Thursday, 4 July 2024
จตุรมิตรสามัคคี

‘นร.อัสสัมชัญ’ แชร์ความรู้สึกหลังร่วมแปรอักษร แม้อากาศร้อน-แดดแรง แต่ภูมิใจที่ได้ทำเพื่อโรงเรียน

เมื่อวานนี้ (12 พ.ย. 66) เพจ ‘Assumption College • โรงเรียนอัสสัมชัญ’ ได้โพสต์ข้อความความรู้สึกของเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณี 'จตุรมิตรสามัคคี' ระบุว่า…

บางอารมณ์จากความรู้สึกของการร่วมแปรอักษรฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ของเด็กอัสสัมชัญ

"สนุกมากครับ ถึงจะเหนื่อย เเต่ถ้ามาทำเพื่อโรงเรียน ไม่ว่าจะเเปลอักษร ร้องเพลงเชียร์ ผมพร้อมหมดครับ เพราะผมภูมิใจในความเป็นอัสสัมครับ หลังจากนี้จะทำเพื่อโรงเรียนต่อไป"
ภัทรพล หังสพฤกษ์ ม.3/1

"แปรอักษรสนุกดี แต่วันนี้อากาศร้อน เป็นประสบการณ์ที่ต้องกินข้าวบนสแตนด์แปรอักษร แต่โดยรวมสนุกมากครับ ผมนั่งเกือบริมที่อยู่ใกล้เพื่อน ๆ จากโรงเรียนเทพศิรินทร์"
ปัณณเชษฐ์ สุรสรณเศรษฐ์ ม.3/7

"ผมนั่งสแตนด์ส่วนของสำรอง โดนแดดเผาจนผิว แต่ได้ร่วมตะโกนร้องเพลงเชียร์พี่ ๆ น้องฟุตบอล ก็รู้สึกดีมากครับ"
ชัยพฤกษ์  ปัญญาใส ม.2/4

"ผมบอกเลยว่ามันเป็นการเชียร์และแปรอักษรที่สนุก ผมร้องเพลงแบบสุดเสียง แต่ก็มีช่วงที่ท้อแท้ เพราะต้องทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน แต่ก็เป็นช่วงเวลาในชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับผมแล้วครับ"
ภัทรพล เจริญบุตร ม.1/5

‘เพื่อน Classy Records’ แชร์มุมคนเข้าชม ‘บอล-แปรอักษรจตุรมิตร’ ชี้!! ตื่นตา-สวยงาม เห็นถึงความสามัคคีร่วมมือทำเพื่อสถาบันของตน

(15 พ.ย. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘เพื่อน ณัฐิภา Classy Records’ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดรามาแปรอักษรจตุรมิตร ระบุว่า…

ประเด็นเรื่องการ "แปรอักษร" เด็กผู้หญิงอย่างเพื่อน ขอออกความคิดเห็นบ้าง คงไม่ว่ากันนะคะ

เรื่องมีอยู่ว่า น้องชายสุดหล่อของเพื่อน เรียนอยู่ที่โรงเรียน สวนกุหลาบ ค่ะ ปีนี้เพื่อนจึงได้มีโอกาสไปดูคู่เปิดสนาม และพิธีเปิดงาน ‘ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี’ เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา 

เพื่อนเพิ่งรู้ว่าการเชียร์บอลนั้นสนุกมาก รู้สึกฮึกเหิมอย่างบอกไม่ถูก เวลาได้ยินเสียงเชียร์ของแต่ละโรงเรียน การได้มาเชียร์ที่สนามมันไม่เหมือนกับการชมถ่ายทอดสด 

คนละเรื่องเลยล่ะค่ะ 

คือเราจะเห็นการแข่งขันอย่างใกล้ชิด ได้เห็นผู้คนจับจ้อง ได้สัมผัสถึงอารมณ์ผู้คน ได้ลุกยืนลุ้นตอนบอลมาใกล้ประตู 

