Thursday, 4 July 2024
เยาวชน

‘เซาท์ออสเตรเลีย’ จ่อห้ามเด็กต่ำกว่า 14 ปี เล่นโซเชียลมีเดีย หลังพบผลกระทบในด้าน ‘สุขภาพจิต-พัฒนาการ’ ของเด็ก

(13 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ปีเตอร์ มาลินอสคัส ผู้ว่าการรัฐเซาท์ออสเตรเลียของออสเตรเลีย เปิดเผยแผนการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการแต่งตั้งโรเบิร์ต เฟรนช์ อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงแห่งออสเตรเลีย ดำเนินการตรวจสอบข้อปฏิบัติทางกฏหมายของการบังคับใช้คำสั่งห้ามลักษณะดังกล่าวเป็นครั้งแรกของออสเตรเลีย

เมื่อวันอาทิตย์ (12 พ.ค.) ปีเตอร์ มาลินอสคัส กล่าวว่า รัฐบาลรัฐเซาธ์ออสเตรเลียออกข้อเสนอที่ว่าประชาชนในรัฐที่มีอายุต่ำว่า 14 ปี จะถูกห้ามใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ส่วนผู้มีอายุ 14-15 ปี จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ผู้ปกครองหากต้องการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์

โดยอธิบายว่า มีผลการตรวจสอบและหลักฐานผลกระทบมากมายที่บ่งชี้ว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตและพัฒนาการของเด็ก โดยมีการใช้แอดดิคทีฟ อัลกอริทึม (addictive algorithm) มาดึงดูดเด็กวัยรุ่นในวิถีทางที่จิตใจอันกำลังพัฒนาของพวกเขามิอาจรับมือได้

“ตอนนี้เด็ก ๆ ตกอยู่ในอันตราย จึงไม่ควรเสียเวลาเปล่าอีกต่อไป” ปีเตอร์ มาลินอสคัส กล่าว พร้อมเสริมว่า กฎเกณฑ์และข้อบังคับของคำสั่งห้ามนี้อาจมีลักษณะเหมือนกับคำสั่งห้ามชาวออสเตรเลียที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าถึงการพนันออนไลน์

ทั้งนี้ ข้อมูลจากอีเซฟตี คอมมิชชันเนอร์ (eSafety Commissioner) ของรัฐบาลกลางออสเตรเลียในปี 2021 ระบุว่าวัยรุ่นออสเตรเลียใช้เวลาบนโลกออนไลน์เฉลี่ย 14.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์เฉลี่ย 4 แพลตฟอร์ม

'อ.ไชยันต์' ชี้!! คนอยู่เบื้องหลังม็อบเด็กใจอำมหิต  แนะ!! อย่าแก้ 112 ที่ปลายเหตุ ต้องแก้ที่คนบิดเบือน

(15 พ.ค.67) เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า "ผู้ที่ให้การสนับสนุน-อยู่เบื้องหลังเยาวชนที่ออกมาประท้วงด้วยอาการและอารมณ์ที่รุนแรง คือ ผู้ที่มีจิตใจอำมหิตมาก เพราะพวกเขาใช้อนาคตและชีวิตของเยาวชนเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยพวกเขาเท่านั้น คือ ผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง"

อีกข้อความหนึ่ง ระบุว่า "แก้ ม.112 เพื่อช่วยเยาวชนผู้ต้องหาเป็นการแก้ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ-ผู้ให้ข้อมูลบิดเบือน"

‘อานันท์ ปันยารชุน’ ฝากถึงผู้ใหญ่ในสังคม “สนุกมากหรือที่เห็นเด็กเข้าคุก สนุกมากหรือที่เห็นเด็กทรมาน และไม่ได้ประกันตัว ทำได้อย่างไร ไม่ละอายใจตัวเองบ้างหรือ จับเด็กเข้าคุกเป็นว่าเล่น”

(27 พ.ค.67) จากคอลัมน์ ‘กวนน้ำให้ใส’ ของ ‘แนวหน้า’ ได้เผยถึงกรณีที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาเปิดการเสวนา เรื่อง ‘ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทย’ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 67

