Sunday, 30 June 2024
ชัชชาติ_สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่คว้าคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในประวัติศาสตร์ ผู้ว่าฯ แห่งปี

ปี 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำให้หมายเลข 8 ที่ปักเสื้อเขาไว้นั้น สร้างสถิติใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยการกวาดคะแนนเสียงชาวกรุงเทพฯ ไปกว่า 1,386,215 คะแนน ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดนับแต่ที่มีการเลือกตั้งมา

ชัชชาติ ในวัย 55 ปี ทำลายสถิติที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำไว้จากการเลือกตั้งปี 2556 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน และก่อนหน้านี้ คือ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ชนะการเลือกตั้งปี 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน

คะแนนของผู้ว่าฯ ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีนี้ ตามรายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 23 พ.ค. 2565 หลังจากนับคะแนนครบ 100% ทิ้งขาดคู่แข่ง 5 อันดับแรก ขนาดนี้ นำคะแนนมามัดรวมกันยังไม่สามารถเอาชนะเขาได้

‘อัศวิน’ สอนมวย ‘ชัชชาติ’ ชี้ทาง เอาสายสื่อสารลงดิน ‘ไม่ต้องใช้เงิน’

‘อัศวิน’ สอนมวย ‘ชัชชาติ’ เอาสายสื่อสายลงใต้ดิน ไม่ต้องใช้เงินทุนซักบาท ใช้แค่กึ๋นเท่านั้น

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์รายการ TOP PEOPLE บันทึกคนสำคัญ ทางสถานีข่าว TOP NEWS โดยตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ได้พูดถึงแนวคิดการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยระบุว่า การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เป็นความตั้งใจอย่างมาก โดยแบ่งโปรเจกต์เป็น 4 ก้อน โดยมีระยะทางความยาวประมาณ 2,400 กิโลเมตร ที่อยู่บนถนนสายหลักและสายรอง โดยไม่รวมถึงในตรอก ซอก ซอย โดยในระยะแรกที่ดำเนินการนั้น สามารถทำไปได้ประมาณ 100 กิโลเมตร 

แต่พอเปลี่ยนมาเป็นผู้บริหารชุดใหม่ โปรเจกต์เอาสายสื่อสารลงใต้ดินก็หยุดไป ด้วยเหตุผลว่า ต้องใช้เงินเยอะ แต่ตนยืนยันได้ว่า ไม่จำเป็นจะต้องใช้ทุนเลย เพราะโปรเจกต์แรกที่ทำไปนั้นก็ไม่ได้ใช้ทุนของ กทม. แต่ใช้วิธีให้เอกชนมาประมูล แล้วลงทุนวางท่อใต้ดิน จากนั้นไปเก็บเงินกับเจ้าของสายสื่อสารที่ต้องการใช้ท่อสำหรับวางสายสื่อสาร

‘ศรีสุวรรณ’ บุกร้อง ‘ชัชชาติ’สอบเจ้าหน้าที่ กทม.  ปม ปล่อยให้เอกชนเก็บค่าผ่านสะพานพระโขนง

‘ศรีสุวรรณ’ บุกร้องผู้ว่ากทม. สอบ เจ้าหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนเก็บเงินค่าผ่านสะพานพระโขนง

วันนี้(27 มี.ค.66)เวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้ บ.แสนสิริ ได้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง เขตวัฒนา แต่มีการเรียกเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) 

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก บ.แสนสิริได้ขออนุญาตสำนักการโยธา กทม.ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษโครงการ The Base Park East และโครงการ The Base Park West โดยจัดทำรายงาน EIA ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯแล้วทั้ง 2 โครงการ โดยได้ระบุไว้ในรายงานว่า ในการดูแล บำรุงรักษา ถนนภาระจำยอมบนโฉนดที่ดิน 8 แปลง และสะพานข้ามคลองพระโขนง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคริมถนน ฯลฯ นั้น หากเกิดกรณีสะพานชำรุดเสียหาย นิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้ดำเนินการประสานไปยังสำนักงานเขตวัฒนาเพื่อซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ถือครองกรรมสิทธิ์เองทั้งสิ้น รวมทั้งรับผิดชอบค่าไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดขึ้นในที่ดินภาระจำยอมนั้นด้วย 