ที่ชอบมาก ๆ ไม่แพ้กันก็คือการได้ชมภาพการ ‘แปรอักษร’ ที่สวยงามของทั้ง 4 โรงเรียนพร้อม ๆ กัน ที่ใคร ๆ เรียกกันว่า ‘แปรอักษรจตุรมิตร’ และนี่คือสิ่งที่น้องชายของเพื่อนรอคอยที่จะได้ขึ้นสแตนไปทำหน้าที่ตรงนี้บ้าง

น้องบอกว่าการได้ขึ้นไปทำหน้าที่แปรอักษร มันคือความภาคภูมิใจ ทั้งรู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ต้องเหนื่อยแค่ไหน แต่มันคือพลังของเด็กสวนกุหลาบที่อยากจะทำผลงานตรงหน้านี้ให้ออกมาอย่างดีเยี่ยม 
เป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้ 

เชื่อว่าเพื่อน ๆ รอบตัวรวมถึงเพื่อนอีก 3 โรงเรียนก็จะคิดไม่ต่างกัน เพราะได้นั่งดูภาพที่สวยงามด้านหน้า จึงอยากไปเป็นหนึ่งในผู้สร้างความงดงามนี้ในด้านหลัง มันคงยากน่าดูกว่าจะออกมาได้งดงามขนาดนี้
คนดูอย่างเพื่อน จึงเห็นถึงความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดีใจที่น้องชายของเพื่อนมีใจใฝ่งานกิจกรรมของโรงเรียน น้องจะได้มีมุมมองในการใช้ชีวิต รู้จักหน้าที่ รู้จักความเสียสละ และเข้าสังคมเป็น เติบโตมาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจเด็ก เข้าใจสังคม มีแต่ประโยชน์ทั้งนั้นเลย

ใครนะที่กล้ามาปั่น เป่าหูเด็ก ใส่ร้าย และยุยงว่าการ ‘แปรอักษรจตุรมิตร’ เป็นเรื่องถูกบังคับขู่เข็ญ เป็นเรื่องที่ทรมานเด็ก 

ถ้าเด็กถูกทรมาน ถูกบังคับให้ทำโดยไร้ความสมัครใจ และไม่มีประโยชน์ต่อสังคมใด ๆ เลย จะมีผู้ใหญ่จำนวนมากที่มีชื่อเสียง มีอาชีพการงานที่ดี ที่เคยผ่านการแปรอักษรมาก่อนแล้วนับไม่ถ้วน พูดถึงกิจกรรมการแปรอักษรไปในทางที่ดีได้อย่างไร?

เพื่อนสงสัย??

อย่ามาทำให้เรื่องดี ๆ ของเด็ก ของน้องชายของเพื่อนต้องมัวหมองเพราะความคิดที่ไม่สะอาด และหัวจิตหัวใจที่สกปรกเลยนะคะ

ที่นี่ไม่มีสามนิ้ว มีแต่สิบนิ้วจากมือทั้งสองข้างประกบเข้าหากันคอยไหว้ผู้ใหญ่ที่สนับสนุนให้เด็กทำในเรื่องดี ๆ ต่อส่วนรวม ต่อสถาบันที่เขาศึกษา และรัก

สังคมไทยเราเละมากแล้วค่ะ ถ้าไม่ช่วยให้ดีขึ้น ก็อย่าพยายามหาช่อง หารู มาเจาะทำลายเลย
ขอให้ความงดงามจากความสามัคคีของเด็ก เติบโตไปพร้อมกับความคิด ๆ ของเขากันนะคะ
ที่เพื่อนจะเล่าก็มีเพียงเท่านี้

ก็ยาวบ้าง อะไรบ้าง 

ไม่ว่ากันนะคะ แหะ แหะ

ขอบคุณที่อ่านจนจบค่ะ

'เพจตี๋น้อย' มอง!! 'จตุรมิตร' เป็นมากกว่าการแข่งกีฬา 'แพ้-ชนะ' แต่คือพื้นที่แสดงพลังสามัคคี-หลอมมิตรภาพ 4 รร. ให้แน่นแฟ้น

