Thursday, 4 July 2024
ฉนวนกาซา

‘นายกฯ อิสราเอล’ ชี้เข้าสู่สงครามระยะ 2 ส่งทหารลุยกาซาภาคพื้นดิน อ้าง!! ไม่ได้เป็นฝ่ายก่ออาชญากรรมสงคราม

เมื่อวานนี้ (29 ต.ค. 66) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวว่า ปฏิบัติการภาคพื้นดินที่กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) กำลังดำเนินการอยู่ในฉนวนกาซาขณะนี้ถือเป็นระยะที่ 2 ของสงครามกับฮามาส พร้อมยืนยันว่ามีการส่งผู้บัญชาการของอิสราเอลกระจายกำลังไปทั่วทั้งฉนวนกาซาแล้ว

เนทันยาฮูกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของพวกเขาชัดเจนมาก ขณะนี้กองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลได้บุกเข้าไปยังฐานที่มั่นของปีศาจเพิ่มเติม เพื่อรื้อถอนกลุ่มฮามาสและนำตัวประกันกลับบ้าน

เนทันยาฮูกล่าวว่า นี่จะเป็นสงครามที่ยาวนานและยากลำบาก แต่เราจะชนะ และเราจะเป็นผู้คว้าชัย พร้อมกับเปรียบเทียบสงครามครั้งนี้ว่าเป็นสงครามประกาศเอกราชครั้งที่ 2 ของอิสราเอล เราจะสู้ เราจะไม่ยอมแพ้ เราจะไม่ถอนตัว ไม่ว่าจะบนดินหรือใต้ดิน

ผู้นำอิสราเอลยังบอกด้วยว่า อย่ามากล่าวหาว่าเราก่ออาชญากรรมสงคราม มันเป็นเพียงวาทกรรมหลอกลวง เราคือกองทัพที่มีคุณธรรมมากที่สุดบนโลกนี้ IDF กำลังใช้ความระมัดระวังในการปกป้องพลเรือน ฮามาสต่างหากที่เป็นฝ่ายก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ใช้คนของตนเองเป็นโล่มนุษย์

ทั้งนี้ IDF ระบุว่าพวกเขาได้ส่งกองกำลังเข้าไปปฏิบัติการภาคพื้นดินทางตอนเหนือของอิสราเอล และดูเหมือนพวกเขาจะเคลื่อนที่จากที่นั่นลงไปทางตอนใต้ด้วย ขณะที่กองทัพอิสราเอลได้แจกใบปลิวเหนือท้องฟ้าเมืองกาซา เตือนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นสนามรบ และพวกเขาจะต้องลงไปทางตอนใต้

ปฏิบัติการภาคพื้นดินของอิสราเอลเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการยิงถล่มฉนวนกาซาทางอากาศที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

‘ระเบิดฟองน้ำ’ ระเบิดเคมีชนิดฟองโฟม อาวุธลับของกองทัพอิสราเอล ใช้ปิดกั้นทางเข้า-ออกอุโมงค์ใต้ดินฉนวนกาซา สกัดเส้นทางกลุ่มฮามาส


ระเบิดฟองน้ำ (Sponge Bomb) จะทำลายกลุ่มฮามาสลงราบคาบได้หรือไม่?

กองทัพอิสราเอล (IDF) เตรียม ‘ระเบิดฟองน้ำ’ เป็นอาวุธปิดกั้นอุโมงค์ฉนวนกาซา ขณะที่กองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลเริ่มเข้าสู่ฉนวนกาซา การวิเคราะห์จำนวนมากที่เผยแพร่นับตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้ง ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่กองทัพอิสราเอลจะเผชิญในการรุกภาคพื้นดินในฉนวนกาซา คือ อุโมงค์ใต้ดินที่เรียกว่า ‘รถไฟใต้ดินของฉนวนกาซา’

อุโมงค์ใต้ดินเขาวงกตที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มฮามาสในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ใช้เพื่อเก็บจรวดและกระสุนปืน และช่วยให้สมาชิกกลุ่มฮามาสสามารถเคลื่อนที่ได้โดยไม่ถูกตรวจพบ เครือข่ายอุโมงค์เหล่านี้มีขนาดประมาณตั้งแต่ 40–80 เมตร และขยายออกไปกระทั่งหลายร้อยกิโลเมตร อุโมงค์เหล่านี้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มฮามาส และส่วนใหญ่อยู่ใต้พื้นที่พลเรือน