‘ชัชชาติ’ ชี้ ‘ร้านอาหารปิ้งย่าง’ ทำค่าฝุ่นหนาแน่นเฉพาะจุด เร่งหามาตรการควบคุม

(13 ธ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงมาตรการควบคุมและแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัดก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้เกิดจากรถยนต์เท่านั้น กทม.จึงพยายามทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ เตรียมร่วมกับกระทรวงพลังงาน ทำโครงการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองรถยนต์ โดยให้ส่วนลดเป็นแรงจูงใจสำหรับรถยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งาน 7 ปีขึ้นไป เพราะควันรถเป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อย PM 2.5 เนื่องจากเผาไหม้ไม่หมด ซึ่งรถประเภทนี้มีกว่า 1 ล้านคันที่วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ

“เราไม่สามารถไปบังคับให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องได้ จึงร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทำโครงการนี้ขึ้น และหาความร่วมมือจากเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน จุดหมายคือให้ PM 2.5 ลดลง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวเพิ่มว่า รวมถึงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ได้ประสานให้กรมการขนส่งทางบก เข้าไปตรวจควันดำของรถ ขสมก.ถึงอู่รถเมล์ ทั้งนี้การตรวจวัดค่าควันดำ ถึงแม้จะไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ปล่อยฝุ่น PM 2.5 

นอกจากนี้การเกิดฝุ่น PM 2.5 ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น การเผาชีวมวล การควบคุมรถที่เข้าไซต์ก่อสร้าง ปัจจุบันนี้หากตรวจเจอรถควันดำในไซต์ก่อสร้างใดก็จะสั่งปิดไซต์งาน 3 วัน การตรวจสอบโรงงาน ซึ่งยังคงต้องทำอย่างเข้มข้นถึงแม้ในกรุงเทพฯ จะมีโรงงานไม่มากก็ตาม รวมทั้งฝุ่นที่ค้างอยู่ในอากาศซึ่งมาจากรถยนต์ที่ปล่อยออกมา ทำให้ในบางวันที่เป็นวันหยุดหรือไม่มีการจราจรที่คับคั่ง ก็ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นได้

“อีกเรื่องที่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องใหญ่คือ ร้านจำหน่ายอาหารประเภทปิ้งย่าง อาจไม่ได้มีผลในภาพรวม แต่มีผลเฉพาะพื้นที่ทำให้มีค่าฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นขึ้น หลังจากนี้ก็ต้องไปดูว่าต้องมีที่ดักควันหรือไม่ ไม่ได้ห้ามปิ้งย่างแต่ต้องมีตัวดูด หรือเก็บควันก่อนปล่อยออกมาไม่ใช่ปล่อยอิสระ เพราะหากช่วงที่อากาศปิดก็จะทำให้ค่า PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

‘ชัชชาติ’ วอนอย่าโยง ‘คลองโอ่งอาง’ เข้าประเด็นการเมือง ย้ำ!! กทม.พัฒนาอย่างเต็มที่-เคารพผลงานผู้ว่าฯ เก่าทุกคน

(14 มี.ค.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงประเด็นที่นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สส.กรุงเทพฯ (เขต 1 พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์) พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาย่านคลองโอ่งอ่างว่า

ขอร้องอย่าให้เป็นประเด็นเรื่องการเมือง กทม.พยายามพัฒนาย่านให้มีความยั่งยืน ไม่ใช่จัดงานอีเวนต์หรือตลาดนัด ที่เป็นกิจกรรมชั่วคราว แต่ก่อนคลองโอ่งอ่างเป็นหลังบ้านของผู้พักอาศัย ส่วนที่มีการถ่ายภาพที่จอดรถเยอะ เพราะมีพื้นที่ส่วนต่อขยายไปยังคลองบางลำพู ที่ยังก่อสร้างยังไม่เสร็จ รวมถึงบางช่วงที่เป็นหลังร้านหรือออฟฟิศ ที่ต้องมีการจอดรถบ้างเป็นปกติ