(16 พ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘ตี๋น้อย’ นักเรียนไทยในมณฑลซินเจียง โพสต์ข้อความถึง ‘การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี’ ระบุว่า…

โพสต์นี้ขอเล่าอะไรนิดนึง ไม่เกี่ยวกับจีนซักโพสต์

การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีคือ การแข่งขันฟุตบอล 4 โรงเรียน คือ อัสสัมชัญ กรุงเทพคริสเตียน สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์

มันคือการแข่งขัน ดาร์บี้แมตช์ ของวัดไทย และวัดฝรั่ง ในสนามคือเอาเป็นเอาตาย กองเชียร์ เชียร์กันอย่างเมามัน

สเน่ห์ของฟุตบอลรายการนี้ที่มันไม่เหมือนรายการไหน ๆ และมันเป็นอย่างนั้นตลอดคือ มันคือมิตรภาพของทั้งสี่โรงเรียน ในสนาม เราเชียร์กันสุด นอกสนามคือเพื่อนกัน เวลาเรียนต่อมหาวิทยาลัย ผมสามารถพูดได้ว่า เพื่อนจากโรงเรียนเครือจตุรมิตร เป็นเพื่อนที่สนิทกันง่ายที่สุด มันเหมือนกับว่ามีอะไรมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน 

กูเด็กคริสเตียนเว้ย กูเด็กอัสสัมเว้ย กูเด็กสวนฯ เว้ย กูเด็กเทพฯ เว้ย เวลาเจอกันในมหาวิทยาลัยมันกลายเป็นเคมีที่เข้ากันได้ดีที่สุด 

สเน่ห์ของจตุรมิตรอีกอย่างคือ มันมากกว่าการไปดูและเชียร์ฟุตบอล บางครั้งเราก็เจอพี่ ๆ น้องๆ เพื่อน ๆ บางคนที่ไม่ได้เจอกันนานมาก ๆ มาเจอกันที่สนามฟุตบอล ได้ร่วมเชียร์ด้วยกัน เหมือนย้อนวัยกลับไปมัธยมอีกครั้ง ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อน พี่ น้อง คุณครูของตัวเองในวัยมัธยม อัปเดตชีวิตกันและกัน มีความสุขไปด้วยกันอีกครั้งนึง ชนะดีใจ แพ้เสียใจ ร้องเพลงเชียร์กันสุดเสียง มีแซวโรงเรียนอื่นกันบ้างเป็นสีสัน แต่สุดท้ายก็คือเพื่อน

จตุรมิตรสามัคคีดีเด่น จตุรมิตรนั้นเป็นสายใย ยึดดวงใจให้ เราสี่พี่น้องต่างปองรักกัน จิตใจนั้นของเราเป็นเลิศ

สุดประเสริฐเพราะความสามัคคี มิตรและไมตรี เราทั้งสี่นี้มาร่วมกัน

สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ จำให้มั่น
อัสสัมชัญ กรุงเทพคริสเตียน ร่วมเพียรจัดหา
เกียรติยศชื่อเสียงก้องลือชา
ซึ้งในคุณค่าคำว่าสามัคคี
จตุรมิตรสามัคคีดีเลิศ
ช่วยชูเชิดบรรเจิดเกรียงไกร
รักดังดวงใจ
จรรโลงให้คงอยู่ชั่วนิรันคร์

ปล. อัสสัมชัญของผมปีนี้ชนะบ้างเถิดนะพ่อนะะะ ไม่มีซักแต้มเลยยยย

#ตี๋น้อย #จีน #เล่าเรื่องเมืองจีน #ซินเจียง #ชีวิตในซินเจียง #จตุรมิตรสามัคคีครั้งที่30

'ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์' ไม่ทน!! ร้องสอบจริยธรรม 2 สส.ก้าวไกล-แก๊งสามนิ้ว ปั่น!! #เลิกบังคับแปรอักษร สร้างความแตกแยกสามัคคี 'จตุรมิตรสามัคคี'

(16 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร ผู้ร้องเรียน และนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำซึ่งอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ กับ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กว่าจะมีศิษย์จากโรงเรียนจตุรมิตรไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่รัฐสภา เรื่องการบังคับขึ้นสแตนแปรอักษรโดยไม่สมัครใจ จากนั้นได้มีการแพร่ภาพผ่านสื่อและมีข้อความ #เลิกบังคับแปรอักษร โดยมี น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล เป็นผู้แถลงข่าวว่า กมธ.ได้รับข้อมูลจากกลุ่มศิษย์เก่า รร.เทพศิรินทร์ และ รร.สวนกุหลาบ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากกิจกรรม ‘จตุรมิตรสามัคคี’ การแข่งขันฟุตบอลประเพณีของโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่ 4 โรงเรียน คือ รร.เทพศิรินทร์ รร.สวนกุหลาบวิทยาลัย รร.กรุงเทพคริสเตียน และ รร.อัสสัมชัญ โดยมีชายจำนวน 2 คน อ้างว่าเป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนในเครือจตุรมิตร เป็นผู้ยื่นหนังสือ

ดร.ทันกวินท์ กล่าวต่อว่า ตามข้อบังคับประมวลจริยธรรม พ.ศ. 2563 ได้บัญญัติอุดมคติของการเป็นสมาชิกและกรรมาธิการ รวมถึงจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ที่วางไว้ โดยผู้ร้องเรียนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบข่าวกรณีที่มีบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่ประชาคมจตุรมิตรไปแสดงข้อความ #เลิกบังคับแปรอักษร บริเวณหน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ และสนามกีฬาแห่งชาติ สนามศุภชลาศัยแล้ว เห็นว่าการกระทำของบุคคลทั้งสามมีความสอดคล้องกับการกระทำของบุคคลภายนอก แถมมีการนัดหมาย ร่วมกัน วางแผน เพื่อให้เกิดประเด็นข่าวซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และอาจนำไปสู่การแตกความสามัคคียิ่งเป็นการบั่นทอนอุดมการณ์อันสำคัญของการจัดการแข่งจตุรมิตรสามัคคี

ทั้งนี้ เห็นว่าการกระทำของ นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 กรุงเทพฯ และโฆษกกรรมาธิการการศึกษาฯ รวมถึงบุคคลตามภาพการแถลงข่าวของกรรมาธิการการศึกษาฯ เป็นการกระทำซึ่งขัดต่อข้อ 8 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 18 และข้อ 22 ของข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ จึงเรียกร้องให้ตรวจสอบการกระทำของบุคคลทั้งสามและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อโปรดพิจารณาส่งเรื่องคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

‘รร.อัสสัมชัญ’ จุดเริ่มต้นการแปรอักษรในงานกีฬาฯ สู่การสานต่อในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

(16 พ.ย. 66) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘David Boonthawee’ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ภาพแรกการแปรอักษรในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2485 ในช่วงเวลาแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แร้นแค้นขาดแคลน สินค้าแทบทุกชนิดหายาก แม้แต่ผ้าตัดเสื้อ ดังนั้นเสื้อผ้าที่สวมใส่กันส่วนมากจึงมีอยู่ไม่กี่สี

วันหนึ่ง มาสเตอร์เฉิด สุดารา ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ สังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่ง แต่งตัวด้วยเสื้อสีฟ้านั่งกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ จึงเกิดความคิดว่า ถ้านำเอาคนที่แต่งตัวเหมือน ๆ กัน มานั่งเป็นกลุ่มและจัดให้เป็นสัญลักษณ์อะไรก็คงจะทำได้ 

