Thursday, 4 July 2024
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ ผู้ทรงพระราชกรณียกิจสำคัญ 8 ด้านเพื่อแผ่นดินสยาม

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ ถือเป็นพิธีสำคัญสำหรับประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เหตุการณ์ครั้งสำคัญในอดีตถูกบันทึกลงในสื่อหลายประเภทให้คนรุ่นหลังใช้ศึกษา ในที่นี้ยกตัวอย่างด้วยการย้อนกลับไปที่ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 7

โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2469) ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลู

ซึ่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์ประมุขในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศโดยสมบูรณ์ ทุกกระบวนการในพระราชพิธีมีความหมาย และแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันงดงามของชาติไทย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลำดับการพระราชพิธี ตั้งแต่ขั้นการเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย

ช่วงเวลา 9 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ

- การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
- การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์
- การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก
- การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก
- พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร
- การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ
- การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี
- การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม

เทียบนัย 'ร่างรัฐธรรมนูญ 2474' โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ถูกปัดตก มาตรฐานใกล้ รธน.ฉบับแรกหลายชาติยุโรป แต่กลับถูกบอก 'ไม่ประชาธิปไตย'

(24 มี.ค.67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์บทความในหัวข้อ 'ความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สองที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ร่างขึ้น' (ตอนที่หนึ่ง) ความว่า...

#ร่างรัฐธรรมนูญรัชกาลที่7

หลังจากมีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศและพระยาศรีวิศาลวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศยกร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญขึ้นอีกฉบับหนึ่ง

ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 โดยเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า 'An Outline of Changes in the Form of Government' (เค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง)

ในเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน

โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้คัดสรรและแต่งตั้งบุคคลที่พระองค์ทรงเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์หรือมีตำแหน่งขุนนางเสนาบดีเท่านั้น

จากการที่นายกรัฐมนตรีมาจากการคัดสรรและแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรีจึงรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์

แม้ว่าเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ในการเลือกบุคคลเป็นคณะรัฐมนตรี

แต่เค้าโครงฯ นี้เห็นว่า แต่เดิมการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ดังนั้น การจะผ่องถ่ายอำนาจทั้งหมดโดยทันทีให้แก่นายกรัฐมนตรี จึงอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินไป

ดังนั้น ในเบื้องต้น เมื่อนายกรัฐมนตรีเลือกบุคคลเป็นคณะรัฐมนตรีแล้ว ควรที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัยยืนยันเห็นชอบด้วย

นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีวาระที่กำหนดไว้ตายตัว โดยให้เป็นไปตามวาระของสภานิติบัญญัติ แต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะลาออกก่อนครบวาระก็ได้ โดยทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์ แต่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้กลับไปดำรงตำแหน่งอีกก็ได้

ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งก็ได้ และเมื่อไรก็ตามที่นายกรัฐมนตรีลาออกเองหรือถูกขอให้ออกจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย

นายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและเป็นผู้เดียวที่จะเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างพระมหากษัตริย์และคณะรัฐมนตรี

ในความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ และเค้าโครงฯ ได้กำหนดว่า สภานิติบัญญัติจะใช้อำนาจของสภาฯ ในการลงมติไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้

ถ้ามีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ฉบับแรกของไทย

“เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศในยุโรปที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ”

เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศต่างๆ ในยุโรป จะพบความคล้ายคลึงกันในเรื่องพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

เริ่มต้นจาก...

>> สวีเดน ค.ศ. 1809

สวีเดนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1809 และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในระบอบดังกล่าวในปี ค.ศ. 1809

มาตราแรกของรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1809 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารการปกครองแผ่นดิน” (The King alone shall govern the realm)

และมาตรา 4 ที่ตามมาจะระบุถึงการจำกัดพระราชอำนาจ เช่น การระบุให้พระมหากษัตริย์จำเป็นต้องใช้อำนาจปกครอง “ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” (in accordance with the provision of this Instrument of Government)

นอกจากนี้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญยังระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้อง...