ภายในอุโมงค์ กลุ่มฮามาสเก็บสะสมอาวุธและสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีของ IDF ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 กลุ่มฮามาสเริ่มสร้างอุโมงค์เหล่านี้ และสามารถสร้างเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อกลุ่มฮามาสเข้าควบคุมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ในปี 2006 


หนังสือพิมพ์ Telegraph ระบุว่า IDF กำลังพยายามใช้หุ่นยนต์และโดรนในอุโมงค์ เพื่อไม่ให้ทหารของตนตกอยู่ในอันตราย โดยสังเกตว่า จนถึงขณะนี้ยานพาหนะเหล่านี้ยังคงประสบปัญหาในการทำงานในอุโมงค์ใต้ดิน

สำหรับ ‘ระเบิดฟองน้ำ’ ได้รับการพัฒนาโดย IDF เพื่อจัดการกับสงครามอุโมงค์ของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา โดยเป็นอุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อปิดกั้นอุโมงค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นระเบิดเคมีที่ไม่มีการระเบิด แต่จะสร้างฟองโฟมที่สามารถขยายและแข็งตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีขนาดเล็กพอที่จะใช้โดยทหารเพียงหนึ่งหรือสองคนในการติดตั้ง (คล้ายสเปรย์โฟมที่ใช้อุดรอยหลังคาหรือผนังอาคารบ้านเรือนที่ใช้กันทั่วไป)

ปกติแล้ว ‘ระเบิดฟองน้ำ’ จะถูกบรรจุอยู่ในภาชนะพลาสติก โดยมีแท่งโลหะกั้นเพื่อแยกของเหลว 2 ชนิดที่แตกต่างกัน เมื่อมีการใช้งานแท่งโลหะกั้นจะถูกดึงออก และทำให้ของเหลวผสมกันจนเกิดการขยายตัว กระทั่งสามารถปิดกั้นอุโมงค์เป้าหมายที่ต้องการได้


ในปี 2021 มีรายงานว่า IDF ได้ทำการทดสอบระเบิดฟองน้ำในอุโมงค์จำลอง ระหว่างการทดสอบระเบิดเหล่านี้ครั้งแรกพบว่า ‘สารเคมีเหลว’ (liquid emulsion) เป็นอันตรายหากใช้งานไม่อย่างถูกต้อง ซึ่งทำให้ทหารอิสราเอลหลายนายถึงกับตาบอดมาแล้ว

เคยมีการใช้โฟมเหนียวทางการทหารเพื่อเป็นอาวุธทางเลือก โดยมีรายงานว่า กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ และกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ใช้โฟมเป็นอาวุธที่ไม่อันตรายถึงชีวิตในการควบคุมฝูงชน หรือควบคุมนักรบที่เป็นฝ่ายศัตรู การใช้ ‘ระเบิดฟองน้ำ’ ทำให้เกิดข้อกังวลด้านศีลธรรมเป็นอย่างมาก การกำหนดเป้าหมายในการทำลายอุโมงค์เหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อชีวิตของพลเรือน กลายเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนสำหรับ IDF ในการต่อต้านภัยคุกคามจากกลุ่มฮามาสโดยไม่ทำอันตรายต่อผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อการถูกประณามจากนานาชาติอีกด้วย

‘แอมเนสตี้ฯ’ อัด ‘อิสราเอล’ ใช้อาวุธ ‘ฟอสฟอรัสขาว' ในกาซา ควรถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหา ‘ก่ออาชญากรรมสงคราม’

(3 พ.ย. 66) ‘โดนาเทลลา โรเวรา’ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการรับมือภาวะวิกฤตของ ‘แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล’ (Amnesty International หรือ Amnesty หรือ AI) เปิดเผยว่า ผลการสืบสวน 4 เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 และ 16-17 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งในฉนวนกาซาและเลบานอน พบว่าอิสราเอลใช้ ‘ฟอสฟอรัสขาว’ เป็นอาวุธในพื้นที่ชุมชน

“เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก่อความกังวลอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากฟอสฟอรัสขาวเคยถูกใช้โดยกองกำลังอิสราเอลในอดีต ซึ่งก่อผลกระทบเลวร้ายแก่ประชากรที่เป็นพลเรือน” โรเวราระบุ “มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้ในพื้นที่ที่มีพลเรือน มันไม่ใช่อาวุธต้องห้าม มันสามารถใช้ในสมรภูมิและกับกองกำลังต่างๆ สามารถใช้มันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มันไม่ควรถูกใช้ในที่ที่มีพลเรือน” เธอบอกกับอัลจาซีราห์ “เราพบเห็นมีการใช้มันในกาซาและเลบานอน และมันไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีก”

ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ‘องค์การนิรโทษกรรมสากล’ เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.) ที่ผ่านมา ว่ามีพลเรือนในทางภาคใต้ของเลบานอน ได้รับบาดเจ็บในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา หลังกองทัพอิสราเอลใช้กระสุนปืนใหญ่ที่บรรจุฟอสฟอรัส กระสุนอันเป็นที่ถกเถียง ยิงเข้าใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายแดน

องค์กรแห่งนี้เปิดเผยว่าด้วยว่า มีการสืบสวนตรวจสอบกรณีตัวอย่างอื่นๆ ของความเป็นไปได้ที่กองทัพอิสราเอลทิ้งระเบิดฟอสฟอรัสขาวใส่พื้นที่ต่างๆ ตามแนวชายแดนเลบานอนในเดือนที่แล้ว แต่นิรโทษกรรมสากลบอกว่า ในกรณีเหล่านั้นไม่พบว่ามันก่ออันตรายแก่พลเรือน

ฟากทนายความด้านสิทธิมนุษยชน บอกว่า การใช้ฟอสฟอรัสขาวเป็นเรื่องผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ หากว่ามีการใช้สารเคมีร้อนสีขาวชนิดนี้ยิงเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม มันสามารถทำให้อาคารต่างๆ ไฟลุกไหม้และเผาไหม้ผิวหนังมนุษย์เหลือแต่กระดูก นอกจากนี้ พวกผู้รอดชีวิตก็อาจเสี่ยงติดเชื้อ อวัยวะหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว แม้ว่าถูกเผาไหม้เพียงแค่จุดเล็กๆ ก็ตาม

ทั้งนี้ หลังจากอิสราเอลโจมตีหมู่บ้านดูไฮรา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ทำบ้านเรือนและรถเกิดไฟลุกไหม้ มีพลเรือน 9 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ในอาการหายใจติดขัด องค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า พวกเขามีภาพถ่ายที่ผ่านการยืนยันความถูกต้องแล้ว เป็นภาพที่กระสุนฟอสฟอรัสถูกวางเรียงอยู่ใกล้กับปืนใหญ่ของอิสราเอล ใกล้แนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอล

องค์การนิรโทษกรรมสากลประณามเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการ “โจมตีแบบไม่เลือกหน้า” ที่ทำร้ายพลเรือน และควรถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม

‘รัฐบาลไทย’ มอบเงินช่วยเหลือ 3 ล้านบาท แก่ ‘UNRWA’ บรรเทาทุกข์ฉนวนกาซา-ผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกกลาง

(3 พ.ย. 66) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบเงินบริจาคเป็นกรณีพิเศษ แก่สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ สำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกกลาง (United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East : UNRWA) จำนวน 3 ล้านบาท หรือ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีนาย Giuseppe De Vincentiis รักษาการ UN Resident Coordinator เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อตอบสนองต่อการร้องขอฉุกเฉิน (flash appeal) ต่อเหตุความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในฉนวนกาซาของ UNRWA ในเดือนตุลาคม 2566

‘อิสราเอล’ ถล่มโรงเรียนในกาซา ปชช.ทั้งเด็ก-ผู้หญิง หนีตายระทึก พบผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย อ้าง!! เป็นฐานปฏิบัติการลับของกลุ่มฮามาส

(4 พ.ย. 66) จากเหตุโจมตีโดยอิสราเอล ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานโรงเรียนแห่งหนึ่งทางเหนือของกาซา เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บหลายสิบคน จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขที่บริหารงานโดยฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ ในตอนเช้าวันเสาร์ (4 พ.ย.) แต่ฝ่ายอิสราเอลอ้างว่าโรงเรียนดังกล่าวถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการของพวกนักรบ

“พบผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บหลายสิบคน ที่ถูกส่งมาโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ในกาซา ซิตี หลังมีการเล็งเป้าหมายโดยตรงใส่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อัล-ซาฟตาวี ทางเหนือของกาซา” กระทรวงสาธารณสุขกาซาแถลง “กระสุนปืนครกยิงจากรถถัง ตกใส่โรงเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายโดยตรง”

สำนักข่าวสกายนิวส์ ได้ตรวจสอบวิดีโอ เป็นภาพที่เผยให้เห็นว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในโรงเรียน แต่ไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุได้ และเวลานี้กำลังรอถ้อยแถลงชี้แจงจากกองทัพอิสราเอล

ภาพในวิดีโอพบเห็นความตื่นตระหนกเกิดขึ้นทั่วจุดเกิดเหตุ บางส่วนพยายามวิ่งหนี ทั้งนี้พบเห็นชายคนหนึ่งเอามือกุมศีรษะในอารมณ์ช็อกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้หญิงอีกคนพบเห็นกำลังคลุ้มคลั่งมอบไปรอบๆ เอามือปิดปากไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง

สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากมีการยิงระเบิดทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างหนักในช่วง 2 วันก่อนหน้านั้น

“ในวันเดียวกัน ค่ายพักพิงอีกแห่ง Beach Refugee Cam ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน มีรายงานเด็กเสียชีวิต 1 ราย ทั้ง 2 จุดต่างตั้งอยู่ในทางเหนือของฉนวนกาซา” ถ้อยแถลงระบุว่า “ลงไปทางใต้ โรงเรียน 2 แห่งที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวก็ถูกโจมตีเช่นกัน มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 31 ราย”

ที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล อ้างความชอบธรรมในการโจมตีอาคารต่างๆ อย่างเช่นโรงพยาบาล โรงเรียนและสุเหร่าในกาซา โดยอ้างว่า ฮามาสใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับจุดประสงค์ในด้านปฏิบัติการ

เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนในวันเสาร์ (4 พ.ย.) เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลโจมตีใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งกำลังอพยพผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากทางเหนือของกาซาที่ถูกปิดล้อม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บ 60 คนในวันศุกร์ (3 พ.ย.)

กองทัพอิสราเอลรุดชี้แจงว่า พวกเขาตรวจพบและโจมตีเข้าใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งถูกใช้งานโดยเครือข่ายก่อการร้ายฮามาสในเขตสู้รบ กองทัพบอกว่าพวกนักรบฮามาสถูกปลิดชีพในเหตุโจมตีดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่ากลุ่มนักรบกำลังใช้รถฉุกเฉินคันดังกล่าว ลำเลียงกำลังพลและอาวุธ

นอกจากนี้ เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนยังเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ซิตี สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 195 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกมาเตือนว่า การกระทำของกองทัพอิสราเอลครั้งนี้อาจเข้าข่ายเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’

‘เลขาฯ ยูเอ็น’ สลดใจ!! ฉนวนกาซากลายเป็น ‘สุสานเด็ก’ ขอประชาคมโลกจับตา-เร่งหาทางช่วยระงับสงคราม

(7 พ.ย. 66) นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ในฉนวนกาซาถือเป็นวิกฤตของมนุษยชาติ และการปิดล้อมปาเลสไตน์กำลังกลายเป็น ‘สุสานสำหรับเด็ก’ อย่างรวดเร็ว

“มีรายงานว่าเด็กหลายร้อยคนถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บทุกวัน ความขัดแย้งดังกล่าวสั่งผลสั่นสะเทือนโลก และทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก” กุแตเรซกล่าว

กุแตเรซได้ย้ำการประณามการกระทำอันน่าหวาดกลัวของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมว่า นักรบฮามาสใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ และที่ยังคงเดินหน้าโจมตีอิสราเอลต่อเนื่อง

เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า ไม่มีอะไรที่จะนำมาอ้างเหตุผลและสร้างความชอบธรรมต่อการจงใจทรมาน สังหาร ทำร้าย และลักพาตัวพลเรือน เพราะการคุ้มครองพลเรือนถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด

