Friday, 5 July 2024
SafetyZone

‘อนุทิน’ เข้ม!! สั่งทุกจังหวัดบังคับใช้ กม.คุมแหล่งก่อมลพิษ หนุนเร่งพีอาร์เชิงรุกสร้างความร่วมมือ ปชช.แก้ปัญหา PM 2.5 

(6 ธ.ค. 66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 66-67

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้งของทุกปี ประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากโดยธรรมชาติ สภาพอากาศและภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเกิดสถานการณ์และกิจกรรมของมนุษย์ จนเกิดการสะสมของฝุ่นละอองในปริมาณสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ ตามข้อสั่งการ รมว.มหาดไทย ได้ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการสนับสนุนการสั่งดำเนินการ ตลอดจนแจ้งเตือนแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยให้ฝ่ายปฏิบัติการให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด กำชับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ส่วนกรณีการเผาในพื้นที่การเกษตร ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ตลอดจนใช้กลไกอาสาสมัครร่วมรณรงค์งดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการกำจัดหรือใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ไปสู่การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มแทน เช่น การไถกลบตอ ซัง การใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า นายอนุทินได้กำชับให้กองอำนวยการ ปภ.จังหวัด ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน อาทิ พื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ชุมชน/เมือง ตลอดจนข้อมูลประชากรกลุ่มเสี่ยง ข้อมูลทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมกับมีแนวทางปฏิบัติแต่การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แต่ละระดับอย่างชัดเจน ตลอดจนประสานการปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งชุดเฝ้าระวังระดับพื้นที่ สนับสนุนการลาดตระเวนเฝ้าระวัง ป้องปรามการลักลอบเผาในเขตพื้นที่ป่า เขตพื้นที่การเกษตร

ทั้งนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า หมอกควัน หรือระดับปริมาณฝุ่น PM2.5 แนวโน้มสูงเกินค่ามาตรฐาน ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการปฏิบัติตามมาตรการ บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นอย่างเข้มงวด กรณีที่เกิดไฟป่าให้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะชำนาญ ประกอบกำลังเป็นชุดปฏิบัติการพร้อมอุปกรณ์เข้าระงับเหตุการณ์โดยเร็ว

“ท่าน มท.1 ห่วงใยผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย จึงเน้นย้ำให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครที่เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ จัดอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่มีความเหมาะสม กรณีการเกิดไฟป่าที่กำลังภาคพื้นที่เข้าถึงยาก ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่มีอากาศยานเข้าสนับสนุน และให้ดูแลด้านสวัสดิการและค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทินยังได้เน้นย้ำให้มีการสื่อสารเชิงรุกผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสาเหตุการเกิดฝุ่นละออง ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการลดปัญหา ได้เข้าใจต่อสถานการณ์ มาตรการข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน ส่วนการดูแลสุขภาพประชาชนให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข ให้ดำเนินการให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูล หรือการให้ความรู้ผ่านช่องต่างๆ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดพื้นที่และระบบบริการประชาชนในพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่น เพื่อดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพในกรณีจำเป็นต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top