“ทรงรับฟังข้อมูลและคำแนะนำจากรัฐมนตรีสภา (คณะรัฐมนตรี) อันเป็นสภาที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิก (รัฐมนตรี) จากบุคคลที่มีความสามารถ ประสบการณ์ เกียรติยศ และเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไปของเหล่าพสกนิกรชาวสวีเดน”

(seek the information and advice of a Council of State, to which the King shall call and appoint capable, experienced, honorable and generally respected native Swedish subjects)

>> นอร์เวย์ ค.ศ. 1814

นอร์เวย์เข้าสู่ระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1814

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 คือกำหนดให้นอร์เวย์ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นคือ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงสามารถใช้พระราชอำนาจในการบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการได้โดยตรงอีกต่อไป

แต่กระนั้น รัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 ยังให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยไม่ได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเหมือนที่ปรากฎในนอร์เวย์ปัจจุบัน

มาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 กำหนดให้ 'อำนาจบริหารเป็นของกษัตริย์' (The executive power shall be vested in the King.)

และในทำนองเดียวกันกับรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1809 มาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกพลเมืองนอร์เวย์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 เป็นคณะรัฐมนตรี มีจำนวน 5 คนอย่างน้อย และอาจจะเลือกพลเมืองนอร์เวย์อื่นๆ ให้เป็นคณะรัฐมนตรี ยกเว้นสมาชิกสภาแห่งชาติ

พระองค์จะทรงแบ่งงานให้สมาชิกคณะรัฐมนตรีตามที่พระองค์เห็นว่าเหมาะสมที่สุด และไม่ให้ผู้ที่เป็นบิดา บุตร และพี่น้องเป็นคณะรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน

จากสาระในมาตรา 28 พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้งพลเมืองนอร์เวย์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัย

ถ้าจะถามว่า ตกลงแล้วพระมหากษัตริย์ขณะนั้นทรงแต่งตั้ง 'ใคร' ให้มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน?

คำตอบคือ โดยส่วนใหญ่ พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ก็มีบางส่วนที่แต่งตั้งจากสมาชิกสภา หากสมาชิกสภาผู้ใดได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภา

>> เนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814

เนเธอร์แลนด์เข้าสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1814 หลังจากเคยปกครองในแบบสมาพันธรัฐและสาธารณรัฐมาเป็นเวลายาวนาน

ในรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 มาตรา 1 ที่เป็นมาตราที่ว่าด้วยอำนาจสูงสุด หรืออำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ของเนเธอร์แลนด์ รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 อันเป็นรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเนเธอร์แลนด์

ได้กำหนดให้อำนาจอธิปไตยของเนเธอร์แลนด์เป็นของวิลเลม เฟรดริค และผู้สืบเชื้อสายของพระองค์ “Sovereignty……belongs to Willem Frederik...”

อีกทั้งยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีตามพระบรมราชวินิจฉัยเช่นกัน

>> เบลเยี่ยม ค.ศ. 1831

เบลเยี่ยมเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1831

รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 กำหนดให้อำนาจบริหารเป็นของพระมหากษัตริย์

พระองค์ทรงใช้อำนาจบริหารได้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

โดยมาตรา 64 แห่งรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ได้กำหนดไว้ว่า พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้รับสนอง และผู้รับสนองฯจะต้องเป็นรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ รัฐมนตรีที่เป็นผู้รับสนองจะเป็นผู้รับผิดชอบ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระมหากษัตริย์มิได้ทรงใช้พระราชอำนาจบริหารด้วยพระองค์เอง แต่ผ่านรัฐมนตรี และด้วยเหตุนี้ มาตรา 63 จึงกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจะละเมิดองค์พระมหากษัตริย์มิได้

มาตรา 66 กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรี และในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ไม่จำเป็นที่พระมหากษัตริย์จะต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีจากสมาชิกสภา (ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาล่างหรือสภาสูง) แต่ถ้าพระองค์แต่งตั้งสมาชิกสภาให้เป็นรัฐมนตรี บุคคลผู้นั้นจะต้องพ้นจากสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภา

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระมหากษัตริย์เบลเยี่ยมภายใต้รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเบลเยี่ยมให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอิสระในการแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยไม่จำเป็นต้องจากสมาชิกสภา ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติเบลเยี่ยม (โดยกำเนิดหรือได้รับสัญชาติ) แม้ว่าพระองค์จะมีอิสระ แต่ข้อจำกัดคือ พระองค์ไม่สามารถแต่งตั้งสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์เป็นรัฐมนตรี

