Friday, 5 July 2024
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

สธ. เผย ไทยติดเชื้อโอมิครอน รวม 63 คน พบสาวไทยติดเชื้อในประเทศคนแรก

วันนี้ (20 ธ.ค. 64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าขณะนี้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน แล้ว 89 ประเทศ ซึ่งอาจมีมากกว่านี้เพราะบางประเทศไม่มีขีดความสามารถในการถอดรหัสพันธุกรรม และโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย พบแล้ว 3 สายพันธุ์ BA.1  BA.2 และ BA.3 แต่ขอให้มั่นใจเพราะชุดตรวจยังสามารถตรวจจับได้

สำหรับไทยพบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ตัวเลขช่วงบ่ายวานนี้ (19 ธ.ค. 64) จำนวน 63 คน ทั้งหมดเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และต้องสงสัยอีกเกือบ 30 คน โดยช่วงหลังพบเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ภาพรวมพบแล้ว 3% หรือ 1 ใน 4 ของผู้เดินทางเข้าประเทศ ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นการนำเชื้อเข้ามาในประเทศ

‘โอมิครอน’ ยึดพื้นที่ทั่วไทย 80% สธ.คาด สิ้นเดือนนี้เข้าแทนที่ ‘เดลตา’ 

นายแพทย์ศุภกิจ เผย ทุกจังหวัดในไทยล่าสุดติดเชื้อโอมิครอนครบแล้ว คาดปลายเดือนนี้เชื้อดังกล่าวเพิ่มเป็น 98% เข้ามาแทนที่จนเดลตาหายไป 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทย วันนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบเจอเชื้อโอมิครอน โดยพบแล้วทุกพื้นที่ ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 17,021 ราย จังหวัดที่สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ และ เชียงใหม่ เพิ่มขึ้นกว่า 200 ราย และเป็นการติดเชื้อในพื้นที่ร้อยกว่าราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ ร้อยละ 97 เป็นการติดเชื้อโอมิครอน ดังนั้น คนที่ตรวจหาเชื้อพบผลบวก ก็เชื่อได้เลยว่าเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มในประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา จะตรวจโดยตรวจกลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ และเดินทางผ่านชายแดนเข้ามาทุกราย ด้วยวิธี RT-PCR และจำนวนหนึ่งจะส่งมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยสุ่ม 140 ตัวอย่าง ต่อศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมี 15 แห่งทั่วประเทศ และครึ่งหนึ่งจะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ส่วนกลุ่มอื่นๆ เช่น การสุ่มในภาพรวมจากผลบวกในแต่ละวัน คลัสเตอร์การระบาด กลุ่มที่ได้วัคซีนแล้ว และกลุ่มที่มีอาการเสียชีวิต บุคลากรการแพทย์ คนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

“ข้อมูลในช่วงวันที่ 11-17 มกราคม 2565 ภาพรวมประมาณ ร้อยละ 87 แต่เฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ร้อยละ 97 จาก 1,437 ตัวอย่าง ขณะที่ในประเทศตรวจ 2,274 ตัวอย่าง พบเป็นเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 80 เชื้อเดลตา ร้อยละ 20 เป็นสัดส่วนที่น่าจะใกล้ความเป็นจริงในภาพรวมของประเทศ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสายพันธุ์ย่อยในประเทศไทย ในกลุ่มคนทั่วไป วันนี้สัดส่วนที่เจอเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 85 เชื้อเดลตา ร้อยละ 15 แต่มีเชื้อเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรง หรือเสียชีวิต พบประมาณ ร้อยละ 33 หรือ 2 เท่า ของกลุ่มแรก อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเชื้อเดลตาแน่นอน

“ส่วนกลุ่มที่วัคซีนครบถ้วน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มฉีด 2 เข็ม พบเชื้อเดลตาพอสมควร บุคลากรการแพทย์ร้อยละ 25 เป็นเชื้อเดลตา และสุดท้ายที่น่าสนใจ 8 ราย ที่มีการติดเชื้อซ้ำเป็นเชื้อโอมิครอน ร้อยละ 100 จากเดิมคนที่ติดเชื้อเดิม เช่น เชื้อเดลตา จะมีภูมิสูง แต่ยังสามารถติดเชื้อซ้ำเป็นเชื้อโอมิครอนได้ สะท้อนว่า ภูมิเดิมที่มีต่อเชื้อเดิมป้องกันเชื้อโอมิครอนไม่ได้” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า ในเชิงพื้นที่ตามเขตสุขภาพต่างๆ หลายเขตขึ้นไป ร้อยละ 70-80 ที่เพิ่มมาก คือ เขตฯ 4,6,7 ขึ้นไปเกือบ ร้อยละ 90 และเขตฯ 13 กรุงเทพฯ ร้อยละ 86 ส่วนใหญ่เป็นเชื้อโอมิครอน ที่เหลือลดลง แต่ที่น่าสังเกตคือเขตฯ 12 หรือชายแดนใต้ ครึ่งหนึ่งเป็นเชื้อเดลตา ดังนั้น พื้นที่นี้มีลักษณะชุมชนแตกต่างจากที่อื่นๆ เช่น ไม่มีสถานบันเทิง และไม่มีการรั่วไหลมาจากมาเลเซีย คนมาจากต่างประเทศก็ไม่ได้ไปในพื้นที่มากมาย ทำให้ครึ่งหนึ่งยังเป็นเชื้อเดลตา แต่ในที่สุดจะถูกแทนที่ด้วยเชื้อโอมิครอนอยู่ดี

