Tuesday, 2 July 2024
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ

การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๖ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕

วันที่ ๘ กันยายน  ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๖ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ โดยมี พลเอก เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการทหารเรือ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพอากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ

การประชุมฯ ในครั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญของกองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้
กองบัญชาการกองทัพไทย ได้นำเสนอการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการร่วมในภาพรวมของกองทัพไทย ประกอบด้วย การพัฒนาขีดความสามารถศูนย์บัญชาการทางทหาร ด้วยการพัฒนาคน เครื่องมือ เทคโนโลยี และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้มีความพร้อมสามารถรองรับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ การพัฒนาขีดความสามารถด้านไซเบอร์ โดยบูรณาการการปฏิบัติร่วมกับเหล่าทัพอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งด้านการปฏิบัติการทางไซเบอร์ การพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ และการฝึกทางไซเบอร์ ระบบสารสนเทศเพื่อการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นระบบที่สามารถแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ในพื้นที่ได้เตรียมการ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนได้นำเสนอแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี ๒๕๖๖ ได้แก่ การพัฒนาขีดความสามารถศูนย์บัญชาการทางทหาร ระยะที่ ๒ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบบสารสนเทศการส่งกำลังบำรุงกองทัพไทย และระบบงานแผนที่เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงของกองทัพไทย

กองทัพบก ได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 
ด้านกำลังพล ได้จัดทำโครงการรับสมัครทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการโดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ และโครงการคัดเลือกนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของ กองทัพบก และนักเรียนนายสิบทหารบก ด้านการข่าว สนับสนุนการปฏิบัติของกองกำลังป้องกันชายแดน และหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกองทัพบก พร้อมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการทหารกับมิตรประเทศ ผ่านการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของผู้บัญชาการทหารบก และการรับการเดินทางเยือนของผู้บัญชาการทหารบกมิตรประเทศ ด้านยุทธการ สนับสนุนยุทโธปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมให้กับกองกำลังป้องกันชายแดน พร้อมทั้งสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การลักลอบนำเข้า/ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และการกระทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ยังได้อนุมัติแนวความคิด ในการปรับการจัดหน่วย กองพลทหารราบที่ ๗ และกองพลทหารม้าที่ ๓ ให้เป็น กองพลทางยุทธศาสตร์ของกองทัพบก โดยนำแนวความคิดด้านการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองมาปรับใช้ ด้านการส่งกำลังบำรุง ได้ปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ๑๔๕ ให้มีขีดความสามารถในการเป็นเฮลิคอปเตอร์พยาบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งกลับสายแพทย์ ด้านกิจการพลเรือน กองทัพบก ได้บูรณาการและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” รวม ๒,๖๐๐ พื้นที่ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน และได้จัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงาน/ส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ 

กองทัพเรือ ได้สรุปผลการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นการบูรณาการการฝึกของหน่วยต่าง ๆ ภายในกองทัพเรือ เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างประสานสอดคล้อง และมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย การอบรมก่อนการฝึก การฝึกปัญหาที่บังคับการ และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล โดยใช้โครงสร้างจริง ของหน่วยทุกระดับเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น” และถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นตามแนวคิด “พี่สอนน้อง ครูสอนศิษย์” รวมทั้งมีการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ โดยใช้ขีดความสามารถของกำลังทางเรือเข้าช่วยเหลือประชาชนจากทางทะเล ร่วมกับ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หน่วยงานราชการพลเรือน และภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการฝึกขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในทะเล และการฝึกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล

‘ผบ.เหล่าทัพ’ เข้าประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ หลัง ‘บิ๊กตู่’ ประกาศยุบสภาฯ เดือนมีนาคม

(22 ก.พ. 66) ที่ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พล.อ.เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตตแก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ. อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าร่วมประชุม

โดยเมื่อเวลา 08.30 น. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางไปยัง กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุดขึ้นแท่นรับความเคารพจากทหารกองเกียรติยศ และตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ก่อนเดินทางไปยังท้องพระโรงชั้นในเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในท้องพระโรงชั้นใน และลงนามในสมุดเยี่ยม

การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๓ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา กองบัญชาการกองทัพไทย จัดการประชุม
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ ๓ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖ โดยมี พลเอก เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ หอประชุมกองทัพเรือ

ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มอบนโยบายให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
ดำรงความต่อเนื่องในการสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจจิตอาสาพระราชทานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนดำรงความต่อเนื่องในการบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทย โดยให้ถือเป็นการช่วยเหลือสังคมและกล่อมเกลาให้กำลังพลได้รู้จักความเสียสละและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม โดยในวันนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ รวมถึงได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ของกองทัพ ดังนี้

กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ชี้แจงนโยบายการฝึกของกองทัพไทย พ.ศ.๒๕๖๖ - ๒๕๗๐ เพื่อให้ส่วนราชการในกองทัพไทยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการฝึก แผนงบประมาณประจำปี และพัฒนาระบบงานการฝึกของหน่วย โดยมีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนในทุกระดับ สาระสำคัญประกอบด้วย นโยบายทั่วไป และนโยบายเฉพาะ ซึ่งมีแผนงานการฝึก จำนวน ๔ ด้าน ได้แก่ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของรัฐ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน

กองทัพบก ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาการฝึกเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกให้มีความพร้อมรบ (Combat Readiness) มีขีดความสามารถในการรองรับภารกิจด้านความมั่นคงในทุกรูปแบบ และสามารถปฏิบัติการร่วมกับทุกเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการฝึกที่สำคัญประกอบด้วย การฝึกตามวงรอบการฝึกประจำปีของกองทัพบก ซึ่งเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานให้กับกำลังพล เพื่อให้เกิดทักษะความชํานาญทั้งในระดับบุคคล และระดับหน่วย การฝึกร่วม ซึ่งเป็นการฝึกร่วมกับเหล่าทัพ และส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกร่วม/ผสมกับมิตรประเทศ ซึ่งเป็นการฝึกเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และความชำนาญในการปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในหลักนิยม ยุทธวิธี ขีดความสามารถ และความทันสมัยของยุทโธปกรณ์ในแต่ละกองทัพมิตรประเทศทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี 

กองทัพเรือ ได้รายงานผลการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือ HADR ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔ ถึง ๖ มกราคม ๒๕๖๖ ในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เข้ารับการฝึกฯ จากกองทัพเรือ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ มวลชน และนักท่องเที่ยวบนเกาะราชาใหญ่ รวมทั้งสิ้น ๑,๓๒๐ คน ผลจากการฝึกฯ ในครั้งนี้ได้รับทราบถึงขีดความสามารถของกำลังทางเรือในการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ทางทะเลและเกาะแก่ง อีกทั้งยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในขีดความสามารถของกันและกัน อันจะนำไปสู่การปฏิบัติการร่วมกันในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและใกล้เคียงเกิดความมั่นใจในขีดความสามารถและความพร้อมของกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กองทัพอากาศ ได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพ และหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือร่วมกับศูนย์อำนวยการร่วมในพื้นที่ โดยกองทัพอากาศได้เตรียมความพร้อมกำลังพล อากาศยาน และอุปกรณ์ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ไฟป่าและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติภารกิจในการบินกระจายเสียงในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง การบินลาดตระเวนค้นหาพื้นที่ไฟป่า การบินสร้างแนวกันไฟเพื่อควบคุมไฟป่า การบินลำเลียงทางอากาศและส่งกลับ สายแพทย์ และการบินค้นหาและช่วยชีวิต นอกจากนี้ กองทัพอากาศ ยังมีโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาไฟป่าและสลายหมอกควัน ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาเครื่องผสมสารยับยั้งไฟป่า สารยับยั้งไฟป่าสูตร ทอ.๑ ถุงบรรจุสารยับยั้งไฟป่าในกล่องอุปกรณ์ควบคุมไฟป่า บรรจุภัณฑ์ยับยั้งไฟป่าแบบติดตั้งอุปกรณ์ หน่วงเวลา สถานีระบบควบคุมภาคพื้น อากาศยานไร้คนขับโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อากาศยานไร้คนขับแบบ M Solar X การทำฝนหลวงเมฆอุ่น และพลุสารฝนหลวง เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top