“ถามว่าเราจะไปคลองโอ่งอ่างเพื่ออะไร คำตอบคือ ไม่มีสินค้า ไม่มีอัตลักษณ์เหมือนกับปากคลองตลาด เสาชิงช้า บรรทัดทอง ตลาดน้อย การพัฒนาอัตลักษณ์ต้องใช้เวลา การนำผู้ค้าด้านนอกมาจัดตลาดนัด ผมว่าคนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่เราก็น้อมรับฟังคำติชม” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า หัวใจของคลองโอ่งอ่าง อยู่ใกล้กับวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เบื้องต้นอาจจะทำเป็นสตรีตอาร์ต เพื่อช่วยดึงดูดคนมาเยี่ยมชม อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนก็ต้องช่วยกันพัฒนาอัตลักษณ์ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่มาดูคลอง หรือมาพายเรือแคนู เรือคายัคก็ไม่ได้อีก เพราะคลองแคบและมีตลิ่งสูง ถ้าอยากพายเรือ ให้ไปที่สวนลุมพินี สวนรถไฟ และอีกหลาย ๆ ที่ ซึ่งเหมาะกับการพายเรือมากกว่า

“เรื่องย่านต้องพัฒนาจากตัวเอง จะเห็นได้จากลานคนเมือง เราจัดอีเวนต์ตลาดนัดได้ แต่จัดเสร็จต่างคนต่างไป คนที่มาขายก็ไม่ใช่คนแถวนั้น แต่เรียนว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง เราเคารพผลงานของทุกท่านที่ผ่านมา ไม่เคยคิดเป็นประเด็นการเมืองทั้งสิ้นเลย เราก็พัฒนาย่านเยอะแยะทั่วกรุงเทพฯ เลย” นายชัชชาติกล่าว

อย่างคลองผดุงกรุงเกษม มีการพัฒนาริมคลองให้มีความสวยงาม บางช่วงไม่ได้มีร้านค้าหรือกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งคนก็มาวิ่งมาเดินชมความสวยงาม เดินไปถึงตลาดเทวราช มีขายของสด ขายต้นไม้

“ผมเบื่อเรื่องการเมืองนะ เราทำงานอย่างเดียว เพราะเราไม่ได้มีความทะเยอทะยานอะไร ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมาก็ทำผลงานได้ดี” นายชัชชาติ กล่าว

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยสุขภาพประชาชนในวิกฤตค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน มอบหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 มูลค่า 3.2 หมื่นบาท ผ่าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

วันนี้ 25 มีนาคม 2567) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ  พร้อมด้วย นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ นายชาญกิจ วิทยาวรากรณ์ กรรมการ และนายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ กรรมการ เข้าพบ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อมอบหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 จำนวน 206,000 ชิ้น รวมมูลค่า 320,000 บาท (สามแสนสองหมื่นบาทถ้วน) นำแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่เขตต่างๆ และบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกรุงเทพมหานคร หรือตามแต่ทางกรุงเทพมหานครเห็นควร เพื่อบรรเทาทุกข์ในช่วงสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน โดยมี นางศิริพร กระจ่างหล้า ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และนางชญาน์นันท์ สรพลจิโรจเดชา หัวหน้าแผนกสื่อสารองค์กร (จีน) พร้อมคณะ ร่วมในพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) กรุงเทพฯ

ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปี ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลายทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป ดังปณิธาน “ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต ”

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung
.
## มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต ##
#แอปพลิเคชันป่อเต็กตึ๊ง1418
#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

‘กทม.’ ปักหมุด!! 10 จุดเติม ‘น้ำดื่มฟรี’ ทั่วกรุงเทพฯ ช่วยลดการใช้ขวดพลาสติก เล็งขยายเพิ่มอีก 200 จุด