ไทย พบผู้ป่วยโควิดลูกผสม XE แล้ว 1 ราย แต่ปัจจุบันรักษาจนหายป่วยดีแล้ว

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หลังจากที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่า ผลจากการติดตามถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 พบสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อย โอไมครอน BA.1 และ BA.2 จนเกิดสายพันธุ์ ลูกผสม XE ที่พบในประเทศอังกฤษ และล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการนำตัวอย่างเชื้อของผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนมาถอดรหัสพันธุกรรม ก็พบสายพันธุ์ลูกผสม XJ ที่พบมากในฟินแลนด์ โดยสายพันธุ์ลูกผสมที่พบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นี้ พบในชายไทย 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่งสิ่งของ ซึ่งด้วยอาชีพเจอคนหลากหลาย มีประวัติรับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม อย่างไรก็ตาม ชายคนดังกล่าวปัจจุบันรักษาหายป่วยแล้ว

ส่วนการเกิดสายพันธุ์ลูกผสมตระกูล X คือ การพบคนติดเชื้อมากกว่า 2 สายพันธุ์ในคนเดียว และเกิดการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ จนเกิดเป็นไฮบริด หรือ ลูกผสม โดยทั่วโลกพบสายพันธุ์ลูกผสม หรือ ไฮบริด รวม 17 ตัว ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำเชื้อดังกล่าวที่พบ รายงานต่อ GISAID แล้ว

กรมวิทย์ฯ เผยพบ ‘โอมิครอน BA.5’ เพิ่มขึ้น คาดเป็นพันธุ์หลักทั่วโลก แต่ยังไม่ชัดรุนแรงขึ้น

กรมวิทย์เผยฐานข้อมูลโลกพบ "โอมิครอน BA.5" เพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% คาดเป็นสายพันธุ์หลักต่อไป ส่วน BA.4 แนวโน้มลดลง ในไทยพบเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตัว เจอสัดส่วนในคนเดินทางจากต่างประเทศมากกว่า ชี้ความรุนแรงยังไม่ชัดเจน 

เมื่อวันที่ (24 มิ.ย.) ที่โรงแรมริชมอนด์ แกรนด์ จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการกลายพันธุ์ ว่า หลังโควิด 19 ระบาดมา 2 ปีกว่า เรามีสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เหลือสายพันธุ์เดียว คือ โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกเกือบ 100% สายพันธุ์อื่นหายไปเกือบหมดแล้ว โดยโอมิครอนยังไม่มีการแตกลูกที่เปลี่ยนแปลงเป็นตัวใหม่ แต่มีการกลายพันธุ์ของลูกหลานเป็น BA. ต่างๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลกมีข้อมูลมากขึ้นก็เห็นว่าบางตัวน่าจะจัดชั้นว่าต้องจับตาดู (LUM) ซึ่งขณะนี้มี 6 ตัว ที่เป็น VOC-LUM ได้แก่ BA.4 , BA.5 , BA.2.12.1 , BA.2.9.1 , BA.2.11 และ BA.2.13

ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ที่เหมือนกันของ BA.4 และ BA.5 คือ ตำแหน่ง L452R คล้ายกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีการวิจัยว่า การกลายพันธุ์ตรงนี้ทำให้เซลล์ปอดเชื่อมกัน ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น ทำให้เป็นที่วิตกกังวลว่า โอมิครอนนั้นแพร่เร็ว และหากรุนแรงพอ ๆ กับเดลตาจะเกิดปัญหาขึ้น แต่ข้อมุลนี้ยังเป็นการทดลองในห้องแล็บและการสันนิษฐานจากตำแหน่งทางพันธุกรรม (Genetic) จึงต้องรอเวลาติดตามดูต่อไป ส่วนตำแหน่งที่ต่างกันของ BA.4 และ BA.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบเรื่องความรุนแรง