กุแตเรซยังแสดงความกังวลถึงความเสี่ยงที่สงครามจะยกระดับ พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศจัดการกับความเสี่ยงของความขัดแย้งที่จะขยายวงกว้างไปยังภูมิภาค โดยระบุว่า เรากำลังเห็นการเพิ่มขึ้นของการขยายวงออกไปยังเลบานอน ซีเรีย อิรัก และเยเมน

กุแตเรชได้เรียกร้องให้ยุติวาทกรรมที่แสดงความเกลียดชัง และว่าเขารู้สึกทุกข์ใจอย่างยิ่งจากที่ได้เห็นทั้งการต่อต้านชาวยิวและการต่อต้านมุสลิมแบบไร้เหตุผลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ชุมชนชาวยิวและชาวมุสลิมในหลายส่วนของโลกต้องระมัดระวังตัว และหวั่นวิตกในความปลอดภัยและความมั่นคงของพวกเขา

พร้อมกันนี้ เลขาธิการยูเอ็นได้ย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาสองรัฐ และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันที

กุแตเรซยังได้ร้องขอเงินสนับสนุนมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 43,200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพลเรือนปาเลสไตน์หลายล้านคน โดยเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปช่วยเหลือประชากรในฉนวนกาซาและชาวปาเลสไตน์อีก 500,000 คนในเวตส์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออก ขณะที่ความช่วยเหลือบางส่วนจะถูกส่งผ่านด่านราฟาห์ของอียิปต์

อย่างไรก็ดี กุแตเรซย้ำว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวนั้นยังไม่เพียงพอ และเปรียบได้กับน้ำหยดเล็ก ๆ ที่ไม่พอที่จะสนองตอบความต้องการของมหาสมุทรได้ ขณะนี้รถบรรทุกความช่วยเหลือที่จำเป็นได้รับอนุญาตให้เข้าไปในฉนวนกาซาได้เพียงกว่า 400 คันในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับจำนวน 500 คันต่อวันในช่วงก่อนเกิดความขัดแย้ง

กุแตเรซยังได้เรียกร้องอีกครั้งให้อิสราเอลเปิดทางให้ส่งเชื้อเพลิงเข้าไปยังฉนวนกาซา โดยระบุว่ามันเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีเชื้อเพลิง ทารกแรกเกิดในตู้อบและผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยชีวิตจะต้องตาย

คำกล่าวของเลขาธิการยูเอ็นในประเด็นที่เปรียบฉนวนกาซาว่าเป็นสุสานสำหรับเด็ก พร้อมกับให้หยุดยิงทันที ถูกตอบโต้กลับทันทีจากนายเอลี โคเฮน รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล ที่โพตส์ข้อความบน X พร้อมแท็กไปหากุแตเรซว่า พูดออกมาได้ ช่างน่าละอาย ผู้เยาว์มากกว่า 30 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงทารกอายุเพียง 9 เดือนและเด็กเล็ก เห็นพ่อแม่ของพวกเขาถูกฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น หรือกำลังถูกควบคุมตัวโดยไม่สมัครใจในฉนวนกาซา

“ฮามาสเป็นปัญหาในกาซา ไม่ใช่การกระทำของอิสราเอลที่จะกำจัดองค์กรก่อการร้ายนี้” โคเฮนระบุ

‘WHO’ เผย 'เด็กในฉนวนกาซา' เสียชีวิต 160 รายต่อวัน ความชอบธรรมแก่พลเรือนในกาซา ที่ไม่มีใครหยิบยื่น

(9 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คริสเตียน ลินด์ไมเออร์ โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าผู้คนในฉนวนกาซาถูกสังหารแล้วกว่า 11,000 ราย หรือราวร้อยละ 0.5 ของประชากรทั้งหมด โดยพบเด็กเสียชีวิตเฉลี่ย 160 รายต่อวัน

ลินด์ไมเออร์ แถลงว่า ปัจจุบันมีบุคลากรการแพทย์เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่แล้ว 16 ราย โดยองค์การฯ กำลังทำงานเพื่อสนับสนุนบุคลากรการแพทย์ในกาซา พร้อมเรียกร้องการรับรองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้อีกครั้ง

