Sunday, 30 June 2024
หิมาลัย_ผิวพรรณ

‘ดร.หิมาลัย’ ขอบคุณ ‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ ตั้งเป็นคณะที่ปรึกษารองนายกฯ ทำงานรับใช้ ปชช.

ดร.หิมาลัย โพสต์ขอบคุณ รองนายกฯ พีระพันธุ์ หลังตั้งเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ย้ำพร้อมทำงานอย่างเต็มความสามารถ ตามที่ได้รับความไว้วางใจและให้โอกาสรับใช้พี่น้องประชาชน

(10 ต.ค. 66) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวภายหลังจาก ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ โดยระบุว่า “กราบขอบพระคุณท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ที่กรุณาแต่งตั้งผมเป็นคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ครับ”

ดร.หิมาลัย ย้ำว่า พร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำงานอย่างเต็มความสามารถ ตามที่ท่านพีระพันธุ์ท่านกรุณาให้ความไว้วางใจ และมอบโอกาสให้ได้ทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน

'ดร.หิมาลัย' โพสต์ยินดี 'พล.ต.ท.ไตรรงค์' นั่งผบช.สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตอกย้ำ!! อุดมการณ์คนทำงาน ภายใต้ภารกิจยึดตามพยานหลักฐานเป็นสำคัญ

(17 ต.ค. 66) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

“ความยุติธรรมต้องไม่มีธง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน”

หลังจากคำสั่งของ ตร.ให้อรรถ (พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ) ไปปฎิบัติราชการแทน ในตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ผมได้โทรไปแสดงความยินดีและพูดคุยกันหลายเรื่อง สุดท้ายผมก็ถามอรรถว่า ย้ายไปอยู่ตำแหน่งใหม่ รู้สึกอย่างไรบ้าง คำตอบของอรรถฟังแล้วน่าปลื้มใจแทนพ่อ วันนี้ พ่อไม่อยู่แล้ว ผมก็ได้แต่ภูมิใจและยินดี ในสิ่งที่พ่อสอนสั่งเขามา ทำไมเป็นอย่างนั้น ลองมาฟังคำตอบที่น้องชายผมตอบกันนะครับ

พี่อ๊อด ในความคิดอรรถ ตำแหน่งทุกตำแหน่ง เป็นเกียรติและศักดิ์ศรี ของตำรวจทุกคน เป็นโอกาสที่จะได้ทำงานตอบแทนแผ่นดิน ตอบแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เลี้ยงดูและสั่งสอนอบรมเรามา ตอนอรรถได้มาเป็น ผู้บัญชาการกองกฏหมายและคดี อรรถภูมิใจมาก เวลาทำงานเหมือนมีพ่อมาอยู่ใกล้ ๆ 

อาชีพของพ่อ นอกจากเป็นตำรวจแล้ว จะบอกว่าพ่อมีอาชีพเป็นพนักงานสอบสวนก็ได้ พ่อภูมิใจที่ได้เป็นพนักงานสอบสวนดีเด่นของ ตร. อรรถก็ภูมิใจที่ได้เป็น ผบช.กมค. ซึ่งถือเป็นเหล่าแม่ เป็นบ้านของพนักงานสอบสวน ในอุดมคติของอรรถ “ความยุติธรรม ต้องไม่มีธง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน” จะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมต้องมี 2 สิ่งประกอบกันคือ พยานและหลักฐาน จึงสามารถให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดได้ 

พยานหลักฐานนอกจากจะได้มาจากการสืบสวนและสอบสวนแล้ว ส่วนสำคัญที่สุดอีกส่วนก็คือ การพิสูจน์ว่าหลักฐานที่ได้มานั้นมีความถูกต้องแม่นยำมากแค่ไหน การนำพยานหลักฐานที่ได้มาตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวผู้กระทำความผิด หรือนำพยานหลักฐานมาเชื่อมโยงเพื่อพิสูจน์เหตุการณ์ หรือคำให้การของผู้เกี่ยวข้องกับคดี ว่าจริงหรือเท็จ ซึ่งส่วนนี้ศาลจะให้น้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะวัตถุพยาน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือทางเทคโนโลยีการสื่อสาร เป็นพยานที่ไม่พูดเท็จ ไม่กลับคำให้การ ดังนั้นสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ต้องเป็นจรวดนำวิถีให้กับพนักงานสอบสวน คือต้องรวดเร็ว แม่นยำ และเข้าเป้า เป็นไม้ตายของกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น

การที่ผู้บังคับบัญชา ไว้วางใจให้อรรถมาอยู่ตรงนี้ (ผบช.สพฐ.) อรรถตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด อรรถมีหลาย ๆเรื่องที่อยากจะทำ กำลังพลที่นี่ดีมาก อรรถเคยสัมผัสมาตอนเป็น ผบก.ทว. เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีอุดมการณ์ ถ้าเขาไปอยู่ที่อื่น เขาจะได้ค่าตอบแทนมากกว่าเป็นตำรวจ แต่เขาเลือกที่จะอยู่กับเรา อรรถตั้งใจว่า เราจะมาช่วยกันพัฒนาหน่วยให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นที่ไว้วางใจและเชื่อถือของประชาชน

'ดร.หิมาลัย' ลุยแม่ฮ่องสอน เร่งช่วยเหลือประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ ดันโซลาร์ฯ คลุมทุกหมู่บ้านใน 5 ปี ตามแนวทาง 'พีระพันธุ์'

(31 ต.ค.66) ที่สำนักงานพลังงานแม่ฮ่องสอน กระทรวงพลังงาน โดย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาครมว.พลังงาน) พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเข้าร่วมประชุมติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ 

โดยมี นายจำลอง รุ่งเรือง อดีต สส.แม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายอำพร วายลม พลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอภิชาติ ปัญญามูลวงษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง และ นายอาวุธ ขยันดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโป่ง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมสำนักงานพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

จากนั้นได้เดินทางไปตรวจติดตามโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ แบบเคลื่อนที่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยเดื่อเกษตรผสมผสานยั่งยืน หมู่ 3 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่องจัดหาให้จากงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