โดยเนื้อหาบางส่วน มีการโจมตีกล่าวหาว่ามีคนบางกลุ่มใช้คำว่า ‘รักชาติ’ จนไม่รู้ว่ารักอย่างไร รักชาติจนทำให้คนอื่นไม่มีที่ยืน หากใครมีความคิดแตกต่างก็มองเป็นศัตรูหมด

นายอานันท์ กล่าวว่า สำหรับฉากทัศน์ของสังคมไทยก็อาจคล้ายกับฉากทัศน์ในสังคมอื่น ๆ แต่สังคมไทย เป็นสังคมที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ ด้วยน้ำมือคนไทยด้วยกันเอง โดยสาเหตุที่เสื่อมลง เพราะความหูเบา การเชื่อคนง่าย ความอิจฉาริษยาการอาฆาตพยาบาท และอยากมีอำนาจ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลลบกับสังคม

นายอานันท์ เผยอีกว่า คนรุ่นใหม่มีความคิดที่อยากไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น เรื่องนี้คงต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่ไม่คิดไปอยู่ต่างประเทศ เพราะอนาคตของประเทศนี้ไม่ได้อยู่ที่คนสืบทอดอำนาจต่างๆ แต่อยู่ที่เยาวชนในสังคม โดยปัญหาเร่งด่วนของสังคมไทย คือ เรื่องการศึกษา ปัจจุบันมีแต่ความเหลื่อมล้ำทุกด้าน และประเด็นสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส

ฝากถึงผู้ใหญ่ในสังคมว่า “สนุกมากหรือที่เห็นเด็กเข้าคุก สนุกมากหรือที่เห็นเด็กทรมาน และไม่ได้ประกันตัว ทำได้อย่างไร ไม่ละอายใจตัวเองบ้างหรือ จับเด็กเข้าคุกเป็นว่าเล่น” นายอานันท์กล่าว

1.เนื้อหาที่อดีตนายกฯ อานันท์พูด บางส่วนน่าสนใจ เช่นที่บอกว่า สังคมไทยเสื่อมลง เพราะความหูเบา การเชื่อคนง่ายความอิจฉาริษยา การอาฆาตพยาบาท...

แต่ควรจะพูดให้ชัดว่า ใครหูเบา? ใครหลงเชื่อคนง่าย?

เพราะกลุ่มคนที่ปั่นเฟกนิวส์ ปั่นหัวเยาวชนจนเกิดความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ล้วนอยู่รายรอบการเมืองสีส้มที่คุณอานันท์ให้ความเอ็นดู สนับสนุน อุ้มชู ยกย่องสารพัดนั่นเอง

สารพัดข้อมูลเท็จที่ปั้นจนคนหูเบาเชื่อ และนำไปขยายความ จนถูกดำเนินคดี ติดคุกติดตะราง อาทิ เรื่องแอร์ไม่เย็น เรื่องคอมเพล็กซ์ ฯลฯ ถูกนำไปขยายความให้ร้ายสถาบันอย่างรุนแรง มันเพราะใครที่อาฆาตพยาบาทล่ะ

2.ที่อดีตนายกฯ อานันท์พูดถึงเด็กเข้าคุก ไม่ได้ประกันตัว นี่คือการพูดที่เลือกเข้าข้าง ให้ท้ายการเมืองบางกลุ่ม คือ กลุ่มสีส้มแซะสถาบัน โดยไม่เป็นธรรมกับกระบวนการยุติธรรมชัดเจน

กี่คนที่ถูกดำเนินคดีเพราะจาบจ้วงล่วงละเมิด โจมตีสถาบันอย่างปราศจากความจริง ไม่เป็นธรรมต่อสถาบัน

ส่วนใหญ่ ล้วนแต่ได้รับการประกันตัว แต่บางคนกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงต้องถูกเพิกถอนการประกัน กลับไปอยู่ในคุก

บางคน ที่ไม่ได้ประกันตัว เพราะมีคดีมากมายหลายคดี เกรงว่าจะหลบหนีเหมือนที่มีหลายคนได้รับการประกัน แต่หลบหนีแล้ว มากกว่า 10 คน

หลายคน ได้ประกันตัว และไม่ทำผิดเงื่อนไข ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่นอกเรือนจำกระทั่งออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันก็มี (น่าสงสัยว่ากำลังทำผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่)

ที่สำคัญ ที่อ้างว่าเด็กนั้น คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กแล้ว หลายคนบรรลุนิติภาวะ หลายคนเลยวัยเบญจเพส และบางคนอายุเกิน 30 ปี ไปแล้ว

