Sunday, 30 June 2024
Innovation

ไขข้อข้องใจชาร์จรถอีวีตอนฝนตก ปลอดภัยไหม? รถจะพังหรือเปล่า?

ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 (อ้างอิงจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา) แน่นอนว่าในช่วงนี้ ก็จะมีฝนตกลงมาอย่างชุ่มฉ่ำทุกวันโดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครของเรา ในขณะที่กำลังนั่งเขียนอยู่นี้ (5 ก.ค. 2566 เวลาประมาณ 10 โมงเช้า) มองออกไปที่นอกหน้าต่างก็เห็นท้องฟ้าที่มืดครึ้ม

เราก็คงจะไปห้ามฟ้าห้ามฝน ไม่ให้มันตกก็คงจะไม่ได้ ช่วงนี้กระแส ‘รถอีวี’ ในประเทศไทยก็กำลังมาแรง มีประชากรผู้ใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่ากระแสไฟฟ้ากับน้ำ นั้นไม่ใช่ของคู่กัน ถ้ารถไฟฟ้าของเราแบตอ่อนใกล้จะหมด แล้วเราจะต้องชาร์จท่ามกลางสายฝนหล่ะ มันจะสามารถทำได้หรือไม่? แล้วมันจะปลอดภัยหรือไม่? เชื่อว่าผู้ใช้รถอีวีหลายๆ ท่านก็คงต้องการคำตอบ

ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า มันสามารถชาร์จตอนฝนตกได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ Youtube ช่อง ‘ALL EV by Steele Auto Group’ ก็ยังได้ออกมาสาธิตให้ดูพร้อมกับอธิบายให้ฟัง

ผู้ชายที่อยู่ในคลิปชื่อว่า ‘David Giles’ ได้อธิบายพร้อมกับการจุ่มหัวชาร์จทั้งหัวลงในถังน้ำ หยิบขึ้นมาเขย่านิดหน่อย แล้วก็เสียบชาร์จเลย ปรากฏว่าก็สามารถชาร์จรถได้ตามปกติ ซึ่ง David ก็ได้อธิบายว่า "ทั้งสายชาร์จ และหัวชาร์จจะไม่มีกระแสไฟฟ้าอยู่เลยจนกว่าจะเสียบหัวชาร์จเข้ากับรถ หลังจากนั้นจะเกิดการติดต่อสื่อสารที่เรียกว่า "Hand Shake" ระหว่างตัวรถ และเครื่องชาร์จ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็น รวมถึงการเช็คความปลอดภัยในการชาร์จด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ถึงจะปล่อยกระแสมาที่ตัวรถ แต่หากการตรวจสอบพบว่ามีไฟรั่ว หรือมีการทำงานผิดปกติที่ไม่ปลอดภัย จะไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้ามาที่ตัวรถเด็ดขาด"

จากนั้นก็หยิบน้ำมาเทลงบนหัวชาร์จ ขณะกำลังชาร์จอยู่!! และอธิบายต่อว่า "หากระหว่างการชาร์จ มีการลัดวงจร ระบบจะทำการตัดการจ่ายไฟทันที  เพราะฉะนั้นคุณสามารถล้างรถขณะชาร์จได้ด้วยซ้ำ"

David Giles แสดงให้เห็นว่า การชาร์จรถไฟฟ้าอีวี ในขณะที่เปียกน้ำนั้น มันก็ยังคงปลอดภัย เพราะฉะนั้นการชาร์จภายใต้การใช้งานแบบปกติ ฝนตกบ้าง หรือแม้แต่พายุบ้างก็จะมีความปลอดภัย 

อย่างไรก็ดี การสาธิตนี้ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงระบบความปลอดภัยเมื่อโดนน้ำเท่านั้น!! แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำตามเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจจะทำให้รถขาดประกันได้ โปรดศึกษาคู่มือรถไฟฟ้าอีวีของท่าน และใช้งานภายในขอบเขตที่คู่มือแนะนำจะดีที่สุด

‘รถไฮโดรเจน’ อีกทางเลือกแก้ปัญหาน้ำมันแพง เครื่องเงียบ ลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อนวัตกรรมยานยนต์ ไม่ได้มีแค่รถน้ำมันเชื้อเพลิง รถไฟฟ้าอีวี แต่ ... รถพลังงานไฮโดรเจน ก็เป็นอีกทางเลือกใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รถพลังงานไฮโดรเจน คือ รถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยพลังงานไฮโดรเจน โดยรถยนต์ประเภทนี้ ได้มีการริเริ่มผลักดัน เมื่อช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา เพราะว่าเป็นนวัตกรรมยานยนต์ที่เป็นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีหลายฝ่ายร่วมมือกันพัฒนา เป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง

ในปีนี้ก็ได้มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องของรถพลังงานไฮโดรเจน ออกมาให้เราได้เห็นกัน โดยเฉพาะบริษัทโตโยต้า ที่ได้ทำการพัฒนารถพลังงานไฮโดรเจน โดยได้ตั้งชื่อให้ว่า ‘Mirai Gen 2’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่ทางโตโยต้านั้นได้ต่อยอดเกี่ยวกับการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนรถยนต์เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

รถพลังงานไฮโดรเจนนั้น ขับเคลื่อนได้จากเซลล์เชื้อเพลิงที่มีการเติมไฮโดรเจนเข้าไป โดยไฮโดรเจนนี้ก็จะถูกเปลี่ยนมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ และจะปล่อยของเสียออกมาเพียงเฉพาะไอน้ำเท่านั้น อีกทั้งการเติมเชื้อเพลิงในแต่ละครั้งก็ยังใช้เวลาเพียง 3-5 นาที ซึ่งถือว่าค่อนข้างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์สันดาป นับเป็นเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันได้มากเลยทีเดียว นอกจากนี้การทำงานของเครื่องยนต์ก็ยังเงียบมาก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงอีกด้วย 

แนวโน้มของราคาน้ำมันนั้นมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับราคาของพลังงานไฮโดรเจน เพราะในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีของรถยนต์ไฮโดรเจนแพร่หลายมากขึ้น ก็จะมีผู้ผลิตพลังงานหลายรายมากขึ้น ราคาเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจน ก็ยิ่งจะถูกลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพลังงานไฮโดรเจนสามารถผลิตได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมด ในปัจจุบันนั้นประเทศไทยก็ได้มีสถานที่ในการเติมเชื้อเพลิงรถไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยแล้ว โดยตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีระยะเวลาในการเติมเชื้อเพลิงของรถไฮโดรเจนนั้นก็จะใช้เวลาในการเติมเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น ก็สามารถขับไปต่อได้แล้ว

ในอนาคตอันใกล้นี้ เราก็คงจะได้เห็นรถพลังงานไฮโดรเจน วิ่งกันเต็มท้องถนน การศึกษาหาข้อมูลไว้ก่อนล่วงหน้า ก็จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายยิ่งขึ้นเมื่อโอกาสมาถึง

โครงสร้างพื้นฐาน ‘ไทย’ พัฒนาแซงทิ้งห่าง ‘มาเลเซีย’ ส่วน 'สายสีเหลือง' หลังเปิดตัว ดันระยะทางรวมแซง ‘สิงคโปร์’ แล้ว

จากช่อง Youtube 'Up Comment' ได้โพสต์คลิปเกี่ยวกับโครสร้างพื้นฐานและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ของประเทศไทย ซึ่งได้ติดอันดับโลก และขึ้นแซงประเทศเพื่อนบ้านแล้ว สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเนื้อหาในคลิปนั้น มีใจความว่า ...

โครงสร้างพื้นฐานไทย แซงทิ้งห่างมาเลเซีย ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ดันระบบรถไฟฟ้าไทย แซงสิงคโปร์ ธนาคารโลกมีการจัดอันดับ โครงสร้างพื้นฐานแต่ละประเทศในโลก ประจำปี 2023 โดยอันดับโครงสร้างพื้นฐานของไทย อยู่ในอันดับที่ 25 โดยอันดับดังกล่าว เป็นอันดับที่เหนือกว่าประเทศมาเลเซีย อีกหนึ่งประเทศที่เป็นคู่แข่ง ทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการแซงมาเลเซียด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นครั้งแรก ได้เกิดขึ้นในปี 2018 โดยปีนั้นประเทศไทยได้อันดับที่ 32 ซึ่งเป็นการขยับอันดับขึ้นมาจากปี 2016 ที่ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 45 ซึ่งในปี 2018 ก็เป็นปีแรกที่ไทยมีอันดับทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เหนือกว่าประเทศมาเลเซีย และดูเหมือนว่าอันดับจะทิ้งห่างออกมาอีกในปี 2023 นี้

โดยการจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานนี้ เป็นรายงานจาก Logistics Performance Index (LPI) 2023 ในหมวดโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารโลก โดยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ได้คะแนนอยู่ที่ 3.7 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 25 ของโลก จาก 139 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถ้านับเฉพาะประเทศในอาเซียน ประเทศไทยตามหลังเพียงแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น (สิงคโปร์มีอันดับทางด้านโลจิสติกส์ เป็นอันดับที่ 1 ของโลก)

สำหรับในส่วนของอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอาเซียนนั้น มีการจัดลำดับได้ดังนี้...

