Thursday, 4 July 2024
ElNino

‘สทนช.’ คาด ‘เอลนีโญ’ ส่งผลกระทบทำไทยแล้งนาน 2 ปี ห่วงภาคกลางต้นทุนน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ​ 17​ เท่านั้น

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 66) นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการรับมือกับภาวะภัยแล้ง-น้ำท่วม โดยวิเคราะห์ว่า ปีนี้ ไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ สิ่งที่เป็นกังงวลคือเรื่องของภัยแล้ง เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปริมาณฝนตกทั่วประเทศเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ คือ ร้อยละ 25 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างลงมาลุ่มเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่กลุ่มฝนจะไปตกทางภาคใต้และลุ่มแม่น้ำมูลของภาคอีสาน การบริหารจัดการน้ำจึงต้องประหยัดและทำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีน้ำอยู่ร้อยละ 29 หรือ 1 หมื่น 5 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรปล่อยน้ำให้ประชาชนใช้ไปแล้วร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสิ่งที่ศุนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นกังวล คือการทำเกษตร เพราะหากประชาชนยังเพาะปลูกต่อเนื่อง โอกาสภัยแล้งมีโอกาสจะกระทบไปถึงปีหน้า

นอกจากบริหารจัดการการใช้น้ำแล้ว ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธณี เพื่อวางแนวทางร่วมกัน คือ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ปรับแผนขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีแหล่งน้ำบาดาลสำรองสำหรับใช้อุปโภคบริโภค 200 แห่ง แหล่งน้ำบาดาลเพื่อทำเกษตรขนาดใหญ่ 200 แห่ง และยังมีแหล่งน้ำบาดาลที่ยังใช้งานไม่ได้จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงอีก 1 พันกว่าแห่ง

ส่วนพื้นที่รับน้ำแก้มลิง มีทุ่งบางระกำและทุ่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ปัจจุบันยังจัดสรรน้ำให้ประชาชนในการเพาะปลูกอยู่เพื่อพร่องน้ำไว้รับมือกับน้ำหลากน้ำท่วมหากฝนตก คาดว่าการทำเกษตรของประชาชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติเน้นย้ำว่าผลกระทบจากเอลนีโญ่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้งไปอีก 2 ปี ทุกหน่วยงานจึงต้องมีความพร้อมรับมือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะพยายามไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด หากพื้นที่ไหนเช่นนอกเขตชลประทาน น้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอก็จะจัดหาน้ำเข้่ไปช่วย ทั้งนี้มีความกังวลในพื้นที่ภาคกลางมากสุด โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ แควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากมีการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในปริมาณมาก โดยปัจจุบันภาคกลางเหลือน้ำต้นทุนอยู่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น

‘WMO’ เตือนทั่วโลก!! เตรียมรับมือสภาพอากาศผันผวน หลังเกิดปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ส่งผลกระทบร้ายแรงทั่วโลก

(5 ก.ค. 66) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศว่า ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ เกิดขึ้นแล้ว และมีโอกาส 90 เปอร์เซ็นต์ ที่จะดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นี้ และจะเพิ่มความเป็นไปได้อย่างมากในการทำให้อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ และเกิดความร้อนรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่หลายส่วนของโลก รวมถึงในมหาสมุทร

ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลทั่วโลกเตรียมการ และดำเนินการล่วงหน้าในการรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เพื่อจำกัดผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจ

‘ดร.กิตติ’ สะท้อน!! ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ แรงสั่นสะเทือนมนุษยชาติ ต้องมุ่ง ‘พัฒนา-แก้ไข’ ด้วย BCG ประคอง ‘สังคมเศรษฐกิจโลกและไทย’

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘ดร.กิตติ ลิ่มสกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่อาจจะดูเล็กไปเลย หากเทียบกับอีกปัญหาใหญ่ทางธรรมชาติ ที่สะเทือนสังคมมนุษย์ทั้งโลกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาวะเศรษฐกิจโลก ตอนนี้หลายประเทศยังต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปนั้น ก็เผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จนต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบ ส่งทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต้องขึ้นตาม รวมถึงปัญหาสงครามยูเครน ที่กระทบมาถึงยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤติด้านพลังงาน จากการพึ่งพิงรัสเซีย

ขณะที่จีนก็เจอแรงสะดุดด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเช่นกัน 

ส่วนไทยเอง แม้จะได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการส่งออก (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) การใช้จ่ายของรัฐบาล (การเมือง) ภาวะการหนี้ครัวเรือนสูง (ประชาชน) เกินครึ่งเป็นหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน อีกส่วนเป็นหนี้รถยนต์ ส่วนหนี้ไม่ดีเช่น หนี้บัตรเครดิต ต้องส่งเสริมให้คนไทยหันมาออมกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะให้กับตัวเองเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากปล่อยนานเข้าก็คงส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในระดับมหภาค

ทว่า ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด อาจจะดูเล็กไปเลยเมื่อสังคมโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากธรรมชาติ ซึ่งนาทีนี้ก็คือ ‘เอลนีโญ’ และ ‘ลานีญา’

เอลนีโญ คือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ 

ส่วนลานีญาจะตรงข้ามกับของเอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น เกิดความไม่สมดุล เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ จะเกิดมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ทั้งสองส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับที่ประมาณ 2 องศา

ประเด็น คือ ภายใต้ความพยายามควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา เช่น การใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน ให้ลดลง ซึ่งสาเหตุเกิดจากมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม มันมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เชื่อมเข้ามาให้จับด้วย

แล้ว เศรษฐกิจ กับ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ปัจจุบันมีการนำ BCG เข้ามาเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เพราะมันจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ที่เข้าใจและผลักดันอย่างรวดเร็ว โดย...