ลินด์ไมเออร์ กล่าวว่า มีการโจมตีสถานพยาบาลในกาซา 102 ครั้ง ในเขตเวสต์แบงก์ 121 ครั้ง และในอิสราเอล 25 ครั้ง ขณะโรงพยาบาลในกาซา 14 แห่ง ไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากขาดแคลนเชื้อเพลิงและได้รับความเสียหาย

เมื่อวันอังคาร (7 พ.ย.) ถือเป็นวันครบรอบหนึ่งเดือนที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. โดยลินด์ไมเออร์เผยว่า ผู้คนในอิสราเอลหวาดกลัวและกังวลเรื่องตัวประกันมากกว่า 200 คน พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดทันที ซึ่งหลายคนในจำนวนนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน

นอกจากนั้น ลินด์ไมเออร์ ย้ำว่า ไม่มีสิ่งใดสามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่ความหวาดกลัวที่พลเรือนในกาซาต้องเผชิญ พวกเขาต้องการน้ำ อาหาร และการรักษาพยาบาล ขณะระดับความอันตรายถึงชีวิตและความทุกข์ทรมานที่พวกเขาเผชิญอยู่นั้นยากจะหยั่งรู้ได้

ด้าน เจนส์ ลาร์เคอ โฆษกประจำสำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมขององค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่ารถบรรทุกจำนวน 561 คันได้เข้าไปในกาซาตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. แต่ไม่มีรถบรรทุกคันใดบรรจุเชื้อเพลิงเนื่องจากคำสั่งห้ามของทางการอิสราเอล

ส่วนอเลสซานดรา เวลลุชชี ผู้อำนวยการฝ่ายบริการข้อมูลขององค์การฯ ในเจนีวา กล่าวว่าผู้คนในกาซามากกว่า 1.5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น โดยเกือบครึ่งหนึ่งลี้ภัยอยู่ในค่ายพักพิงขององค์การฯ

‘ชาติอาหรับ’ ประชุมเร่งด่วน เรียกร้อง ‘อิสราเอล’ หยุดโจมตีกาซา ซัด!! นี่ไม่ใช่การป้องกันตน แต่เป็นข้ออ้างเพื่อทำสงครามเท่านั้น

(12 พ.ย.66) กลุ่มประเทศโลกอาหรับประชุมกันที่ซาอุดีอาระเบีย ร่วมกันเรียกร้องให้มีการหยุดยิง เร่งจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง

โดยเป็นการประชุมฉุกเฉินร่วมระหว่างกลุ่มสันนิบาตอาหรับ หรืออาหรับ ลีก และองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ที่ซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพในกรุงริยาดห์ ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ร่วมกันประณามเหตุโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซา เรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันที และจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง

ด้านมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงกล่าวเปิดการประชุม ประณามและไม่ยอมรับการโจมตีชาวปาเลสไตน์ ซาอุดีอาระเบียไม่เห็นด้วยที่มีการใช้เหตุผลการป้องกันตนเองของอิสราเอล เป็นข้ออ้างเพื่อทำสงคราม เรียกร้องผู้นำโลกที่เข้าร่วมการประชุม ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในฉนวนกาซา

ขณะที่ ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี ประมุขแห่งกาตาร์ เรียกร้องอิสราเอลให้ยุติการโจมตีพลเรือนโดยทันที กาตาร์จะพยายามต่อไปเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป

ส่วนประธานาธิบดี อิบราฮิม ไรซี ของอิหร่าน ระบุสหรัฐฯ จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา เพราะได้ส่งอาวุธให้อิสราเอลเป็นจำนวนมาก รวมถึงระบุว่า อิหร่านจะส่งความช่วยเหลือด้านทางการทหารให้กับกลุ่มฮามาส กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และกลุ่มอื่น ๆ

‘นายกฯ แคนาดา’ ถูกนักเคลื่อนไหวบุกปิดล้อมร้านอาหาร ประท้วงเรียกร้องให้หยุดยิงในกาซา ก่อนรุดหนีอย่างรวดเร็ว

