Friday, 28 June 2024
คนไทย

'เพจดัง' เผย!! สถาบันการศึกษาไทย พาเหรดออกงานในย่างกุ้ง สะท้อนหนุ่มสาวเมียนมา เตรียมลุยตลาดแรงงานระดับสูงในไทย

(27 มี.ค.67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า..

ความต้องการเรียนในสถาบันการศึกษาไทยในระดับที่มหาลัยไทยต้องไปออกงานแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงความต้องการเตรียมตัวเข้าตลาดแรงงานไทยในหมู่คนหนุ่มสาวเมียนมาในระดับสูงสุด

อันนี้น่าสนใจมาก

อย่างที่พูดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเด็กไทยไม่ขยัน ไม่ยกระดับตัวเองให้เข้ากับความต้องการของนายจ้าง 

ต่อไปนายจ้างไทยและนายจ้างบริษัทข้ามชาติที่มีกิจการทั่วภูมิภาคอาเซียน จะมีตัวเลือกเป็นเด็กเวียดนาม เด็กจีน เด็กเมียนมา ชั้นหัวกะทิที่เก่ง ฉลาด สื่อสารได้หลายภาษารวมทั้งภาษาไทย และพร้อมจะกลายเป็นคนไทยเมื่อเวลาผ่านไป

ประเทศไทยจะไม่ขาดคนมีฝีมือ แต่คนเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่เด็กไทยปัจจุบัน

‘มาคาเลียส’ วอนรัฐบาลช่วยภาค ‘การท่องเที่ยว’ ในประเทศ หลังคนไทยเริ่มไม่เที่ยวไทย หวั่น!! เกิดปัญหาระยะยาว

มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว คนไทยแห่เที่ยวต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เหตุจากค่าใช้จ่ายเที่ยวในประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารสายการบิน ประกอบกับ นโยบายฟรีวีซ่า แนะภาครัฐและเอกชนควรหาทางออกโดยเร็ว หากปล่อยไว้กลายเป็นปัญหาด้านการท่องเที่ยวระยะยาว

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS) ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวมอี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า “ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะชะลอตัว เนื่องจากส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายปัจจัย อาทิ อัตราค่าโดยสารสายการบินภายในประเทศมีราคาแพง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยวจะมีราคาสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าตัว อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศไม่ต่างจากการท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น

โดยตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ประเทศที่คนไทยนิยมเดินทางไปมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร ไต้หวัน ลาว เป็นต้น เพราะประเทศเหล่านี้ออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว นโยบายฟรีวีซ่า และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาค่าโดยสายสายการบินต่างประเทศแข่งกันทำโปรโมชั่นพิเศษ บางสายการบินทำตลาดด้วยการเปิดเส้นทางใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งตลาดกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และกรุ๊ปทัวร์

มาคาเลียสมองว่าปัญหา ‘คนไทยไม่เที่ยวไทย’ เริ่มสะท้อนให้เห็นตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ และช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยพบว่าการจองที่พักในประเทศผ่านระบบของมาคาเลียสมียอดจองต่ำกว่า 50% ในทางกลับกันแพคเกจต่างประเทศกลับมียอดจองสูงขึ้นถึง 70% ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นปัญหาระยะยาวหากภาครัฐบาลและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่เร่งมือในการแก้ไข ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีนโยบายเพิ่มเที่ยวบินพิเศษจำนวน 38 เที่ยวบิน ในช่วงระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. และวันที่ 15-16 เม.ย.2567 ทำให้มีตั๋วโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นประมาณ 13,000 ที่นั่ง และสายการบินเตรียมจัดโปรโมชัน เพื่อให้ราคาถูกลง เพิ่มเที่ยวบินในประเทศแต่ราคายังสูงเหมือนเดิม ก็ยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและเป็นเพียงการแก้ไขแค่บางส่วน อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นความสนใจของนักเที่ยวชาวไทยได้มากนัก เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การตัดสินใจในแต่ละครั้ง ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสบการณ์ที่จะได้รับกลับคืนมา

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องดำเนินการแบบ ‘บูรณาการณ์’ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