3.อดีตนายกฯ อานันท์พึงทราบ... ที่ผ่านมา แกนนำการเมืองสีส้ม สส.ก้าวไกล และเหล่าแนวร่วมด้อมส้ม หลับหูหลับตาปั่นหัวสาวก ด้วยวาทกรรมสมองกลวง ทำนองว่า “ไม่ควรมีใครติดคุกเพราะแสดงความเห็น” / “กรณีจำคุกคดี 112 ของ สส.ไอซ์ ตอกย้ำปัญหาของ ม.112” / “แต่ไม่รัก ไม่ควรติดคุก”ฯลฯ

ทั้งหมด ล้วนแต่ เป็นความเท็จที่น่าเวทนา
...ความจริงมันตรงกันข้าม
...คำพิพากษาของคดี 112 ของ สส.ไอซ์ รักชนก ก็ดี
...คำพิพากษาคดี 112 ของนายอานนท์ นำภา ก็ดี
...คำพิพากษาคดี 112 ของทุกคดีของแกนนำแนวร่วมม็อบ 3 นิ้ว ที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ก็ดี

หากไปดูรายละเอียดอย่างจริงใจ จะเห็นความจริงว่า คนเหล่านั้น มิได้แสดงความคิดเห็นต่าง แต่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ด้อยค่า บูลลี่ ใส่ร้าย หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนทั้งนั้น

3.1.คดี 112 สส.ไอซ์ รักชนก
ศาลอาญา ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์คำพิพากษาคดีนี้เป็นทางการ บางตอนระบุว่า จำเลยใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘ไอซ์ หรือ @nanaicez’ ของจำเลย โพสต์ (tweet) ข้อความว่า...

“พูดตรง ๆ นะ ที่พวกเราต้องมาเจอวิกฤตวัคซีนแบบทุกวันนี้ เริ่มต้นก็เพราะรัฐบาลผูกขาดวัคซีนเพื่อหาซีนให้... สร้างวาทะกรรมของขวัญจากพ่อต่างๆ เล่นการเมืองบนวิกฤตชีวิตของประชาชน ผลสุดท้ายคนที่ชวยที่สุดคือประชาชน #28 กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ” พร้อมรูปภาพพระบรมฉายาลักษณ์... ประกอบป้ายข้อความว่า “ทรราช (คำนาม) TYRANT; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อำนาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง” ลงบนแอปพลิเคชันทวิตเตอร์

และจำเลยยังใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘ไอซ์ หรือ @nanaicez’ ของจำเลย โพสต์ซ้ำ (retweet) ข้อความที่ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘CHANI หรือ @ratsinapata’ โพสต์ (tweet) ข้อความว่า “เราไม่เป็นไทจนกว่า...จะถูกแขวนคอด้วยลำไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” #ล้มราชวงศ์…” ประกอบข้อความที่ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ‘นิรนาม หรือ @231022’ โพสต์ (tweet) ข้อความว่า “เราจะไม่เป็นไทจนกว่า...จะถูกแขวนคอด้วยลำไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” #...เป็นฆาตกร #ม็อบ16ตุลา #16ตุลาไปแยกปทุมวัน” ลงบนแอปพลิเคชันทวิตเตอร์

ข้อความข้างต้นทั้งสองข้อความ ตรงที่ทำ... (จุดจุดจุด) ไว้นั้นมีคำที่ระบุสื่อถึงบุคคลหรือสถาบันที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ และกล่าวให้ร้าย และขู่อาฆาตอย่างรุนแรง

...นั่นมิใช่การแสดงความเห็นต่าง
...มิใช่การติชมโดยสุจริต
...ลองไปเขียนแบบนี้ กล่าวหาใคร คนนั้นก็เสียหาย และสามารถดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายได้ทั้งนั้น
...อดีตนายกฯ อานันท์ คิดว่าคำพูดเหล่านั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นเยียงปัญญาชนพึงกระทำหรือไม่ ???