ดร.หิมาลัย เผยว่า หลังจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลัง เข้ามารับตำแหน่ง ต้องการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ตามที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้หาเสียงไว้ และตนในฐานะที่ปรึกษาและได้รับหนังสือร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องการให้กระทรวงพลังงานเข้ามาดูแล ทั้งเรื่องการคมนาคมยากลำบาก พื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยาน ทำให้การใช้พลังงานเข้าไปไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ยังคงมีปัญหาประชาชนหลายหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ประสานนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยู่แล้ว

นายหิมาลัย กล่าวอีกว่า การเดินทางลงพื้นที่แม่ฮ่องสอนในครั้งนี้ เพื่อติดตามดูแลแก้ไขปัญหา และเร่งผลักดันให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหลายเรื่องที่พลังงานจังหวัดได้ให้ข้อมูล ทั้งเรื่องหมู่บ้านชุมชนหลายหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ บางหมู่บ้านมีเสา มีสาย แต่ไฟฟ้าเข้าไม่ได้ และการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ 

เพราะพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าอุทยาน ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หากใช้การลากสายไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าพื้นที่ ก็มีปัญหาติดเขตป่า เขตอุทยาน และพื้นที่ป่าต่าง ๆ เพราะต้องใช้พื้นที่ป่าจำนวนมาก ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่หมู่บ้านชุมชน โรงเรียน ชุมชนเกษตรกรรมโรงอบพืชผลทางการเกษตร แม้แต่ห้องเย็นที่วิสาหกิจชุมชนมีอยู่แล้ว รวมทั้งไฟฟ้าครัวเรือน จะช่วยลดต้นทุนให้ประชาชน การติดตั้งสะดวก ได้ประโยชน์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะใช้พลังงานชีวภาพจากมูลสัตว์ในการผลิตแก๊สหุงต้มในชุมชนอีกด้วย

"ปัญหาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือการเดินทาง ในแต่ละพื้นที่อยู่ห่างไกล ยากลำบาก หน้าฝนมีปัญหาในการเดินทางเข้าหมู่บ้านชุมชน แม้แต่การก่อสร้างสิ่งต่างๆ มีหลายพื้นที่ ที่ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างไว้ให้กับทางชุมชนแล้วเมื่อเกิดความเสียหายใช้ไม่ได้ก็ไม่ได้เข้าไปซ่อมแซมตามระยะเวลาก็เป็นปัญหา ซึ่งตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านต้องรีบทำตามหน้าที่ ไม่ต้องกลัว ตรงไหนที่ผู้รับเหมาละทิ้งงานหรือไม่มาแก้ไขตามสัญญา ก็ต้องแจ้งให้เขาทราบและปรับเงินค้ำประกันตามสัญญา หรือดำเนินการทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ผู้รับเหมามาแก้ไขให้ชาวบ้านเร่งด่วนให้ได้ และโครงการต่างๆ หลังจากที่เราสร้างไปแล้ว ยังมีข้อกฎหมายอยู่อย่างหนึ่ง คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถบำรุงรักษาได้ แต่ในเมื่อกฎหมายเป็นเช่นนี้จะให้ชาวบ้านมาตั้งกลุ่มเก็บเงินซ่อมบำรุงรักษากันเองก็จะทำให้การขาดสภาพบังคับ ซึ่งตนจะไปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกครั้งเพื่อหาแนวทางที่จะให้ท้องถิ่นสามารถเก็บ ลดค่าบำรุงรักษาหลังจากส่งมอบโครงการไปแล้ว" ดร.หิมาลัย กล่าว

สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอน มี 7 อำเภอ 45 ตำบล 415 หมู่บ้าน มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 323 หมู่บ้านจากระบบจำหน่ายไฟฟ้า กฟภ.312 หมู่บ้าน จากระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบ MINI GRID จำนวน 11 หมู่บ้าน 3 หย่อมบ้านบริวาร และ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 92 หมู่บ้าน ในจำนวน 92 หมู่บ้านนี้ ตามแผนกระทรวงพลังงานและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแผนการส่งเสริมการมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานทดแทนในระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้ครบทุกหมู่บ้านที่เหลือ ตั้งแต่ปี 2566-2570 ตามแผนงบประมาณ 5 ปี จังหวัดแม่ฮ่องสอน

'ดร.หิมาลัย' เอือม!! ก๊วนการเมือง 'ตีรวน-มุ่งทำลาย' ประเพณีดีงามนับร้อยปี ยก 'จตุรมิตรสามัคคี' สายใยแห่งความรักของคนต่างโรงเรียนที่ไม่มีวันขาด

(17 พ.ย. 66) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ 'จตุรมิตรสามัคคี สายใยแห่งความรัก สวนกุหลาบต้องไว้ลาย' ความว่า...

ในช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาของการแข่งขัน ฟุตบอล จตุรมิตร ซึ่งเป็นกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ของ รร.มัธยมชายล้วนทั้ง 4 คือ สวนกุหลาบวิทยาลัย, เทพศิรินทร์, กรุงเทพคริสเตียน และ อัสสัมชัญ กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ ความสามัคคี ความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง ไม่ได้จำกัดแค่ในโรงเรียนเดียวกันเท่านั้น แต่ยังขยายเครือข่ายไปในกลุ่มจตุรมิตรด้วย

ในการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรนั้น มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ กองเชียร์และการแปรอักษรประชันกัน ซึ่งแต่ละโรงเรียน ไม่มีใครยอมแพ้ใคร ต่างคนต่างปล่อยฝีไม้ลายมือกันเต็มที่ ภาพที่ปรากฏออกมาแต่ละครั้งจึงสวยงามสมกับการรอคอย เบื้องหลังความสำเร็จที่น่าทึ่ง คือ ผลงานเหล่านี้ เกิดจากการสร้างสรรค์ของเยาวชนอายุประมาณ 11-17 ปีเท่านั้น 

