Thursday, 4 July 2024
ฝังเข็ม

‘นศ.ไทยในจีน’ มุ่งมั่นศึกษาวิชา ‘การฝังเข็ม-การนวด’ หวังต่อยอดความรู้ ใช้ภูมิปัญญาแพทย์แผนจีนดูแลผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, คุนหมิง รายงานว่า ‘ซ่งหลินหลิน’ เป็นนักศึกษาชาวไทยจากจังหวัดนนทบุรี ผู้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเล่าเรียนสาขาวิชาการฝังเข็มและการนวด วิทยาลัยเวชศาสตร์คลินิกแห่งที่สอง มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนอวิ๋นหนาน ณ นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ทุกบ่ายวันอังคาร ซ่งจะหอบหิ้วตำราเล่มหนาและกระเป๋าอุปกรณ์ฝังเข็ม เข้าเรียนรู้วิชาฝังเข็มจากอาจารย์ที่อธิบายและสาธิตวิธีการ รวมถึงฝึกฝนการฝังเข็มด้วยตนเอง โดยการมาเรียนที่นี่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกครอบครัว ที่มักรักษาอาการเจ็บป่วยหรือบำรุงร่างกายด้วยการแพทย์แผนจีน

ซ่ง เสริมว่า ตัวเธอเองอยากเรียนรู้ภูมิปัญญาจีน ในการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้คนด้วยเข็มหนึ่งเล่มนี้ พร้อมกับวางแผนว่าหลังจากเรียนจบจะกลับไปเป็นนักฝังเข็มที่ไทย ซึ่งมีคลินิกแพทย์แผนจีนที่ให้บริการฝังเข็มจำนวนมาก

ทั้งนี้ ซ่งเป็น 1 ใน 2 นักศึกษาชาวต่างชาติของชั้นเรียนที่มีนักศึกษาทั้งหมด 62 คน ร่วมเรียนรู้การฝังเข็ม การรมยา ยาจีน การวินิจฉัยขั้นพื้นฐาน และอื่นๆ กับนักศึกษาชาวจีน โดยพวกเขายังต้องอ่านตำราจีนโบราณอย่าง ‘ซางหานลุ่น’ และ ‘หวงตี้เน่ย์จิง’ กันทุกวันด้วย

สำหรับสาขาวิชาการฝังเข็มและการนวด วิทยาลัยเวชศาสตร์คลินิกแห่งที่สองของมหาวิทยาลัยฯ ได้รับความนิยมจากนักศึกษาชาวต่างชาติไม่น้อย โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลาวและไทย ทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และอื่นๆ

‘นพ.สมรส’ แชร์อุทาหรณ์ฝังเข็มผิดวิธี ‘จนปอดรั่ว’ หมอแนะ!! เกิดจาก ประมาท-กายวิภาคไม่แม่น

เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.66) นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Somros MD Phonglamai ” เตือนเกี่ยวกับการฝังเข็ม ระบุว่า...

คนไข้ปวดคอบ่าไหล่ ไปฝังเข็ม วันต่อมาหายใจแล้วเจ็บหน้าอกทุกครั้ง เจ็บแปล๊บๆ x-ray เจอปอดรั่ว pneumothorax นิวโมธอแรกซ์ ! ถ้าขึ้นเครื่องบินอาจตายได้ 

1. การฝังเข็มหรือการลงเข็ม เป็นการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรมที่ดี ประหยัด มีประสิทธิภาพถ้าใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ประมาท เข้าใจการดำเนินโรคอย่างถูกต้อง

2. แต่ช่วงหลังๆเจอปัญหาปอดรั่วบ่อยขึ้นมากๆ คนไข้มักมีอาการไอหลังฝังเข็ม
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ 'ประมาท' 'กายวิภาคไม่แม่น' 
อย่าฝังลึกเกินจำเป็น มากกว่า 3.34 cm to 5.35 cm.  +/- ผอมอ้วน
อย่าปักจำนวนเข็มมากเกินจำเป็น
อย่าให้คนไข้ขยับตัวโดยไม่จำเป็น ให้คนไข้หายใจด้วยท้อง เบาๆ ฝังตอนหายใจออกให้ปอดแฟ่บ
ทิศทางเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ใช่เข้าปอด พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด

3. สำหรับแพทย์จีน อย่าจำแค่ว่าจุดนี้ฝังได้กี่ชุ่น กี่ ซม. เพราะเคสนี้กล้ามเนื้อก็หนา ไม่ได้ผอม ไม่มีโรคปอดใดๆ เป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญชำนาญล้วนๆ มีอาจารย์หลายท่านสอนน้องๆว่าปักลึกได้เลย ไม่ต้องกลัว อันนี้อันตรายอย่างยิ่ง !