คดีนี้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมสองกระทง คงจำคุก 6 ปี

ขณะนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยยังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือได้ประกันตัว

3.2 คดี 112 นายอานนท์ นำภา
ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา จากการกระทำผิด ม.112 ปราศรัยหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมม็อบ 14 ตุลา 2563 โดยพฤติกรรมชัดเจนว่ากระทำผิดจริง

คำพูดที่นายอานนท์ปราศรัยแล้วมีความผิดนั้น เป็นการใส่ร้ายปรักปรำกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์โดยปราศจากมูลความจริง เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อย่างชัดเจน

นายอานนท์ได้ปราศรัยว่า “...ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อยๆ และ นิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อยๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือ... ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด”

“อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจาก...”
“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือ....ให้รู้ไว้เช่นนั้น”

ส่วนที่เว้น ... (จุด จุด จุด) เอาไว้นั้น ระบุถึงบุคคลหรือสถาบัน
ข้อความแบบนี้ คือการใส่ร้ายป้ายสี ปรักปรำด้วยความเท็จ
ไม่ใช่คิดต่าง หรือแสดงความเห็นเชิงหลักการอะไรเลย

อดีตนายกฯ อานันท์คงไม่สนับสนุนให้กระทำแบบนี้ โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีกระมัง

ความจริง คือ ที่ผ่านมา มีคนบางกลุ่มที่ถูกปั่นหัว ชักใย ให้ท้าทาย ทำผิดกฎหมาย มาตรา 112
บางคนติดคุก เพราะทำผิดมาตรา 112 แลกกับผลประโยชน์บางประการ เสียอนาคตตนเองและครอบครัวไป

อย่าหลับหูหลับตาให้ท้าย ‘ส้มแซะสถาบัน’

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ - กลุ่ม ไทย สมายล์ กรุ๊ป จับมือ มูลนิธิยังมีเรา สานฝันมอบทุน เยาวชน นครปฐมและกาญจนบุรี

1 มิถุนายน 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ และทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ ลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาให้กับกลุ่มนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดโอกาส และมีฐานะทางครอบครัวยากจน ผ่านโครงการ สานฝันการศึกษา ประจำปี 2567 ของมูลนิธิยังมีเรา สถานีข่าวท็อปนิวส์ ณ จ.นครปฐม และจ.กาญจนบุรี

​นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ดิฉันในนามมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ กลุ่ม ไทย สมายล์ กรุ๊ปและ มูลนิธิยังมีเรา 
ได้ร่วมกันมอบทุนการศึกษา ทุนละ 6,000 บาท จำนวน 2 ทุน ซึ่งนักเรียนจะต้องยังเรียนอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า และอุดมศึกษา  โดยจะต้องเขียนเรียงความของเรื่องราวของตนเอง และการเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มาที่มูลนิธิยังมีเราผ่านโครงการสานฝันการศึกษา ประจำปี 2567 ของมูลนิธิยังมีเรา สถานีข่าวท็อปนิวส์ สำหรับวันนี้ ได้มามอบทุนการศึกษา ให้แก่ ด.ช.ธันวา เครืออยู่ ที่อยู่ 37 ม.5 ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และด.ช.วันชัย เลี้ยงฤทัย ที่อยู่ 96/9 หมู่ 6 ต.ดอนขมิ้น อ.ท่ามะกา 
จ.กาญจนบุรี 

ทั้งนี้ ได้สร้างความปลาบปลื้มให้กับเด็กนักเรียนทั้งสองที่ได้พิจารณารับทุนการศึกษา รวมถึงครอบครัวเป็นอย่างมาก การที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมสนับสนุนทุนการศึกษา ผ่านโครงการสานฝันการศึกษา 2567 ในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเด็กนักเรียนและเยาวชน 

ซึ่งเขาเหล่านี้จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

‘สุริยะ’ รุกหนัก!! ปกป้องเด็กจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เคาะ 5 มาตรการ ชง ครม. 'ปราบปราม-คุมระบาด'

(7 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งมีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชาฯ ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสุริยะ เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณี ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่าง ๆ นำไปขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช. เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่าการสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริง จำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะกล่าว