‘การเดินทาง’ (Transportation) ต้องปรับให้ทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง การเดินทางทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ มีมาตรฐานเดียวกัน คือ สะดวกในการจอง มีความปลอดภัย ตรงเวลา และราคาที่เหมาะสม เพราะต้องไม่ลืมว่า นักท่องเที่ยวไทยปัจจุบันมีหลากหลายไลฟ์สไตล์ บางคนชอบเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ นั่งรถไฟ นั่งเรือ แต่ติดปัญหาทั้งด้านราคา การบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความยากในการเข้าถึงระบบการจองที่สะดวกและรวดเร็ว

‘ที่พัก ร้านอาหาร’ (Accommodation & Restaurant) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญ เพราะเป็นหัวใจหลักในการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการควรรักษามาตรฐานทั้งด้านงานบริการ และราคาต้องเหมาะสม สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้ในแต่ละช่วงของฤดูกาลแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเหมาะสมและสอดรับกับค่าครองชีพของคนไทย ส่วนบทบาทของภาครัฐควรให้การสนับสนุนด้วยนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งควรให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ควรจำกัดเงื่อนไขเฉพาะบางตัวแทนจำหน่าย (Travel Agency) เพราะลูกค้าบางรายไม่ได้จองที่พักกับตัวแทนจำหน่ายขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “เรื่องสุดท้ายคือ ‘ประสบการณ์การท่องเที่ยว’ (Travel Experience) เทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมองหารูปแบบการเที่ยวที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งประสบการณ์การพักผ่อน ประสบการณ์ความสนุกกับกิจกรรม ประสบการณ์การบริการที่เหนือระดับ และอื่น ๆ ดังนั้นการจะดึงนักท่องเที่ยวไทยให้เที่ยวในเมืองไทยได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องสอดแทรกประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ไปในบริการของตนเอง และทำการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการมาใช้บริการซ้ำ ในส่วนของภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยเหลือในด้านของเงินทุนปล่อยกู้สนับสนุน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำไปพัฒนารูปแบบบริการต่อไปได้”

‘หนุ่ม’ กอบกู้หน้าคนไทย!! ตามหา ‘Beer รัก Mayvy’ จนเจอ ลงทุน 700 เยน ลบให้จนเกลี้ยง หลังมือบอนเขียนบนสะพานในญี่ปุ่น

(9 เม.ย. 67) กลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ทันที หลังจากที่ ช่างภาพโพสต์ภาพ การเขียนข้อความบอกรักลงบนสะพานจุดชมวิวซากุระชื่อดังข้อความว่า ‘Beer รัก Mayvy’ ลงกลุ่มคนชอบตะลอนเที่ยวญี่ปุ่น พร้อมระบุว่า “วันนี้ผมไปถ่ายรูปที่ Nakameguro แล้วเจอกับสิ่งนี้ครับ อยากรู้เหมือนกันว่าชาติไหน?” ทำให้คนไทยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวจำนวนมาก

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกเฟซบุ๊ก ‘เพชรทอง กองท้วมหัว’ ได้แชร์โพสต์ของ ‘Poetry of Bitch’ ซึ่งเป็นต้นเรื่องของภาพที่เป็นดรามาดังกล่าว โดยระบุว่า “ผมตามหาจนเจอเเล้วนะครับ กำลังไปซื้อยางลบครับ”

ต่อมาผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ เข้ามาคอมเมนต์ในโพสต์ตัวเองว่า โดยบอกว่า “ผมทำมันสำเร็จเเล้ว กอบกู้ความสุขให้ชาวไทย”

โดยเจ้าตัวได้ลงคลิปในเรียล พร้อมระบุว่า “ผมได้ทำลายความรักของ เบียร์และเมย์รี่ เพื่อคนไทยทั้งประเทศและทั่วโลกได้สบายใจกันถ้วนหน้าแล้วนะครับ”

ซึ่งเป็นคลิป ระบุว่า คู่รักคู่นี้ ได้เขียนแสดงความรักของพวกเขาที่ Naka-Meguro ซึ่งตนเห็นแล้วตนรู้สึกไม่ดี เลยมีความตั้งใจที่จะไปลบข้อความดังกล่าว ก่อนจะถ่ายให้ดูว่าข้อความนี้ยังอยู่ จากนั้นเจ้าตัวก็ได้นำน้ำยาล้างเล็บที่เพิ่งซื้อมาในราคา 400 เยน กับทิชชู่เปียกที่ซื้อมาในราคา 300 เยน ออกมา