4. สำหรับคุณหมอแผนปัจจุบัน ตอนฉีดยาชาเข้า Trigger point ก็ยิ่งต้องระวังนะครับ ปลายเข็ม syringe ใหญ่กว่าเข็มฝังเข็มมาก ปอดรั่วจะใหญ่กว่านี้เยอะ

5. สำหรับคนที่ไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์จีน “ไม่ควรฝังเข็มในสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญ” นะครับ เห็นน้องๆวิชาชีพอื่นๆแอบทำกันหลายคลินิก ถ้าทำแล้วคนไข้ปอดรั่วหนัก พิการ เสียชีวิตขึ้นมา จะโดนทั้งอาญา แพ่ง วิชาชีพ และวินัยได้นะครับ

6. ฝากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์จีนเข้มข้นกับการสอนน้องๆกันหน่อยนะครับ ให้แม่นอนาโตมี่หน่อย รู้ทิศทางและตำแหน่งปอดดีๆ อย่าย่ามใจประมาทเกินไป ถ้าประมาทก็พิการหรือตายได้

7. ทุกครั้งที่เราจะฝังเข็ม/ลงเข็ม ต้อง Informed Consent เสมอว่าจะมีโอกาสเกิดปอดรั่วได้, และติดตามอาการคนไข้สม่ำเสมอ, ถ้ามีปัญหารีบ take action ดูแลคนไข้เต็มที่

8. อย่ามั่นใจในตัวเองเกินไป ไม่มีอะไร 100% ใน medicine ต่อให้ฝังมา 10 ปีก็เกิดได้ถ้าทุกอย่างซวยจริงๆ

9. ถ้าปอดรั่วขนาดเล็ก 1-2 เซนติเมตร มักปิดเองใน 1-2 สัปดาห์ (ดังนั้นจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงจึงมากกว่าที่รายงานจากโรงพยาบาล เพราะคนไข้หายได้เอง) ติดตามอาการเหนื่อย หายใจเจ็บ ออกซิเจนปลายนิ้ว ตลอด  อาจพิจารณา x-ray ซ้ำ 24-48 ชั่วโมง
ถ้าขนาดใหญ่ > 2 เซนติเมตร อาจต้องใส่ท่อระบาย ขึ้นกับหลายปัจจัยและคุณหมอเจ้าของไข้

10. ถ้าสมมติคนไข้รายนี้ ขึ้นเครื่องบินก่อนที่ปอดรั่วหาย จะเกิดอะไรขึ้น ? 
ขณะที่ขึ้นบินแรงดันในเครื่องจะต่ำ ทำให้ปอดรั่วลามมากขึ้นได้ ในกรณีที่แย่ที่สุดคือเสียชีวิต ดังนั้นอย่าเสี่ยง งดบินไปเลยอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือยืนยันแน่ชัดว่ารูรั่วปิดสนิทแล้ว 
การฝังเข็มไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือความประมาท 

เพราะคนที่ต้องมารักษาปอดรั่ว มักไม่ใช่คนทำให้ปอดรั่วนะครับ
นพ.สมรส พงศ์ละไม
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด แพทย์ฝังเข็ม 
#DrSomros #Acupuncture #Pneumothorax #ฝังเข็ม #ปอดรั่ว
ถ้าอาจารย์ท่านใดอยากแชร์ประสบการณ์ หรือมี update guideline ก็ยินดีเลยนะครับ 

คนไข้เป็นหมอด้วยเคสนี้
ขอบคุณคนไข้ที่ให้ภาพมาเป็นวิทยาทาน คงจะกลัวฝังเข็มไปอีกนาน ขอบคุณอาจารย์เอกที่ช่วยคอนเฟิร์มฟิล์มครับ 

‘คลินิกจีน’ เคลม!! ฝังเข็มบนศีรษะช่วยเพิ่ม IQ - เสริมความจำ นักเรียน-วัยทำงานแห่จองคิว ฟากชาวเน็ตท้วง “เป็นไปได้เหรอ?”