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ‘การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า’ ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการมากมายยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โดยมีสารนิโคตินปริมาณสูงซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะต่อพัฒนาการสมองของเด็ก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ย้ำด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม เนื่องจากมีสารนิโคติน สารเสพติด สารแต่งกลิ่น สารเคมีอื่น ๆ มิได้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ตามที่อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวอีกว่า ปัญหาขณะนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการตลาดล่าเหยื่อ ที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก (Toy Pod) ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าคุกคามเด็กเล็กลงถึงระดับชั้นประถมศึกษาและส่งผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“ความจริงแล้วสถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นวัตถุที่มีความผิดตามกฎหมาย ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ซึ่งดีอยู่แล้ว เราจึงขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งมาตรการเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ขณะที่การปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เราก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้เรื่องภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเทศไทยเคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ มาแล้ว โดยขณะนั้นเครือข่ายสมัชชาฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราได้พบกับปัญหาใหม่จากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่รุนแรง และจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนให้มากขึ้น

นพ.สุเทพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าคนในประเทศไหนจะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ระบบบริการสุขภาพ 9% พันธุกรรม 16% พฤติกรรม 51% และ สิ่งแวดล้อม 24% ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีน้ำหนักถึง 75% ดังนั้น การจะทำให้คนสุขภาพดี จึงต้องมาจัดการที่ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) ซึ่งการสูบบุหรี่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้ชายไทยเจ็บป่วยหรือตายก่อนวัยอันควร บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน ฯลฯ 

“ประเทศไทยดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ผลดี คนสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายบุหรี่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มุ่งตลาดที่เด็กและเยาวชนเป็นธุรกิจที่กินยาว ในปัจจุบันจะเห็นการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพของประชากรไทยในยุค ‘เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย’ อย่างน่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะฯ เพื่อร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง” นพ.สุเทพ กล่าว

เปิดเรื่องราว ‘ทหารเด็ก’ เครื่องมือจักรกลสงคราม ของพวกไร้จิตสำนึก ‘บังคับ-หลอกใช้’ ให้กระทำความผิด ไม่คำนึงผลที่จะตามมาในอนาคต

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากการใช้นักรบวัยฉกรรจ์กระทั่งวัยชราแล้ว ยังมีพวกชั่วช้าสามานย์บังคับใช้เด็กให้มาเป็นนักรบอีกด้วย วันนี้จึงขอนำเรื่องของการใช้เด็กเป็นทหารมาเล่าให้ฟัง…

การนำเด็กมากระทำความผิดเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานมาก แม้แต่ในบ้านเรามีการบังคับเด็กให้เป็นขอทาน หลอกล่อเด็กให้กระทำความผิดต่าง ๆ ปล้น ชิง วิ่งราว ล้วงกระเป๋า ขายของ กระทั่งขนและขายยาเสพติด ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ฯลฯ โดยไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม หรือลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนไป ผลกระทบด้านจิตใจ ตลอดจนการถูกดำเนินคดี ซึ่งเด็ก ๆ และครอบครัวต้องเผชิญชะตากรรมที่ถูกล่อลวงให้กระทำความผิดตามลำพัง และโดดเดี่ยว ผู้ที่หลอกลวงและอยู่เบื้องหลังจึงเป็นพวกที่เลวและชั่วช้ามาก ๆ เช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การบังคับเด็กมาเป็นทหารก็เฉกเช่นเดียวกัน ทหารเด็กนับเอาเด็กในกองกำลังติดอาวุธที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา 

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child : CRC) ห้ามการใช้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร่วมในปัญหาซึ่งมีความขัดแย้งกันและมีการใช้กำลังอาวุธ นอกจากนั้นการใช้เด็กต่ำกว่า 15 ปีเป็นทหารถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามอีกด้วย โดยประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ต่างเห็นด้วยกับการห้ามใช้ทหารเด็กทั้งที่อยู่ในกองกำลังฝ่ายรัฐบาล หรือของกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ 

น้อยคนในโลกนี้ที่จะทราบว่า นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเหี้ยมโหดที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่งเป็น ‘ทหารเด็ก’ ซึ่งเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7-18 ปี หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนับแสนคน ทั้งนี้เพราะ ‘ทหารเด็ก’ หรือ ‘นักฆ่ารุ่นเยาว์’ เหล่านี้ ได้รับการวิเคราะห์จากโลกตะวันตกแล้วว่า เป็นนักฆ่าที่สามารถสังหารผู้คนได้เพียงเพราะต้องการฆ่า หรือเพียงเพราะได้รับคำสั่งให้ฆ่า เป็นการฆ่าด้วยจิตใต้สำนึก ไม่ใช่การฆ่าด้วยอุดมการณ์ เป็นการฆ่าที่ปราศจากความยั้งคิดใด ๆ ทั้งสิ้น อันเนื่องมาจากความด้อยประสบการณ์ ความไร้เดียงสา และการขาดความรู้ที่เพียงพอ ‘ทหารเด็ก’ บางคนเริ่มสังหารผู้คนตั้งแต่ยังไม่สามารถจำอายุของตนได้เลย 