- อันดับที่ 1 ประเทศสิงคโปร์ 4.6 คะแนน 
- อันดับที่ 2 ประเทศไทย (อยู่ที่อันดับ 25 ของโลก) ด้วยคะแนน 3.7 คะแนน 
- อันดับที่ 3 ประเทศมาเลเซีย 3.6 คะแนน 
- อันดับที่ 4 ประเทศฟิลิปปินส์ (อันดับ 47 ของโลก) ด้วยคะแนน 3.2 คะแนน
- อันดับที่ 5 ประเทศเวียดนาม ด้วยคะแนน 3.2 (เท่ากับประเทศฟิลิปปินส์)
- อันดับที่ 6 ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยคะแนน 2.9 คะแนน 
- อันดับที่ 7 ประเทศลาว (อันดับที่ 108 ของโลก) ด้วยคะแนน 2.3 คะแนน 
- และอันดับที่ 8 ประเทศกัมพูชา (อันดับ 125 ของโลก) ด้วยคะแนน 2.1 คะแนน โดยการจัดอันดับดังกล่าว ไม่มีข้อมูลของประเทศบรูไนและประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ หากพูดถึงการเปิดตัวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองของไทยที่ผ่านมา ทำให้ระยะทางรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระยะทางรวมแซงประเทศสิงคโปร์ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยข้อมูลของเพจ City Walker ได้มีการรายงานถึง ระยะทางของรถไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์ ซึ่ง ณ เวลานี้มีการเปิดทำการอยู่ 6 สาย ซึ่งเป็นระบบ LRT ทั้งหมด 4 สาย รวมระยะทางทั้งหมด 228 กิโลเมตร ในขณะที่ระยะทางรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามข้อมูลของกรมการขนส่งทางราง เมื่อมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เผยว่าระยะทางของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ณ เวลานี้ จะอยู่ที่ 242.34 กิโลเมตร (ยังไม่นับรวมโครงการที่กำลังก่อสร้าง ทั้งของประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์)

ฉะนั้น จากข้อมูลนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าระยะทางรวมรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความยาวรวมแซงประเทศสิงคโปร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าทางประเทศสิงคโปร์ จะยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าอยู่ ซึ่งนั่นก็คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (สิงคโปร์) แต่ถ้าเทียบไทยที่ยังคงมีโครงการก่อสร้าง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่และมีแผนจะก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพู และยังมีแผนแม่บทรถไฟฟ้าในระยะที่ 2 ซึ่งก็จะดำเนินการก่อสร้างต่อไปในอนาคตอีกมากมายนั้น ก็ดูเหมือนไทยจะเริ่มแซงหน้าสิงคโปร์ในส่วนของระยะทางไประยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ระยะทางรถไฟฟ้า ระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์นั้น ประเทศไหนจะครองแชมป์ในอาเซียนในอนาคตต่อไป

‘พระจอมเกล้าธนบุรี’ เจ๋ง!! ผุดชุดตรวจเชื้อ ‘ซาลโมเนลลา’   ประหยัดเวลา ถูกกว่า แถมแม่นยำเกือบ 100%

การตรวจหาเชื้อ ‘ซาลโมเนลลา’ (Salmonella) ในเนื้อไก่ดิบ เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกเนื้อไก่ในยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เชื้อซาลโมเนลลา เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งจะพบได้ในสัตว์ปีก ซึ่งหากไม่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมาอีก นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ออกมาตรการเข้มในการตรวจเนื้อไก่ดิบ ที่จะส่งเข้ามาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค เกณฑ์มาตรฐานเนื้อไก่ของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่หลายประเทศใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบุว่าหากตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลาแม้เพียงเซลล์เดียว ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ดิบทั้งหมดในตู้คอนเทนเนอร์นั้นจะต้องถูกส่งกลับ และอาจส่งผลให้โรงงานต้องหยุดสายการผลิต เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด และจะต้องผ่านการตรวจเพื่อรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจนแน่ใจ จึงจะสามารถเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง ซึ่งนั่นถือเป็นความสูญเสียของผู้ประกอบการแต่ละราย และอาจรวมถึงความเชื่อมั่นของคู่ค้าและภาพลักษณ์ของประเทศต่อผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ของไทยในภาพรวม