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลที่ทุกประเทศช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมแล้วส่งเข้ามาในฐานข้อมูลโลก GISAID ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายพบว่า BA.5 มีทั้งหมด 31,577 ตัวอย่าง ใน 62 ประเทศ น่าจับตาใกล้ชิดมากกว่า เพราะมีการเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ส่วน BA.4 พบ 14,655 ตัวอย่าง แนวโน้มลดลงจาก 16% ลดเหลือ 9% ขณะที่ BA.2.12.1 ก็ลดลงเช่นกันจาก 31% เหลือ 17% เป็นธรรมชาติของสายพันธุ์ที่แพร่เร็วกว่าจะเบียดตัวที่แพร่ช้ากว่า ซึ่งอีกไม่นาน BA.5 น่าจะเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดทั่วโลกรวมถึงไทย

ส่วนการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรามีการตรวจแบบเร็ว ซึ่งจะยังแยก BA.4 และ BA.5 ไม่ได้ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ (18-22 มิ.ย.) ตรวจ 400 กว่าราย พบ BA.4/BA.5 181 ราย โดยกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศพบสัดส่วนเป็น BA.4/BA.5 มากกว่า 72% ส่วนการตรวจในประเทศสัดส่วน BA.4/BA.5 พบประมาณ 40% สำหรับการตรวจโดยถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและส่งข้อมูลไป GISAID แล้ว พบว่า BA.4 และ BA.5 รวม 81 ตัวอย่าง แบ่งเป็น BA.4 จำนวน 32 ตัวอย่าง และ BA.5 จำนวน 49 ตัวอย่าง ถามว่าไทยเรามีเท่าไร น่าจะมีประมาณ 200 กว่าตัวอย่าง เพราะการถอดรหัสพันธุกรรมส่วนหนึ่งดึงมาจากการตรวจแบบเร็ว จึงมีความทับซ้อนกันอยู่จำนวนหนึ่ง

"ในประเทศไทยถือว่า BA.4 และ BA.5 มีสัดส่วนมากขึ้น แต่ที่สัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นไปเกือบ 50% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่พบไม่มาก เนื่องจากตัวอย่างเพิ่งส่งมาให้ตรวจ ยังต้องดูอีก 2-3 สัปดาห์ต่อเนื่องว่า แนวโน้มที่จะเกิดในบ้านเราเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะเฝ้าระวังในคนอาการหนักเป็นพิเศษ เพราะโจทย์เราคือรุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยจะร่วมมือกรมการแพทย์ รพ.ใหญ่ ๆ ในภูมิภาคว่า คนที่ใส่ท่อช่วยหายใจมี BA.4 BA.5 เพิ่มมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีคนไข้หนักขอให้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ด้วย" นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ทุกครั้งที่กลายพันธุ์จะมีคำถามว่าแพร่เร็วขึ้นหรือไม่ หลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ และรุนแรงทำให้อาการหนัก เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ย้ำว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ข้อมูลในปัจจุบันพบชัดเจนว่ามีการแพร่เร็ว แต่เป็นการรายงานของแล็บ ซึ่งเมื่อเทียบกับ BA.2 พบว่า BA.4 และ BA.5 มีความเร็วกว่า แอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อยลง คือ สู้แอนติบอดีได้ดีกว่า และยารักษาสำหรับบางรายที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอก็ตอบสนองน้อยลง แต่สรุปว่ารุนแรงหรือไม่ ต้องรอข้อมูลทางคลินิกเพิ่มเติม เพราะยังเป็นข้อสันนิษฐาน ยังไม่มีสำนักไหนฟันธงว่ารุนแรงขึ้นจริง

"ข้อมูลจากประเทศอังกฤษพบว่า BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 ก่อนหน้านี้ บางประเทศพบว่าแพร่เร็วกว่าจริง คือ อังกฤษเร็วมากกว่า 1.4-1.5 เท่า สหรัฐอเมริกา เร็วกว่าเกือบ 1.5 เท่า แอฟริกาใต้เร็วกว่า 1 เท่าเศษ ส่วนฝรั่งเศสและเยอรมนีแพร่เร็วไม่ต่างจาก BA.2 ส่วนเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส แพร่เร็วต่ำกว่า BA.2 ซึ่งยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร จึงยังต้องจับตาดูต่อไป" นพ.ศุภกิจกล่าว

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชวนเที่ยวงาน “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations: From Lab to Life”