ในปีนี้ มีข่าวขึ้นมาว่ามีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่มีความเข้าใจในกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการรณรงค์ชักชวนให้ยกเลิกการแปรอักษร ถึงขนาดไปถือโทรโข่งประกาศโฆษณาชวนเชื่อให้น้อง ๆ และผู้ปกครอง ต่อต้านกิจกรรมดังกล่าว ดูถ้อยคำกล่าวอ้าง กริยาที่ไปแสดงออกตามคลิปที่มีผู้ส่งให้ผมดูแล้ว ดูครั้งแรกก็โมโหแต่พอระลึกถึง สุภาษิตคติพจน์ประจำโรงเรียนสวนกุหลาบที่ว่า “สุวิชา โน ภวํ โหติ อ่านว่า สุ-วิ-ชา โน พะ-วัง โห-ติ แปลความว่า ผู้รู้ดี เป็น ผู้เจริญ“ ก็ให้อภัยถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจของบุคคลเหล่านี้

ย้อนไปในวัยเด็ก การได้ปักอักษร ส.ก. บนหน้าอกเสื้อนักเรียนนั้นเป็นความภาคภูมิใจของผม (สวนฯ103) และน้องชาย (สวนฯ106) เป็นอย่างมาก ที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนแห่งนี้ ดังมีพระราชดำรัสที่สำคัญของพระองค์ท่าน เมื่อครั้งพระราชทานรางวัลนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ พ.ศ.2427 มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า "เจ้านายตั้งแต่ราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป ตลอดถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอกัน"

ดังนั้น โรงเรียนสวนกุหลาบ จึงมีนักเรียนที่หลากหลาย มีตั้งแต่ลูกรัฐมนตรียันลูกภารโรง ลูกนักธุรกิจพันล้านจนถึงลูกคนกวาดถนน ลูกตำรวจ ทหาร จนถึงลูกผู้ต้องหา เมื่อพวกเราได้สวมเสื้อ ปักอักษร ส.ก. บนหน้าอกแล้ว พวกเราเท่าเทียมกัน พวกเรารักและผูกพันเหมือนเป็นพี่น้องคลานตามกันมา เราทะเลาะ เราหัวเราะ เราร้องไห้ ชกต่อย ปลอบโยน ให้กำลังใจกัน อย่างบริสุทธิ์ใจ ทุก ๆ อย่าง เกิดจากการหล่อหลอม จากการเรียน จากการทำกิจกรรม และใช้ชีวิตร่วมกัน

กิจกรรมในโรงเรียนสวนกุหลาบ ในสมัยของผม มีหลากหลาย แต่ละกิจกรรม ล้วนสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนและประเทศชาติ เช่น การเข้าค่ายนักเรียนใหม่ เหมือนการให้กำเนิดพวกเราอีกครั้งในสายเลือดชมพูฟ้า ชมรมดนตรีไทย มีการแสดงโขนหน้าพระที่นั่ง ชมรมดุริยางค์และวงโยธวาทิต มีการประกวดและได้รับรางวัลอยู่เสมอ กองร้อยลูกเสือเกียรติยศ เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน ได้มีโอกาสไปร่วมรักษาความปลอดภัยของงานกิจกรรมต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการอยู่เนือง ๆ ชมรมวิชาการต่าง ๆ ที่มักมีการส่งนักเรียนของเราออกไปกวาดรางวัลการแข่งขันทางวิชาการอยู่ตลอดเวลา และในหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่หล่อหลอมให้พวกเรามีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ การแปรอักษรในงานจตุรมิตรสามัคคี ยังจำความตื่นเต้นในตอนนั้นได้ พวกเราตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้ถึงเวลาของงานนี้ ดีใจที่จะได้เป็นส่วนร่วมสำคัญของประวัติศาสตร์ในยุคของเรา มีความรู้สึกเหมือนว่า ถ้าผ่านงานนี้ไป เราจะได้เป็นลูกสวนเต็มตัว เป็นที่ยอมรับของพี่ ๆ เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่เข้าหอประชุม ซ้อมร้องเพลงเชียร์ต่าง ๆ ของโรงเรียน หลายครั้งก็ซ้อมที่สนามฟุตบอล หรือสนามไพศาล เราไม่เคยมีความรู้สึกว่าร้อนหรือเหนื่อย เราไม่เคยรู้สึกว่าโดนทรมานหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้นเราก็ต้องมาเรียนรู้และจดจำโค้ดหรือรหัสในการแปรอักษร ซึ่งสอนและควบคุมโดยรุ่นพี่ ม.4, ม.5 เท่านั้น พี่ ๆ ม.6 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ เชื่อไหมครับ กิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศนี้ การจัดแบ่งหน้าที่ ประสานงานและควบคุมการปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการทำงานร่วมกันของเด็กนักเรียนชั้น ม.1 - ม.5 เท่านั้น มันน่าทึ่งไหมครับ

แล้วเวลาแห่งความภาคภูมิใจก็มาถึง พวกเราได้ร่วมกันแสดงออกถึงความรักความสามัคคีในหมู่คณะ การอดทนท่านกลางอากาศร้อนหรือบางครั้งก็ฝนตก การช่วยเหลือกันในหมู่เพื่อนฝูง การเอื้ออาทรดูแลกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง เสียงเชียร์เสียงตบมือให้กำลังใจจากพี่ ๆ ตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นหนุ่มน้อยที่เพิ่งจบ บรรยากาศแบบนี้ มันเป็นความประทับใจครับ ผมถึงนึกภาพไม่ออกว่าคนที่พยายามมาต่อต้านหรือมายุยงปลุกปั่นน้อง ๆ ให้ต่อต้านกิจกรรมนี้ เอาอวัยวะส่วนไหนคิด หลังเลิกงาน ไม่ว่ากีฬาจะแพ้หรือชนะ สิ่งที่ได้คือ ความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมสำคัญในจิตวิญญาณของความเป็นสวนกุหลาบ หยาดเหงื่อที่เสียไป ทำให้พวกเรารู้สึกดีใจที่ได้เสียสละให้กับสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ผมว่าความรู้สึกนี้ น่าจะเป็นเหมือนกันทุกโรงเรียนครับ 

