Friday, 5 July 2024
ณัฐพลใจจริง

‘อ.ไชยันต์’ งัดเอกสารโต้ ปม ‘เสรีไทย’ ใส่ร้าย ร.9 กรณี ร.8 สวรรคต แต่ ‘ณัฐพล ใจจริง’ จงใจแปลบิดเบือน!

“อ.ไชยันต์” เปิดเอกสารชี้ชัด “จอมพลผิน ชุณหะวัณ” เผยว่า “เสรีไทยวางแผนใส่ร้าย ในหลวง ร.9 ว่า สังหารพี่ชาย เพื่อให้ประชาชนยอมรับสาธารณรัฐ” แต่ “ณัฐพล ใจจริง” ที่อ้างอิงเอกสารดังกล่าว กลับจงใจไม่พูดถึงเลย แล้วยังแปลบิดเบือนเป็นว่า “เสรีไทยมีแผนการจะประกาศว่าใครคือบุคคลที่สังหารรัชกาลที่ 8” จนเกิดการเอาไปขยายผลแบบผิดเพี้ยน สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล

วันที่ 13 ม.ค. 65 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ...

อีกแล้วครับ ท่าน !

“ทุ่นดำ-ทุ่นแดง” กับ “กรณีจอมพลผิน ชุณหะวัณ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ตัดหน้า เพราะเสรีไทยกลุ่มปรีดีที่มีแผนจะประกาศว่าใครสังหารรัชกาลที่ 8 และจะประกาศตั้งสาธารณรัฐขึ้น” ในงาน ของ ณัฐพล ใจจริง

กรณีที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ

เหตุการณ์ช่วงเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 โดยคณะรัฐประหารที่นำโดยกลุ่มราชครู ที่มี จอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นแกนนำ

ซึ่งหนึ่งในข้ออ้างในการทำการรัฐประหารดังกล่าว คือ กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่รัฐบาลเก่าของหลวงธำรงฯ มิอาจสามารถคลี่คลายได้ (และไม่ปรากฏความคืบหน้าใดๆ หากยึดตามเอกสารต่างประเทศที่พอจะพูดถึงไว้บ้าง)

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเอกสารย้อนหลัง พวกเรากลับพบเจอกับความ “ไม่ซื่อสัตย์ทางด้านวิชาการ” ของ ณัฐพล ใจจริง อีกครั้งโดยบังเอิญ

ซึ่งในครั้งนี้เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการใช้เอกสารชั้นต้นที่ ณัฐพล “จงใจบิดเบือน” หรือ “แปลงสาส์น”

ข้อความต่อไปนี้คือข้อความที่ณัฐพลได้บรรยายไว้ทั้งในวิทยานิพนธ์ และ หนังสือ ขุนศึกฯ

1.) ข้อความที่เกี่ยวข้อง
ข้อความที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง ในวิทยานิพนธ์หน้า 65 ณัฐพลได้ระบุข้อความไว้ว่า “ราว 1 สัปดาห์หลังการรัฐประหาร จอมพลผิน ชุณหะวัณ แกนนำคนสำคัญในคณะรัฐประหารได้กล่าวอ้างว่า เขาได้ทำรัฐประหารตัดหน้าเสรีไทย “กลุ่มปรีดี” ที่มีแผนการจะประกาศว่า ใครคือบุคคลที่สังหารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกฐ [รัชกาลที่ 8/ ทุ่นดำทุ่นแดง] และจะทำการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น”

ข้อความที่ปรากฏใน ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และในหนังสือก็ปรากฏข้อความนี้เช่นเดียวกันในหน้า 61 ดังข้อความว่า

“ราวหนึ่งสัปดาห์หลังการรัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ แกนนำคนสำคัญในคณะรัฐประหาร กล่าวว่า เขาได้ทำรัฐประหารตัดหน้าเสรีไทยกลุ่มปรีดี ที่มีแผนการจะประกาศว่าใครคือบุคคลที่สังหารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และจะทำการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น”

ข้อความทั้ง 2 ส่วนนี้ ณัฐพลอ้างเอกสารฉบับเดียว คือ NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, 16 November 1947 (16 พฤศจิกายน พ.ศ.2490) ซึ่งพวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้มีโอกาสถือครองสำเนาของเอกสารดังกล่าวเช่นกัน