>> เดนมาร์ก ค.ศ. 1849

เดนมาร์กเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1849

รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 มาตรา 19 กำหนดไว้ว่า “พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงแต่งตั้งและปลดบุคคลเข้าและออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี การลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในกฎหมายที่ได้ตราขึ้น หรือในการประกาศให้มติในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับได้ จะต้องมีรัฐมนตรีหนึ่งหรือหลายนายลงนามสนองพระบรมราชโองการ”

และรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 ไม่ได้กล่าวถึงเงื่อนไขการแต่งตั้งและปลดบุคคลเข้าและออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด พระมหากษัตริย์เดนมาร์กทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและปลดได้ที่พระองค์ทรงเห็นสมควร

ในช่วงเริ่มแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับแรกในประเทศในยุโรปที่กล่าวไปข้างต้น (สวีเดน, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม และ เดนมาร์ก) จะเริ่มต้นจากการค่อยๆแบ่งแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการออกจากกัน ที่แต่เดิมทีรวมอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศเหล่านี้ที่เป็นประเทศที่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีความมั่นคงยิ่งในปัจจุบัน และได้รับการจัดลำดับเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในอันดับต้นๆ ของโลก

เราจะพบการยังคงให้พระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจบริหาร แต่ไม่สามารถบริหารได้โดยลำพังพระองค์เองอีกต่อไป

แต่จะต้องมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารแทนพระองค์ แต่พระองค์ยังทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ตามพระบรมราชวินิจฉัย

สถาบันทางการเมืองในระบอบพระมหากษัตรย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ---อันได้แก่ คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์---ของประเทศเหล่านี้จะค่อยวิวัฒนาการไปตามเงื่อนไขความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ สังคมและสภาพการเมืองของแต่ละประเทศ

คำถามคือ ในช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ยังคงให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัยนั้น...เงื่อนไขทางการเมืองและประชาชนในประเทศเหล่านั้นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับของไทย?

จากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและกระบวนการวิวัฒนาการทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปของประเทศต่างๆ เหล่านี้นี่เอง ที่นำมาซึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์และพระยาศรีวิศาลวาจา

และถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงโปรดให้ร่างขึ้นไม่เป็น 'ประชาธิปไตย'

เราจะกล่าวได้ไหมว่า รัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของ นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม และ เดนมาร์ก เป็น 'ประชาธิปไตย' ?

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

เพจ ‘2475 Dawn of Revolution’ โพสต์พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

(10 พ.ค. 67) เพจ ‘2475 Dawn of Revolution’ ได้โพสต์พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ระบุว่า…

“ในขณะนี้มีคนไทยประณามด่า ว่ากล่าวให้ร้ายป้ายสีฉันทุกสิ่งทุกอย่าง แต่สักวันหนึ่งในอนาคต ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจะจารึกไว้ว่า ฉันเป็นนักประชาธิปไตย ฉันรักและหวังดีต่อประเทศไทยสักเพียงใด”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7 หน้า 335

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ

“—เมื่อฉันได้รับราชสมบัติ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉันเป็นน้องสุดท้อง แต่ในที่สุดฉันก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจนได้ และเมื่อฉันขึ้นครองราชย์นั้น ฉันรู้ดีว่าม่านจวนจะรูดแล้ว แต่ฉันก็คิดอยู่เสมอว่าฉันมีความตั้งใจจะมอบการปกครองให้แก่ราษฎร—”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีต่อผู้แทนคณะปฏิวัติที่เข้ามาพบเพื่อถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์มีอยู่ 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในครั้งนั้น มิได้มีการอภิวัฒน์ขึ้นอย่างที่พวกเขากล่าวอ้าง อำนาจการปกครองของประชาชน โดยมีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้นมิได้เกิดขึ้นจริง มีแค่เพียงการปกครองที่เรียกว่า ‘คณาธิปไตย’ โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ มาใช้รองรับความต้องการของตนก็เท่านั้นเอง 

ซึ่งหลายต่อหลายเหตุการณ์ได้ทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงอึดอัดและทรงผิดหวังอย่างเหลือประมาณ จนพระองค์ต้องทรงเดินทางออกนอกประเทศเพื่อทรงไปรักษาพระวรกาย และส่วนหนึ่งคือการเลี่ยงการใช้พระองค์เป็นเครื่องมือของคณะผู้ก่อการคณะต่าง ๆ ที่ต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยอ้างพระองค์ ราวกับพระองค์ต้องทรงตกเป็นตัวประกัน โดยเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติใน 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษจวบจนสวรรคต 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ต ตำบลบิดเดนเดน มณฑลเคนท์ โดยในช่วงนี้พระองค์ทรงพระประชวรมากขึ้นด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ แต่กระนั้นพระอาการประชวรของพระองค์ก็มีการกำเริบหนักบ้าง น้อยบ้าง ประกอบกับโรคทางพระหทัยที่เริ่มพบว่ามีอาการ