ทั้งนี้ ‘Mike Wessells’ นิตยสาร The Atomic Scientists ของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ถึงการใช้ ‘ทหารเด็ก’ เป็นเครื่องมือ ‘จักรกลสงคราม’ ในการทำสงครามกลางเมืองของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศเซียร่า ลีโอน, ชาด, บุรุนดี, โซมาเลีย, เอธิโอเปีย เป็นต้น และในทวีปเอเชีย เช่น พม่า, จีน ในอเมริกากลาง เช่น ชิลี, เอล ซัลวาดอร์, ปารากวัย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในยุโรป เช่น เซอร์เบีย และบอสเนีย เป็นต้น

โดย Wessells ระบุว่า เหล่านักรบรุ่นเยาว์เหล่านี้บางคนก้าวเข้าสู่สงครามตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ทั้ง ๆ ที่ในช่วงอายุดังกล่าวควรเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาควรได้รับโอกาสทางการ ‘ศึกษา’ มากกว่าได้รับโอกาสในการ ‘เข่นฆ่าประหัตประหาร’ สงครามที่เหล่านักรบรุ่นเยาว์เข้าไปมีส่วนด้วย มักเป็นสงครามที่มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และเป็นสงครามกลางเมืองที่มีรูปแบบของการรบแบบกองโจรเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่สงครามตามแบบแผนที่มีแนวรบแน่นอนตายตัวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เด็ก ๆ เหล่านี้เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยในครัวสนาม เป็นยามรักษาการณ์ เป็นหน่วยสอดแนม เป็นสายลับในการรวบรวมข่าวสาร แล้วได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มที่คอยก่อการจลาจล ด้วยการขว้างปาก้อนหิน เผาอาคารสถานที่ ลักลอบส่งอาวุธให้กับกลุ่มทหารของตน จนถึงขั้นสุดท้ายของการพัฒนาคือ เข้าสวมเครื่องแบบ จับอาวุธสงคราม มีการฝึกฝนการใช้อาวุธประจำกายและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ

โดย UNICEF ได้มีการเปิดเผยว่า กองทัพฝ่ายรัฐบาลที่เกณฑ์ทหารเด็กแบบใช้กำลังบังคับ อาทิ เอล ซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย กัวเตมาลา และพม่า ส่วนกลุ่มติดอาวุธอื่นที่บังคับเด็กมาเป็นทหาร เช่น แองโกลา โมซัมบิก ศรีลังกา และซูดาน ส่วนที่พบว่าส่วนใหญ่เด็กสมัครใจมาเอง ได้แก่ ไลบีเรีย 

นอกจากนั้น องค์การนิรโทษกรรมสากล ยังระบุด้วยว่า ทหารเด็กส่วนใหญ่ถูกฆ่า หากรอดชีวิตก็มีที่พิการ เป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศอื่น ๆ มีบาดแผลในด้านจิตใจติดตัวไปจนตลอดชีวิต

การเคลื่อนไหวเพื่อยุติการใช้ทหารเด็ก การใช้ทหารเด็กเป็นเรื่องปกติตลอดประวัติศาสตร์ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมามีการปฏิบัติตามคำวิจารณ์ที่มีข้อมูล และความพยายามร่วมกันเพื่อยุติปัญหานี้ ความคืบหน้าเป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากต้องพึ่งพาเด็ก ๆ เพื่อเติมเต็มจำนวนทหารของพวกเขา และส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลนั้นยากที่จะตรวจสอบและจัดการ

