Monday, 1 July 2024
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 วันสถาปนา ‘คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ คณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของไทย ที่ถือกำเนิดจาก ‘ในหลวง ร.8’

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยสังกัดอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2510 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ถือกำเนิดจากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8

การดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้เริ่มขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเพียงแปดเดือนเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทย ประสบความยากลำบากทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายจากการทิ้งระเบิด คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการสาธารณสุขของประเทศ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก 3 สาขา ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือด้านแพทยศาสตรศึกษา ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยและฝึกอบรมด้านไวรัสและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

แต่งตั้ง 'สุรเกียรติ์ เสถียรไทย' นั่งนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.67) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า...

ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายภิรมย์ กมลรัตนกุล ให้ดำรงตำแหน่ง นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อไปอีกวาระหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 (1) แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 882 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง 'นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย' ดำรงตำแหน่ง นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไปแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567

ประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 วันสถาปนา ‘คณะครุศาสตร์’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งส่งเสริมมาตรฐานการสอน-เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์เป็นครู

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 คณะครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตาม ‘พระราชกฤษฎีกาแยกแผนกวิชาครุศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์’ ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 63 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2500 หน้า 1164 - 1166 ประกอบด้วย 4 มาตรา มาตราที่ 3 ระบุว่า ‘ให้จัดตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง’

โดยเหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกา ระบุท้ายประกาศว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเป็นครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา ได้เข้าศึกษาทางวิชาการและการวิจัยในวิชาครุศาสตร์ และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการสอน และการประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้นจนถึงขั้นปริญญาโท และปริญญาเอกในโอกาสต่อไป โดยมีศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นคณบดีคนแรก

ประกอบกับคณะครุศาสตร์มีโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทดลองฝึกปฏิบัติงานครูและวิจัยงานวิชาการของคณะครุศาสตร์ จึงได้รับการจัดสรรเนื้อที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนพญาไท จำนวน 4 หมอน หรือประมาณ 40 ไร่ (1 หมอน เท่ากับสิบไร่) นับเป็น ‘คณะแรกที่ได้บุกเบิกออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย’ และเมื่อเป็น ‘คณะครุศาสตร์’ ได้แบ่งการสอนออกเป็น 4 แผนกวิชา คือ 1. แผนกวิชาสารัตถศึกษา 2. แผนกวิชาประถมศึกษา 3. แผนกวิชามัธยมศึกษา และ 4. แผนกวิชาวิจัยการศึกษา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top