พ.ศ. 2482 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ เพื่อความปลอดภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากพระตำหนักเวนคอร์ตอยู่ใกล้กับช่องแคบอังกฤษ ซึ่งเป็นเขตป้องกันประเทศของทหาร โดยทำการปิดพระตำหนักไว้แล้วหวังใจว่าเมื่อสงครามสงบจะได้กลับไปพำนักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพในภาวะสงครามด้วยความยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร ทั้งยังต้องระวังภัยทั้งทางอากาศ โดยการอำพรางไฟฟ้าลดความสว่างและความอบอุ่น บางครั้งต้องสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูหนาว ทำให้พระสุขภาพทรุดโทรมและทรงประชวรหนักขึ้น 

ปี พ.ศ. 2484 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำพระองค์อีกครั้ง เมื่อทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ ถูกยึดครองเป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว จึงจะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนัก ก่อนที่จะส่งมอบตำหนักอย่างเป็นทางการ ด้วย ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี’ พระองค์ทรงอาลัยพระตำหนักนี้มาก ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง แต่พระอาการประชวรของรัชกาลที่ 7 ทรุดหนักลง พระบาทบวมอยู่ 2-3 วัน ซึ่งเป็นอาการอันเนื่องมาจากที่ประชวรพระหทัย

ในช่วงเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพร และฉลองพระองค์แขนยาว ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก ได้รับสั่งกับ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ ว่าหากอยากจะเสด็จฯ ไปพระตำหนักเวนคอร์ตเพื่อไปจัดการอะไรต่อมิอะไรให้เรียบร้อยก็ทรงไปได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล โดยรับสั่งว่า 

“จะไปไหนก็ได้ ฉันสบายดี....อยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง จะอ่านหนังสือพิมพ์” ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่านั่นจะคือรับสั่งครั้งสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 7 

‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ จึงเสด็จฯ ออกไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา 08.00 น. ในหลวง ร.7 ทรงเสวยไข่ลวกนิ่ม ๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย ทรงหนังสือพิมพ์แล้วบรรทมต่อ สักพักหนึ่งก็ทรงบ่นว่ามีอาการวิงเวียนไม่สบาย นางพยาบาลจึงลุกไปหยิบยา พอกลับมาอีกที ก็เห็นพระหัตถ์ตกห้อยลงมาอยู่ข้าง ๆ หนังสือพิมพ์ตกอยู่กับพื้น หลับพระเนตรเหมือนกำลังหลับอย่างสบาย ประมาณ 09.00 น. นางพยาบาลจับพระชีพจรดู จึงรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว ได้สวรรคตเสียแล้ว สิริรวมพระชนม์มายุได้ 48 พรรษา และเป็นเวลา 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ

ส่วนทาง สมเด็จฯ เมื่อรถพระที่นั่งแล่นออกจากพระตำหนักได้สักพักใหญ่ก็ต้องชะลอ แล่นช้าลงเพราะหมอกลงจัด โดยมีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า สมเด็จฯ ทรงทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนอยู่ ซึ่งออกจะประหลาด ๆ จนทรงสังหรณ์พระราชหฤทัย 

จนกระทั่งตำรวจอังกฤษได้มาสกัดรถพระที่นั่งของสมเด็จฯ เพื่อแจ้งข่าว พระองค์จึงทรงรีบเสด็จฯ กลับพระตำหนักในทันที เมื่อทรงถึงพระตำหนัก พระองค์ทรงควบคุมพระสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายใน โดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษ ได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วัน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง 1 วัน เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการแต่งพระบรมศพไว้ว่า 

“ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ ตอนหนึ่งว่า… “ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา”

ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งมีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยัง สุสานโกลเดอร์ส กรีน ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ 5 คัน 

เมื่อถึงสุสาน พบว่ามีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จฯ อยู่มาก ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญหีบพระบรมศพเข้าสู่ฐานตั้ง ผู้ที่ตามเสด็จฯ นั่งเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว นายอาร์. ดี. เครก ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทย และเป็นพระสหายของ ร.7 ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นเข้าไปถวายความเคารพโดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติและผู้ใกล้ชิดทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากนั้นพนักงานกดสวิตช์อัญเชิญหีบพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้า 

