Sunday, 30 June 2024
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

แนะทริกขึ้นรถไฟ!! ใช้ประตู 4 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทางเข้าหลักสู่ชานชาลารถไฟทางไกล สะดวกสุด

จำให้แม่น!!! ประตู 4 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทางเข้าหลักสู่ชานชาลารถไฟทางไกล หลังวันที่ 19 มกราคม 66!!! ทั้ง 52 ขบวน!!!

เพจ โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure  ได้โพสต์ข้อความว่า วันนี้มาฝากทริกของการเดินทางในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่เตรียมจะย้ายต้นทาง/ปลายทางรถไฟทางไกล สายเหนือ-อีสาน-ใต้ มาเริ่มต้นที่นี่ ทั้งหมด 52 ขบวน 

ซึ่งถ้าใครเดินทางมาทางรถยนต์ หรือรถ Taxi ปักหมุดมาให้ส่งที่ 'ประตู 4' ซึ่งเป็นทางเข้าหลักของรถไฟทางไกล ได้เลย

เมื่อเดินผ่านเข้าจากประตู 4  
- สามารถเดินตรงมาซื้อตั๋วโดยสาร ได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ซึ่งมีถึง 23 ช่อง แยกตามเส้นทาง และลักษณะของตั๋ว (จองตั๋วล่วงหน้า/จองเพื่อเดินทาง)
- เลี้ยวขวา ไปพื้นที่ศูนย์อาหาร (Food court) 
- เลี้ยวซ้ายพื้นที่นั่งพักคอย หน้าห้องขายตั๋ว

ค่าจอดรถภายใน 'สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์' แพงไหม? ชั่วโมงละ 20 บาท วันละ 250 บาท เดือนละ 2,000 บาท

(27 ม.ค.66) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

ค่าจอดรถ ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชั่วโมงละ 20 บาท วันละ 250 บาท เดือนละ 2,000 บาท แพงจริงมั้ย??? มาลองเทียบกัน

หลังจากที่มีข่าวการเปิดราคา ค่าจอดรถภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งล่าสุดผมเองก็เห็นป้ายที่ติดประกาศอยู่ในสถานี โดยแบ่งเป็น 3 เรทราคา คือ...

- รายชั่วโมง ชั่วโมงละ 20 บาท

- รายวัน วันละ 250 บาท

- รายเดือน เดือนละ 2,000 บาท (ต้องลงทะเบียน)

ทำให้มีกระแสดราม่าจากในหลายๆ สื่อ และหลายกลุ่ม มาแสดงความคิดเห็นว่าค่าจอดรถใน สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แพงเกินไป…บางคนลามไปถึงจอดรถรายวันเกือบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ

ผมเองก็สงสัยว่ามันแพงจริงมั้ย ผมเลยลองไปเปรียบเทียบกับค่าจอดรถ ของระบบ ขนส่งมวลชนอื่นๆ ว่าราคาเท่าไหร่กัน ตั้งแต่ สนามบิน, อาคารจอดแล้วจร ของ MRT และลานจอดรถของสถานีรถไฟหัวลําโพง

—————————

มาลองเทียบค่าจอดรถกันดู…

เริ่มต้นกันที่สนามบิน...

- สนามบินดอนเมือง 

1. อาคารจอดรถทั่วไป เริ่มต้นชั่วโมงละ 20 บาท รายวัน วันละ 250 บาท

2. บริการ valet Parking เริ่มต้น 4 ชั่วโมงแรก 150 บาท รายวัน วันละ 250 บาท

- สนามบินสุวรรณภูมิ

1. อาคารจอดรถทั่วไป เริ่มต้นชั่วโมงละ 25 บาท รายวัน วันละ 250 บาท

2. ลานจอดรถระยะไกล (ห่างจากอาคารผู้โดยสาร 2 กิโลเมตร) เริ่มต้นชั่วโมงละ 20 บาท รายวัน วันละ 140 บาท

อาคารจอดแล้วจร และลานจอดรถ MRT

- อาคารและลานจอดในโซนเมือง (ศูนย์วัฒนธรรม,ลาดพร้าว และลานจอดรถสถานีอื่นๆ) เริ่มต้นชั่วโมงละ 15 บาท (สำหรับผู้โดยสาร MRT และ 50 บาท (สำหรับบุคคลทั่วไป) รายเดือน เดือนละ 2,000 บาท