(18 เม.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เยี่ยมจุดบริการเติมน้ำดื่มตามโครงการ ‘Bottle Free Seas ลดก่อน ล้นโลก’ บริเวณอุโมงค์หน้าพระลาน และท่ามหาราช ภายใต้นโยบาย ‘น้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ฟรี ทั่วกรุง’

โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ทำการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี เพื่อบริการประชาชน และลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปพร้อมกัน ซึ่งทุกการกดเติมน้ำที่ตู้ 1 ครั้ง จะถือเป็นการลดการใช้ขวดน้ำพลาสติก 1 ขวด

>>เปิด 10 จุดเติมน้ำฟรี ‘ดื่มน้ำฟรี’ ดับร้อนทั่วกรุง ปัจจุบันมีการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรีแล้ว 10 แห่ง ได้แก่ 

1. บริเวณประตู 6 สวนเบญจกิติ 
2. สนามพิกเคิลบอล สวนเบญจกิติ 
3. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) 
4. ลานหน้าศาลพระตรีมูรติ เซ็นทรัลเวิลด์ 

5. ป้ายรถเมล์ติดแอร์ หน้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ 
6. ฟอร์จูนทาวน์ พระราม 9 
7. สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ 

8. สวนรถไฟหรือสวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร 
9. อุโมงค์หน้าพระลาน เขตพระนคร 
10. ท่ามหาราช เขตพระนคร

>>แผนดำเนินการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี 200 จุดทั่วกรุงเทพฯ
โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีแผนดำเนินการติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี 200 จุด ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง สำนักงานเขตทุกเขต และสวนสาธารณะ 

ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว รวมถึงประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการใช้พื้นที่เพื่อติดตั้งตู้กดน้ำเพื่ออำนวยความสะดวก และบริการประชาชนอย่างทั่วถึง

“ต้องขอบคุณ EJF ที่ช่วยทําสิ่งดี ๆ ให้คนกรุงเทพฯ สิ่งสําคัญคือ ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน มูลนิธิต่าง ๆ ต้องเชิญชวนมาร่วมกัน ตึกต่าง ๆ ที่มีติดตั้งทุกตึก ที่ทำงานออฟฟิศต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานราชการ ถ้าร่วมมือร่วมใจกันจะติดตั้งครบตามเป้าที่กำหนดในพริบตาเดียว แต่ถ้าให้ กทม. ติดตั้งเองทุกแห่งอาจจะช้านิดนึง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

>>ผลการดำเนินโครงการฯ ลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ผลการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา สามารถลดการใช้ขวดพลาสติกไปแล้ว 456,894 ขวด

‘ชัชชาติ’ ฮึ่ม!! รับไม่ได้เกิดเรื่องทุจริต พ้อ!! ความดีที่ทำสะสมมาไม่เหลือเลย

(11 มิ.ย. 67) เพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร เปิดเผยคลิปวิดีโอ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 โดยนายชัชชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า 

“อาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ที่ไม่ดี ชีวิตตนทำงานมาก็ไม่เคยเจอเรื่องนี้ เพราะชีวิตตนไม่เคยมีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรายืนอยู่ตรงนี้ได้ ที่ตนมาเป็นผู้ว่าฯ เป็นรัฐมนตรี และเป็นหลายตำแหน่งในชีวิตได้ ก็เพราะเราไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงาน ตนว่าเรื่องความไว้วางใจคือสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต ถ้าเราไม่มีความไว้วางใจ เราทำงานไม่ได้แน่นอน ฉะนั้นนี่คือเรื่องใหญ่ ขอให้ทุกคนตระหนักไว้ด้วย เรื่องนี้ถ้ามีปัญหาตนรับไม่ได้ เรื่องทุจริต ไม่โปร่งใส”