B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ เราต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำทรัพยากรชีวภาพ มาผลิตให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น มันสำปะหลัง เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ฟางข้าวต้องเผาไหม สามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้ไหม ถ้านำกลับมาได้จะเกิดมูลค่า

และ G = Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช การฟอกกระดาษด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องเร่งให้ความรู้ หากเราไม่ใส่ใจ จะส่งผลต่อเกษตรกร ไม่ได้ผลลัพธ์การปลูกเต็มที่ เกิดความแห้งแล้ง และความยากจนมากขึ้น ส่งผลกระทบความเสียหายเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ในภาคประชาชน ก็ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาการใช้รถสาธารณะ รถไฟฟ้ามากขึ้น หรือการแยกขยะ ก็จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมาก

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นทั้งโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นความหวังต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ควรต้องเร่งกันผลักดันกันทั้งโลกและในเมืองไทย

‘ภูมิธรรม’ นั่งหัวโต๊ะประชุม ถกแผนรับมือสถานการณ์ ‘เอลนีโญ’ หวั่น ไทยแล้งยาว เล็งตั้งอนุกรรมการ ทำงานเป็นระบบสู้ภัยแล้ง

(29 ก.ย. 66) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการฯ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองประธานกรรมการ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และคณะกรรมการ เข้าร่วม

นายภูมิธรรม กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องนี้สถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา อย่างมาก โดยประกาศชัดเจนในวันแถลงนโยบายว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพอากาศ เพราะอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย จึงตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาภัยแล้งที่เป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างจึงต้องเตรียมการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยอีก 3 ปีเราอาจจะเผชิญปัญหาดังกล่าว หากไม่เกิดเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเกิดก็ได้เตรียมไว้แล้ว ดังนั้นเราจะขับเคลื่อนงานร่วมกันไปข้างหน้า และปรับแนวทางการทำงานให้เข้ากัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะน้ำคือชีวิต ถ้าเจอภัยแล้ง 3 ปี จะเหนื่อยมาก จึงต้องเข้าใจว่าเป็นภารกิจสำคัญ

“เราจะหลีกเลี่ยงโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก โดยมุ่งขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้กระจายไปทั่วประเทศ และเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ จะกลับมาเดินหน้าโครงการใหญ่ต่อไป เรื่องใดที่ทำได้ นายกฯให้ทำทันที แต่ถ้าติดขัดให้รีบแก้ไข โดยในช่วง100 วันแรก ตนอยากเห็นความคืบหน้าเพื่อประชาชนมีความมั่นใจ” นายภูมิธรรม กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องเตรียมการป้องกันภัยแล้ง โดยให้มีศูนย์สั่งการ หรือ บูรณาการ โดยขอเสนอที่ตั้งศูนย์สั่งการที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะอาคารสถานที่มีความเหมาะสม ส่วนเรื่องการจัดทำงบประมาณ รัฐบาลเพิ่งเข้ามาใหม่ เมื่อเจอภัยแล้งอาจไม่สอดคล้องกับเรื่องที่จะทำ จึงเสนอให้มุ่งเน้นไปทำโครงการขนาดเล็กเพื่อให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เช่น โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ฝายแกนซอยซีเมนต์ เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ และความชุ่มชื้น ให้ปัญหาภัยแล้งเบาบางลง และสามารถรองรับสถานการณ์ภัยแล้งได้ถึง 3 ปี ขณะที่ฝ่ายวิศวะควรสรุปรายละเอียดการก่อสร้างฝายให้ชัดเจนว่ามี สัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่ามีความแข็งแรง และใช้ได้นานกว่าฝายปกติ ดังนั้น การแก้ปัญหาตนมองว่า เราควรเน้นไปทำโครงการขนาดเล็ก เพื่อรักษาความชุ่มชื้น

ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกร้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดความแปรปรวน ซึ่งไทยมีทะเลทั้ง 2 ด้าน มีความแปรปรวนสูงมากขึ้น ส่งผลด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนปัญหาเอลนีโญหากแย่สุดเกิด 3 ปีต่อเนื่อง น้ำก็จะลดลงจนขาดแคลน จึงต้องเร่งเก็บน้ำ บริหารความเสี่ยงให้ดี และตนมั่นใจว่า เอลนีโญเกิดขึ้นแต่จะไม่แรงจนกว่าจะเข้าหน้าแล้ง ที่จะทำให้เกิดผลกระทบเป็นปัญหาตามมาอีกมาก ทั้ง ฝุ่น PM 2.5 จะรุนแรง เกิดไฟไหม้ง่าย นกจะเข้าอาศัยบ้านคนเพราะร้อน และโรคระบาดต่างจะเกิดขึ้น ไม้ผลจะตาย พืชไร่ใช้น้ำมากจะเสียหาย ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขี้น น้ำกินน้ำใช้ ก็จะขาดแคลน

จึงขอเสนอ 3 มาตรการแก้ปัญหา คือ 1.) ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นเครื่องมือรัฐบาล ในการบรรเทาผลกระทบ ทั้งระยะสั้น-ยาว 2.) ยุทธวิธีติดตามสถานการณ์เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน พร้อมสร้างคลังข้อมูลให้ลึกมากขึ้น และ 3.) ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน 10 คณะ จะทำให้รัฐบาลสามารถรับมือภัยแล้งได้เป็นระบบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top