Thursday, 4 July 2024
จดหมาย

‘อานนท์ นำภา’ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ‘ทูตเยอรมัน’ ชี้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม-ใช้คุกเป็นเครื่องมือปิดปาก!

(27 ธ.ค. 64) เฟซบุ๊ก ‘อานนท์ นำภา’ โพสต์ข้อความระบุเป็น ‘จดหมายเปิดผนึกถึงเอกอัครราชทูตประจำประเทศเยอรมนี ฉบับที่1’ กล่าวถึง ชีวิตในเรือนจำของนักโทษการเมือง ระบุขอบคุณสถานทูตเยอรมันที่เฝ้าติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย พร้อมชี้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม คุกกลายเป็นเครื่องมือในการปิดปาก โดยระบุว่า..

“จดหมายเปิดผนึก ถึงท่านเอกอัครราชทูตประจำประเทศเยอรมนี ฉบับที่1

กลางดึกคืนหนึ่งปลายปี ลมหนาวพัดเอื่อยๆผ่านลูกกรงเข้ามาทางห้องขังแดน 4 เพื่อนผู้ต้องขังหลายคนหลับไปแล้ว จะมีก็แต่เพนกวินที่นอนอ่านหนังสือเรียนของเขาอยู่ ส่วนหนังสือเตรียมสอบทนายของไผ่ ถูกเอามาพันผ้าห่มใช้แทนหมอนหลังจากเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ศาลไม่ให้เขาประกันตัวออกไปสอบตั๋วทนาย ซึ่งได้สอบกันไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา 

ชีวิตในเรือนจำของพวกเรานักโทษทางการเมือง ยังคงดำเนินต่อไป หลังจากมันดำเนินมาสักระยะหนึ่งตั้งแต่การลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมเมื่อกลางปีที่แล้ว คุกจึงกลายเป็นเครื่องมือในการปิดปาก ไม่ให้เรียกร้องหรือใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีงามอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม กระผมต้องขอขอบคุณทางสถานทูตเยอรมันที่ยังเฝ้าติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยตลอดมา สัปดาห์ที่แล้วที่ผมขึ้นศาล ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่ทูตของท่านและได้รับกำลังใจ รวมถึงความห่วงใยอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ยังทราบว่าหลายประเทศในยุโรปยังคงติดตามสถานการณ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยอย่างใกล้ชิด

ในประเทศที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ การจองจำนักศึกษา ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยก็จะมีให้เห็นอยู่เช่นนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย แทบไม่เคยมีการเปิดพื้นที่ให้การพูดคุย ผู้มีอำนาจจากอดีตถึงปัจจุบัน ก็ยังคงใช้ความรุนแรง ทั้งที่เป็นอาวุธและในนามของกฎหมาย ทำร้ายและทำลายพวกเราอย่างไร้มนุษยธรรม 

กระผมทราบว่าในประเทศของท่านได้ผ่านช่วงเวลาในประวัติศาสตร์อันเป็นบทเรียน ทำให้ประเทศของท่านเข้มแข็ง เรียนรู้ ต่อสู้กับผู้ปกครองที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนเปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นประเทศที่เป็นเสาหลักด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสง่างาม ทั้งยังให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่บัญญัติไว้ในมาตราแรกของรัฐธรรมนูญแห่งเยอรมนี ซึ่งแตกต่างกับประเทศของกระผมที่แม้มีรัฐธรรมนูญ ให้สิทธิ เสรีภาพแต่ก็หาใช้ได้จริงไม่ เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองถูกทำลายลงด้วยอาวุธปืน น้ำผสมสารพิษและกระบวนการทางศาล

กล่าวโดยเฉพาะ ภายหลังการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของพวกเรา รัฐได้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม จับกุมคนที่แสดงความเห็นโดยสุจริตจำนวนมาก ยัดข้อหาที่ไม่เป็นธรรม จนกระทั่งในขณะที่เขียนจดหมายถึงท่านอยู่นี้ กระผมกับเพื่อนๆก็ยังถูกขัง เพียงเพราะออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย บางคนถูกฟ้องเพียงเพราะใส่เสื้อคร็อปท็อป แม้กระทั่งนักศึกษาที่เดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานทูตของท่านก็ยังถูกฟ้องและถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำหญิงแห่งหนึ่ง

ชะตากรรมของพวกเรา มิได้เกินความคาดหมาย เมื่อคำนึงถึงความโหดร้ายของชนชั้นปกครองในอดีต เพียงแต่อาจจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจอยู่บ้างก็ตรงที่พวกเขาเหล่านั้นไม่เห็นถึงความจริงใจที่พวกเราออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น การพูดอย่างตรงไปตรงมาของพวกเรา ยังถูกมองเป็นความรุนแรง ขณะที่การใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุมโดยรัฐถูกมองเป็นเรื่องปกติ 

