Thursday, 4 July 2024
จิรวัฒน์จังหวัด

อัปเดตความยิ่งใหญ่โครงสร้างพื้นฐานยกระดับเศรษฐกิจไทย 'ถนน-รถไฟ-รถไฟฟ้า-เมกะโปรเจกต์แสนล้าน' ใกล้เป็นจริง

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 ก.ย.66 ได้พูดคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของไทย กับ 'คุณจิรวัฒน์ จังหวัด' เจ้าของเพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ที่ EP นี้ได้มาอัปเดตโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร พร้อมอัปเดตการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้าเส้นทางไหนเปิดใช้บริการแล้ว เส้นทางไหนกำลังก่อสร้างใกล้เปิดบริการ เปิดแผนการลงทุน โปรเจกต์แสนล้าน! โครงการ Land Bridge เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ศูนย์กลางเดินเรือภูมิภาค โดยคุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า...

ภาพรวมโครงสร้างพื้นฐานในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวหลายๆ ส่วน ตั้งแต่สิ่งที่สร้างไปแล้ว สิ่งที่กำลังก่อสร้าง และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

>> ราง
สิ่งที่เปิดไปแล้วใหญ่ๆ เลยก็คือ สถานีกลางบางซื่อ หรือ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่ตอนนี้พอมารวมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็ส่งผลให้พิกัดนี้กลายเป็น Hub สำคัญแห่งการคมนาคมของอาเซียนไปแล้ว (รถไฟจากลาวจีน สามารถวิ่งตรงมาที่ประเทศไทยได้เลย)

"โดยรถไฟสายสีแดง ถือเป็นรถไฟฟ้าเส้นสำคัญ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหารถติดช่วงตั้งแต่ บางซื่อถึงรังสิต ได้ดีอย่างมาก"

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่เปิดบริการไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ คือ โมโนเรล (Monorail) สายสีเหลือง ซึ่งเป็นโมโนเรล สายแรก ที่เป็นขนส่งมวลชนในเมืองไทย เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งจะแก้ไขปัญหารถติดบนถนนลาดพร้าวได้เป็นอย่างดี 

"สายนี้สำคัญมาก เพราะมาเชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่ลาดพร้าว ขณะที่ในอนาคตจะมาเชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีลำสาลี ซึ่งลำสาลีจะวิ่งอยู่บนถนนรามคำแหง แล้วสุดท้ายจะไปจบที่สถานีสำโรง อีกทั้งสายนี้จะยังมีจุดจอดรถจอดแล้วจร ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นขนทางจราจรและป้อนคนเข้าออกชานเมืองได้อย่างดี"

ไม่เพียงเท่านี้ รถไฟฟ้าที่กำลังเตรียมตัวเปิดอีกไม่นาน ก็จะมี สายสีชมพู ซึ่งเป็นแบบโมโนเรล เหมือนสายสีเหลือง เริ่มตั้งแต่ศูนย์ราชการ นนทบุรี ไปมีนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกหลายสายเช่นกัน 

"ความสำคัญของรถไฟฟ้าเส้นนี้คือการเชื่อมต่อไปเมืองทองธานี เป็นสายแรกในเมืองไทยที่ทำรถไฟฟ้าสายแยก โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งสายสีชมพูจะเริ่มเปิดประมาณต้นปี 2567"

อีกส่วนหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดบริการ คือสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ซึ่งสายนี้จะไปเชื่อมกับสายสีชมพูที่มีนบุรี และในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อไปถึง ศิริราช และสถานีบางขุนนนท์ได้เลย โดยสายสีส้มจะวิ่งในแนวขวางตัดกรุงเทพมหานคร 

ข้ามมาที่ สายสีม่วง ก็จะมีการเชื่อมต่อกับสายสีม่วงเดิม หรือสีม่วงด้านบน ช่วงเตาปูน ไปบางไผ่ ส่วนด้านล่าง เตาปูน ลงมาถึงพระประแดง ก็จะมาตัดสีส้มแถวราชดำเนิน ซึ่งสายสีม่วงส่วนล่างกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2572

คุณจิรวัฒน์ เผยอีกว่า รถไฟฟ้าที่เล่ามายังไม่จบเท่านี้แน่นอน เพราะตอนนี้ สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) และกรมการขนส่งทางราง ได้มีการศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครใหม่ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการวางแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP ที่ได้วางกันมานาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมศึกษาเส้นทาง ภายใต้ประเด็นการใช้ตั๋วร่วม ให้เกิดขึ้นจริงบรรจุอยู่ด้วย