มีผู้ถูกจับ 2 คน หลังพวกผู้ประท้วงฝักใฝ่ปาเลสไตน์ราว 250 คน ปิดล้อมร้านอาหารแห่งหนึ่งในแวนคูเวอร์ ที่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด กำลังรับประทานอาหารค่ำในเย็นวันอังคาร (14 พ.ย.) พร้อมตะโกนเรียกร้องให้หยุดยิงในฉนวนกาซา

(16 พ.ย.66) โดย สตีฟ แอดดินสัน โฆษกตำรวจแวนคูเวอร์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ 100 นายถูกส่งเข้าไปสลายการชุมนุม ขณะเดียวกัน เข้าอารักขาพาตัว ทรูโด ออกจากร้านอาหารซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ในย่านไชน่าทาวน์

เจ้าหน้าที่หญิงรายหนึ่งถูกพาตัวส่งโรงพยาบาล หลังโดนผู้ประท้วงรายหนึ่งชกต่อยและเล็บมือขีดข่วนบริเวณดวงตา จากการเปิดเผยของโฆษกตำรวจแวนคูเวอร์ พร้อมเผยว่าตำรวจใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าสยบผู้ต้องสงสัยวัย 27 ปีรายหนึ่ง ฐานพยายามก่อความวุ่นวาย ส่วนชายอีกคนถูกจับกรณีขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยเวลานี้ชายคนแรกยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจ แต่คนหลังได้รับการปล่อยตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร (14 พ.ย.) ทรูโด ถูกพวกผู้ประท้วงบุกเข้าหาที่ร้านอาหารอินเดียแห่งหนึ่ง ในอีกฟากหนึ่งของเมือง ขณะที่วิดีโอที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพพวกนักเคลื่อนไหวบุกไปเผชิญหน้ากับ ทรูโด ระหว่างที่เขานั่งอยู่ตรงโต๊ะ พวกเขาส่งเสียงเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์ ‘ฮามาส’ ในฉนวนกาซา พร้อมตะโกน "คุณมันน่าอดสู" และ "จัสติน ทรูโด คุณให้เงินสนับสนุนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีแคนาดา รุดออกจากร้านอาหารอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ตอบโต้พวกนักเคลื่อนไหวใดแต่อย่างใด

ชาร์ลอตต์ เคท ซึ่งเป็นแกนนำร่วมกับกลุ่ม Samidoun Palestinian Prisoner Solidarity Network ที่เข้าร่วมกับการชุมนุมทั้ง 2 แห่ง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แคนาดา ‘แสดงจุดยืนอย่างจริงจัง’ ต่อปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา

ทรูโด กล่าวในวันอังคาร (14 พ.ย.) เรียกร้อง เบนจามิน เนทันยาฮู แสดงออกถึงความอดทนอดกลั้นขั้นสูงสุดในปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ถล่มกาซา ซึ่งคร่าชีวิตปาเลสไตน์แล้วมากกว่า 11,000 คน หลังอิสราเอลประกาศสงครามกับฮามาส ในวันที่ 7 ตุลาคม แก้แค้นกรณีที่นักรบกลุ่มนี้บุกจู่โจมอย่างไม่คาดคิดเล่นงานอิสราเอล สังหารผู้คนไป 1,200 ราย และจับเป็นตัวประกันราว 240 คน

เนทันยาฮู ปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของทรูโด ยืนยันว่ากองทัพอิสราเอลไม่ได้ตั้งใจเล็งเป้าหมายเล่นงานพลเรือน และยืนกรานว่า ฮามาสต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุเสียชีวิตทั้งหมดในกาซา

สงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ อีกหนึ่งความขัดแย้งที่สะเทือนโลกทั้งใบ

ปี 2566 กำลังจะจบลง แต่สิ่งที่คงยังไม่จบลงง่าย ๆ เห็นจะเป็นความขัดแย้งอันละเอียดอ่อน ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนตะวันออกกลางให้สั่นคลอน นั่นคือ สงครามระหว่าง ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ที่ได้เริ่มเปิดฉากโจมตีใส่กัน ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด

อีกทั้ง ประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย ก็ยังตกเป็นเหยื่อที่ต้องทนทุกข์จากพิษของสงคราม โดยชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์จำนวนมากยังคงติดอยู่ในประเทศ และเผชิญกับความยากลำบากเพราะขาดไฟฟ้า น้ำประปา และความสะดวกด้านสาธารณูปโภค

