Thursday, 4 July 2024
ทำงาน

40% ของ ‘เบบี้บูมเมอร์’ ทั่วโลก กำลังขาดเงินออมวัยเกษียณ ต้องวางแผนทำงานไปจนตกงาน เพื่อหารายได้พอประทังชีพ

(29 เม.ย.67) Business Tomorrow เผยรายงานล่าสุดของ TCDC ชี้ว่ากลุ่มคน 'เบบี้บูมเมอร์' หรือคนเกิดในช่วงปี 2489-2507 ทั่วโลกกว่า 40% วางแผนทำงานไปจนกว่าจะตกงาน ด้วยปัญหาด้านการเงินและรายได้ที่ไม่เพียงพอหลังเกษียณอายุ

แนวโน้มนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ที่พบว่ากลุ่ม 'Peak Boomer' หรือเบบี้บูมเมอร์รุ่นสุดท้ายกำลังเข้าสู่วัยเกษียณในปีนี้กว่า 30 ล้านคน แต่มีเงินออมน้อยกว่า 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9.2 ล้านบาท ถึงเกือบ 2 ใน 3 

ตัวเลขนี้แสดงว่าคนกลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพิงเงินออมได้ จำเป็นต้องพึ่งพาประกันสังคมเพื่อเลี้ยงชีพ จึงต้องทำงานต่อไปจนแก่เฒ่า หรือแม้แต่จนตาย เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพ

ปัญหาเงินออมน้อยของเบบี้บูมเมอร์ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญจากที่เคยได้รับเงินอุดหนุนจากนายจ้าง มาเป็นแผนการลงทุนแบบ 401k ที่พนักงานต้องหักเงินเดือนเข้ากองทุนเอง แต่มีเพียง 24% ของคนอเมริกันเท่านั้นที่ถือหุ้นกองทุนนี้

นอกจากนี้ยังพบว่ามากกว่า 50% ของกลุ่มวัยเกษียณอเมริกันมีรายได้ต่ำกว่า 300,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 11 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่รายได้ระหว่าง 10,000-19,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือราว 3.7-7 แสนบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบันที่สูงขึ้นแล้ว นับว่าเป็นรายได้น้อยมาก

สำหรับประเทศไทยแม้ยังไม่มีสถิติชัดเจนว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์มีสถานะทางการเงินอย่างไร แต่หากสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น มีราคาสินค้าแพงและค่าครองชีพสูงเช่นนี้ คนวัยทำงานรุ่นปัจจุบันที่กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณในอนาคตอันใกล้ ก็อาจต้องประสบปัญหาเดียวกับเบบี้บูมเมอร์ในต่างประเทศ ต้องทำงานต่อไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

‘นักเขียนซีไรต์’ ชี้!! สมัยนี้อาการ ‘เกลียดงาน’ แพร่ระบาดไปทั่ว สมัยรุ่นพ่อแม่ ต้อง ‘ขยัน-ไม่เกี่ยงงาน’ ไม่อย่างนั้นก็อดตาย

(24 พ.ค.67) นายวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

ลูกของเพื่อนคนหนึ่งยังเรียนไม่จบ ทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งเพื่อหารายได้พิเศษได้สองวัน ก็เลิก อีกคนหนึ่งอยู่ได้สองเดือน ก็ลาออก เพราะมองไม่เห็นความก้าวหน้า

เด็กจบใหม่หมาด ๆ ทำงานได้สองเดือน คาดหวังว่าจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงทันที ออกจะรีบร้อนไปนิด

คนยุคนี้ดูเหมือนจะมีความอดทนต่ำ มองไปทางไหน เราได้ยินคนบ่นเรื่องงาน เจ้านายตลอดเวลา

อาจเพราะเราอยู่ในโลกที่พ้นภาวะความอดอยากมาแล้ว จนลืมไปว่าการไม่มีกินเป็นอย่างไร

ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1929 สหรัฐอเมริกาเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นล่ม เป็นผลให้เศรษฐกิจล่ม (The Great Depression) ชาวอเมริกันสิบห้าล้านคนตกงาน กระเทือนไปทั่วโลกนานสิบปี

เวลานั้นทุกเช้าที่หน้าโรงงานต่าง ๆ มีคนไปรอหางานทำ แต่โรงงานจะเรียกคนเพียงจำนวนหนึ่งไปทำงานคนที่ถูกเรียกได้ค่าแรงของวันนั้นไปต่อชีวิต คนที่ไม่ถูกเรียกก็กลับบ้าน รุ่งขึ้นก็ไปรอใหม่เผื่อถูกเรียกตัว

ผมเกิดปลายยุค ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ นั่นคือพ่อแม่ผ่านความลำบากแบบสุดขีดมาแล้ว แต่ก็ยังต้องทำงานหนักทุกวัน วันไหนไม่ทำงานก็อด สิ่งที่ผมเรียนรู้คือคนสมัยนั้นไม่เกี่ยงงานจริง ๆ