การพระบรมศพนั้นไม่มีพิธีสงฆ์ใด ๆ เพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ในประเทศอังกฤษในเวลานั้น มีแต่คนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนา ได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล แล้วมีการบรรเลงเพลง เมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเพียงเท่านั้น

หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยาม

โดยการอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่สยามนั้นเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 กระบวนเกียรติยศจากรัฐบาลอังกฤษอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ 7 ขึ้นประทับบนเรือวิลเลมรัยส์ เมืองเซาธ์แฮมป์ตัน ทหารกองเกียรติยศ กองทหารราบเบาซอมเมอร์เส็ท ถวายบังคมส่งเสด็จฯ โดย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงรับการถวายความเคารพ โดยพระองค์เสด็จฯ กลับสยามโดยประทับบนเรือลำนี้ เป็นเวลา 23 วัน

กระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เรือภาณุรังสีได้เข้าเทียบเรือวิลเลมรัยส์ แล้วอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ ที่ประทับชั่วคราว ภายในโถงเรือจนถึงกรุงเทพฯ จึงอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิขึ้นสู่เรือรบหลวงแม่กลอง แล้วนำพระบรมอัฐิ บรรจุในพระโกศ ประดิษฐานในเรือรบหลวงแม่กลอง หลังจากนั้นกรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จฯ ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากเรือรบหลวงแม่กลอง ขึ้นประทับบนพระราเชนทรยานราชรถเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

โดยประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิเคียงข้าง พระโกศพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ณ พระที่นั่งพุดตานถม ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 วันคล้ายวันสวรรคต ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ กษัตริย์ผู้ทรงได้รับการยกย่องเป็น 'นักประชาธิปไตย'

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประพาสยุโรป เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาด้านต่าง ๆ และทรงรับการผ่าตัดรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องด้วยพระราชดำริที่ไม่ตรงกัน กับรัฐบาลคณะราษฎรหลายประการ และทรงพิจารณาแล้วว่า ไม่ทรงสามารถประสานกับรัฐบาล

เพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่ปวงชนส่วนรวมได้ จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับพักฟื้นพระวรกายที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ อันเนื่องมาจากพระพลานามัยของพระองค์ ทรงไม่แข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา 6 เดือน 23 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากท่าเรือเมืองเซาแธมตันโดยรัฐบาลอังกฤษ ตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จ เรือ Willem Ruys นำเสด็จฯ สู่สิงคโปร์ และเรือภาณุรังษีของบริษัทอีสต์เอเชียติก ได้นำเสด็จฯ เข้าสู่ประเทศไทยถึงเกาะสีชัง รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรือหลวงแม่กลองไปรับเสด็จที่เกาะสีชัง มาถึงท่าราชวรดิฐ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฝ้าฯ รับเสด็จฯ และอัญเชิญพระบรมอัฐิ โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ เข้าสู่พระบรมมหาราชวังประดิษฐาน ร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง โปรดให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรี ทรงตรากฎหมายเพื่อควบคุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ระบบเทศบาล ด้านการศาสนา การศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น พระองค์โปรดให้สร้างหอพระสมุด ทรงปฏิรูปการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีการปรับปรุงการศึกษาจนยกระดับมาตรฐานถึงปริญญาตรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยสมบูรณ์ ชื่อว่า ‘พระไตรปิฎกสยามรัฐ’ เป็นต้น

นอกจากนี้ พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 ปี พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์บางส่วนว่าเป็น ‘กษัตริย์นักประชาธิปไตย’ เนื่องจากทรงยินยอมสละพระราชอำนาจของพระองค์ให้เป็นของประชาชน และลดพระราชฐานะของพระองค์ให้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์แรก

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถาบันพระปกเกล้า จึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระองค์ว่า สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 โดยให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อันเป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

'รทสช.' น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ ผู้ริเริ่มระบอบประชาธิปไตยสู่ประเทศไทย

(30 พ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ข้าราชการการเมือง และ สส. ร่วมวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย การสละพระราชอำนาจของพระองค์ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยจวบจนปัจจุบัน

คำประกาศสละราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗

“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…”

คำประกาศสละราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top