สุดท้ายนี้ อยากจะบอกว่า "ไปเล่นการเมืองที่อื่นเถอะครับ อย่ามาทำลายความรัก ความภาคภูมิใจของพวกเรา ที่สืบต่อกันมาอย่างบริสุทธิ์ใจเป็นร้อยปีเลย ผมไม่โกรธ และให้อภัยพวกคุณครับ เพราะพวกคุณไม่รู้และไม่ใช่เรา จึงไม่มีวันเข้าใจ"

"กุหลาบสวย หนามแหลมคม เปลี่ยนกระถาง ไม่จางสี"

#ดรหิมาลัยผิวพรรณ #drhimalai #ยามเฝ้าแผ่นดินไทย #ไตรรงค์ผิวพรรณ #จตุมิตร #สวนกุหลาบ #osk103 #osk106

'ดร.หิมาลัย' ร่วม 'พล.ต.ท.ไตรรงค์' ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นำคณะผู้มีจิตศรัทธา เป็นเจ้าภาพทอดผ้ากฐิน ณ วัดจิกลาด

เมื่อวานนี้ (26 พ.ย. 66) ที่วัดจิกลาด หมู่ 2 ต.หนองตางู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ) และภริยา ประธานฝ่ายฆราวาส / ประธานเจ้าภาพ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร. และภริยา ประธานอุปถัมภ์ รวมทั้ง คุณหทัยรัตน์ ผิวพรรณ, นายสัญญา นิลสุพรรณ สส.เขต 3 นครสวรรค์ / ประธานคณะ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน และภริยา, นายวีรศักดิ์ เชียรวัฒนาสุข, คุณพิมพ์ปวีณ์ นิลสุพรรณ เลขานุการนายกอบจ.นครสวรรค์, นายสมจิตร แว่นแก้ว หรือ ‘จิตร เมืองนนท์’, พ.ต.อ.ทิวา โสภาเจริญ,พ.ต.อ.รัตนสุข คำวงศ์ พร้อมคณะผู้มีจิตศรัทธา ‘มูลนิธิพระราหู’ และพี่น้องกลุ่มหิมาลัยกรุ๊ป เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพพิธีทอดผ้ากฐินสามัคคีประจำปี 2566 มีพระครูนิรภัยสุตสุนทร เจ้าคณะตำบลหนองตางู เจ้าอาวาสวัดจิกลาด เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

โดยมี นายพชร ผลชี กำนันตำบลหนองตางู,นายอาวุธ จันแรง ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านจิกลาด ต.หนองตางู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์, นายธีนพล เพชรพิพัฒน์ รักษาการ ผอ.โรงเรียนวัดจิกลาดและพุทธศาสนิกชน ประชาชนร่วมให้การต้อนรับและร่วมเป็นเจ้าภาพพิธีทอดผ้ากฐินสามัคคี ดังกล่าว

สำหรับงานบุญประเพณีทอดผ้ากฐินสามัคคี ประจำปี 2566 ของวัดจิกลาด ต.หนองตางู จ.นครสวรรค์ ครั้งนี้ ซึ่งมียอดทอดผ้ากฐิน รวมทั้งสิ้น 1,234,693 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดทางวัดจะนำไปบูรณะปฎิสังขรณ์ภายในวัดและนำไปจัดสร้างศาลาปฎิบัติธรรมที่กำลังดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ ภายในงานทอดผ้ากฐินได้ออกโรงทานนำอาหารมาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เข้ามาร่วมงานทอดผ้ากฐินสามัคคีครั้งนี้ สำหรับงานประเพณีทอดผ้ากฐินเป็นการได้สร้างบุญสร้างกุศลแล้ว ยังได้ช่วยรักษาประเพณีทอดผ้ากฐิน และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา รวมทั้งยังได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้หันมาเข้าวัด และยังสร้างความสามัคคีของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

ดร.หิมาลัย ชู ‘ยิ้มสยาม มีน้ำใจ ห่วงใยเอื้ออาทร’ สะท้อนคุณค่า ‘Soft Power’ ไทยที่สะกดใจคนทั่วโลก

ดร.หิมาลัย ชู ‘ยิ้มสยาม มีน้ำใจ ห่วงใยเอื้ออาทร’ สะท้อนคุณค่า ‘Soft Power’ ไทยที่สะกดใจคนทั่วโลก พร้อมชวนคนไทยใช้จุดแข็งนี้ ดึงดูดชาวต่างชาติ พลิกฟื้นการท่องเที่ยว สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทย

(13 ธ.ค. 66) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับ ‘Soft Power’ ของไทย ซึ่งรัฐบาลกำลังพยายามผลักดันศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทยในหลากหลายมิติ เพื่ออวดสายตาชาวโลก พร้อมกับดึงดูดให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย 

ทั้งนี้ ดร.หิมาลัย กล่าวว่า คำว่า ‘Soft Power’ มีการตีความที่หลากหลาย แต่โดยส่วนตัวของตนนั้น มองว่า เอกลักษณ์ของไทยที่เป็น ‘Soft Power’ สะกดให้คนทั่วโลกหลงรักประเทศไทยและคนไทยหากได้มาเยือน ที่นั่นก็คือ ยิ้มสยาม, มีน้ำใจ, เอื้ออาทรห่วงใย, ช่างโอภาปราศรัย และ ใจรักในการบริการ หรือ Service Mind ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวคนไทยมาช้านาน  

“อย่างที่พวกเราทราบกันดีว่า เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ยิ้มสยาม คนต่างชาติล้วนนึกประเทศไทยและคนไทย ซึ่งเป็นการสะท้อนความมีไมตรีจิต และการยิ้มของคนไทยนั้นเป็นภาษากายสากลที่ทุกคนเมื่อได้เห็นล้วนสัมผัสได้ถึงความจริงใจและไมตรีของคนไทย แน่นอนว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมภาพลักษณ์สนับสนุนในเรื่อง Soft Power ที่รัฐบาลกำลังผลักดันในหลายๆ มิติ เพื่อสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายให้กับประเทศไทยเร็ว”