- อาคารนอกโซนเมือง (หลักสอง) เริ่มต้นชั่วโมงละ 10 บาท (สำหรับผู้โดยสาร MRT) และ 20 บาท (สำหรับบุคคลทั่วไป) รายเดือน เดือนละ 1,000 บาท

สำคัญที่สุด สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

- เริ่มต้นชั่วโมงละ 20 บาท 

- 10 ชั่วโมงขึ้นไป เหมาจ่ายรายวัน วันละ 300 บาท

—————————

ซึ่งถ้าเทียบแบบนี้ ผมว่าค่าจอดรถของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ราคาเหมาะสม 

ไม่ได้แพงเกินไปสำหรับคนเดินทางและเชื่อมต่อ และไม่ถูกเกินที่จะให้คนเอารถมาจอดทิ้งไว้จนทำให้เป็นภาระของสถานี (เหมือนกับมักกะสันในอดีต) 

แล้วอย่าลืมว่าปกติผู้โดยสารรถไฟไม่ได้เช้าไป-เย็นกลับ แบบการเดินทาง ทางเครื่องบิน (ผมก็เอารถไปจอดสนามบินบ่อย) ยกเว้นคนจะมาจอดเพื่อเดินทางต่อไปสนามบินดอนเมือง ซึ่งก็มีที่จอดสะดวกกว่าตัวสนามบิน (ลานจอดรถเต็มตั้งแต่ 7 โมงเช้า)

บทสรุปการเปลี่ยนแปลง 'สถานีกลางฯ' หลังผ่านไป 2 สัปดาห์ รถไฟตรงเวลา - ผู้โดยสารปรับตัว - เจ้าหน้าที่คุ้นเคย

(6 ก.พ. 66) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

สรุปการเปลี่ยนแปลง สถานีกลางฯ หลังผ่านไป 2 สัปดาห์ รถไฟตรงเวลา, ผู้โดยสารปรับตัว, เจ้าหน้าที่คุ้นเคย สู่ศักราชใหม่ของระบบราง 

เมื่อวานผมได้ไปสังเกตการณ์ การพัฒนาการของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หลังจากที่เปิดให้บริการมา 2 สัปดาห์ ผ่านดรามาต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการใหม่

เลยขอมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกันหน่อยครับ ขอแบ่งเป็นส่วน ๆ คือ...

- ผู้โดยสาร
ผมต้องชื่นชมผู้โดยสารที่ปรับตัว และทำความเข้าใจกับขั้นตอนในการใช้บริการใหม่ ซึ่งพอทุกคนเข้าใจ ทุกอย่างก็ราบรื่นยิ่งขึ้น

เริ่มตั้งแต่การเข้าแถว รอขึ้นชานชาลา ไปจนถึงการขึ้นรถ เพื่อเตรียมออกเดินทางภายใน 20 นาที

แต่ในหลาย ๆ ส่วนก็ยังต้องปรับปรุงอยู่บ้าง เช่น ป้ายสัญลักษณ์ และหน้าจอแสดงผลในระดับดิน ซึ่งทราบจากพี่ ๆ ที่อยู่ในการรถไฟว่า ตอนนี้กำลังออกแบบ และเตรียมติดตั้งอยู่

- เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย
ก็ต้องชื่นชมทีมงานทุกส่วนของการรถไฟที่ได้ปรับเปลี่ยน รวมถึงจัดเตรียมระเบียบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการให้บริการในสถานีกลาง

โดยเฉพาะทีมงานที่อยู่หน้างานทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่สถานี และทีมบริหารจัดการเดินรถ

จนทำให้ ระยะเวลาที่เลท ในวันแรกบางขบวนถึง 3 ชั่วโมง จนล่าสุด ก็ตรงเวลามา 2 วันติดต่อกันแล้ว ซึ่งก็หวังว่าจะรักษามาตรฐานนี้กันอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในการยกระดับการคมนาคมของประเทศไทย ด้วยการมาถึงของ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