ช่วงทศวรรษ 1970-1980 มีความพยายามระหว่างประเทศในการจำกัดการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ ในความขัดแย้งด้วยอาวุธเริ่มต้นจากพิธีสารเพิ่มเติมของอนุสัญญาเจนีวาปี 1949 ซึ่งรับรองในปี 1977 (มาตรา 77.2) พิธีสารใหม่ห้ามการเกณฑ์ทหารจากเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ยังคงอนุญาตให้กองกำลังของรัฐและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐรับสมัครเด็กตั้งแต่อายุ 15 ปี และใช้ในการทำสงคราม มีความพยายามในระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับการต่ออายุอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) เมื่อองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ต่าง ๆ รณรงค์ให้สนธิสัญญาฉบับใหม่ว่าด้วยการจัดหาเด็กผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง ในบางประเทศซึ่งมีกองกำลังด้วยอาศัยการเกณฑ์ทหารที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ต่อต้านเรื่องนี้ ดังนั้นข้อความสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายของปี 1989 จึงสะท้อนให้เห็นเพียงมาตรฐานทางกฎหมายที่มีอยู่เท่านั้น : การห้ามไม่ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้ามีส่วนร่วมในการรบโดยตรงในสงคราม 

ในช่วงทศวรรษ 1990 องค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ได้จัดตั้งแนวร่วมเพื่อหยุดการใช้ทหารเด็ก (ปัจจุบันคือ Child Soldiers International) เพื่อทำงานร่วมกับรัฐบาลที่เข้าใจและเห็นด้วยในการรณรงค์เพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่สำหรับแก้ไขข้อบกพร่องที่พบเห็นใน CRC หลังจากการรณรงค์ทั่วโลกเป็นเวลาหกปีสนธิสัญญาดังกล่าวก็ได้รับการรับรองในปี 2000 เป็นพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กในความขัดแย้ง (OPAC) สนธิสัญญาห้ามการเกณฑ์เด็ก ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเกณฑ์ทหารต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และห้ามใช้การเกณฑ์เด็กเข้าร่วมในการสู้รบ สนธิสัญญาดังกล่าวยังห้ามไม่ให้กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐจัดหาบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ร่วมเจรจากับ OPAC จะสนับสนุนการห้ามคัดเลือกเด็กเพื่อเป็นทหาร แต่บางประเทศนำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหราชอาณาจักรคัดค้านเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้สนธิสัญญาจึงไม่ห้ามการจัดหาเด็กอายุ 16 หรือ 17 ปี แม้ว่าจะอนุญาตให้ชาติต่าง ๆ ผูกมัดตัวเองกับมาตรฐานที่สูงกว่าที่กำหนดในกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ยุค 2000 - ปัจจุบัน ‘Red Hand Day’ ซึ่งเป็นวันต่อต้านการใช้ทหารเด็กสากล มีเครื่องหมายแสดงรอยมือสีแดง

หลังจากการรับรองพิธีสารเลือกรับว่าด้วยการมีส่วนร่วมของเด็กในความขัดแย้ง การรณรงค์เพื่อการให้สัตยาบันทั่วโลกได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ในปี 2018 OPAC ได้รับการรับรองสัตยาบันโดย 167 ประเทศ การรณรงค์ดังกล่าวยังสนับสนุนให้หลาย ๆ ประเทศไม่รับสมัครเด็กเป็นทหารเลย ในปี 2001 มี 83 ประเทศเกณฑ์ทหารเฉพาะผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) เท่านั้น ภายในปี 2016 จำนวนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 126 ประเทศซึ่งเป็น 71% ของประเทศที่มีกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐประมาณ 60 กลุ่มได้ทำข้อตกลงเพื่อหยุดยั้ง หรือลดขนาดการใช้ประโยชน์จากเด็ก ซึ่งมักจะดำเนินการโดย UN หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น Geneva Call