ดร.หิมาลัย อธิบายว่า ประเทศไทยนั้น มีสิ่งที่เกื้อหนุนด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรม ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจอยากจะมาสัมผัสและศึกษาค้นคว้าอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีที่พร้อมให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่มองว่า ควรเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยือน

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเชื่อว่า คนไทยทุกคนพร้อมที่จะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทุกคนอยู่แล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในสายเลือดคนไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น มิตรไมตรี และยิ้มสยาม ที่ตราตรึงใจคนทั่วโลก รวมไปถึงการมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งเห็นได้ชัดช่วงโควิดที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติหลายคนที่ติดอยู่ในเมืองไทย กลับประเทศตนเองไม่ได้ แต่ก็ยังอยู่ได้แม้ไม่มีเงิน ด้วยความเอื้ออาทรของคนไทย สามารถพึ่งพิงอาศัยได้ ทั้งวัดไทย, สุเหร่า และโบสถ์คริสต์ มีการทำอาหารแจกจ่าย เป็นการสะท้อนความมีน้ำใจของคนไทย ที่หาได้ยากในต่างประเทศ

นอกจากนี้ คนไทยยังมีความเอื้ออาทรห่วงใย พร้อมถามไถ่ให้คำแนะนำ และเตือนภัยหากเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ จะมีอันตราย ด้วยความเป็นคนช่างเจรจาปราศรัย ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต่างชาติประทับใจ และอีกหนึ่งอย่างที่ชาวโลกยกย่อง คือ Service mind การบริการด้วยใจ ที่ไม่เป็นรองใครในโลก ยกตัวอย่าง สายการบินของไทย ที่ดูแลผู้โดยสารด้วยความใส่ใจและนอบน้อม จนได้รางวัลอันดับต้นๆ ของโลก แม้แต่สายการบินต่างชาติยังต้องทำตาม หลังจากนั้นเขาก็ได้รางวัลสายการบินยอดเยี่ยมไป ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า ช่วงหนึ่งเราละเลยสิ่งเหล่านี้ไป แต่อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถกลับมาสร้างความประทับใจให้กับชาวโลกได้อย่างแน่นอน ผ่านสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง ‘Soft Power’ ที่อยู่ในตัวคนไทยอยู่แล้วนั่นเอง

'พีระพันธุ์' มอบหมาย 'ดร.หิมาลัย' ประสานหน่วยงานเจรจา ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องที่ดินระหว่าง 'ลูกหนี้-เจ้าหนี้' ผลจบลงด้วยดี!!

(12 ม.ค.67) สืบเนื่องจาก นางสาวนุจรีย์ ศรีสำราญ ในฐานะลูกหนี้ ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ช่วยเป็นคนกลางประสานฝ่ายเจ้าหนี้ เพื่อชะลอการซื้อขายที่ดินของ นายอัสมนี ศรีสำราญ (บิดา) กรณีจากการกู้เงินนอกระบบฯ ที่ดินแปลงดังกล่าวปัจจุบันใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงขอความเป็นธรรมให้ช่วยเป็นคนกลาง เรื่องที่ดินแปลงดังกล่าว 

ดังนั้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงได้มอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ รับเรื่องและเร่งดำเนินการประสานงานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยดำเนินการขยายผล ตรวจสอบหรือรับเรื่องเพื่อแก้ไขให้กับประชาชนกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงขยายผลเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชน นั้น

โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.65 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ชั้น 1 โดยมี นางสาวมยุรี ไวกิจอเนก อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 1 รักษาการในตำแหน่ง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหม่ายและการบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมฯ พร้อมด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือและหาทางไกล่เกลี่ย เพื่อขอชะลอการขายที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งมี นางสาวนุจรีย์ ศรีสำราญ ฝ่ายลูกหนี/ผู้ร้องขอความเป็นธรรม และนางจรัล เอี่ยมสำอางค์ ฝ่ายเจ้าหนี้/ผู้ถูกร้อง ได้เข้าร่วมประชุมและรับฟังการเจรจาหารือเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีดังกล่าว

สำหรับในที่ประชุม พนักงานอัยการพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องและผู้ถูกร้องจนสามารถตกลงกันได้ ซึ่งเป็นที่น่าพอใจให้กับทั้งสองฝ่ายที่ไกล่เกลี่ยจบลงด้วยดี

'ดร.หิมาลัย' จัดกิจกรรม 'ยิ่งให้ ยิ่งสุข' มอบโล่เกียรติยศแก่นายกองตรี 'ฝันเด่น' ส่งเสริมคนดี ผู้มีจิตเสียสละ ตามดำริโครงการ 'มูลนิธิพระราหู'

'มูลนิธิพระราหู' โดย ดร.หิมาลัย และพล.ต.ท.ไตรรงค์ จัดกิจกรรม 'ยิ่งให้ ยิ่งสุข' พร้อมมอบโล่เกียรติยศให้ นายกองตรีฝันเด่น และ มูลนิธิกระจกเงา ผู้เสียสละ ทำความดีเพื่อสังคม ตามโครงการ 'ส่งเสริมคนดี มูลนิธิพระราหู'

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 ที่ ห้องบุญยะจินดา 1-2 สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร มูลนิธิพระราหู จัดกิจกรรม 'ยิ่งให้ ยิ่งสุข' ภายใต้ชื่องาน 'GIVER'S NIGHT 2024' โดยมี ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิฯ ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีฯ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร./ที่ปรึกษามูลนิธิฯและประธานโครงการส่งเสริมคนดี มูลนิธิพระราหู รวมทั้ง คุณหทัยรัตน์ ผิวพรรณ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ พ.ต.อ.นครพัฒน์ พรหมพันธุ์ กรรมการมูลนิธิฯ และคณะผู้มีจิตศรัทธา นักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน กลุ่มหิมาลัย กรุ๊ป กลุ่มเพื่อนไตรรงค์ เข้าร่วมภายในงาน