(24 มิ.ย.67) คลินิกฝังเข็ม IQ Boost ในโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนประจำจังหวัดแห่งหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน นำเสนอแพ็กเกจ ฝังเข็มที่ศีรษะช่วยเสริมความฉลาดปราดเปรื่อง และพัฒนาเรื่องความจำได้ จนกลายเป็นกระแสไวรัล ที่มีผู้ปกครองนำบุตรหลานของตนเข้ามาจองคิวฝังเข็มกันเป็นจำนวนมาก 

หง โชวไห่ แพทย์แผนโบราณจีนด้านการฝังเข็มกล่าวว่า การฝังเข็มสามารถกระตุ้นสมอง ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์สมองให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยทำให้ออกซิเจนไหลเวียนไปยังสมองมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความฉลาดหลักแหลมให้กับสมองของเราได้ 

การฝังเข็มถูกกล่าวถึงในตำราทางการแพทย์จีนโบราณที่รู้จักกันในชื่อ ‘หวงตี้เน่ยจิง’ หรือคัมภีร์ลับแห่งจักรพรรดิเหลือง ซึ่งเป็นตำราแพทย์แผนโบราณของจีนที่มีอายุย้อนกลับไปนานถึง 100 ปีก่อนคริสตกาล

โจว ไห่เจียง แพทย์ด้านการฝังเข็มอีกคนในคลินิกได้อธิบายว่า ในฝังเข็มตรง ‘จุดไป๋ฮุ่ย’ หรือจุดที่อยู่ตรงกึ่งกลางศีรษะจะช่วยกระตุ้นสมอง และสร้างความกระปรี้กระเปร่า

โดยศาสตร์ด้านการฝังเข็มของจีนได้กล่าวถึง ‘The Four Intelligence Points’ หรือจุดอัจฉริยะทั้ง 4 อัน ได้แก่ ตำแหน่ง 4 จุด ที่ล้อมรอบจุดไป๋ฮุ่ย เกี่ยวพันกับอาการปวดศีรษะ, นอนไม่หลับ, และอาการหลงลืม

ส่วน จุดเฟิงชี่ หรือตำแหน่ง 2 จุดบริเวณก้านคอ จะกระตุ้นออกซิเจนให้ไหลเวียนในศีรษะและใบหน้าได้ดี ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพด้านความทรงจำ ทางคลินิกจึงเคลมว่า หากฝังเข็มให้ตรงจุดเหล่านี้โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สามารถเพิ่ม IQ ได้ 

หลังจากที่ปล่อยโฆษณาแพ็กเกจฝังเข็มเพิ่ม IQ ออกไป ก็มีกลุ่มนักเรียน และคนทำงานเข้ามาจองรอบฝังเข็มที่ศีรษะกับทางคลินิกเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยราว 50-60 คิวต่อวัน

แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกโซเชียลที่ยังกังขากับวิธีการฝังเข็มแนวนี้ ว่าน่าเชื่อถือจริงหรือไม่

หม่า กวนฟู่เฉิง แพทย์แผนจีนโบราณแห่งโรงพยาบาลเซี่ยเหมินได้กล่าวกับสื่อจีนว่า การฝังเข็มเพื่อความอัจฉริยะ มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้ถึงการเพิ่ม IQ ของคนอย่างที่เข้าใจกัน

เนื่องจากโดยหลักการแล้ว การฝังเข็มเป็นวิธีการควบคุมการทำงานทางสรีรวิทยาของร่างกายมนุษย์ด้วยการกระตุ้นในจุดฝังเข็ม จึงช่วยในเรื่องการไหลเวียนของเลือดในสมอง ปรับปรุงสภาพแวดล้อมจุลภาคของสมอง และสามารถส่งเสริมการฟื้นตัวของการทำงานของสมองได้ 

ในเวลาเดียวกัน การฝังเข็มยังสามารถควบคุมสมดุลของหยิน-หยาง พลังชี่ และการไหลเวียนโลหิต ซึ่งช่วยในเรื่องอาการนอนไม่หลับได้ดี แต่ไม่ใช่เครื่องมือที่เพิ่มระดับ IQ ได้โดยตรง

แต่ทั้งนี้ อวี๋ จิน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การฝังเข็มและสมองที่มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกว่างโจว ยืนยันอีกเสียงว่า การฝังเข็มมีประสิทธิภาพในการปรับปรุงการทำงานของสมองได้จริง แต่ต้องดำเนินการโดยแพทย์มืออาชีพ และพบว่า การฝังเข็มยังประสบความสำเร็จในการรักษาอาการที่เกิดจากโรคทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ ความบกพร่องทางสติปัญญาในเด็ก และโรคสมองพิการ ได้ 

นับเป็นศาสตร์พิศวงจากตำราแพทย์แผนจีนที่มีอายุมานานกว่า 2,000 ปี ที่วงการแพทย์ยุคใหม่ให้ความสนใจและต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหล่านี้ด้วยความตื่นเต้น 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top