เวลานั้นโรงเรียนอัสสัมชัญมีการแต่งกายของนักเรียนอยู่ 2 แบบ คือ พวกที่เป็น ‘ยุวชนทหาร’ จะแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารสีเข้ม ส่วนพวกที่ไม่ได้เป็นยุวชนทหารก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อราชปะแตนสีขาว และใส่หมวกกะโล่สีขาวด้วย 

เมื่อถึงการแข่งขันฟุตบอลรุ่นกลางนัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมโรงเรียนอัสสัมชัญ กับทีมโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

มาสเตอร์เฉิดจึงได้นำนักเรียนอัสสัมชัญที่แต่งชุด ‘สีขาว’ ไปรวมกันไว้ที่ตอนบนของอัฒจันทร์ก่อน แล้วค่อย ๆ นำนักเรียนลงมาทีละกลุ่ม จัดให้นั่งเรียงกัน โดยเว้นช่องว่างไว้บางส่วน 

จากนั้นก็ให้พวกแต่งชุดยุวชนทหาร ‘สีเข้ม’ เข้าไปนั่งเติมเต็มในช่องว่าง 

เมื่อมองจากด้านหน้าของอัฒจันทร์ ก็จะเห็นเป็นภาพตัวอักษร ‘อสช’ ขึ้นมาจากสีเสื้อยุวชนทหาร ซึ่งเป็นอักษรย่อของชื่อโรงเรียนอัสสัมชัญ 

นั่นคือปรากฏการณ์ครั้งแรกของการแปรอักษรในประเทศไทย ที่เกิดจากการนำคนที่ใส่เสื้อต่างสี มานั่งเรียงกันเพื่อ ‘แปร’ ให้เป็น ‘ตัวอักษร’

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงและตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก

จากนั้นการแปรอักษรก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จากสีเสื้อผ้า มาสู่การติดริบบิ้น แล้วใช้แผ่นกระดาษ จนกลายเป็น ‘เพลต’ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น กระทั่งมาถึงยุคที่ ‘ลงโค้ด’ ด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน 

การแปรอักษรมาถึงยุครุ่งเรืองสุดขีดเมื่อฟุตบอล ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2507 
และสานต่อด้วยการนำมาใช้ในฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’

ซึ่งผู้ที่นำการแปรอักษรไปเผยแพร่ในระดับมหาวิทยาลัยเป็นคนแรกก็คือ รศ.ดร. สุรพล สุดารา ศิษย์เก่าอัสสัมชัญ บุตรชายของมาสเตอร์เฉิด สุดารา นั่นเอง

อาจารย์สุรพล ขณะนั้นเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำการแปรอักษรที่คิดค้นโดยบิดาตนเอง มาปรับใช้กับการเชียร์ฟุตบอลประเพณี

และนั่นเองที่ทำให้การแปรอักษรไม่ได้เป็นเพียงแค่การเชียร์สถาบันตนเองอีกต่อไป แต่ขยายพรมแดนไปถึงการสร้างความบันเทิงสนุกสนานให้แก่ผู้ชมด้วยอารมณ์ขัน การล้อเลียนเพื่อนต่างสถาบัน กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนถึงสถานการณ์ของสังคมโดยรวม

'ดร.หิมาลัย' เอือม!! ก๊วนการเมือง 'ตีรวน-มุ่งทำลาย' ประเพณีดีงามนับร้อยปี ยก 'จตุรมิตรสามัคคี' สายใยแห่งความรักของคนต่างโรงเรียนที่ไม่มีวันขาด

(17 พ.ย. 66) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ 'จตุรมิตรสามัคคี สายใยแห่งความรัก สวนกุหลาบต้องไว้ลาย' ความว่า...