ดังนั้น การเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ (Plate Count Method) จึงเป็นวิธีการมาตรฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกเนื้อไก่ นำมาใช้ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของตนเอง เนื่องจากเป็นวิธีการที่มีความแม่นยำสูง และทั่วโลกให้การยอมรับ แต่การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนั้น นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง คือประมาณ 300 บาทต่อตัวอย่างแล้ว กว่าที่เชื้อจุลินทรีย์ที่เพาะไว้จะเพิ่มปริมาณมากพอ และทราบผลก็ต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ซึ่งหากมีการตรวจเจอเชื้อซาลโมเนลลาในตัวอย่างใดก็ตามแม้เพียงเซลล์เดียว จะถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ในสายการผลิตเดียวกันที่รอการส่งออกอยู่ในตู้แช่แข็งหรือตู้แช่เย็นมา 5 วันนั้น มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลา ด้วยเช่นกัน และไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกนำไก่แช่แข็งที่เก็บไว้ในตู้แช่แข็งทั้งหมดออกมาผ่านกระบวนการล้างทำความสะอาดเพื่อตรวจผลซ้ำอีกครั้ง  หรือเปลี่ยนไปปรุงสุกเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นแทน ยกตัวอย่างเช่น ไก่ทอด ไก่คาราเกะ ก็ล้วนแต่มี ต้นทุน ที่เกิดขึ้นจากการรอผลการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ทั้งสิ้น 

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ ‘นวัตกรรมชุดตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลาแบบรวดเร็วสำหรับอุตสาหกรรม’ ผลงานของทีมวิจัยจาก ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (Applied Science and Engineering for Social Solution Research Center: ASESS Research Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ สาขาผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 โดยมีจุดเด่นที่สำคัญคือ สามารถลดระยะเวลาการตรวจเชื้อจาก 3-5 วัน เหลือแค่เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

หลักการทำงานเบื้องต้นของชุดตรวจนี้คือ การออกแบบสารชีวโมเลกุลที่มีความจำเพาะกับตัวเชื้อซาลโมเนลลาเท่านั้นซึ่งเรียกว่า “Seeker Powder” และการพัฒนาอนุภาคนาโนโลหะ สำหรับขยายสัญญาณทางแสงที่เรียกว่า “Nano Amplifier” เพื่อทำงานร่วมกับ “เครื่องรามานสเปกโตรมิเตอร์ (Raman Spectrometer)” 

ในส่วนของ Seeker Powder เมื่อเราผสม Seeker Powder ลงไปในน้ำล้างไก่ที่มีเชื้อซาลโมเนลลา ก็จะเกิดการจับกันระหว่างแขนข้างหนึ่งของ Seeker Power กับเชื้อซาลโมเนลลา ส่วนแขนอีกข้างจะถูกติดไว้กับสิ่งที่เรียกว่า Reporter โดยหลังจากผสมกันแล้ว จะทำการแยกตะกอนออกมา แล้วนำไป “ตรวจวัดสัญญาณรามานของ Reporter ที่จับกับเชื้อไว้แล้ว” ด้วยการยิงแสงเลเซอร์จากเครื่องรามานสเปกโตรมิเตอร์ลงไป ทำให้เกิดแสงจาก Reporter ซึ่งสเปกตรัมที่ได้ จะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของ Reporter แสดงว่าตัวอย่างนั้นมีการปนเปื้อนของเชื้อซาลโมเนลลา

แต่หากเชื้อซาลโมเนลลามีจำนวนน้อย ความเข้มของสัญญาณรามานจะต่ำมาก จนเครื่องตรวจอาจไม่พบ ทีมวิจัยของ ASESS ก็ได้มีพัฒนา “Nano Amplifier” มาช่วยในการขยายสัญญาณรามาน ให้สามารถตรวจพบได้

Nano Amplifier จะทำหน้าที่ขยายสัญญาณรามานของ Reporter ให้สูงขึ้น จนเพียงพอที่จะตรวจวัดได้ ซึ่งจากความรู้และประสบการณ์การใช้เครื่อง Raman กับงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของ ASESS ในช่วงก่อนหน้า ทำให้สามารถพัฒนา Nano Amplifier ที่สามารถขยายสัญญาณสเปกตรัมของ Reporter ใน Seeker Power เพื่อตรวจหาเชื้อซาลโมเนลลาได้สำเร็จ

จุดเด่นของนวัตกรรมที่นำเทคนิคการวิเคราะห์สัญญาณทางแสงมาใช้ตรวจวัดเชื้อซาลโมเนลลาได้สำเร็จชิ้นนี้ นอกจากจะลดระยะเวลาของการตรวจแบบรวดเร็ว จาก 1-2 วัน เหลือแค่เพียง 1 ชั่วโมงได้แล้ว ก็ยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 39 บาทต่อตัวอย่าง (Rapid test อื่นๆ จะมีค่าใช้จ่ายตัวอย่างละประมาณ 100 บาท)  และที่สำคัญก็คือ สามารถตรวจพบเชื้อได้แม้มีปริมาณเชื้อที่น้อย และมีค่าความถูกต้องถึง 97% และความแม่นยำ 98% ซึ่งสูงมากสำหรับวิธีการตรวจแบบรวดเร็ว

งานวิจัยนี้ หากถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าจะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งของประเทศไทยเป็นอย่างมาก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top