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า “ขอยืนยันผู้บริหารชุดนี้ไม่มีเรื่องพวกนี้ ถ้าใครจะไปอ้างตน หรือผู้บริหารทั้งหลาย ให้มาบอกเลย ไม่เช่นนั้นตนยืนอยู่ตรงนี้ไม่ได้ ความดีที่ทำมาทั้งหมดไม่เหลือเลย ตนไม่ได้แคร์ชื่อตนหรอก แต่ตนเป็นตัวแทนองค์กรของ กทม. ตนว่าเรื่องนี้ต้องจริงจัง ท่านรองปลัดทุกท่าน ปลัด ผู้บริหาร ชีวิตเราอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจ ไม่ว่าเราจะอยู่ในตำแหน่งในก็ตาม ความไว้วางใจมาพร้อมกัน 2 เรื่อง คือความเก่งงาน และความเป็นตัวตน ฉะนั้นต้องเก่งและดี เราเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คนเก่งแต่ไม่ดี ก็ไม่ได้ คนไม่เก่งแต่ดีก็ไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นต้องทั้งเก่งและดี ดังนั้นตนฝากขอให้รักษาเรื่องความไว้วางใจเท่าชีวิต”

‘นายกฯ’ ควง ‘ชัชชาติ’ ล่องเรือตรวจ ‘คลองโอ่งอ่าง-บางลำพู’ รับปาก!! ประสานสื่อต่างประเทศ แชะภาพโปรโมตมุม Unseen

(13 มิ.ย. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะประกอบด้วย นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข ‘คลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-บางลำพู)’ และตรวจติดตามความก้าวหน้าการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค และความก้าวหน้าในการประดับตกแต่งเรือพระที่นั่ง ณ กองบังคับการกองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางถึงบริเวณสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รับฟังบรรยายสรุปโครงการพัฒนาคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-บางลำพู) โดยสำนักการระบายน้ำ
ณ บริเวณท่าเทียบเรือสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ จากนั้น นายกรัฐมนตรีล่องเรือตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข (คลองโอ่งอ่าง)

โดยเดินทางจากท่าเทียบเรือสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ ไปยังท่าเทียบเรือสะพานหัน (คลองโอ่งอ่าง) โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและกรุงเทพมหานครรายงานถึงความคืบหน้าในการดำเนินการซึ่งมีความคืบหน้าไปเกือบ 100% แล้วโดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นและค่ำเมื่อมีการเปิดไฟประดับจะทำให้มีความสวยงามของคลองเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี 

ทั้งนี้ เมื่อเดินทางถึงท่าเทียบเรือสะพานหัน คลองโอ่งอ่าง นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมพื้นที่บริเวณสะพานหัน และพบปะกับผู้ค้าขายริมคลองโอ่งอ่าง โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงเรื่องของการค้าขายจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดริมคลองโอ่งอ่าง 

ขณะที่ผู้นำชุมชนริมคลองโอ่งอ่างได้ขอให้ทางรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้คลองโอ่งอ่างกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากมีบางช่วงซบเซา อย่างไรก็ตามขณะนี้บรรยากาศเริ่มจะกลับมามีประชาชนและนักท่องเที่ยวทยอยกลับมาเดินเพิ่มมากขึ้น แต่ยังต้องการให้นายกและรัฐบาลช่วยผลักดันและประชาสัมพันธ์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทีมงาน ช่วยประสานให้ช่างภาพโดยเฉพาะสื่อต่างประเทศมาช่วยถ่ายภาพและนำเสนอ โดยเฉพาะมุมที่เป็น Unseen ของคลองโอ่งอ่างเพื่อเผยแพร่ไปยังทั่วโลกเนื่องจากบางมุม ที่เป็น Unseen ยังไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์เท่าที่ควรและยังไม่ได้ถูกเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ให้เป็นที่รู้จักเพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันปลัดกรุงเทพมหานครได้ขอให้นายกฯ รัฐมนตรี กลับมาเยี่ยมชมและล่องเรือเพื่อดูทัศนียภาพยามเย็นที่คลองโอ่งอ่างเพื่อดูถึงความสวยงาม อีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากช่วงเย็น-ค่ำ จะมีการประดับไฟในจุดต่าง ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะกลับมาอย่างแน่นอนพร้อมจะพาช่างภาพจากสื่อต่างประเทศมาเยี่ยมชมด้วย