ในช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาของการแข่งขัน ฟุตบอล จตุรมิตร ซึ่งเป็นกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ของ รร.มัธยมชายล้วนทั้ง 4 คือ สวนกุหลาบวิทยาลัย, เทพศิรินทร์, กรุงเทพคริสเตียน และ อัสสัมชัญ กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ ความสามัคคี ความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง ไม่ได้จำกัดแค่ในโรงเรียนเดียวกันเท่านั้น แต่ยังขยายเครือข่ายไปในกลุ่มจตุรมิตรด้วย

ในการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรนั้น มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ กองเชียร์และการแปรอักษรประชันกัน ซึ่งแต่ละโรงเรียน ไม่มีใครยอมแพ้ใคร ต่างคนต่างปล่อยฝีไม้ลายมือกันเต็มที่ ภาพที่ปรากฏออกมาแต่ละครั้งจึงสวยงามสมกับการรอคอย เบื้องหลังความสำเร็จที่น่าทึ่ง คือ ผลงานเหล่านี้ เกิดจากการสร้างสรรค์ของเยาวชนอายุประมาณ 11-17 ปีเท่านั้น 

ในปีนี้ มีข่าวขึ้นมาว่ามีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่มีความเข้าใจในกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการรณรงค์ชักชวนให้ยกเลิกการแปรอักษร ถึงขนาดไปถือโทรโข่งประกาศโฆษณาชวนเชื่อให้น้อง ๆ และผู้ปกครอง ต่อต้านกิจกรรมดังกล่าว ดูถ้อยคำกล่าวอ้าง กริยาที่ไปแสดงออกตามคลิปที่มีผู้ส่งให้ผมดูแล้ว ดูครั้งแรกก็โมโหแต่พอระลึกถึง สุภาษิตคติพจน์ประจำโรงเรียนสวนกุหลาบที่ว่า “สุวิชา โน ภวํ โหติ อ่านว่า สุ-วิ-ชา โน พะ-วัง โห-ติ แปลความว่า ผู้รู้ดี เป็น ผู้เจริญ“ ก็ให้อภัยถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจของบุคคลเหล่านี้

ย้อนไปในวัยเด็ก การได้ปักอักษร ส.ก. บนหน้าอกเสื้อนักเรียนนั้นเป็นความภาคภูมิใจของผม (สวนฯ103) และน้องชาย (สวนฯ106) เป็นอย่างมาก ที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนแห่งนี้ ดังมีพระราชดำรัสที่สำคัญของพระองค์ท่าน เมื่อครั้งพระราชทานรางวัลนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ พ.ศ.2427 มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า "เจ้านายตั้งแต่ราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป ตลอดถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอกัน"

ดังนั้น โรงเรียนสวนกุหลาบ จึงมีนักเรียนที่หลากหลาย มีตั้งแต่ลูกรัฐมนตรียันลูกภารโรง ลูกนักธุรกิจพันล้านจนถึงลูกคนกวาดถนน ลูกตำรวจ ทหาร จนถึงลูกผู้ต้องหา เมื่อพวกเราได้สวมเสื้อ ปักอักษร ส.ก. บนหน้าอกแล้ว พวกเราเท่าเทียมกัน พวกเรารักและผูกพันเหมือนเป็นพี่น้องคลานตามกันมา เราทะเลาะ เราหัวเราะ เราร้องไห้ ชกต่อย ปลอบโยน ให้กำลังใจกัน อย่างบริสุทธิ์ใจ ทุก ๆ อย่าง เกิดจากการหล่อหลอม จากการเรียน จากการทำกิจกรรม และใช้ชีวิตร่วมกัน