Child Soldiers International รายงานว่าความสำเร็จของสนธิสัญญา OPAC บวกกับการลดลงทีละน้อยในการเกณฑ์เด็กโดยกองกำลังของรัฐบาล ทำให้เด็กในกองกำลังทางทหารทั่วโลกลดลง ในปี 2018 การเกณฑ์และการใช้ทหารเด็กยังคงมีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ISIS และ Boko Haram ตลอดจนกลุ่มติดอาวุธที่ยังคงต่อสู้อยู่ ซึ่งใช้นักรบเด็กอย่างมากมาย นอกจากนี้สามประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ยังอนุญาตให้กองกำลังติดอาวุธเกณฑ์เด็กอายุ 16 หรือ 17 ปี เช่นเดียวกับห้าประเทศในกลุ่ม G-7 : แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักรและ สหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันมีถึง 195 ประเทศในโลกที่ลงนามร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งมีการประกาศใช้ในปี 1989 และมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1990 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกตั้งแต่ปี 1992 และยังเข้าเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารต่อท้ายอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอีก 3 ฉบับ คือ พิธีสารเลือกรับฯ เรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณี และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the sale of children, child prostitution and child pornography) พิธีสารเลือกรับฯ เรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the involvement of children in armed conflict) ซึ่ง 2 ฉบับดังกล่าว ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2006 และฉบับที่ 3 เป็นพิธีสารเลือกรับฯ เรื่องกระบวนการติดต่อร้องเรียน (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on a communications procedure) ไทยเข้าเป็นภาคีเป็นประเทศแรกในโลกเมื่อ 25 กันยายน 2012

หลักการสำคัญของสิทธิเด็กที่ต้องเข้าใจก่อน คือ สิทธิของเด็ก ไม่ใช่เรื่องที่รัฐหรือใครให้กับเด็ก แต่เป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด โดยไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอน หรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็ก หรือละเมิดสิทธิของเด็กได้ และการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ก และยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก อนุสัญญานี้ยังกำหนดสิทธิเด็กขั้นพื้นฐานไว้ 4 ด้าน ดังนี้

1. สิทธิในชีวิตและการอยู่รอด : สิทธิมีชีวิตและความต้องการขั้นพื้นฐานที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และมีความปลอดภัย

2. สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง : ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การล่วงละเมิด การละเลย การนำไปขาย การใช้แรงงานเด็ก การเลือกปฏิบัติ และการแสวงประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบอื่น ๆ 

3. สิทธิในการพัฒนา : สิ่งที่เด็กต้องการเพื่อจะไปถึงศักยภาพอย่างสมบูรณ์ การพัฒนาทางด้านจิตใจ สิทธิที่จะได้เล่นและพักผ่อน และอื่น ๆ 

4. สิทธิในการมีส่วนร่วม : เปิดโอกาสให้เด็กมีสิทธิแสดงความคิดเห็น แสดงออก มีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อตนเอง

หลังจากได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกในปี 1992 บ้านเราโดยกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการในตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การรับสมัครบุคคลเพื่อบรรจุเป็นหน่วยรบมีการกำหนดชัดเจนโดยจำกัดอายุขั้นต่ำในการสมัครเข้าโรงเรียนทหาร โดยให้มีความสัมพันธ์ในเรื่องของอายุถูกต้องเมื่อจบการฝึกฝนอบรม และประจำการด้วยอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ส่วนการเกณฑ์ทหารกำหนดที่ 21 ปีตลอดมาตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับนักศึกษาวิชาทหารจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นกำลังสำรองเมื่ออายุครบ 18 ปีเช่นกัน บ้านเราจึงไม่มีปัญหาในเรื่องของทหารเด็ก เว้นแต่ในคราวที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในหลาย ๆ จุด โดยสมรภูมิที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมพร มียุวชนทหารจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมกับทหารและตำรวจในการรบกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองอย่างกล้าหาญ และได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ (เอเชียบูรพา) อย่างสมเกียรติ

การบังคับหรือล่อลวงเด็กให้กระทำผิดนั้น เป็นเรื่องที่เหี้ยมโหดและชั่วช้าสามานย์ยิ่ง มีแต่คนที่อุบาทว์ชาติชั่วเลวทรามจริง ๆ เท่านั้นถึงทำได้ เพราะเด็ก ๆ ทั้งไร้เดียงสา ขาดความเข้าใจ จึงไม่มีวุฒิภาวะพอ เมื่อถูกหลอกลวงด้วยคำพูด ถ้อยคำ โฆษณาชวนเชื่อ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงหลงเชื่อ แต่เมื่อได้กระทำการจนกลายเป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว จึงต้องรับโทษตามกฎหมายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่นเดียวกับการเกณฑ์และบังคับใช้ทหารเด็ก ซึ่งสมควรต้องประนามหยามเหยียดคนเหล่านี้อย่างเต็มที่จนถึงที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top