เชื่อว่าถ้าเป็นชาว กทม. ร้อยทั้งร้อยต้องคุ้นเคยกับ “สถานีรถไฟดอนเมือง” แต่อย่างที่หลายคนทราบ ในวันนี้ สถานีรถไฟดอนเมือง(เดิม) ได้มีการหยุดใช้งานไปเรียบร้อย โดยเปลี่ยนไปใช้ สถานีรถไฟร่วมสายสีแดง (บริเวณตลาดดอนเมืองใหม่) ที่มีความสะดวกและทันสมัยมากขึ้น

ย้อนเวลากลับไป ด้วยการมาถึงของ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” หรือสถานีกลางบางซื่อ ส่งผลให้มีการปรับเส้นทางขบวนรถไฟทางไกล เหนือ ใต้ อีสาน และกลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว โดยให้มาใช้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แทน ในคราวเดียวกัน ขบวนรถไฟทางไกลสายเหนือและสายอีสาน ที่ออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และจะไม่หยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสารสถานีรายทาง ได้แก่ ที่ป้ายหยุดรถ กม.11, สถานีบางเขน, ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่, ที่หยุดรถการเคหะ กม.19

นอกจากนี้ บริเวณสถานีรถไฟดอนเมืองเก่า ก็ให้หยุดทำการลงไป โดยผู้โดยสาร ทั้งที่ประสงค์ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง หรือผู้โดยสารจากรถไฟทางไกล สามารถใช้สถานีร่วมกันได้ที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (บริเวณตลาดใหม่ดอนเมือง) ซึ่งมีความทันสมัย และสะดวกสบาย ทั้งนี้สถานีรถไฟดอนเมืองเปิดทำการมากว่า 125 ปี กระทั่งหยุดให้บริการ และปรับปรุงให้ใช้สถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายสีแดงแทน

 

สำรวจ Lounge ผู้โดยสารชั้น 1 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บริการดีๆ ที่น่าชื่นชม แต่เชื่อเถอะว่า 'ทำได้ดีกว่านี้' หาก...

(22 ก.ย.66) จากเพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'Lounge ผู้โดยสารชั้น 1 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เปิดแล้ว…มีบริการก็ดี แต่เชื่อเถอะว่า 'ทำได้ดีกว่านี้' ดูตัวอย่าง Lounge สถานี Amsterdam Central' ว่า...

วันนี้หลายๆ คนน่าจะเห็นโพสต์ การเปิดให้บริการ ห้องรับรอง (Lounge) สำหรับผู้โดยสารชั้น 1 โดยเปิดให้บริการอยู่บริเวณ ระหว่างชานชาลา 7 และ 8 ข้างห้องน้ำด้านเหนือของสถานี 

รายละเอียดโพสต์ ห้องรับรองผู้โดยสารชั้น 1 ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/100064440019733/posts/702223165269011/

วันนี้ ผมก็ได้ไปเยี่ยมชมห้องรับรองผู้โดยสารชั้น 1 มา ซึ่งก็ดีใจที่การรถไฟ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร

แต่…ผมคิดว่า การรถไฟฯ สามารถทำได้ดีกว่านี้ครับ

ผมเลยอยากจะเอาตัวอย่างของรับรองผู้โดยสารชั้น 1 (First Class) ของต่างประเทศ จาก สถานี Amsterdam Central มาให้เพื่อน ๆ ชม เพื่อมาเป็นตัวอย่าง และช่วยกันแสดงความคิดเห็นในการพัฒนากันครับ

ในพื้นที่อาคารสถานี Amsterdam Central มีพื้นที่รับรองผู้โดยสารชั้น 1 คือ NS International Lounge Regus Express 

ซึ่งอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของชานชาลา 1 ซึ่งเปิดให้ผู้โดยสารชั้น 1 ของหลายเส้นทาง และหลายผู้ให้บริการเข้าใช้ได้ รวมถึงผู้ถือบัตรสมาชิกของผู้ให้บริการ ได้แก่ ...