กิจกรรมในโรงเรียนสวนกุหลาบ ในสมัยของผม มีหลากหลาย แต่ละกิจกรรม ล้วนสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนและประเทศชาติ เช่น การเข้าค่ายนักเรียนใหม่ เหมือนการให้กำเนิดพวกเราอีกครั้งในสายเลือดชมพูฟ้า ชมรมดนตรีไทย มีการแสดงโขนหน้าพระที่นั่ง ชมรมดุริยางค์และวงโยธวาทิต มีการประกวดและได้รับรางวัลอยู่เสมอ กองร้อยลูกเสือเกียรติยศ เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน ได้มีโอกาสไปร่วมรักษาความปลอดภัยของงานกิจกรรมต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการอยู่เนือง ๆ ชมรมวิชาการต่าง ๆ ที่มักมีการส่งนักเรียนของเราออกไปกวาดรางวัลการแข่งขันทางวิชาการอยู่ตลอดเวลา และในหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่หล่อหลอมให้พวกเรามีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ การแปรอักษรในงานจตุรมิตรสามัคคี ยังจำความตื่นเต้นในตอนนั้นได้ พวกเราตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้ถึงเวลาของงานนี้ ดีใจที่จะได้เป็นส่วนร่วมสำคัญของประวัติศาสตร์ในยุคของเรา มีความรู้สึกเหมือนว่า ถ้าผ่านงานนี้ไป เราจะได้เป็นลูกสวนเต็มตัว เป็นที่ยอมรับของพี่ ๆ เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่เข้าหอประชุม ซ้อมร้องเพลงเชียร์ต่าง ๆ ของโรงเรียน หลายครั้งก็ซ้อมที่สนามฟุตบอล หรือสนามไพศาล เราไม่เคยมีความรู้สึกว่าร้อนหรือเหนื่อย เราไม่เคยรู้สึกว่าโดนทรมานหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้นเราก็ต้องมาเรียนรู้และจดจำโค้ดหรือรหัสในการแปรอักษร ซึ่งสอนและควบคุมโดยรุ่นพี่ ม.4, ม.5 เท่านั้น พี่ ๆ ม.6 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ เชื่อไหมครับ กิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศนี้ การจัดแบ่งหน้าที่ ประสานงานและควบคุมการปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการทำงานร่วมกันของเด็กนักเรียนชั้น ม.1 - ม.5 เท่านั้น มันน่าทึ่งไหมครับ

แล้วเวลาแห่งความภาคภูมิใจก็มาถึง พวกเราได้ร่วมกันแสดงออกถึงความรักความสามัคคีในหมู่คณะ การอดทนท่านกลางอากาศร้อนหรือบางครั้งก็ฝนตก การช่วยเหลือกันในหมู่เพื่อนฝูง การเอื้ออาทรดูแลกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เสียงเชียร์เสียงตบมือให้กำลังใจจากพี่ ๆ ตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นหนุ่มน้อยที่เพิ่งจบ บรรยากาศแบบนี้ มันเป็นความประทับใจครับ ผมถึงนึกภาพไม่ออกว่าคนที่พยายามมาต่อต้านหรือมายุยงปลุกปั่นน้อง ๆ ให้ต่อต้านกิจกรรมนี้ เอาอวัยวะส่วนไหนคิด หลังเลิกงาน ไม่ว่ากีฬาจะแพ้หรือชนะ สิ่งที่ได้คือ ความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมสำคัญในจิตวิญญาณของความเป็นสวนกุหลาบ หยาดเหงื่อที่เสียไป ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจที่ได้เสียสละให้กับสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ผมว่าความรู้สึกนี้ น่าจะเป็นเหมือนกันทุกโรงเรียนครับ 

สุดท้ายนี้ อยากจะบอกว่า "ไปเล่นการเมืองที่อื่นเถอะครับ อย่ามาทำลายความรัก ความภาคภูมิใจของพวกเรา ที่สืบต่อกันมาอย่างบริสุทธิ์ใจเป็นร้อยปีเลย ผมไม่โกรธ และให้อภัยพวกคุณครับ เพราะพวกคุณไม่รู้และไม่ใช่เรา จึงไม่มีวันเข้าใจ"

"กุหลาบสวย หนามแหลมคม เปลี่ยนกระถาง ไม่จางสี"

#ดรหิมาลัยผิวพรรณ #drhimalai #ยามเฝ้าแผ่นดินไทย #ไตรรงค์ผิวพรรณ #จตุมิตร #สวนกุหลาบ #osk103 #osk106