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเดินเยี่ยมชมและพบปะกับประชาชนริมคลองโอ่งอ่างได้มีชาวบ้านเข้ามาทักทายถ่ายรูปและมอบพวงมาลัยเพื่อเป็นกำลังใจให้กับนายกรัฐมนตรีตลอดเส้นทางก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะร่วมถ่ายรูปที่สะพานคลองโอ่งเป็นที่ระลึก

จากนั้น เวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข (คลองบางลำพู) โดยออกเดินทางจากท่าเทียบเรือสะพานหัน ไปยังท่าเทียบเรือบริเวณพิพิธภัณฑ์บางลำพู (คลองบางลำพู) เขตพระนคร โดยมีประชาชนสองฝั่งคลองได้ออกมาโบกไม้โบกมือต้อนรับและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านตะโกนทวงถามว่าเงินดิจิทัลของเราเมื่อไหร่จะได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรียิ้มรับพร้อมบอกว่า ‘ปลายปี’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากขึ้นเรือ นายกรัฐมนตรีเดินเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บางลำพู โดยมัคคุเทศก์น้อยนำเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และของดีจาก ชุมชนเขียงนิวาสไก่แจ้ โดยเฉพาะการปักดิ้นบนของที่ระลึก ก่อนออกเดินทางไปยังกองบังคับการ กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

‘กทม.’ โชว์ผลงาน 2 ปี ‘ทราฟฟี่ ฟองดูว์’ แก้ปัญหาคนกรุงฯ 79% ชาวเน็ตถามกลับ “แก้ได้ตรงจุด ปัญหาไม่เกิดซ้ำกี่เปอร์เซ็นต์?”

(26 มิ.ย. 67) กรุงเทพมหานคร ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า "หลังจากเปิดการใช้งานมาแล้วกว่า 2 ปี วันนี้ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เปลี่ยนชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ไปอย่างไรบ้าง?”

1. ดีขึ้น
- ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถแจ้งเรื่องได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์ม ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนการแจ้งเรื่องนอกเวลาราชการ เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 เท่า หรือคิดเป็น 345,975 เรื่อง

2. ลาขาดความเชื่องช้าของการแก้ปัญหา
- ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเร็วขึ้น 31 เท่า หรือใช้เวลาแก้ปัญหาเฉลี่ย 2 วัน
- ใช้เวลาแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้น ลดลง 97% จากเดิม ในเดือน มิ.ย. 65 ใช้เวลาราว ๆ 1,375 ชั่วโมง หรือเกือบ 2 เดือน เหลือเวลาแก้ไขปัญหาเพียง 45 ชั่วโมง หรือ 2 วัน ในเดือน พ.ค. 67

3. แก้ไขปัญหาตรงจุด
- นับจากการเริ่มใช้งาน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนเรื่องกว่า 588,842 เรื่อง
- ทราฟฟี่ ฟองดูว์ สามารถช่วยแก้ปัญหาไปแล้วมากกว่า 465,291 เรื่อง หรือ 79% ของจำนวนเรื่องที่แจ้งทั้งหมด

ปรากฏว่ามีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นถึงประสิทธิภาพการให้บริการทราฟฟี่ ฟองดูว์ บ้างก็วิจารณ์ถึงการบริหารงานของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน อาทิ

"แรก ๆ ดีมากค่ะ หลัง ๆ ส่งต่อ ฝ่ายที่ได้รับ เงียบบอกหาที่ไม่เจอบ้าง ส่งพิกัดไปใหม่ก็เงียบ ส่วนที่แก้ไปแล้ว ก็กลับมาพังอีก เหมือนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปไม่ถาวรค่ะ"