- 1st class international ticket (incl. Interrail 1st class)
- DB BahnBonus comfort card
- SNCF Grand Voyageur Le Club
- SNCF T card
- Eurostar Carte Blanche
- Österreich card
- SBB General-subscription
- Regus Business lounge membership

ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ไม่มีสิทธิ์ที่บอกมา ก็สามารถเข้าใช้บริการได้โดยจ่ายค่าใช้บริการเป็นรายชั่วโมง และรายวัน ...
- ชั่วโมงละ 6€ (ประมาณ 240 บาท)
- วันละ 15€ (ประมาณ 600 บาท)

ซึ่งรองรับผู้โดยสารที่รอต่อขบวนรถไฟ ได้อย่างสะดวก 

สิ่งอำนวยความสะดวก ภายใน Lounge
- โต๊ะ และพื้นที่ทำงาน พร้อมปลั๊กไฟ ทุกโต๊ะ
- มีโซฟา พร้อมกับโต๊ะส่วนตัว สำหรับบางคนที่ต้องการความสงบ หรือพักผ่อน
- WiFi ฟรี ที่เร็วพอสมควร
- มีน้ำดื่ม ชา กาแฟ ให้บริการฟรี สามารถหยิบได้เลย

ที่สำคัญที่สุดที่ผมมองว่าสำคัญ และคนที่เดินทางต้องการ ระหว่างการรอเดินทาง คือ 'บรรยากาศ' ที่ผ่อนคลาย ห้องไม่สว่างเกินไป เหมาะสำหรับการพักผ่อน และมีเจ้าหน้าที่ มาเรียกก่อนการเดินทาง ป้องกันการตกรถไฟ

กลับมามองที่ห้องรับรองผู้โดยสารชั้น 1 ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

ซึ่งก็ต้องบอกว่าเราพึ่งเปิดให้บริการมาได้ 2 วัน อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่พร้อม แต่ก็อยากให้ปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ ...

- จัดหาโต๊ะทำงาน ที่สามารถให้เปิดคอมทำงานได้อย่างสะดวก พร้อม WiFi ที่เร็วสำหรับคนนั่งทำงานก่อนเดินทาง

- ปรับบรรยากาศ ทั้งแสง และสีใหม่ทั้งหมด ให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น คล้ายกับใน Starbuck และควรเปิดม่าน ให้มองเห็นบรรยากาศภายนอกห้องด้วย

- แยกพื้นที่ Zone ครอบครัว กับผู้ต้องการความสงบออกจากกัน

- จัดหาเครื่องดื่ม หรืออย่างน้อยก็มีตู้จำหน่ายน้ำ และอาหารอัตโนมัติ มาตั้งหน้าห้องก็ได้

- มีป้ายแสดงเวลาออกเดินทางของรถไฟทั้งสถานี เพื่อให้ผู้โดยสารไม่ร้อนใจและระแวงเวลารอรถไฟ

ซึ่งสิ่งที่ผมบอกมา มั่นใจว่ามีสถาปนิก และมันฑนากร สามารถออกแบบได้เหมาะสมไม่น้อยไปกว่า Amsterdam Central แน่นอน 

โดยถ้าทำทั้งหมด ผมอยากให้การรถไฟเปิดให้จ่ายค่าใช้บริการสำหรับผู้โดยสารชั้นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับเรา อาจจะ ชั่วโมงละ 100 บาท ผมว่าก็มีคนใช้บริการครับ

ซึ่งทั้งหมดนี้อยากจะติเพื่อก่อ เพื่อให้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นนะครับ และฝากไปถึงผู้บริหารการรถไฟ ช่วยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้เพื่อยกระดับประสบการณ์ 

การใช้บริการของการรถไฟ ไปอีกระดับ เทียบเท่าการเดินทางด้วยเครื่องบิน Business Class จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้อีกกลุ่มแน่นอนครับ

‘สุรพงษ์’ สานต่อรัฐฯ จัดรถไฟส่ง ‘แรงงานไทยจากอิสราเอล’ กลับบ้านฟรี พร้อมเปิด ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ เป็นศูนย์ประสานงาน-ช่วยเหลือ

