Tuesday, 2 July 2024
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

16 มกราคม พ.ศ. 2447 ‘กระทรวงเกษตราธิการ’ ได้ก่อตั้ง ‘โรงเรียนช่างไหม’ จุดกำเนิด 'มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์' ในยุคปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ แรกเริ่มเป็น ‘โรงเรียนช่างไหม’ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2447 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม องค์อธิบดีกรมช่างไหม ในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้น ณ ท้องที่ตำบล ทุ่งศาลาแดง กรุงเทพมหานคร ในบริเวณเดียวกันกับสวนหม่อนและสถานีทดลองเลี้ยงไหม 

โดยจัดการศึกษาหลักสูตร 2 ปี สอนเกี่ยวกับวิชาการ เลี้ยงไหมโดยเฉพาะ ต่อมาใน พ.ศ. 2449 ได้ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี โดยเพิ่มวิชาการเพาะปลูกพืชอื่นๆ เข้าในหลักสูตรตลอดจนได้เริ่มสอนวิชาสัตวแพทย์ด้วยและได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูกต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเพาะปลูก 

โดยในปี พ.ศ. 2451 กระทรวงเกษตราธิการ ได้รวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนแผนที่ โรงเรียนกรมคลอง และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกัน เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ และย้ายสถานที่ตั้งมารวมกัน ณ พระราชวังสระปทุม พร้อมกับได้ให้เรียบเรียงหลักสูตรใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาการเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย

โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452 และในปี พ.ศ. 2456 รัฐบาลได้ยกโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการไปรวมเข้ากับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ด้วยเหตุที่วัตถุประสงค์ของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการตรงกับพระราชดำริในการจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนซึ่งได้ทรงจัดตั้งขึ้นในกระทรวงธรรมการ งานศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์จึงมาสังกัดกระทรวงธรรมการ

ต่อมาได้รับการก่อตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2460 ในนามโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม และได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถัดจากนั้นมา รัฐบาลได้ปรับปรุงและรวมกิจการของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เกษตรกลาง บางเขน กับโรงเรียนวนศาสตร์ จังหวัดแพร่ และสถาปนาเป็น ‘มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ ในปี พ.ศ. 2486 

ซึ่งในระยะแรกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดสอนเฉพาะด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ต่อมาได้ขยายสาขาวิชาครอบคลุมทั้งเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บริหารธุรกิจ และงานบริการ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

24 มีนาคม พ.ศ. 2565 ‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ พระราชทานพระโอวาทแก่บัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์ “ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณในทางที่ดีที่ชอบ”

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน ทรงเปิดอาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา ซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงได้รับการยกย่องเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา รวมถึงในโอกาสการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์ครบรอบ 50 ปี โดยได้รับพระราชทานนาม จากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมกับพระราชทานพระอนุญาต ให้เชิญอักษรพระนาม จภ. ประดับที่อาคาร โดยเป็นอาคารคู่ สูง 6 ชั้น และ 12 ชั้น ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561

ภายในมีการออกแบบ ให้เป็นอาคารต้นแบบประหยัดพลังงาน ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน รองรับงานปฏิบัติการค้นคว้าวิจัย และการจัดประชุมสัมมนา ตลอดจนการดำเนินงานอื่นๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ ในการส่งเสริมการผลิตบัณฑิต ที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมในการทำงาน และสร้างสรรค์คุณค่าให้เกิดประโยชน์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ และการจัดการเทคโนโลยี ที่รวบรวมผลงาน ด้านวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่น ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ แก่บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมชุมชนและสังคม ให้นำความรู้ไปเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทางการเกษตร อาหาร พลังงาน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป

จากนั้น เวลา 13.37 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จแทนพระองค์ ไปยังอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 4 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่น เข้ารับพระราชทานปริญญา ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 1 คน มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์, คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา, คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา, คณะพาณิชยนาวี-นานาชาติ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวม 1,714 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระโอวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "ในวันนี้ ใคร่จะกล่าวเพิ่มเติม ถึงคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง อีกประการหนึ่ง คือความกตัญญู ความกตัญญูนั้น หมายถึง ความตระหนักรู้ถึงคุณความดี ของบุคคลต่าง ๆ และสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น ว่าบิดามารดาและผู้ปกครอง ซึ่งให้ชีวิตและเลี้ยงดูมา ครูบาอาจารย์ ซึ่งถ่ายทอดสรรพวิชา และอบรม บ่มนิสัย สังคมและชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ที่อาศัย และประกอบอาชีพการงาน ผู้มีความกตัญญูรู้คุณ ย่อมปรารถนาที่จะตอบแทนคุณ ด้วยการประพฤติตน ปฏิบัติงานแต่ในทางที่ดีที่ชอบ ก่อให้เกิดผลดี ที่พึงประสงค์ คือความเจริญมั่นคง ทั้งในชีวิตและกิจการงาน พร้อมทุกส่วน จึงขอให้บัณฑิตทุกคน พิจารณาคุณค่าของความกตัญญู ให้ทราบชัด แล้วตั้งใจปลูกฝัง สร้างเสริมคุณธรรมข้อนี้ให้งอกงาม"

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘สระสุวรรณชาด’ ม.เกษตรศาสตร์ โครงการช่วยบำบัด-ฟื้นฟู ‘สุนัข’ ให้พ้นจากอาการเจ็บป่วย

‘สระสุวรรณชาด’ โครงการจากทุนพระราชทานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อรักษาสุนัขป่วย