"จุดที่แจ้งสภาพยังเหมือนเดิม"

"ถ้านับว่าการตอบว่า "เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน...ได้ส่งเรื่องต่อให้แล้ว" เป็นการแก้ปัญหาแล้ว ก็เอาที่สบายใจนะ"

"ใช้ประจำครับ เรื่องที่ไวคือ ขยะข้างทาง ทางเท้าชำรุด ไฟดับ หาบเร่กินทางเท้า บางเรื่องที่นาน เช่น ถนน หรือสายไฟ คืออะไรที่ไม่ใช่หน้าที่ตรง ๆ จะช้า แต่เข้าใจเลย คนที่เข้าใจว่าอะไร ๆ ก็ กทม. ต้องทำ ก็จะไม่เข้าใจต่อไป เพราะเขาไม่ได้คิดจะเข้าใจ หรือลงมือช่วยทำเพื่อการเปลี่ยนแปลง ผมก็ส่งตลอด ไม่ได้สำเร็จทุกเรื่อง แต่เราช่วยแจ้งและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นะ บางคนก็แจ้งปัญหาแบบบ่น หรือสเกลใหญ่มาก ซึ่งเกินขอบเขตหน่วยย่อยหน่วยเดียว ปัญหาที่เหมาะคือปัญหาที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ คน มีงบ รอนั่นละครับ อันไหน เป็น GAP คือ คนแจ้งแล้วปิดไม่ได้ก็วิเคราะห์แล้วก็จัดการไปเรื่อย ๆ "

"เคยแจ้งจนระอาทุกวันนี้คือ ทางเท้าน้ำดีดไม่ดีดแล้วกระเบื้องแตกน้ำขังเป็นปลักโคลน ขยะสะสมบนและข้างทางเท้าจนเปื่อยรอวันลอยไปกับน้ำรอการระบาย สวนหย่อมกลายเป็นทุ่งหญ้าพลิ้วไหวไปกับควันท่อไอเสีย ฝนมาพากันออกกำลังกิจกรรมเข้าจังหวะวิ่งหลบน้ำบนถนนที่สาดมาเวลารถวิ่งผ่าน ฮึบ ๆ ป้ายรถเมล์และใต้สะพานเป็นที่นอนถาวรคนจรจัด"

"หลาย ๆ อย่างที่แก้ไปแล้วคือไม่ได้แก้ โยธาห้วยขวางนี่ดองเรื่อง 6 เดือนแล้วแอบแปะว่าแก้แล้ว ระบบที่ไม่มีคนตาม ไม่ได้วัดผล และไม่มีคนตรวจสอบว่าที่แก้ไปแล้วแก้จริงมั้ย"

"ช่วยหน่อยค่ะ ตั้งเเต่เดือน 1 กราฟิกไม่เคลื่อนไหวเลย 6 เดือนละค่า"

"หลัง ๆ เริ่มเกินเวลา ถามอัปเดตไม่มีใครตอบอีก"

"แน่ใจนะคะ ถ้าแจ้งแล้วแค่ถ่ายรูป ว่าจัดการแล้ว แต่ปัญหายังเกิดเหมือนเดิมถือว่ายังไม่ได้แก้ค่ะ"

"แจ้งฟองดูว์ก่อนเกิดเรื่องตกท่อตายที่ลาดพร้าว รวมในผลงานด้วยไหมครับ"

"เน้นจำนวนไม่เน้นคุณภาพ"

"แก้ปัญหาที่ปัญหามีเท่าเดิม เรื่องหลัก ๆ ก็เหมือนเดิม เลขโง่ ๆ ใครก็ใส่ให้เยอะได้ แต่หลักฐานมันก็ไม่เปลี่ยน"

"แจ้งไป 2 ปีที่แล้ว ฟองดูไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยค่ะ มีรูปถ่ายพร้อม สถานที่ชัด แต่"

"79% แก้ตรงจุด ปัญหาไม่เกิดซ้ำกี่เปอร์เซ็นต์ครับ"