(19 ต.ค.66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สนับสนุนภารกิจต้อนรับแรงงานไทย 136 คน ที่เดินทางจากอิสราเอลกลับถึงไทย โดยสายการบิน Israel Airlines เที่ยวบินที่ LY 083 พร้อมจัดรถไฟรับส่งแรงงานไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา และเปิดพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ของการรถไฟฯ เป็นศูนย์ประสานงาน สำหรับหน่วยงานช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล ตามนโยบายนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยสงครามจากอิสราเอลโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ในส่วนกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ได้ร่วมกันสนับสนุนภารกิจรัฐบาล โดยจัดรถไฟให้กับ แรงงานไทยและครอบครัวที่กลับจากอิสราเอลสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างสะดวก ปลอดภัยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้งได้เปิดพื้นที่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บริเวณประตู 2 จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานสำหรับหน่วยงานช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอล เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานและเครือญาติ ใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นศูนย์กลางในการติดต่อ พบปะระหว่างกันได้อย่างสะดวก ตลอดจนใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับทุกระบบขนส่งสาธารณะ ให้สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างสวัสดิภาพ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังร่วมส่งมอบความห่วงใย โดยให้มีการ จัดซุ้มอาหารว่าง และน้ำดื่ม ดูแลแรงงานไทยและครอบครัวที่มารอรับ และเตรียมความพร้อมสิ่งอำนวย ความสะดวกต่างๆ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ ช่วยกันดูแลอำนวยความสะดวกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้บริการได้อย่างเพียงพอ โดยไม่กระทบต่อการให้บริการเดินทางแก่ผู้โดยสารประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งกำชับ

นายสุรพงษ์ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ได้ร่วมสนับสนุนภารกิจรัฐบาลในการเปิดพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และจัดสรรขบวนรถ เพื่อดูแลคนไทยก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ สำหรับเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเวลา 477 วัน การเปิดขบวนรถไฟโดยสารรับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลับสู่ภูมิลำเนาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์พักคอย ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสรรค์สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกเหนือจากภารกิจหลักในการอำนวยความสะดวกการขนส่งเดินทาง เพื่อยกระดับความเป็นอยู่พี่น้องคนไทยทุกคนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ขึ้นแท่น ‘สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’ อนาคตจ่อเทียบชั้น ‘สถานีไทเป’ เล็งยกระดับบางซื่อสู่ ‘ชินจูกุเมืองไทย’

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 66 นายชัชวาลย์ วัฒนะโชติ หรือ ‘อ.คิม’ นักลงทุนและผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของบริษัท W ASSET (Thailand) และเป็นเจ้าของช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ รวมถึงแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่มีผู้ติดตามรวม 500,000 คน ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอผ่านทางช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ ในหัวข้อ ‘เทียบสถานีกลางไทยเป! สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทำให้แถวนี้กลายเป็น ชินจูกุเมืองไทย?’ โดยระบุว่า…

‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ซึ่งในอดีตมีชื่อว่า ‘สถานีกลางบางซื่อ’ นั่นเอง หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบ ว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กลายเป็น ‘สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 136,000 คน เรียกได้ว่า เป็นชุมทางสายรถไฟขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยรถไฟฟ้าและรถไฟจากทางหัวเมืองทางเหนือ ที่เมื่อก่อนหลายๆ คนอาจจะมีภาพจำ คือ ‘รถไฟหัวลำโพง’ นั่นเอง

แต่เนื่องจากที่สถานีหัวลำโพงเดิมนั้น มีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงได้มีการโยกย้ายมายังฝั่งของบางซื่อแทน ทำให้การเดินทางต่างๆ นั้นเปลี่ยนไปจากในอดีตพอสมควร โดยสถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นี้ จะมีรถไฟฟ้าเชื่อมเข้ามาหลายสาย เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, สายสีเขียว, สายสีแดง, สายสีม่วง และสายสีแดงอ่อน ซึ่งหมายความว่า หากผู้คนที่อยู่ต่างจังหวัดเดินทางผ่านทางรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟทางคู่ต่างๆ ลงมาจากทางเหนือ ก็จะมาเชื่อมต่อการเดินทางที่ชุมทางสายรถไฟตรงนี้ จากนั้นจึงเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าเพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองและเขตธุรกิจได้ทันที

และด้วยพื้นที่ที่มีค่อนข้างมหาศาล รวมถึงอยู่ใกล้กับขั้วต่อแหล่งการเดินทางเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าสายต่างๆ มากมายหลากหลายสาย จะเดินทางเชื่อมต่อไปยังสนามบินก็ง่ายดาย จึงทำให้เกิดโปรเจกต์ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ขึ้นมา ที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตรงนี้นั่นเอง

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหากดูจากตำแหน่งจริงๆ นั้น จะเห็นว่า ตัวสถานีกลางบางซื่อนั้น มีขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่มาก และกินพื้นที่ไปหลายสถานีเลยทีเดียว