‘The People’ แถลงขอโทษ กรณีเผยแพร่บทความสร้างความขุ่นเคืองใจ หลังเขียนจั่วหัว ‘จตุรมิตรสามัคคี เป็นศูนย์กลางอำนาจ-เครือข่ายการเมือง’ 

(19 พ.ย.66) เพจเฟสบุ๊ก The People ได้ออกมาโพสต์คำชี้แจงจากบรรณาธิการ กรณีบทความเรื่อง ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ว่า…

จากบทความเรื่อง ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ที่เผยแพร่ในเพจ The People เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ทำให้เกิดข้อวิจารณ์ต่อข้อมูลและความคิดเห็นที่นำเสนอในบทความ

ข้าพเจ้า นายธนพงศ์ พุทธิวนิช ในฐานะบรรณาธิการ The People ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ที่บทความดังกล่าวได้สร้างความขุ่นเคืองใจ และจะระมัดระวังมิให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้อีก

ข้าพเจ้าขออภัยและขอน้อมรับคำวิจารณ์จากทุกท่าน เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการทำงาน และพัฒนาเนื้อหาให้ดี มีคุณภาพ สมดังที่ท่านผู้อ่านได้ติดตามและให้ความไว้วางใจเสมอมา

ด้วยจิตคารวะ

ธนพงศ์ พุทธิวนิช
19 พฤศจิกายน 2566

‘พิธา’ หน้าเสีย!! โดนศิษย์เก่า-กองเชียร์กรุงเทพฯ โห่ไล่ รีบแจง!! "ผมไม่เกี่ยว" หลังมี สส.ก้าวไกล หนุนยกเลิกแปรอักษร

(19 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจวันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร โพสต์คลิปเมื่อวันที่ 18 พ.ย. เป็นเหตุการณ์ ขณะที่มีคนกลุ่มหนึ่งส่งเสียงโห่และลุกขึ้นมาชูเสื้อซึ่งเขียนว่า "อย่าเสือ... เรื่องแปรอักษรของพวก..ู..." ใส่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ในงานการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พบ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ

พร้อมระบุข้อความว่า ทุกคนคะ พิธาถูกโห่ไล่ค่ะ เหตุการณ์เกิดช่วงพักครึ่งแรก ลุงที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ลุกขึ้นมาชี้ที่พิธาและโห่ไล่ กองเชียร์ที่นั่งอยู่ก็ร่วมกันโห่ค่ะ สักพักพี่อีกคนเดินมาจากฝั่งเทพศิรินทร์ชูเสื้อที่เขียนว่า "อย่าเสือ...!! เรื่องแปรอักษรของพวก...ู..." มาชูต่อหน้าพิธา ได้รับเสียงเชียร์เป็นอย่างมาก ส่วนพิธาหน้าเสีย และบอกว่าผมไม่เกี่ยว!!

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สส.พรรคก้าวไกล เคยแถลงเกี่ยวกับกิจกรรม ‘จตุรมิตรสามัคคี’ ว่า มีกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนสวนกุหลาบ ออกมาเรียกร้องว่า มีการบังคับนักเรียนลงชื่อและเข้าร่วมทำกิจกรรม ละเมิดสิทธิเด็กโดยให้นักเรียนอยู่อย่างแออัด ให้แปรอักษรติดต่อนานหลายชั่วโมงโดยไม่มีเปลี่ยนตัว รวมถึงไม่อนุญาตให้นักเรียนไปเข้าห้องน้ำหรือไปรับประทานอาหาร สถานที่เสี่ยงไม่ปลอดภัย เพราะมีโอกาสที่ส่วนต่อเติมจะทรุดตัวลงหากต่อเติมไม่ดี หรือรองรับน้ำหนักของเด็กมากเกินไป ดังนั้นคณะทำงานการศึกษาก้าวไกลจึงห่วงใยต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของเด็กนักเรียน พร้อมโพสต์รูปภาพติดแฮชแท็ก #เลิกบังคับแปรอักษร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top