โดยเหตุการณ์ทั้งหมด เริ่มต้นมาจากการที่กลุ่มนักรบปาเลสไตน์ หรือ ‘ฮามาส’ ได้เปิดฉากระดมยิงจรวดหลายพันลูกจากฉนวนกาซา โจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค.ผ่านมา พร้อมทั้งส่งกองกำลังติดอาวุธหลายสิบคน แทรกซึมเข้าไปโจมตีในหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล พร้อมจับตัวประกันไว้หลายคน ซึ่งมีแรงงานไทยด้วยจำนวนหนึ่ง

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ออกมาประกาศว่า เวลานี้ประเทศอิสราเอลอยู่ใน ‘ภาวะสงคราม’ อย่างเต็มรูปแบบ และยังได้ระดมทหารกองหนุนเพื่อมาร่วมต่อสู้แล้ว โดยเขาประกาศว่า นี่จะเป็นการแก้แค้นครั้งใหญ่ให้กับคนหนุ่มสาวทุกคนที่เสียชีวิต และจะเปลี่ยนฉนวนกาซาให้เป็น ‘เกาะร้าง’

กลุ่มฮามาสได้ออกมาอ้างเหตุผลว่า การโจมตีครั้งนี้มีขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อความโหดร้ายทั้งหมด ที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญจากอิสราเอลตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการกระทำของกองกำลังอิสราเอลที่บุก ‘มัสยิดอัล-อักซอ’ (Al-Aqsa) ในนครเยรูซาเล็ม อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อนักโทษปาเลสไตน์ในเรือนจำอิสราเอล

การปะทะกันระหว่างฮามาสกับกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตของ 2 ฝั่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ นักรบ และพลเรือนผู้บริสุทธิ์ พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังถือเป็นวิกฤติตัวประกันครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกด้วย

โดยยอดผู้เสียชีวิตทางฝั่งของชาวปาเลสไตน์ ล่าสุดสูงถึง 20,000 คน (ตัวเลขเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 66) นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มทิ้งระเบิดเพื่อตอบโต้การโจมตี ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1% ของประชากรจำนวน 2.2 ล้านคนในพื้นที่ฉนวนกาซา ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4,100 คน หมายความว่า มีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ย 1 คนในทุก 10 นาที (ตัวเลขเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66)

ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตของทางฝั่งอิสราเอล ซึ่งมีทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย จากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อมูลอย่างละเอียดของทางการอิสราเอล ได้ทำการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตแล้ว 1,159 ราย พบว่า เป็นพลเรือน 828 ราย และเด็ก 31 ราย (ตัวเลขเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66) อย่างไรก็ดี ระบบป้องกันภัยทางอากาศ (Iron Dome) ของอิสราเอล สามารถป้องกันความเสียหายร้ายแรง หรือการบาดเจ็บล้มตายเอาไว้ได้

ต่อมา ในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ได้ออกมาเผยว่า อิสราเอลและกลุ่มฮามาส จะหยุดยิงเป็นเวลา 4 วัน และตัวประกันชุดแรก 13 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก จะถูกปล่อยตัวออกมาฉนวนกาซา ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน และได้มามีการขยายเวลาหยุดยิงเพิ่มขึ้นอีก รวมเป็นระยะเวลา 7 วัน เพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกัน โดยมีประเทศกาตาร์ เป็นตัวกลางในการเจรจาข้อตกลง เพื่อช่วยเหลือตัวประกันที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ให้ได้รับอิสระ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายประกาศชัดเจนว่า จะกลับมาสู้รบกันอีกครั้ง หลังข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวสิ้นสุดลง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีฉนวนกาซาอีกครั้งในรอบสัปดาห์ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนข้อตกลงสิ้นสุด จึงถือเป็นการสิ้นสุดข้อตกลงหยุดยิงของทั้ง 2 ฝ่าย และเดินหน้าสู้รบกันต่ออีกครั้ง

การสู้รบกันระหว่าง ‘อิสราเอล-ฮามาส’ รอบล่าสุดนี้ ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี และกลายเป็นการทำสงครามข้ามปี ตามรอย ‘รัสเซีย-ยูเครน’

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top