"หลายเรื่องได้รับการแก้ไข แต่ปัญหากลับมาเหมือนเดิมหลังจากนั้น 3 วัน อันนี้ถือว่าได้รับการแก้ไขมั้ย"

"อย่าอวยตัวเองน่า บางงานเป็นปีแล้วยังไม่มีคนตาม ไม่มีคนทำ กทม.มีตรงไหนดีขึ้น?? ฟุตบาท ทางข้าม จราจร เหมือนเดิม แย่ลงก็มีอีกเยอะ อะที่ดีขึ้นก็มีบ้างนิดนึงแล้วกัน เช่นทาสี ไฟฟุตบาท แค่นี้"

"แรก ๆ พอส่งเรื่องต่อคนรับผิดชอบดีมาก แต่หลัง ๆ คงทำงานเช้าชามเย็นชามเหมือนแต่ก่อน แอปไม่ผิดแต่ผิดที่เจ้าหน้าที่คนที่ต้องรับผิดชอบงานไม่ทำหน้าที่ไม่แก้ไขปัญหาค่ะ"

"บางหน่วยงานทำงานไวมาก ดีมาก เช่น เขตดินแดงส่วนที่รับผิดชอบเรื่องความสะอาด เต็มสิบไม่หัก บางหน่วยงานกดปิดงานแบบดื้อ ๆ เลยค่ะ (รายงานเกี่ยวกับพื้นถนนในซอย/ไฟส่องทางตรงพระราม 9) "

"ตอนแรก ๆ เราชอบ platform กับหน่วยงานใน กทม. พอตอนหลัง ๆ มีเยอะมากขึ้น ดังนั้นการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบและการตามงานมันยากกว่าเดิม สำหรับบางเขต ส่งปัญหาไป แก้ปัญหาโดยการแค่ฟังคำแก้ตัวแล้วบอกปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว บางเขตก็แก้ไขจริง ๆ แต่พอต้องดีลกับหน่วยงานอื่นมักเชื่อแค่คำชี้แจงโดยไม่ดูหลักฐานจากประชาชน"

"ยังมีเรื่องค้างเติ่งที่หน่วยงานแก้ไขให้ไม่ได้ แถมยังขอจบเรื่องเองโดยที่ไม่ทำการแก้ไข ขอฝากไว้ด้วยนะคะ"

"รถติด น้ำท่วม ปัญหาหลัก ทำไมไม่แก้ แก้แต่ปัญหาเล็ก ๆ แล้วชมตัวเองว่าทำงานได้ดี "

"เปลี่ยนชีวิตหลายคนให้ร่ำรวยขึ้นจากการขายเครื่องออกกำลังกายได้ราคาแพงกว่าปกติหลายเท่า (ผลสอบหาคนผิดยังไม่มีเลย 20 กว่าวันแล้ว) "

"ว่าแล้ว เวลามีเรื่องแย่ ๆ ของ กทม. โดยเฉพาะกับผู้ว่า ก็จะต้องมีการทำโพลหรือทำตัวเลขออกมาให้ดูว่ามีความพึงพอใจ หรือมีผลงาน ... ว่าแต่เรื่องลู่วิ่งนี่ผลสอบออกมารึยังนะ"

"เหมือนเดิมครับ อะไรที่คิดว่าจะแก้ไขให้ดี ก็เหมือนแก้ไข ผ่าน ๆ ไป"

"สงสัย หน้าที่ที่ต้องทำประจำในทุก ๆ วัน นับรวมด้วยหรือ"

"ถ้ารับตำแหน่งกับวิ่งในสวนเป็นผลงาน ก็ไม่แปลกที่ผลงานจะเยอะขนาดนั้น"

"ส่วนปัญหาที่ด่าอัศวินไว้ยังแก้ไม่ได้สักอัน"

"พอเถอะ ศึกษามา 2 ปี ฝึกงานอีก 4 ปี พอเสร็จแล้วจะไปไหนก็ไปนะครับ"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top