และด้วยเทรนด์รถไฟในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่นั้นออกมาแบบมาให้ใช้งานสะดวก หลากหลาย ต้องมีการเชื่อมต่อได้หลายการเดินทาง เชื่อมต่อกับสนามบินให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสู่ตัวเมืองได้อย่างง่ายดาย และรองรับนักท่องเที่ยว นักเดินทางได้ในปริมาณมหาศาล หรือแม้แต่ประชาชนที่เดินทางไปทำงาน ก็จะเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ รถไฟและสนามบินเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้นั่นเอง ในปัจจุบันสนามบินดอนเมืองนั้น ไม่ได้ถูกเชื่อมต่อกับรถไฟที่ทันสมัย เมื่อลงเครื่องมาจึงต้องหารถแท็กซี่ หรือรถโดยสารอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดตามมาเป็นทอดๆ อีกด้วย

หากพูดถึงเรื่องขนาดแล้ว สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นับเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากพูดถึงในเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการก็คงต้องบอกว่ายังไม่ได้เป็นอันดับ 1 ขนาดนั้น เพราะเมื่อเทียบกัน จริงๆ แล้ว ‘สถานีรถไฟไทเป’ ที่เป็นสถานีรถไฟใต้ดินและสถานีรถไฟหลักในเมืองหลวงไทเป ของไต้หวัน ซึ่งมีผู้คนมาใช้บริการเฉลี่ยแล้ว 600,000 คนต่อวัน หรือเมื่อเทียบแล้ว คือ มากกว่าตัวของสถานีกลางบางซื่อถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

หากพูดถึงเรื่องของทำเลนั้น ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือ สามารถเข้าถึงสนามบินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีรถไฟฟ้าหลากหลายสายมาบรรจบในบริเวณพื้นที่รอบๆ สถานีเหมือนกัน ทำให้เดินทางเข้าสู่เมืองสะดวก เนื่องจากสถานีรถไฟไทเปนั้นตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นเหมือนจุดเซ็นเตอร์เพื่อเชื่อมไปยังสถานที่อื่นๆ ต่อได้ อีกทั้งยังมีจุดแข็งที่โดดเด่น คือ มี ‘ห้างสรรพสินค้า’ อยู่ในสถานีรถไฟถึง 5 ห้าง ทำให้ผู้คนที่มาใช้บริการ นอกจากจะมาที่นี่เพื่อเดินทางแล้ว ยังเดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอย มาเพื่อชอปปิง มาเดินเที่ยว หรือใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นี้ได้มากขึ้นจริงๆ

เพราะในส่วนของสนามบินหรือสถานีรถไฟฟ้านักท่องเที่ยว นักเดินทางแต่ละคนก็ล้วนแต่โฉบมาและโฉบไป ลงเครื่องบินเสร็จก็ขึ้นรถบัส ขึ้นรถไฟออกเดินทางต่อ ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ตรงนั้นมากนัก แต่เมื่อมีห้างสรรพสินค้า ก็จะสามารถตรึงผู้คนให้อยู่ที่นี่ได้นานมากขึ้นนั่นเอง จึงทำให้ภายในสถานีรถไฟไทเปนั้น ถือเป็น ‘ศูนย์รวมขนส่งมวลชนทุกประเภท’ ตั้งแต่ MRT 2 สาย, รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวันเถา-ยฺเหวียน 2 สาย และยังมีรถไฟทั้งแบบธรรมดาและรถไฟไฮบริด รวมถึงมีสถานีรถโดยสารประจำทาง (Bus station) อีกด้วย เรียกว่า มีครบทุกอย่างในสถานีเดียว สมกับเป็นสถานีกลางจริงๆ

หากย้อนกลับไป สถานีรถไฟไทเปแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1891 เมื่อเทียบกับประเทศไทยบ้านเรา คือ ในช่วงก่อนหน้าที่จะสร้าง ‘สถานีรถไฟหัวลําโพง’ เพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น ต่อมา ไต้หวันก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ประชากรชาวไต้หวันก็เติบโตขึ้นมาปรับปรุง พัฒนาประเทศมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 1980 GDP ของไต้หวันนั้น เติบโตจนถึงขีดสุด ผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาใช้บริการสถานีรถไฟไทเปแห่งนี้หนาแน่นขึ้นอย่างมาก