ทั้งนี้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิฯ ได้ให้เกียรติเป็นประธานมอบโล่เกียรติยศ พร้อมมอบเงินสนับสนุน โครงการ 'ใจถึงใจ' จำนวน 100,000 บาท ให้กับนายกองตรี ฝันเด่น จรรยาธนากร กลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชน โครงการ 'ใจถึงใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน' รวมทั้ง มอบโล่เกียรติยศ พร้อมมอบเงินสนับสนุน โครงการ 'สดชื่นสถาน' ให้กับ มูลนิธิกระจกเงา จำนวน 100,000 บาท นอกจากนี้ยังได้มอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับหน่วยงานในสังกัด สพฐ.ตร.เช่น มอบเครื่องปริ้นเตอร์ให้กับ ศพฐ.4 มอบแอร์ให้กับ พฐ.จว.สุพรรณบุรี และมอบกล้องถ่ายภาพให้กับ พฐ.ก.เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์อีกด้วย

ด้าน ดร.หิมาลัย เปิดเผยว่า กิจกรรม "ยิ่งให้ ยิ่งสุข"เราจัดขึ้นครั้งนี้ เพื่อขอบคุณคณะผู้มีจิตศรัทธา มีทั้ง องค์กร ชมรมฯ นักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน ที่ให้การสนับสนุนงานด้านการกุศลกับ มูลนิธิพระราหู ด้วยดีมาตลอด รวมทั้งเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับบุคคล และองค์กร ดีเด่นที่ทำความดีด้านจิตอาสา เสียสละ เพื่อสังคม ตามโครงการ 'ส่งเสริมคนดี มูลนิธิพระราหู' ผมและกรรมการมูลนิธิพระราหู มีความศรัทธาในการทำหน้าที่การช่วยเหลือสังคมของทีมงาน 'ใจถึงใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน' เป็นอย่างมาก จึงให้การสนับสนุนตลอดมา และจากความดี ความเสียสละ ที่เราสัมผัสมาได้เป็นเวลาหลายปีที่ร่วมงานกันมา 

"โดยทาง โครงการ 'ส่งเสริมคนดี มูลนิธิพระราหู' ซึ่งมีท่าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ เป็นที่ปรึกษามูลนิธิและประธานโครงการฯ จึงได้คัดเลือก นายกองตรี ฝันเด่น จรรยาธนากร กลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนโครงการ 'ใจถึงใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน' เป็นบุคคลและโครงการดีเด่น ประจำปี 2566 รวมทั้ง มูลนิธิกระจกเงา ที่เสียสละ ในการเสียสละช่วยเหลือสังคมมาตลอด คณะกรรมการมูลนิธิพระราหู จึงได้คัดเลือกเป็นบุคคลและองค์ ดีเด่น พร้อมมอบโล่ห์เกียรติยศและเงินสนับสนุนโครงการ จำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้เสียสละ ในการทำความดีเพื่อสังคม 

"สุดท้ายผมและมูลนิธิฯ รู้สึกขอบคุณ นายกองตรี ฝันเด่น จรรยาธนากร และพี่ๆ น้องๆ ทีมงานทุกคน ที่เป็นสะพานบุญให้กับมูลนิธิพระราหูและคณะผู้มีจิตศรัทธาเสมอมา ขอให้โครงการ 'ใจถึงใจ' ปฏิบัติภารกิจจิตอาสาตามอุดมการณ์ ในการเสียสละช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเดินหน้าต่อไป รวมทั้งขอขอบคุณ มูลนิธิกระจกเงา ที่ช่วยเหลือประชาชนและสังคมมายาวนาน ซึ่งมูลนิธิพระราหู พร้อมอยู่เคียงข้างให้กำลังใจและจะร่วมสนับสนุนในทุกโอกาส ในการช่วยเหลือสังคม ตามโครงการ 'ส่งเสริมคนดี มูลนิธิพระราหู' ต่อไป" ดร.หิมาลัย กล่าว

'ดร.หิมาลัย' แชร์มุมมอง!! หลัง 'วุฒิสภา' ลงมติลับขวาง 'บิ๊กจ้าว' นั่ง 'ป.ป.ช.' เหตุใดจึงยกเกณฑ์เทียบตำแหน่ง 'ผบช.น.' ไม่เทียบเท่า 'อธิบดี' มาชี้วัด

จากกรณี วุฒิสภา ลงมติลับ มีมติ 88 ต่อ 80 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่เห็นชอบให้ 'บิ๊กจ้าว' พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีต กรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดย สว.ส่วนหนึ่ง มองว่า ตำแหน่ง 'ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล' ไม่เทียบเท่าได้กับตำแหน่ง 'อธิบดี' และคุณสมบัติต่างๆ ไม่เข้าเกณฑ์นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี/ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ได้ให้ความเห็นทางกฎหมาย ตอบโต้ สว.ส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่า ตำแหน่ง ผบช.น ไม่เทียบเท่าอธิบดี ระบุว่า...

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับกรณีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว  

โดยตามข่าวมีการกล่าวอ้างว่าที่ประชุมวุฒิสภาได้ถกเถียงปัญหาขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ได้รับการสรรหาเป็น ป.ป.ช.ของ พล.ต.ท.ธิติฯ เพราะ มาตรา 9 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ระบุว่า...

“ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าไม่น้อยกว่า 5 ปี” 

แต่ตำแหน่ง ผบช.น. นั้น สว.หลายคนเห็นว่าไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี 

ทั้งนี้ แม้จะอ้าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ให้ตำแหน่ง ผบช.น. สามารถเทียบเท่าอธิบดีได้นั้น แต่ สว.หลายคนเห็นว่า พ.ร.บ. และระเบียบ ก.ตร. ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติฯ ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ด้วยคะแนน 88 ต่อ 80 ไม่ออกเสียง 30 ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา 

ด้วยความเคารพต่อมติที่ประชุมของวุฒิสภา หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ปรากฏตามเนื้อหาข่าวข้างต้น โดยมีการยกประเด็นเรื่องการขาดคุณสมบัติของ พล.ต.ท.ธิติฯ ผบช.น. มาเป็นประเด็นในการพิจารณา โดยเห็นว่าตำแหน่ง ผบช.น. ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี นั้น กระผมด้วยความบริสุทธิ์ใจขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

*** 1. พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 

มาตรา 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ด้วย...