2.) ข้อค้นพบ
จากการตรวจสอบเอกสารฉบับดังกล่าวอย่างละเอียด อาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาในเอกสารจริงๆ ที่ผู้เขียน คือ Edwin Stanton ทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่มีไปถึงกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา อาจถือได้ว่าเนื้อความที่ณัฐพลยกมานั้นเป็นการ “พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ” เลยก็ว่าได้ เนื่องจากข้อความเหล่านั้นปรากฏเนื้อหาคนละแบบ อีกทั้ง ณัฐพล ยังอาจจะจงใจแปลไม่ครบถ้วนอีกด้วย

ทั้งนี้ เอกสารระบุเนื้อความเพียงว่า

“เหตุการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีความสับสนในปัจจุบัน... ‘การเปิดเผยที่น่าตกใจ’ ของพลโท ผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นแกนหลักของฝ่ายหลวงพิบูล ซึ่งทางกองทัพได้ทำการรวบรวมรายชื่อ (rounding up) ของผู้เกี่ยวข้องกับการปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ผินเล่าว่า ... เขา ทางกองทัพได้ทำการสกัดกั้นคำสั่งจากโทรเลขลับถึง ... ชี้ว่า พวกเสรีไทยกำลังวางแผนสมคบคิดจะล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ... ซึ่งจะทำการยึดอำนาจแล้วประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐ ยิ่งกว่านั้น การที่จะทำให้ประชาชนยอมรับสาธารณรัฐ บรรดาเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดได้วางแผนที่จะดิสเครดิต (discredit) ในหลวงองค์ปัจจุบัน โดยกล่าวหาว่าพระองค์คือผู้ที่สังหารพี่ชายของพระองค์เอง ทั้งนี้ ผินได้เล่าสืบไปว่า พล็อตเช่นนี้ (เรื่องที่ใส่ร้าย ร.9/ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) เพิ่งจะเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารนี้เอง...”

ข้อความต้นฉบับ คือ “Confused political situation still further … “startling revelation” made yesterday General Pin Chunhavan, who is Phibun’s principal lieutenant chat Army policy rounding up those who participated in ‘assassination’ late King.

Pin told … Army intercepted orders issued by secret radio to secret … all … country indicating Free Thai conspiracy overthrow Thamrong Government November 30, seize power declare republic. Further that in order make people accept republic, conspirators planned discredit present King by alleging he killed his brother. According … Pin, this plot hatched before present coup.”

และเมื่อได้ทำการเปรียบเทียบข้อความของณัฐพลทั้ง 2 แห่ง (ทั้งในวิทยานิพนธ์และหนังสือ) กับ เอกสารต้นฉบับของ E. Stanton ทูตสหรัฐ

หากผู้อ่านมีใจที่เป็นกลางและเป็นธรรม จะพบข้อเท็จจริงเพียงว่า
1.) รายงานฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นี้ Stanton ทูตสหรัฐ ได้รายงานเพียงความเห็นของจอมพลผินในฐานะหัวหน้ารัฐประหารเท่านั้น โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าพวกเสรีไทย (กับจีนคอมมิวนิสต์) ได้สุมหัวกันเพื่อจะยึดอำนาจจากรัฐบาลหลวงธำรงฯ แล้วจะประกาศตั้งสาธารณรัฐไทยขึ้นมาแทน และเพื่อให้การสถาปนาสาธารณรัฐเป็นไปได้ พวกเขาจึงต้องวางแผนที่จะถอดพระมหากษัตริย์ออกด้วยการ “ดิสเครดิต” โดยกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 9 เป็นผู้ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8

อย่างไรก็ดี Stanton ได้กล่าวถึงกองกำลังเสรีไทยเท่านั้น และไม่มีข้อความในส่วนใดกล่าวถึง “เสรีไทยกลุ่มปรีดี” ตามที่ณัฐพลระบุเลย

'คอลัมนิสต์ดัง' ถาม 'จุฬาฯ' ผลสอบวิทยานิพนธ์บิดเบือน 'ณัฐพล ใจจริง' ชัด แต่ทำไมทางสถาบันยังไม่จัดการถอดปริญญาจากผู้มีมลทินเสียที