จนทำให้ในปี 1985 ทางรัฐบาลไต้หวันตัดสินใจรื้อสถานีรถไฟเก่า และสร้างสถานีรถไฟใหม่ตรงบริเวณเดิม แต่จัดวางโครงสร้างทั้งหมดขึ้นมาใหม่ โดยนำเอาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงรางรถไฟไปไว้ในใต้ดิน ทำให้ระบบใหม่นี้ สามารถเชื่อมโยงเมืองอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ในไต้หวัน ดำเนินกิจการไปอย่างราบรื่น และเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ เพราะว่าระบบขนส่งสาธารณะ การเดินรถไฟของเขานั้นดีมาก ทำให้การออกแบบผังเมืองถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ยิ่งผลักดันให้ไต้หวันเจริญมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ซึ่งตรงจุดนี้ต่างจากเมืองไทยบ้านเรา เนื่องจากผู้คนในไทยนั้นยังคงชื่นชอบการขับรถยนต์อยู่ จึงทำให้โครงสร้างคมนาคมนั้น อยู่ที่ตัวถนนหนทางนั่นเอง ส่งผลให้เวลาสร้างตึก อาคาร สำนักงานต่างๆ ทุกที่จึงจำเป็นต้องมีที่จอดรถไว้เพื่อรองรับ ในขณะที่ในไต้หวัน ไม่ได้มีความจำเป็นต้องสร้างพื้นที่จอดรถ ทำให้สามารถนำเอาพื้นที่ส่วนนั้นมาทำเป็นสถานที่เอาไว้ปล่อยเช่าได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ไต้หวันมีสัดส่วนที่จอดรถค่อนข้างน้อยกว่าเมืองไทยนั่นเอง

ทุกอย่างเหมือนเป็น ‘ผลกระทบแบบโดมิโน่’ (Domino Effect) เพราะการที่มีพื้นที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถรองรับผู้คนได้มากยิ่งขึ้น คนก็หันมานั่งรถไฟกันมากขึ้น ธุรกิจกิจการโดยรอบสถานีก็เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น เป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยว จนช่วยสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศอีกด้วย เรียกว่าเป็นเอฟเฟกต์ที่ดีด้วยกันทั้งระบบ และนอกเหนือจากการวางโครงข่ายการเดินทางที่ดีแล้ว ยังทำให้เกิดความเป็นเมือง สร้างแหล่งท่องเที่ยวในตัวของมันเองอีกด้วย

ซึ่งไอเดียหรือโมเดลนี้นั้น ก็มีความคล้ายคลึงกับทางประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เนื่องจากสถานีรถไฟของญี่ปุ่นนั้น สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วยตัวของมันเอง โดยสถานีที่โดดเด่นที่สุด คือ ‘สถานีรถไฟชินจูกุ’ ซึ่งถือเป็นสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้บริการสูงสุดอยู่ที่ 3.59 ล้านคนต่อวัน ทิ้งอันดับนำโด่งห่างจากทั้งสถานีรถไฟไทเปของไต้หวัน และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ของไทยเราแบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว

ความพิเศษของสถานีรถไฟชินจูกุนี้นั้น นอกจากจะมีขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ยังเต็มด้วยสำนักงาน หรือก็คือแหล่งของคนวัยทำงาน ทำให้ในช่วงเช้าจะมีผู้คนวัยทำงานอยู่ในบริเวณนี้กันอย่างคับคั่ง แต่ในช่วงกลางคืนก็จะกลายเป็นแหล่งชอปปิงที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าอีกมากมาย หลากหลายที่ให้นักท่องเที่ยวได้เดินเลือกจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ สถานีรถไฟชินจูกุ ยังขึ้นชื่อในเรื่องความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวสถานีแห่งนี้มีทางเข้า-ออกมากถึง 200 ทางเลยทีเดียว