*** 2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี...”    

มาตรา 12 บัญญัติว่า “เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา 9 ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย...

- ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
- ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
- บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา...”

มาตรา 16 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด 

พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 

- มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ 'ส่วนราชการ' หมายความว่า หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ
- มาตรา 4 ในการพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี อย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้...

(1) เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายอื่น
(2) เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
(3) เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของส่วนราชการนั้น ซึ่งไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ

มาตรา 5 เพื่อประโยชน์ในการเทียบตำแหน่งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี สำหรับใช้กับข้าราชการในส่วนราชการของตน โดยการวางระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในมาตรา 4 รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการเทียบตำแหน่งข้าราชการในส่วนราชการของตนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนั้น ...”

*** 3. ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563    

*** 4. การพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี ให้เป็นตามหลักเกณฑ์ ดังนี้...

- เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายอื่น
- เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
- เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของส่วนราชการนั้น ซึ่งไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ โดยสามารถพิจารณาได้จากภารกิจ อำนาจหน้าที่ ลักษณะงานที่ปฏิบัติตามที่ปรากฎในกฎหมาย และได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามกฎหมายว่าด้วยการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ

เมื่อพิจารณา มาตรา 9 วรรคสอง (2) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา มี 2 กรณี คือ...

(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี  หรือ 
(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี 

ซึ่งในกรณีของข้อ 1. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ไม่มีประเด็นหรือข้อสงสัย 

แต่ในกรณีของข้อ 2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นั้นเห็นว่า เนื่องจากหน่วยงานทางราชการของประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน ซึ่งมีโครงสร้างและมีชื่อเรียกหัวหน้าส่วนราชการแตกต่างกันไป และไม่ได้มีชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการว่าอธิบดี และบางหน่วยงานมีลักษณะของโครงสร้างหน่วยงานที่ใหญ่โต มีหน่วยงานหรือส่วนราชการในสังกัด และกำลังพลภายใต้การบริหารงานและการบังคับบัญชาจำนวนมาก แต่ละหน่วยย่อยได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถบริหารงบประมาณได้เองโดยตรง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองทัพบก กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ ฯลฯ ซึ่งมีกำลังพลหลักแสนนาย 

ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า คือ ตำแหน่งใดบ้าง จึงต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ที่มีเจตนารมณ์ในการประกาศใช้คือ เป็นหลักเกณฑ์กลางในการเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการอื่นกับตำแหน่งอธิบดี เพื่อให้การปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ มีความสอดคล้องกัน ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 ที่ให้นิยามของคำว่า 'ส่วนราชการ' (หมายถึง หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน, ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ) กับมาตรา 4 (หลักเกณฑ์การพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี) และ มาตรา 5 (กำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี) 

โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก.ตร. ได้ออกระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 แล้ว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ทุกประการ โดยได้กำหนดบัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ซึ่งได้รับอนุมัติจาก ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อ 27 เม.ย.63 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อ 16 มี.ค.63 สรุปได้ว่า...

'ตำแหน่งระดับ' >> "ผู้บังคับการ, ผู้บัญชาการ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ซึ่งเมื่อระเบียบดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่งแล้ว (คณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.ฯ) บัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่อมใช้บังคับได้เป็นการทั่วไป เทียบได้กับหน่วยงานหรือส่วนราชการอื่นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว 

การที่ สว. เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระนั้น จึงไม่อาจเห็นพ้องด้วย 

ดังนั้น ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ย่อมเป็นผู้มีคุณสมบัติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2661 มาตรา 9 วรรคสอง (2) 

นอกจากนี้ ในประเด็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าว กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด โดยที่คณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าวประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมการสรรหาแต่ละท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่สำคัญของประเทศและมีตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน 

ดังนั้น หากมีประเด็นปัญหาข้อขัดข้องเรื่องการเทียบตำแหน่งอันเป็นประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาที่จะพิจารณาเทียบตำแหน่งจนได้ข้อยุติและเป็นที่สุด 

ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ออกมาใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2561 ส่วน พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ได้ออกบังคับใช้ปี พ.ศ.2562 ภายหลัง พ.ร.ป.ฯ ดังกล่าว ซึ่งหลักการพิจารณาออกกฎหมายแต่ละฉบับ จะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองตรวจทานเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เนื้อหาหรือข้อความขัดหรือแย้ง กับกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ก่อนหน้าแล้ว

เมื่อ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 มาตรา 3 ได้ให้นิยามของคำว่า 'ส่วนราชการ' หมายความว่า หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน, ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ จึงสอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรคสอง (2) ที่บัญญัตติว่า ...

"......หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี" แล้ว ... กระผมจึงเห็นว่า พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และ ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ครอบคลุมถึง องค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่งรวมถึง ป.ป.ช. ด้วยการที่ สว. พิจารณาว่า พ.ร.บ.ฯ และระเบียบ ตร. ดังกล่าวซึ่งเทียบตำแหน่ง 'ผู้บังคับการ' และ 'ผู้บัญชาการ' ให้เทียบเท่าอธิบดีนั้นไม่สามารถใช้บังคับเป็นการทั่วไปได้ 

กระผมเห็นว่าเป็นการตีความที่แคบจนเกินไป!! ... ทำให้ผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเหลือเพียงตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งจะต้องดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี และหมายความรวมถึงข้าราชการฝ่ายทหารที่เป็นผู้นำสูงสุดของหน่วยด้วย ซึ่งตามประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ถึง 5 ปี มีเพียงคนเดียว ทั้งตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ใช้คำว่า ..อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า... ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ไม่ได้ประสงค์ที่จะจำกัดแต่เฉพาะหัวหน้าหน่วยงานเท่านั้น 

ดังนั้น การพิจารณาตีความคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. จึงควรที่จะพิจารณาตีความอย่างกว้างเพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านความมั่นคง และด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและประเทศชาติต่อไป  

อนึ่ง การลงบทความของกระผมครั้งนี้ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นในเชิงกฎหมาย ไม่ได้พาดพิงหรือต้องการกระทำให้บุคคลใดได้รับความเสียหาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการแสดงออกในแง่มุมของกฎหมายที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ตลอดจนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขอบคุณครับ

‘ดร.หิมาลัย' เผยข่าวดี!! ‘พีระพันธุ์’ แก้ทุกข์ชาวแม่เมาะต่อเนื่อง ผ่านงบ 82 ลบ. ฟื้นสาธารณูปโภคในพื้นที่อพยพ 5 หมู่บ้าน สานต่อเยียวยา 63 ชาวบ้าน 72 ลบ.

