Saturday, 29 June 2024
KerryExpress

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย SMS ระบาดแอบอ้าง Kerry Express ส่งหม้อชาบูมาให้ที่บ้านจริงเพื่อให้เหยื่อตายใจ แนะนำอย่าหลงเชื่อหลอกทำภารกิจสูญเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอฝากเตือนภัยมิจฉาชีพ มิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) แอบอ้างบริษัท Kerry Express ส่งของขวัญมาให้ จากนั้นหลอกให้ทำภารกิจ หรือกิจกรรมต่างๆ สุดท้ายสูญเสียทรัพย์สิน ดังนี้

ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า มีผู้เสียหายหลายรายได้รับข้อความสั้น (SMS) จากมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นบริษัท Kerry Express แจ้งว่า “คุณมีประวัติใช้งาน 5 ครั้ง บริษัทจึงขอมอบของขวัญหูเป็นฟังบลูทูธเพื่อเป็นการขอบคุณ” พร้อมแนบลิงก์ให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ ซึ่งบัญชีไลน์ดังกล่าวได้อ้างตัวเป็นแอดมินจาก บริษัท TAIYANG MEDIA (ไท่หยาง มีเดีย) แจ้งผู้เสียหายว่าขณะนี้หูฟังบลูทูธหมด แต่จะส่งหม้อชาบูขนาดเล็กมาให้แทน โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินปลายทาง และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อผู้เสียหายส่งชื่อที่อยู่ให้จากนั้นอีกไม่กี่วันผู้เสียหายก็ได้รับหม้อชาบูดังกล่าวจริง ต่อมาแอดมินให้แอดไลน์กับฝ่ายบริการลูกค้าเพื่อรับเงินโบนัส 38 บาท และรับของขวัญเป็นโทรทัศน์ดิจิทัล ขนาด 32 นิ้ว เมื่อผู้เสียหายแอดไลน์ไปแอดมินได้ขอชื่อและที่อยู่ รวมถึงขอหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อโอนเงินโบนัสมาให้ ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับเงินโบนัสเล็กน้อยจริง จากนั้นผู้เสียหายถูกหลอกลวงให้เข้ากลุ่ม Open Chat Line เพื่อทำภารกิจ หรือกิจกรรมต่อไป โดยการให้ไปกดติดตามบัญชีผู้ใช้ตามสั่งในแอปพลิเคชัน Tiktok การกดติดตาม 1 ครั้ง จะได้เงิน 20 – 50 บาท ผ่านการลงทะเบียนในเว็บไซต์ปลอมชื่อ ASIA MEDIA ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา ซึ่งผู้เสียหายก็ได้รับเงินจริงมาประมาณ 300 บาท ทำให้ผู้เสียหายยิ่งหลงเชื่อ ต่อมาแอดมินได้ให้แอดไลน์ไปยังบุคคลอ้างตัวว่าเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการทำกิจกรรม กระทั่งได้ส่งใบรายการเพื่อส่งเสริมการโปรโมทเพื่อการตลาด ในระดับต่างๆ จำนวน 6 ระดับ เช่น 888 บาท จะได้เงินรวมกำไร 1,110 บาท 12,188 จะได้เงินรวมกำไร 16,453 บาท เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแต่กลับไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ถูกอ้างว่าทำกิจกรรมไม่ครบตามจำนวน หรือทำผิดกติกาต่างๆ เป็นต้น ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพตามกฎหมายต่อไป

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ทำภารกิจ หรือทำงานออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง เพราะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบมาโดยตลอด มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวมีประชาชนได้รับเดือดร้อนสูงเป็นลำดับที่ 2 ของการหลอกลวงทั้งหมด รองจากการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 14 พ.ค.66 มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์ จำนวน 35,377 เรื่อง หรือคิดเป็น 13.69% มีความเสียหายรวมกว่า 4,281 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้แล้วการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีหลอกลวงในลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายกันอีก เช่น การหลอกลวงให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวสินค้า พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรง ให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อน แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยในช่วงแรกจะได้เงินคืนมาเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับภารกิจ ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็หลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง มิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ รวมไปถึงการสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ

ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
1.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ
2.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
3.หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 เพื่อปรึกษา สอบถามว่างานดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
4.หากมีการให้โอนเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินใดๆ ก่อน สันนิษฐานได้ทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
5.ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ มิจฉาชีพมักให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนบุคคล อ้างว่าใช้ในการสมัครงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
​6.ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะว่ามีการส่งสิ่งของ หรือให้เงินให้ในจำนวนเล็กน้อยก่อนจริง
​7.ระมัดระวังการโอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา โดยควรตรวจสอบหมายเลขบัญชีธนาคาร หรือชื่อนามสกุลเจ้าของบัญชี ก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่าน https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น

‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส’ เตรียมรีแบรนด์ ‘KEX’ เริ่ม 22 ก.พ. 68 หลังเปลี่ยนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ - หมดสัญญาใช้แบรนด์ ‘Kerry’

(28 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การแจ้งแผนการปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า (Rebranding) สู่แบรนด์ ‘KEX’ และการได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจาก Kuok Registrations Limited

โดยระบุว่า อ้างถึงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามที่บริษัทได้ประกาศ ณ วันที่ 26 มีนาคม 2567 (‘การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น’) ซึ่งส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน S.F.Holdings Co., Ltd. (‘SF’) เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ผ่านบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (‘SFTH’)

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ บริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (‘KLNTH’) (ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมของบริษัท) สิ้นสุดการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และ Kerry Logistics Network Limited (‘KLN Group’) สิ้นสุดการควบคุมไม่ว่าในทางใดก็ตาม หรือการถือซึ่งสิทธิในการออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมร้อยละ 50 หรือมากกว่าในบริษัท

เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่นและเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในอนาคตภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น บริษัท และ SF ได้ดำเนินการร่วมกันอย่างแข็งขันในการกำหนดกลยุทธ์ของบริษัท หลายประการซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าของบริษัท

เนื่องจากความเป็นไปได้ในการสิ้นสุดการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ‘Kerry’ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นตามที่ได้เปิดเผยข้างต้น โดยการพิจารณาได้เป็นไปอย่างรอบคอบเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

บริษัท และ SF ได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการพูดคุยและเจรจากับ Kuok Registrations Limited (‘KRL’) เกี่ยวกับรายละเอียดของข้อกำหนดและเงื่อนไขในการขยายสิทธิในการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้า แบรนด์ ‘Kerry’ ภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 (รวมถึงสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด) ระหว่างบริษัท และ KRL รวมถึงระยะเวลาขยายการใช้สิทธิที่เป็นไปได้ แผนการในการปรับเปลี่ยน เครื่องหมายการค้าที่คาดไว้ และเงื่อนไขอื่น ๆ ในการใช้แบรนด์ต่อไป

ในขณะเดียวกันบริษัท และ SF ได้ดำเนินการประเมินอย่างละเอียดถึงผลกระทบต่อการดำเนินการและสถานะทางการเงินของบริษัท ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า

ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงการเจรจาข้อตกลงในการขยายระยะเวลาของสัญญา ที่อาจเป็นไปได้ และการพัฒนาของบริษัท ในระยะยาว บริษัทเชื่อว่าหนึ่งในทางออกที่ดีที่สุดของบริษัท คือ การปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า (Rebranding) เพื่อยุติการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ‘Kerry’

โดยเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ ‘KEX’ แทน ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้จดทะเบียนไว้อยู่กับบริษัทลูกภายใต้เครือ SF และ SF ได้เตรียมการที่จะให้บริษัท ได้ใช้แบรนด์ดังกล่าวเพื่อการดำเนินธุรกิจ โดยขึ้นอยู่กับการเข้าทำสัญญา การขออนุมัติภายในองค์กรและภายใต้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของบริษัท และ SF รวมถึงบริษัทย่อย

โดยผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้ทราบถึงหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ซึ่ง KRL ได้ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญา ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 9 เดือน จากหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว การเลิกสัญญา จะมีผลในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 และสิทธิของบริษัท ในการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าแบรนด์ ‘Kerry’ จะสิ้นสุดลงในวันเดียวกัน คือ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568

ณ ปัจจุบัน บริษัท และ SF กำลังดำเนินการร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าของบริษัท สู่แบรนด์ ‘KEX’ ในขณะที่บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายและปรับระดับแบรนด์ของบริษัท เพื่อการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า

นอกจากนี้บริษัทยังพิจารณาแผนการและกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่น

รายละเอียดของสัญญา ได้เปิดเผยอยู่ในแบบ 56-1 One Report (หัวข้อ ความเสี่ยงการใช้แบรนด์ Kerry Express หน้า 73-74) ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของบริษัท และแผนการดำเนินการของ SF ในการให้ความช่วยเหลือในการเจรจาเพื่อขยายระยะเวลาของสัญญา ตามที่ปรากฏในเอกสารคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ SF (แบบ 247-4) (ส่วนที่ 3 รายละเอียดของกิจการ หัวข้อที่ 2 แผนการดำเนินการภายหลังการทำคำเสนอซื้อ 2.2.2 แผนการบริหารจัดการกิจการ หน้า 9-10) ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และหากมีความคืบหน้าที่สำคัญในเรื่องดังกล่าว บริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อ 26 มีนาคม 2567 เคอรี่ เอ็กซ์เพรส รายงานผลการยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (Mandatory Tender Offer) ว่า SF Express ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในจีนและเอเชีย ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,091,818,327 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 62.66% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top