ทำให้หลายๆ คนมองว่า หากโปรเจกต์ ‘เมืองอัจฉริยะ’ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เกิดขึ้นจริงๆ พื้นที่นี้อาจจะกลายเป็น ‘ชินจูกุเมืองไทย’ ก็เป็นได้ เพราะว่าบริเวณโดยรอบก็มีคอมมูนิตี้ สำนักงาน แหล่งทำงาน แหล่งชอปปิง อีกทั้งการเดินทางก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะมีชุมทางสายรถไฟเชื่อมต่อไปยังสนามบินต่างๆ มีรถไฟฟ้าหลายสายเชื่อมการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจมากมายอีกด้วย และที่สำคัญ คือ มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ไม่แพ้ใคร เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ถึงแม้โครงสร้างของไทยจะแตกต่างจากโครงสร้างของประเทศอื่น แต่ว่าประชากรของไทยนั้นก็มีมากกว่าเช่นกัน โดยไทยมีประชากรมากกว่าไต้หวันถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้น หากวางระบบให้ดี สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์อาจมีผู้ใช้บริการสะพัดมากกว่า 600,000 คน อย่างสถานีรถไฟไทเปก็เป็นได้…

นอกจากนี้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ยังมีจุดแข็งอีกอย่าง คือ ไม่เพียงแค่เชื่อมกับฝั่งของกรุงเทพมหานครอย่างเดียว แต่ยังเป็นการจุดศูนย์รวมของ ‘รถไฟความเร็วสูง’ ที่เชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศจีน และยังเชื่อมการเดินทางกับอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม, สปป.ลาว และเมียนมา จนสุดท้ายมาบรรจบจุดสิ้นสุดที่กรุงเทพมหานครนั่นเอง จากนั้นจึงรวมสายการเดินทางเชื่อมลงไปสู่ภาคใต้ ซึ่งมีทั้งประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเส้นทางการเดินรถนี้ สามารถเติบโตต่อไปได้อีกมากเลยทีเดียว

และเรื่องของการเช่าพื้นที่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น ก็ได้มีธุรกิจมากมายหลายเจ้า เช่น ทางเครือซีพีเอ็น หรือ ‘เครือเซ็นทรัล’ รวมถึงคิงเพาเวอร์ และแพลน บี มีเดีย เข้ามาขอยื่นซองประมูลบริหารพื้นที่เช่นเดียวกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ นั้น จะสามารถเทียบชั้น ‘สถานีรถไฟไทเป’ หรือจะกลายเป็น ‘ชินจูกุเมืองไทย’ ได้หรือไม่

‘รฟท.’ เปิดเส้นทางเดินรถไฟ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์– เวียงจันทน์’ เพื่อ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ-ส่งเสริมการท่องเที่ยว-ยกระดับโลจิสติกส์’

(8 มิ.ย.67) นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5-8 มิถุนายน 2567 ตนได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยเดินทางไปร่วมประชุมกับ Mr.DaochindaSIHARATH Managing Director of LAO NATIONAL RAILWAYS (รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมนี้

ซึ่งจะเป็นการขยายความร่วมมือในการเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน และขนส่งสินค้าของทั้งสองประเทศ ตลอดจนยกระดับระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเดินทางไปร่วมประชุมฯ ครั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เป็นไปตามนโยบายของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ มีการเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกด้าน ๆ ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ในการหารือระหว่างการรถไฟฯ กับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวได้มุ่งเน้นประเด็นหารือใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.แผนการเปิดเดินรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี –หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รวมถึง แผนการทดลองเดินรถเสมือนจริง ซึ่งกำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 13 -14 กรกฎาคม 2567

2.แผนพัฒนาตลาดด้านการท่องเที่ยว 

3.แผนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 

4. การเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าระหว่าง ไทย – ลาว- จีน 

โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน/ผ่านแดนระหว่างประเทศ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้ความรู้ในการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวในด้านปฏิบัติการเดินรถมาโดยตลอด ทั้งด้านพนักงานขับรถ พนักงานสถานี และพนักงานขายตั๋ว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้ร่วมมือกันทำการทดลองและทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี-สถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการเดินรถใดๆ

นายเอกรัช กล่าวว่า การเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่สามารถเปิดเดินรถถึงสถานีท่านาแล้ง (สปป. ลาว) และเมื่อสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะก่อให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวอย่างมหาศาล

โดยสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่น ซึ่งเป็นการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของทั้งสองประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และ โลจิสติกส์ของภูมิภาคอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top