ในส่วนของ รถไฟทางคู่ คุณจิรวัฒน์ เล่าว่า "ตอนนี้เรามีประมาณ 5 โครงการทั่วประเทศ โดยเส้นทางหลักๆ ที่คืบหน้าไปมาก คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายอีสาน อีกเส้นหนึ่ง คือ ลพบุรี-ปากน้ำโพ อีกสายหนึ่งที่สำคัญมาก คือ รถไฟสายใต้ นครปฐม-ชุมพร ตรงนี้คือคอขวดของรถไฟสายใต้ ถ้าสร้างช่วงนี้เสร็จไม่ต้องรอสับรางแล้วสามารถวิ่งตามกันได้เลย"

ส่วนรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ของเมืองไทยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-โคราช โดยโครงการนี้ไทยเป็นคนก่อสร้างเองในส่วนของงานโยธา และซื้อระบบมาวางบนทางวิ่งที่ก่อสร้างเอง 

"ในอนาคตเราสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผลิตรถไฟ ทางการก่อสร้างเส้นทาง การซ่อมบำรุง การประกอบของรถไฟความเร็วสูง โดยนำข้อมูลตัวเดียวกันมาผลิตรถไฟทางคู่ หรือ ราง 1 เมตรได้ คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2570" 

ส่วนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน แต่จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านมาเมืองนั้น จะมีสถานีระหว่างเมือง 3-4 สถานี ที่อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571-2572 

>> ถนน
ด้าน มอเตอร์เวย์ 2 สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ อาทิ บางปะอิน-โคราช มีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปเยอะมากแล้ว คาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี น่าจะสร้างเสร็จ (ประมาณ ปี 2568) อีกเส้น คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี กำลังดำเนินการก่อสร้างเป็นส่วนๆ  ประมาณกลางปี 2567 น่าจะแล้วเสร็จ

>> เมกะโปรเจกต์
สำหรับโครงการในอนาคต กับ โครงการสะพานข้ามเกาะสมุย ขนอม-สมุย ระยะทางการสร้างสะพานประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกในการรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นจากการขึ้นเรือเฟอร์รี่มายังเกาะสมุยนั้น จะสามารถเชื่อมโยงกับโครงการ SEC (Southern Economic Corridor : ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) ได้ 

อีกโครงการที่สำคัญคือ โครงการ Landbridge ซึ่งเป็นการสร้างสะพานเศรษฐกิจข้าม 2 ฝั่งทะเล ซึ่งโครงการนี้จะมีช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามฝั่งทะเลได้โดยง่าย โดย Landbridge จะมีโครงการย่อยๆ เชื่อมโยงกันอยู่ 3 โครงการหลักๆ ได้แก่...

1.ท่าเรือ ซึ่งจะสร้างทั้ง 2 ฝั่งทะเล บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอีกฝั่งหนึ่งแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ซึ่งการสร้างท่าเรือ จะช่วยในการพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อาทิ การแปรรูปผลไม้ เช่น สับปะรด ได้ด้วย

2.การสร้างมอเตอร์เวย์ แบบคู่ขนาน ถนน และรถไฟสายใหม่ 

และ 3.การสร้างทางรถไฟ เชื่อมโยงกับทางรถไฟระบบเดิม ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างมาก

"สำหรับโครงการนี้สำคัญต่อประเทศอย่างมาก ซึ่งผมอยากฝากให้ประชาชนในพื้นที่ได้ติดตามและเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของโครงการต่างๆ เพื่อเสนอแนะ และแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ในฐานะประชาชนในพื้นที่กันครับ" คุณจิรวัฒน์ ทิ้งท้าย

‘จิรวัฒน์’ เลคเชอร์!! โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย 67 ความคืบหน้า ‘เส้นทางรถไฟ-รถไฟฟ้า’ เดินหน้าน่าพอใจ

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ คุณจิรวัฒน์ จังหวัด เจ้าของเพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.67 ถึงความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในปี 2567 โดยช่วงหนึ่งของรายการ คุณจิรวัฒน์ ได้อัปเดตเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของระบบโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟไทย ไว้อย่างน่าสนใจว่า...

ตอนนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดใช้ทางคู่สายใต้ ตั้งแต่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายใต้ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน รวมถึงสามารถขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย 

ทั้งนี้การรถไฟฯ ได้ตรวจสอบความพร้อมของโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนในเส้นทางสายใต้ ‘ช่วงนครปฐม-หัวหิน’ และ ‘ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์’ รวมถึง ‘ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร’ โดยพบความก้าวหน้าใกล้จะแล้วเสร็จทั้งหมด พร้อมกำหนดเปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตรในช่วงเมษายนนี้ เพื่อช่วยลดเวลาในการเดินทาง เพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินขบวนรถ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง และถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้น ประมาณ 1.30 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ทำให้การรถไฟฯ สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า 

“ตรงนี้ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ-รถยนต์ ที่สำคัญรถไฟทางคู่ยังช่วยกระจายโอกาสทางสังคมการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เป็นการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน” คุณจิรวัฒน์ กล่าว

ส่วนรถไฟสายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้มีการออกแบบสถานี เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ล้านนาอย่างโดดเด่นสวยงาม สอดคล้องบริบทท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเส้นทางนี้ ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้าน ในการขนส่งสินค้า ฉะนั้นการพัฒนาโครงสร้างอาคารสถานีดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นอันดีต่อการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ ในแง่ของการสร้างความประทับใจแรกเห็น (First Impression) แก่ผู้ใช้บริการได้อย่างมาก 

คุณจิรวัฒน์ ขยายความต่ออีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของสถานีเชียงของ ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่จะเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เชื่อม ‘ไทย-ลาว-พม่า-จีน’ โดยการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารต่อเนื่องระหว่างประเทศจะเชื่อมโยงผ่านสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4 รวมถึงยังเป็นสถานีรถไฟโดยสาร และ โรงซ่อมบำรุง ไว้ในที่เดียวกันด้วย ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการรถไฟสายใหม่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ สายนี้ 

ส่วนความคืบหน้าของรถไฟความเร็วสูง ‘สายกรุงเทพ-โคราช’ คุณจิรวัฒน์ เผยถึงความคืบหน้าว่าอยู่ที่ประมาณ 28% โดยอาจจะมีบางส่วนช้าอยู่ในเรื่องของพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน แต่ที่สระบุรี และปากช่องก็เริ่มมีขุดเจาะวางเสาเข็มกันบ้างแล้ว ส่วนการก่อสร้างที่พระนครศรีอยุธยา ยังคงต้องรอข้อสรุปกันอยู่ 

สำหรับ ‘เส้นทางมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี’ นั้น ในปี 2567 น่าจะได้เริ่มใช้จาก ‘นครปฐม’ ไป ‘กาญจนบุรี’ ก่อน ส่วนเส้นทาง ‘กรุงเทพ-โคราช-บางปะอิน-นครราชสีมา’ นั้น หากมองในส่วน ‘โคราช-ปากช่อง’ ได้เปิดใช้งานมาก่อน และตอนนี้จะเปิดให้บริการแบบ 100% ฟรี เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี 

ในส่วนของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า สายสีม่วงใต้ ‘เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ’ ซึ่งทำเป็นอุโมงค์เสียส่วนใหญ่ และประมาณ 60% วิ่งเข้าเกาะรัตนโกสินทร์ (จะมีการลอดแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวงเวียนใหญ่ สะพานพุทธ) มีระยะดำเนินการมาประมาณ 2 ปี พบความคืบหน้าอยู่ที่ประมาณ 22% ซึ่งถือว่าคืบหน้าพอสมควร คาดว่าปี 2570-2571 น่าจะแล้วเสร็จ ส่วนอีกเส้นหนึ่ง คือ สายสีชมพู เปิดบริการ 100% วิ่งผ่าน ‘แจ้งวัฒนะ-มีนบุรี’ 

ทิ้งท้ายกับ แผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 หรือ M-MAP2 ก็ได้มีการวิเคราะห์ลงรายละเอียดไปถึงบ้านเรือนของประชาชนกับที่ทำงาน ว่าจะมีการเดินทางอย่างไร โดยมีการมองภาพกว้างที่ไม่ใช่จำกัดแค่ในกรุงเทพฯ แต่จะครอบคลุมไปถึงปริมณฑลด้วย เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top