คนจีนยุค ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ ไม่คิดว่างานสนุกหรือไม่สนุก เพราะถือคติว่า ‘งานที่มีก็คืองานที่ดี’

ญาติผู้ใหญ่ของผมเคยสั่งสอนหลานคนหนึ่งที่ลังเลว่าจะไปทำงานเป็นบ๋อยโรงแรมดีหรือไม่ ผู้ใหญ่บอกว่า เงินเดือนของบ๋อยไม่มาก แต่มักได้รับทิป อีกทั้งแขกที่มาพักมักจะให้บ๋อยไปซื้อข้าวมาให้ และเลี้ยงบ๋อยด้วย วันละห่อสองห่อ ก็ประหยัดค่าข้าวได้มาก อย่ารังเกียจงานที่คนอื่นมองว่าต่ำต้อย เป็นบ๋อยก็สามารถมีเงินเก็บได้

ตั้งแต่เด็กผมเห็นญาติทุกคนทำงานตัวเป็นเกลียว คนนี้ทำงานเป็นลูกจ้าง คนนั้นกรีดยางในสวน ค้าขายในตลาด ฯลฯ ทำอะไรก็ได้ เป้าหมายเพื่อไม่อดตาย เพราะเชื่อว่า ถ้าทำดีพอ ก็ลืมตาอ้าปากได้ ผมไม่เคยได้ยินใครบ่นสักคำว่า “งานน่าเบื่อ” หรือ “ชั่วโมงยาว” หรือ “ทำงานวันเสาร์หรือเปล่า?”

ถึงงานจะไม่สนุกหรือทรมาน ก็อดทน ความอดทนเป็นโหมดบังคับของชีวิต

ผมเข้าใจความรู้สึกแบบนี้ดี เพราะสมัยผมใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา ต้องทำงานที่ไม่ชอบเพื่อหาเงินมาเรียนต่อ และผมก็ผ่านชีวิตช่วงนั้นมาได้เพราะจดจำภาพญาติ ๆ ที่ทำงานหนักโดยไม่บ่น ทำให้เราบ่นไม่ออก

ตอนคนเราไม่มีกิน ไม่ค่อยเลือกงาน

แปลกที่ในสมัยนี้คนบางคนไม่มีกิน แต่ยังเลือกงาน แม้ไม่มีทางเลือกมาก ก็ยังเกี่ยงงาน

อาการเกลียดงานแพร่ระบาดไปทั่ว บ้างเป็นความเกลียดบนพื้นฐานที่มีเหตุผล เช่นงานเลวร้ายต่อสุขภาพ ทำให้ครอบครัวแย่ลง เจ้านายเอาเปรียบจริง บ้างก็เป็นแค่การมองโลกในแง่ลบ ได้งานดีแค่ไหนก็บ่น

นี่ไม่ใช่ความรู้สึกที่กระทบจากงาน แต่เป็นนิสัยขี้บ่นเท่านั้น เป็นนิสัยไม่เคยพอใจงานที่มี ครอบครัวที่มี สิ่งที่มี

ชาวโลกจำนวนมากมีภาพว่า งานที่ตนทำเลวร้ายกว่างานของคนอื่นเสมอ มันอาจเป็นความจริงหรือไม่เป็นความจริงก็ได้ การงานของบางคนเลวร้ายจริง ๆ ทว่าคนที่ประสบพบงานที่เลวร้ายจริง ๆ  ก็สามารถเปลี่ยนงานโดยไม่จำเป็นต้องก่นด่าโลก

แต่คนบางคนมองชีวิตในมุมลบ บ่นทุกอย่างที่ขวางหน้า

นิสัยขี้บ่นแบบนี้จะทำให้ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่เฉพาะเรื่องงาน แต่ลามไปถึงเรื่องครอบครัว เพื่อน เพื่อนบ้าน หรือกระทั่งคู่ชีวิต

เมื่อสวมแว่นดำทึบ ทุกภาพที่เห็นย่อมมืดหม่น

การบ่นเป็นนิสัยมีแต่ทำให้โลกหมองเศร้า ทว่าหากไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองให้ดีขึ้นได้ ก็ลองวิธีง่าย ๆ คือ หยุดเปรียบชีวิตตนกับคนที่ดีกว่า

ลองเปรียบกับคนในยุค The Great Depression ลองจินตนาการว่าตนเองอยู่ในยุคนั้น กำลังยืนหน้าโรงงานรอลุ้นว่าเขาจะเรียกเราไปทำงานหรือไม่ ถ้าเขาไม่เรียก เรากับครอบครัวก็ไม่มีกินในวันนั้น

งานน่าเบื่ออาจดีกว่าไม่มีงาน

เมื่อกำลังลอยคอกลางทะเล เราจะสนใจหรือว่าขอนไม้ที่เราเกาะพยุงสวยหรือไม่สวย

เรียนรู้ที่จะพอใจในชีวิตที่ตนมี ทำให้อะไร ๆ ในชีวิตง่ายขึ้น ปลอดโปร่งขึ้นมาก

จาก เหตุผลที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top