Sunday, 30 June 2024
ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงรัฐเร่งแก้วิกฤตโรงเรียนเอกชน ก่อนปิดสังเวยโควิด100%

ผู้ตรวจการแผ่นดินระดมสรรพกำลังหามาตรการเยียวยาบรรเทาทุกข์โรงเรียนเอกชนระยะสั้น - ยาว ผลพวงวิกฤตโควิดหนัก หวั่นไม่นานอาจปิดฉากยุบตัวจ่อกระทบครูและบุคลากรทางการศึกษาแสนกว่าชีวิต นักเรียนร่วมสองล้านคน หวังมาตรการระยะสั้นวอนรัฐช่วยพยุงปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าไฟค่าน้ำ และเงินทุนกู้หมุนเวียน ส่วนระยะยาวขอรับเงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคล ลดหย่อนภาษีให้กับผู้บริจาคจำนวนสองเท่า อุดหนุนค่าอาหารกลางวันเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเร่งชงทางออกเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี

ที่สำนักผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อสภาพคล่องของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 3,563 แห่ง ทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพจำเป็นต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้เนื่องจากนักเรียนสมัครเรียนน้อยลง ผู้ปกครองค้างชำระค่าธรรมเนียมจำนวนมาก สร้างผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมหาศาล ช่วงเดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน โรงเรียนเอกชนไม่สามารถเปิดเรียนแบบ ONSITE ได้ การเปิดการเรียนการสอนแบบ ONLINE ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากเรียกร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาคืน อีกทั้งผู้ปกครองบางส่วนค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนกว่า 2,500 แห่ง ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนครูถึงแม้ว่าจะพยายามยื่นกู้จากสถาบันการเงินแต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันสถาบันการเงินจึงไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับโรงเรียนเอกชนบางแห่ง ส่วนบางแห่งได้รับเงินกู้แต่ถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป ปัญหาดังกล่าวได้มีการเลิกจ้างครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว จำนวน 12,253 คน หากปัญหานี้ปล่อยวางจะกระทบถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยและผู้ปกครองจำนวนมากที่พึ่งโรงเรียนเอกชนเป็นสถานศึกษาทางเลือก โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาบางส่วนที่กล่าวไปยังมีเรื่องอื่น ๆ ตามมาจำนวนมาก ในการนี้จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของโรงเรียนเอกชนให้สามารถบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ 

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เสนอแนะการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ การแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การขอลดค่าน้ำ-ค่าไฟร้อยละ 50 ให้กับโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นชั่วคราว การขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการกู้จากสถาบันการเงินให้โรงเรียนเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ และขอให้รัฐเร่งรัดจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน 5,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)

การแก้ไขปัญหาระยะยาว มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ เงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคลของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ให้ภาครัฐอุดหนุน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้วจึงปรับลดเงินช่วยเหลือเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ตามเดิม ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประสานกรมสรรพากร จัดประชุมเพื่อศึกษาหารือรายละเอียด เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ กรณี การลดหย่อนภาษีจำนวนสองเท่าสำหรับผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยรับสิทธิได้รับทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนแจ้งผู้บริจาคให้ทราบถึงสิทธิ และการลดหย่อนภาษีสองเท่าของจำนวนการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาความสำคัญและขยายโครงการต่อไปในปี พ.ศ. 2565

การส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชน ให้รัฐพิจารณาหาแนวทางเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนที่ใช้สิทธิสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่เกินสิทธิได้ โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงควรมีการศึกษาและปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนสามารถพิจารณาทางเลือกว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง หรือประกันสังคม และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเร่งรัดการศึกษาวิจัยร่วมกับสภาการศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนในอัตราที่เหมาะสม เพื่อที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้นำเสนอหลักการต่อรัฐบาลให้พิจารณาเมื่อสถานการณ์ปกติและฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลดีขึ้นแล้ว

'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาด กรณี 'มติสภาห้ามชงชื่อซ้ำ' พร้อมขอให้ชะลอโหวตนายกฯ

(24 ก.ค. 66) ที่สำนักงาน​ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการ​สำนักงาน​ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​ แถลงผลวินิจฉัยกรณีขอให้ยื่นคำร้องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีรัฐสภาลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ในที่ประชุมรัฐสภาได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้ม​เจริญ​รัตน์​ หัวหน้า​พรรค​ก้าวไกล​ ให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 แต่มีประเด็นโต้แย้งว่าการเสนอชื่อเป็นญัตติซ้ำเป็นข้อห้ามของข้อบังคับรัฐสภา กรณีที่ญัติใดที่ตกไปแล้วห้ามเสนอชื่ออีกในสมัยประชุมเดียวกัน

โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภา และประชาชนจำนวน 17 คำร้อง ขอให้ผู้ตรวจการ​แผ่นดิน​เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ​ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 จากกรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนว่า เข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 หรือไม่

โดยเห็นว่า รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญและการกระทำของรัฐสภา ในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้วตาม มาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญการกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง

โดยผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนี้คำร้องเรียนส่วนหนึ่ง ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ซึ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป

ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะขัดต่อกฎหมาย และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ และยากที่จะเยียวยาแก้ไข จึงเห็นด้วยกับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ​กำหนดการชะลอพิจารณานายกฯ ออกไปก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ​จะมีคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตามการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ​ นี้คาดว่าจะเป็นวันพรุ่งนี้ 25 ก.ค. หรือ 26 ก.ค.นี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top