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทรงพา ‘คุณทองแดง’ สุนัขทรงเลี้ยง มาร่วมในพิธีด้วย

ทั้งนี้ ‘สระสุวรรณชาด’ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณในล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเป็น สระว่ายน้ำสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัด ให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และโรคระบบประสาท จำนวน 2 สระ ซึ่งพระองค์พระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง จำนวน 2,131,351 บาท พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า ‘สระสุวรรณชาด’ ตามชื่อของคุณทองแดงด้วย

โดยสระว่ายน้ำสุวรรณชาดเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานคำแนะนำในการออกแบบตามหลักวิชาการ และได้ใช้สระว่ายน้ำของสุนัขทรงเลี้ยงมาเป็นต้นแบบ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จราวปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 โดยแบ่งโครงสร้างเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนสระว่ายน้ำ ขนาด 15.35 เมตร X 3.80 เมตร มีความลึก 1.50 เมตร สำหรับสุนัขทั่วไปที่ต้องการออกกำลังกาย

และส่วนสระกายภาพบำบัด ขนาด 2.35 เมตร X 3.8 เมตร ลึก 1.50 เมตร ส่วนนี้จะประกอบไปด้วยหัวพ่นฟองอากาศจำนวน 4 หัว เพื่อให้เกิดการนวดตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและกระตุ้นระบบประสาทที่มีปัญหา โดยมีรอกที่ใช้ในการพยุงตัวสัตว์ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนนี้สำหรับสุนัขที่เป็นโรคข้อสะโพกหลวม โรคกระดูก หรือสุนัขที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

ทั้งนี้ การบำบัดและฟื้นฟูสัตว์ที่สระว่ายน้ำแห่งนี้จะมีสัตวแพทย์คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพิจารณาอาการเจ็บป่วยของแต่ละตัวว่าเหมาะสมที่จะรักษาด้วยวิธีธาราบำบัดนี้หรือไม่

‘ดร.ธรณ์’ เผยภาพ ‘นักท่องเที่ยวเหยียบถูกปะการัง’ ชี้!! ‘พวกเธอ’ กำลังอ่อนแอ-ฟอกขาว ควรช่วยกันระวัง

(4 พ.ค.67) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า ทราบดีว่าไม่มีใครอยากเหยียบปะการัง แต่คงต้องฝากช่วยดูแลกันให้มาก ตอนนี้พวกเธออ่อนแอสุดๆ ลำพังแค่ฟอกขาวก็แย่มากแล้วครับ

คงต้องฝากกรมทะเลพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว มิฉะนั้น ผลกระทบจากการท่องเที่ยวในช่วงปะการังฟอกขาว อาจทำให้เราต้องปิดพื้นที่ จะส่งผลต่อทุกคน

ผมถ่ายภาพนี้ด้วยตัวเอง เป็นภาพจากเกาะกูด ปะการังแถวนั้นกำลังฟอกขาวเยอะเลย

ยังรวมถึงทุกแห่งในทะเลไทยที่ปะการังฟอกขาวไปทั่ว ที่ไหนมีคนไปเที่ยว รบกวนระมัดระวังให้ถึงที่สุด

เหยียบ/โดนปะการัง ทิ้งสมอ ทิ้งขยะ น้ำเสีย คราบน้ำมัน กินปลานกแก้ว ฉลาม ฯลฯ พวกนี้ทำร้ายทะเลยามเธออ่อนแอทั้งนั้น

ทุกคนช่วยทะเลได้เสมอ ช่วยๆ กันนะครับ

‘อ.อ๊อด’ โพสต์เฟซประกาศ ขอยุติการตรวจสอบ ‘ข้าว 10 ปี’ ชี้!! มีผู้ใหญ่เตือน ไม่อยากให้ลุกลาม เป็นประเด็นทางการเมือง

(19 พ.ค.67) เฟซบุ๊ก ‘Weerachai Phutdhawong’ หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ถึงกรณีข้าว 10 ปี โดยระบุข้อความว่า …

สวัสดีครับ อาจารย์อ๊อด เองครับ สืบเนื่องจากกรณีข้าว 1 ทศวรรษที่เป็นประเด็น ทางสังคมและตอนนี้เริ่มลุกลามเป็นประเด็นการเมือง

ห้องปฏิบัติการของทีมงานอาจารย์อ๊อด ได้รับคำแนะนำจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายฝ่าย รวมถึงทีมงานเองก็ไม่อยากให้เกิดประเด็นทางการเมืองที่ลุกลามไปมากกว่านี้ จึงขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า เราได้ยุติการตรวจสอบข้าว ในทุกกรณีแล้ว

ในส่วนของผลการตรวจสอบจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางแห่งประเทศไทย ที่มีนักข่าว อีกช่องนำไปมอบให้นั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับตัวอย่างและผลการทดสอบของทีมงานอาจารย์อ๊อด รวมถึง ผลแล็บที่กำลังจะแถลงข่าวโดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในวันพรุ่งนี้ด้วย

ทีมงานอาจารย์อ๊อดขอกราบเรียนว่าทุกอย่างที่ดำเนินการมา โดยตลอดนั้นก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และไม่อยากให้เป็นประเด็นการเมืองต่อเนื่อง ในส่วนของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้ง 2 หน่วยข้างต้น ได้ออกมา Take Action แล้วก็เป็นเรื่องที่ดี หากข้าว 1 ทศวรรษนี้ สามารถสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม ทีมงานอาจารย์อ๊อดก็ขอแสดงความยินดีมาล่วงหน้า

ด้วยจิตคารวะ

อาจารย์อ๊อด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top