ขณะเดียวกัน ศาลที่เคยให้ความยุติธรรมในอรรถคดีทุกเรื่อง พอมาถึงการบังคับใช้มาตรา 112 กลับเป็นข้อยกเว้นแห่งความยุติธรรม เป็นเสมือนหลุมดำที่บรรดาตุลาการมิอาจมีเรี่ยวแรงฝ่าข้ามไปได้

ลมหนาวอีกระลอกของคืนนี้พัดมาแล้ว เสียงกรนของเพื่อนๆยังคงขับกล่อมห้องขังอยู่ กระผมต้องจบจดหมายฉบับแรกเพียงเท่านี้และหากไม่เป็นการรบกวนท่านจนเกินไป กระผมหวังว่าท่านจะได้โปรดตอบจดหมายหรือเขียนมาบอกเล่าเรื่องราวของโลกภายนอกให้กระผมและเพื่อนๆฟังในเรือนจำ

ในโอกาสปีใหม่ที่ใกล้จะถึง กระผมขอส่งความสุข ความปรารถนาดีมายังท่านและฝากไปถึงพี่น้องชาวเยอรมันทุกคน หวังว่าท่านจะได้รับจดหมาย ตลอดจนพรปีใหม่นี้ 
พบกันใหม่ในฉบับหน้า

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
อานนท์ นำภา
แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
27 ธ.ค. 2021

‘อานนท์’ เขียนจดหมาย ‘จะได้ไม่ลืมกัน’ ถึงลูกๆ ทั้ง 2 คน หวังเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธ์พ่อ-ลูก รับ!! อาจเป็นฉบับสุดท้าย

(4 ก.พ. 67) นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร จากคดีอาญา มาตรา 112 โพสต์จดหมายถึงลูกๆ มีเนื้อหาดังนี้…

“นี่อาจเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่พ่อเขียนด้วยความมุ่งหมายให้ลูกทั้งสองได้อ่าน ในอนาคตที่ลูกพอจะรู้ความ พ่อหวังว่าลูกทั้งสองจะใช้จดหมายเหล่านี้เป็นสื่อ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของพวกเรา ในห้วงเวลาที่เราพลัดพรากกันระหว่างที่พ่อติดคุก นั่นคือความมุ่งหมายแรกที่พ่อเริ่มเขียนจดหมาย แต่ตอนนี้จดหมายต่อจากนี้มันอาจกลายเป็นสื่อสัมพันธ์ให้พ่อได้อ่าน ในวันที่ความทรงจำของพ่อไม่เหมือนเดิมแล้ว

วันนี้พ่อถูกเปิดตัวไปศาลเหมือนเช่นทุกวัน และมันก็อาจเป็นเหมือนเช่นทุกวัน ถ้าหากมันไม่เกิดเหตุการณ์ช่วงท้ายท้าย ก่อนที่พ่อจะเดินจากทุกคนมาจากห้องพิจารณา 805 และมันอาจทำให้ความคิดพ่อยังวกวนกับการกลัวลูกจำไม่ได้ กลัวลูกลืมพ่อคนนี้ไปจากความทรงจำ

มันเป็นเรื่องที่แปลกมากที่หลังจากศาลลงไปจากบัลลังก์ แม่ยื่นเจ้าขาลให้พ่ออุ้มและเดินออกจากห้องพิจารณา สักพักถ้าเป็นเมื่อก่อนเจ้าขาลจะงอแงโผไปหาแม่ แต่วันนี้เจ้าขาลกลับกอดพ่อแน่นและไม่ยอมปล่อย แม้แม่จะพยายามมาแกะตัวเจ้าขาลไป

พ่อคิดว่าเจ้าขาลคงจำพ่อได้ และมีความผูกพันกับคนคนนี้ คนที่แม่พามาเจอทุกวันที่ศาล และเป็นคนที่ก่อนหน้านี้ 9 เดือนได้นอนด้วยกันทุกวัน

อีกมุมหนึ่งในเรือนจำ พ่อกลับรู้สึกว่าความทรงจำบางเรื่องเพราะเริ่มหายไป เขียนคำบางคำที่เคยเขียนได้ผิดเพี้ยนไป บางเรื่องต้องนึกอยู่นานกว่าจะจำได้ พ่อจึงเริ่มกลัวว่าถ้าในอนาคตพ่อจำอะไรอะไรไม่ได้เหมือนเดิม ความสัมพันธ์พ่อ-ลูกของเราจะมีอะไรให้จดจำ หรือเป็นหลักฐานทางความทรงจำว่า 10-20 ปีระหว่างพ่อติดคุกเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ถ้าพ่อต้องติดคุก 10-20 ปี และในวันที่พ่อพ้นโทษพ่อจำลูกทั้งสองไม่ได้แล้ว ให้เอาจดหมายทั้งหมดที่พ่อเขียนระหว่างนี้ให้พ่ออ่านนะ เราจะได้ไม่ลืมกัน

2 ก.พ.67
อานนท์ นำภา”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top