทความก่อนหน้านี้ ที่กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเกิดจากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ” 

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเกษตร อยู่ที่ระดับ 76.4 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 75.9 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 83.5 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 74.5
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการลงทุน อยู่ที่ระดับ 74.8

แน่นอนว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจหลักที่จะได้รับอานิสงจากความเชื่อมั่นนี้ คงไม่พ้นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่เริ่มฟื้นตัวหลังสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ซึ่งจากข้อมูลกองสถิติเศรษฐกิจ (สศ.) มีจำนวนของสถานประกอบการที่พักแรม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4,977 แห่ง น่าจะช่วยให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของธุรกิจภาคบริการ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงการได้รัฐบาลใหม่ มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ของกระทรวงต่าง ๆ พร้อมประกาศนโยบายสำคัญ ‘พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี’ ย่อมส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ การอุปโภค บริโภค การจับจ่ายใช้สอย ที่จะถูกกระตุ้นมากยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่ที่ได้รับอานิสงจากโครงการนี้ค่อนข้างมาก ย่อมเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร เป็นจำนวนมาก
แต่ก็ยังมีความกังวล ต่อการเกิดหนี้สาธารณะ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว ประกอบด้วย 

แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท 
แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า การดำเนินโครงการ พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ย่อมจะต้องตั้งงบประมาณ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เจ้าภาพหลักของโครงการ

บทความหน้า กับมุมมองเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ประเด็นสำคัญจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จะส่งผลอย่างไร กับ พื้นที่นี้ รอติดตามมุมมอง จาก ‘The PALM - คนตัวเล็ก’ กันนะครับ

'กูรูอีสาน' โชว์ภาพรวม ศก.ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 'เกษตรฯ-การลงทุน-นวัตกรรม' เฟื่องฟูไม่แพ้ถิ่นใด

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 11 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณสุรวัช อริยฐากูร ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจสินเชื่อ ธ.ก.ส. และที่ปรึกษาองค์กรภาคเอกชน ถึงประเด็น 'ภาพรวมของเศรษฐกิจในภาคอีสานในปัจจุบัน' โดยมีเนื้อหาดังนี้...

หากพูดถึงอีสาน สิ่งที่เราจะนึกถึง คือ วิถีชีวิตของคนถิ่นที่มีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความหวือหวา โดยคนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก เช่น การปลูกข้าว ปลูกยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจในภาคอีสานต้องพึ่งพาด้านเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอีสาน ก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างในภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตชัด จะประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมแป้งมัน, มันสำปะหลัง 

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมที่โดดเด่น คือ การเพาะปลูกข้าว ที่มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ 

ในด้านการปศุสัตว์ที่หล่อเลี้ยงภูมิภาคนี้ ก็จะเป็นหมวดของการขยายฟาร์มเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ถ้าจัดลำดับสัดส่วนสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์หลักๆ ของภาคอีสาน ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา และข้าวโพด ถือเป็นพระเอก ส่วนปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นการทำฟาร์มสุกรขุน 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมโคนมก็ถือว่าเป็นสิ่งได้รับความนิยม โดยมีกลุ่มเกษตรกรการเกษตร คอยส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้ออยู่แล้วหันมาเลี้ยงโคนม หลังจากแถบวังน้ำเขียวเริ่มเข้ามาซื้อน้ำนมดิบมากขึ้น 

ส่วนธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจในภาคอีสานอีกด้านหนึ่ง คือ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เนื่องจากภาคอีสาน มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก อีกยังเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงสูงเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบัน บีโอไอ ได้มีนโยบายสนับสนุนกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงทำให้เกิดโซลาร์ฟาร์มขายคืนพลังงานให้กับการไฟฟ้า กลายเป็นธุรกิจใหม่พลังงานสะอาดตาม BCG โมเดลในผืนถิ่นนี้

ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคอีสานก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับลูกหลานคนอีสานที่ย้ายถิ่นฐานกลับมาอยู่ใกล้ครอบครัว ทำให้บ้านจัดสรรได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในอำเภอรองในจังหวัดใหญ่ๆ เนื่องจากเมืองเริ่มขยายตัว