เริ่มแล้วงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 32 ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 โดยมีแนวคิดหลักคือ “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จากแล็บสู่ชีวิต Medical Sciences Innovations: From Lab to Life” ในระหว่างวันที่ 5 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี 

เพื่อเป็นเวทีให้นักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายสุขภาพด้านต่างประเทศและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานวิชาการให้มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย    

สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วยการสัมมนาทางวิชาการ การเสวนาโดยวิทยากรจากชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ เรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดการควบคุมการติดเชื้อ โดย ดร.โยชิฮารุ มัตสึอุระ ศูนย์การศึกษาและการวิจัยโรคติดเชื้อ (CiDER) สถาบันวิจัยโรคจุลินทรีย์ (RIMD) มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

“ความหลากหลายของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในเอเชีย” โดย ดร.ยูกิฮิโระ อาเคดะ ผู้อำนวยการภาควิชาแบคทีเรียวิทยา สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น

“การใช้ CAR-T Cell ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือด” โดย ศ.นพ.เจียนเซียง หวาง รองผู้อำนวยการสถาบันโลหิตวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน, ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรงพยาบาลโรคเลือด,ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติโลหิตวิทยา ประเทศจีน

“การควบคุมกำกับการใช้ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงโมโนโคลนอลแอนติบอดีในการรักษาโรคไข้เลือดออก” โดย ดร.เพ็ดดี เรดดี้ และ ดร.อนิรุธา โปเตย์ จากสถาบันเซรุ่มอินเดีย

นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์จากโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช,โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จะมาบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านการรักษา การศึกษาวิจัย 

รวมทั้งยังมีภาคเอกชนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ เช่น เรื่อง เถ้าแก้น้อย "วัยรุ่นพันธุ์แลปสู่นวัตกรรมพันล้าน" โดย ดร.วิสุทธิ์ วีระกุลพิริยะ จาก บริษัท เถ้าแก่น้อยฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) และยังมีหน่วยงานอื่นๆที่น่าสนใจอีกหลายหน่วยงาน
การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการ

ในงานมีการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักวิชาการได้มีเวทีนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์โดยเฉพาะในปีนี้นอกจากงานวิชาการในเชิงลึกแล้ว มีการเปิดเวทีให้งานประเภท Routine to Research ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในงานประจำ มาร่วมนำเสนอผลงานด้วย

การจัดงานครั้งนี้มีผลงานที่ส่งเข้าร่วม 426 เรื่องแบ่งเป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ การนำเสนอด้วยวาจา 47 เรื่อง โปสเตอร์ 211 เรื่อง R2R 168 เรื่อง และการนำเสนอผลงานทางวิชาการของผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น และผู้ได้รับรางวัล DMSc award ตลอดจน อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนระดับชาติ
การแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์

มีการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อให้ที่ผู้สนใจเข้าร่วมงานได้เยี่ยมชมความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน อาทิ
- บูทนิทรรศการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แสดงผลงานดังนี้
* ด้านชันสูตรโรค แสดงการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านโรคติดเชื้อโรคไม่ติดเชื้อและโรคทางพันธุกรรมในทุกช่วงวัยของคนไทย (เกิดจนตาย) ตลอดจนการวิจัยพัฒนาและการให้บริการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง: Advanced therapeutic medicinal products

* ด้านคุ้มครองผู้บริโภค จัดแสดงการคุ้มครองผู้บริโภคใส่ใจทุกช่วงวัยของชีวิต
* ด้านสมุนไพร แสดงกระบวนการวิจัยพัฒนาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร
* ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน แสดงงานวิทยาศาสาตร์การแพทย์ชุมชนจากแล็บสู่คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในชุมชน โดยการดำเนินการของ อสม.นักวิทย์และศูนย์แจ้งเตือนภัย รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP/SME ด้านอาหารและเครื่องสำอางจากสมุนไพร

- นอกจากนี้ยังมีบูทจากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนอื่นๆอีกกว่า 100 บูท อาทิองค์การเภสัชกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หน่วยชีวสนเทศทางการแพทย์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท Engine Life คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ เอส เอ็มอี ฯลฯ ที่จะมาจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ร่วมงาน

ขอเชิญชวนผู้สนใจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าร่วมงานและเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในงานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน พ.ศ.2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี สามารถเข้าร่วมงานฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสำหรับเภสัชและนักเทคนิคการแพทย์สามารถเก็บสะสมคะแนนการศึกษาต่อเนื่องได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่….

โทรศัพท์ :  0 29510000 เว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ : www.dmsc.moph.go.th
FB : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top