(7 มี.ค. 67) จากกรณีศาลอาญายกฟ้อง อ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คดีหมิ่นประมาท นายณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ และ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งอ้างอิงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)’ ของนายณัฐพล ใจจริง ซึ่งกำลังถูกทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสอบสวนวิทยานิพนธ์

ล่าสุด นายสุรวิชช์ วีรวรรณ คอลัมนิสต์ประจำเครือผู้จัดการ แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Surawich Verawan ระบุว่า แว่วว่าผลสอบวิทยานิพนธ์ผิดจริง แต่ไม่ถอนปริญญาเพราะไม่มีระเบียบ

การสอบสวนวิทยานิพนธ์ที่บิดเบือนเสร็จสิ้นไปนานแล้ว แต่ถึงวันนี้จุฬาก็ยังเก็บงำอยู่

นิสิตเก่าจุฬาฯ ร่อนหนังสือถึงอธิการบดีฯ จุฬาฯ ถาม 6 ข้อคืบหน้าถอดถอนวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล ใจจริง'

(8 มี.ค. 67) นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 ทำหนังสือถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อหาดังนี้…

เรียน อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์  

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567 ศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีนายณัฐพล ใจจริง ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ได้วิพากษ์วิจารณ์นายณัฐพล ว่าใช้ข้อมูลที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าคณะกรรมการสอบสวนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญและเป็นกลาง ขึ้นมาตรวจสอบวิทยานิพนธ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้ส่งผลการสอบสวนให้ท่านประธานคณะกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว เรื่องดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาฯ ได้มีมติรับรองผลการสอบสวนวิทยานิพนธ์แล้ว

บัดนี้เวลาได้ผ่านไป 3 ปี จนศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แล้ว แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่มีการประกาศผลการสอบสวนออกมาเพื่อเปิดเผยให้สังคมที่กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากได้รับทราบ ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ การเก็บเรื่องที่สำคัญมากเช่นนี้อย่างเงียบโดยไม่ชี้แจงแสดงผล และการที่มีข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ทำให้มีผู้กล่าวถึงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในทางที่เสียหาย ข้าพเจ้าในนามนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกติฉินนินทา แต่เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนของชาติเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ผิด ซึ่งจะมีผลลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรสำเหนียกให้มาก

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อสืบสานพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงประดิษฐานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุถึงภารกิจหลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมี "คุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการโดยยึดหลัก ความมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการ มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การนําความรู้ที่ถูกต้องสู่สังคม ความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคม ตลอดจนประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ตามนโยบายการบริหารงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด ‘Open to Transparency’

ข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนท่านอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้ :

1. ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยมติของคณะกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของนายณัฐพล ใจจริง เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491 - 2500)’ ให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนทราบ

2. ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง หลังสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับรองมติดังกล่าว

3. ถ้ายังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการเมื่อใด และอย่างไร

4. ถ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ข้าพเจ้าขอทราบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะ ‘ถอดถอนวิทยานิพนธ์’ ของนายณัฐพล ใจจริง แทนได้หรือไม่ เนื่องจากการถอดถอนวิทยานิพนธ์ก็น่าจะมีผลต่อวิทยฐานะของของนายณัฐพล ใจจริง โดยไม่ต้องถอดถอนปริญญา ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘ถอดถอนวิทยานิพนธ์’ นั้นโดยเร็วที่สุด แล้วแจ้งให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนรับทราบด้วย 

5. ถ้าข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ เป็นความจริง ข้าพเจ้าขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรับปรุงระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้รัดกุมและครอบคลุมบทลงโทษเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

6. ขอทราบนามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอคำตอบทุกข้อภายใน 15 วัน ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. 2540

ขอแสดงความนับถือ
นางวิรังรอง ทัพพะรังสี            
นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30
หมายเหตุ : หนังสือนี้ทำ 2 ฉบับ
ส่งถึงอธิการบดี 1 ฉบับ
และสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ฉบับ
มีเนื้อหาข้อความตรงกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top