‘ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ’ ย้ำชัด!! คณะทำงานกระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับรองนายกฯ ‘พีระพันธุ์’ เดินหน้าแก้ปัญหาให้ชาวแม่เมาะอย่างต่อเนื่อง เร่งรัดจ่ายเงิน 72 ล้านบาท ให้ชาวบ้าน 63 ราย สำเร็จไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 67 ที่ผ่านมา หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่เดือดร้อนผ่านสถานียุติธรรมรับเรื่องราวร้องทุกข์ของ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ล่าสุดชาวบ้านได้เฮอีกครั้ง หลังครม.อนุมัติงบกว่า 82 ล้าน แก้ไขปัญหาราษฎร 5 หมู่บ้าน โรงไฟฟ้าแม่เมาะลำปาง เพิ่มเติม 

จากผลการดำเนินการแก้ปัญหา ลงพื้นที่ ช่วยเหลือชาวบ้านในอำเภอแม่เมาะ ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับ ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ได้เป็นตัวแทน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบเช็คเงินสดร่วมกับท่านนายอำเภอแม่เมาะ พร้อมด้วยส่วนราชการ และผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้กับชาวบ้าน อำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง จำนวน 63 ราย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 72 ล้านบาท จาก กฟผ. 

โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ครม.มีมติให้ทาง กฟผ.แม่เมาะ จ่ายเงินให้กับชาวบ้าน รวม 63 ราย จำนวนเงิน 72,800,000 บาท กระทั่งระยะเวลาผ่านไปนานกว่า 5 ปี จนเมื่อเดือน ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางชาวบ้านแม่เมาะหลวง จึงได้มีการทำหนังสือร้องเรียนกับสถานียุติธรรมจังหวัดลำปาง ของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยผ่าน ดร.นงเยาว์ ปัจจามิตร (เดิม อาทิตยานนท์) อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เขต 3 โดยนำเรื่องดังกล่าวเสนอตามลำดับชั้นไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเร่งรัดช่วยเหลือชาวบ้าน จากนั้นเวลาผ่านไปเพียงแค่สองเดือนกว่า จึงได้มีหนังสือคำสั่งให้ กฟผ.จ่ายเงินให้กับชาวบ้านจำนวนดังกล่าว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ทางคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับดูแล ของนายพีระพันธุ์ ได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวแม่เมาะมาอย่างต่อเนื่อง และขับเคลื่อนจนกระทั่งชาวบ้านได้รับการเยียวยาเป็นผลสำเร็จ

และล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ชาวแม่เมาะได้รับข่าวดีอีกครั้ง เมื่อประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการผ่านกระทรวงพลังงาน ได้แก่ โครงก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน (เพิ่มเติม) จำนวน 7 รายการ ประกอบด้วยงานก่อสร้างโรงเรียนวัดหัวฝ่าย (เพิ่มเติม), การขยายเขตระบบไฟฟ้าเป็น 2 ข้างทาง, งานก่อสร้างฌาปนสถาน หมู่ที่ 7 สำหรับบ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านดง, งานปรับปรุงลานคอนกรีต โรงจอดรถ และสาธารณูปโภค ห้องน้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณตลาดกลาง และอื่น ๆ, งานก่อสร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งใหม่ (ทดแทนของเดิม) งานปรับปรุงภูมิทัศน์ งานจัดสร้างบ่อน้ำพุ และระบบไฟฟ้า, โรงจอดรถดับเพลิง 4 คัน พร้อมอาคารสำนักงาน (ทดแทนของเดิม) และ งานจัดหาปริมาณน้ำใช้เพิ่มเติม สำหรับพื้นที่รองรับการอพยพบ้านห้วยคิง

โดยใช้งบประมาณจำนวน 82.58 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติในหลักการไว้แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 (เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาราษฎร 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอ แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ร้องเรียนขออพยพ) จำนวน 2,970.50 ล้านบาท ประกอบด้วย... 

(1) ค่ารื้อย้าย/ค่าชดเชย อพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน จำนวน 2,138.00 ล้านบาท 
และ (2) ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่รองรับการอพยพราษฎร จำนวน 832.50 ล้านบาท 

โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะมีค่ารื้อย้าย/ค่าชดเชย เกิดขึ้นจริง จำนวน 1,719.04 ล้านบาท (ซึ่งครอบคลุมเพียงพอกับการจ่ายค่ารื้อย้าย/ค่าชดเชยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว) และมีงบประมาณคงเหลือ จำนวน 418.96 ล้านบาท

ด้าน ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีอีกหลายโครงการฯ ของ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางที่พร้อมดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่เพียงเท่านั้น นายพีระพันธุ์ ยังได้ให้ความสำคัญกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้หาแนวทางในการแก้ไขค่าไฟแพง เชื้อเพลิงแพง ได้มีการสั่งการรับเรื่องราว ตั้งสถานียุติธรรมเพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ของ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถยื่นหนังสือร้องทุกข์ ที่ได้รับผลกระทบในทุก ๆ ด้าน ตามตัวแทนของพรรคฯ ในแต่ละจังหวัดเพื่อเสนอต่อหน่วยงานรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ในแต่ละด้านต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top