ส่วนภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอยู่ในความรับผิดชอบของ 'บีโอไอโคราช' นั้น พบว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน 38 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุน 15,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 373

เห็นภาพรวมเศรษฐกิจคร่าวๆ ในดินแดนแห่งนี้ ที่อาจจะยังไม่ถึงขั้นลงรายละเอียดเชิงลึกเป็นรายจังหวัดไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า การให้ความสำคัญในอีสานของภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่วยทลายภาพอีสานแล้ง แล้วทดแทนด้วยความเจริญผนวกกับโอกาสที่เริ่มค่อยๆ เติมเข้ามามากขึ้นได้พอสมควรเลยจริง ๆ...

สวธ.จัดประกวด 'รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม' (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ร่วมสืบสานดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน อนุรักษ์ เพิ่มมูลค่าให้ศิลปะการแสดงของไทย

(เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ ณ อุดรฮอลล์ เซ็นทรัลอุดร จังหวัดอุดรธานี) อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช ๒๕๖๗ “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นวิศิษฏศิลปิน และเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม รวมถึงเผยแพร่ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้แสดงความสามารถ ยกระดับเสริมศักยภาพด้านดนตรี พัฒนาเทคนิคทางการแสดง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศในการประกวดของแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง

นางสาวลิปิการ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงความสำคัญของการแสดงพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นถิ่น มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวและแสดงถึงมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน มีคุณค่าและควรได้รับการส่งเสริมพัฒนา ต่อยอด และสร้างสรรค์ให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงทำให้คนรุ่นใหม่ได้หันกลับมาสนใจและมีส่วนร่วมในการสืบทอดมรดกศิลปะการแสดงพื้นบ้าน  อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อคณะนักแสดงและศิลปินในปัจจุบันและอนาคต

รองอธิบดี สวธ. กล่าวต่อว่า การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ได้จัดการประกวดไปแล้ว ๒ ภาค คือ ภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และภาคกลาง ณ จังหวัดนนทบุรี  สำหรับครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๓ จัดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการประกวดต้องประกอบด้วยการแสดงและการขับร้องประกอบเรื่องราววิถีชีวิตคนอีสาน เช่น ลำทางสั้น ลำทางยาว ลำเต้ย ลำเดิน ลำเพลิน เป็นต้น 

มีเนื้อหาการแสดงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในภาคอีสาน และการแสดงประกอบการขับร้องที่มีเนื้อหาเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยวงที่เข้าร่วมประกวด ต้องประกอบด้วยเครื่องดนตรี นักดนตรี นักร้อง นักแสดง อุปกรณ์ประกอบการแสดง เช่น วงโปงลาง วงหมอลำ วงกันตรึม วงมโหรีโคราช วงพิณ แคน ซอ วงกลองยาวอีสาน เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านฯ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ประกอบด้วย

รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ และเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑ ได้รับถ้วยรางวัลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล 
๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ ได้รับถ้วยรางวัลปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ 
รางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัลละ ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมเกียรติบัตร จำนวน ๒ รางวัล 
      
โอกาสนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เชิญชวนทุกท่านร่วมส่งกำลังใจ และติดตามการประกวด 
“รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ภาคใต้ ครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ในวันพุธที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๗  ณ Convention Hall เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผ่านช่องทางของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมการประกวดหรือข้อมูลทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ line@วัฒนธรรม

ทีมผู้เข้าประกวดรวมศิลป์แผ่นดินสยาม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
รอบชิงชนะเลิศ ประกอบด้วย

- วง1 คณะโรงเรียนบ้านหนองบง จังหวัดนครราชสีมา
-วง2 คณะมหาชุมพลจังหวัดศรีสะเกษ 
-วง3 คณะดอกศิลป์ถิ่นสกล จังหวัดสกลนคร 

-วง4 คณะวงโปงลางหลานย่าโมจังหวัดนครราชสีมา

-วง5 คณะวงโปงลางศิลป์ลำปาว สาวภูไท จังหวัดกาฬสินธุ์ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top