ชื่นชม!! ‘จนท.ไทย’ รุดช่วยเหลือ ‘เด็กฝรั่ง’ พลัดหลงกับพ่อขณะเล่นน้ำ ด้านชาวเน็ต บอก!! นี่แหละ Soft Power ที่ยิ่งใหญ่ของไทยอย่างแท้จริง

(17 เม.ย.67) เป็นคลิปไวรัลช่วงสงกรานต์ที่ทำเอาใจฟูไปทั้งโซเชียล หลังหนูน้อยชาวต่างชาติพลัดหลงกับพ่อ และได้เดินร้องไห้มาที่จุดปฐมพยาบาล เหล่าเจ้าหน้าที่ไทยได้รีบช่วยเหลือ จนในที่สุดพ่อของหนูน้อยก็ตามมาเจอ พร้อมกับเอ่ยขอบคุณไม่หยุด และบอกว่า “เขารักเมืองไทยและซาบซึ้งกับน้ำใจของคนไทยมาก!”

โดยคลิปดังกล่าวถูกโพสต์จาก TikTok ช่อง @memustation ที่เป็นสมาชิกอาสาสมัครที่อยู่ในจุดปฐมพยาบาลวชิรพยาบาล (ฐาน 46-00) ร่วมกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยภูมินทร์ ที่ตั้งในงานสงกรานต์ที่สีลม

ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 เม.ย.67 ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ได้มีเด็กสาวต่างชาติเดินร้องไห้และมีอาการหนาวสั่นมาคนเดียว จากการสอบถามทราบว่าหนูน้อยชื่อ ลอร่า อายุ 10 ขวบ เป็นชาวฝรั่งเศส พลัดหลงกับพ่อระหว่างเดินเล่นน้ำ

ทางเจ้าหน้าที่จึงนำมาห่มฟลอยด์มาห่มให้น้องคลายหนาว ก่อนจะช่วยกันประสานงานทางวิทยุทุกช่องทุกข่าย ส่งทุกกลุ่มไลน์ที่จะประสานได้

จนในที่สุดมีชายชาวต่างชาติวิ่งเข้ามาและตะโกนว่า “my daughter” และทั้งคู่ก็โผเข้ากอดกันแน่น และพ่อของเด็กก็รีบยกมือไหว้ขอบคุณ พร้อมบอกว่าเขารักเมืองไทย และขอขอบคุณที่ช่วยให้เขาเจอลูก เขาซึ้งใจในน้ำใจของคนไทย

ซึ่งคลิปนี้ทำเอาผู้ได้ชมใจฟูและยิ้มกว้างไปกับพวกเขาด้วย โดยชาวเน็ตต่างพากันชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ และบอกว่า ”นี่แหละคือ soft power ของคนไทยที่แท้จริง!”

'เพจดัง' ชี้!! ค่าไฟแพงพออยู่แล้ว หลังคนกระหน่ำใช้ 'กลางวัน-กลางคืน' ฉะนั้น!! หากไปยุแยงพม่าแตก ระวังคนไทยอาจเดือดร้อนกว่านี้

(17 เม.ย. 67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

เปิดเทอมหลังสงกรานต์วันแรก มีบิลค่าไฟมาหย่อนตู้ไปรษณีย์แต่เช้า เห็นค่าไฟแล้วจะเป็นลม 

มีรายงานข่าวมาว่าช่วงนี้คนไทยกระหน่ำเปิดแอร์ตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนก็ยังเปิดแอร์แล้วยังมีชาร์จไฟรถเพิ่มขึ้นมา

จึงอยากเตือนนักการเมืองและนักวิชาการที่นำเสนอแนวทางและท่าทีของประเทศไทยต่อเหตุการณ์ในประเทศเมียนมา ว่าอย่าใช้อุดมการณ์นำให้มาก 

ให้เน้นความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยเป็นหลัก 

คนไทยไม่ต้องการมีปัญหาขาดแก๊ซ ไม่ต้องการจ่ายค่าไฟแพง ถ้าขาดแก๊ซเมียนมา มันจะแพงได้กว่านี้อีกเยอะ เพราะ ปตท. ต้องไปไล่ซื้อ LNG จากตลาด Spot มาทดแทนเพิ่มเข้าไปอีก

นี่เขียนจากใจและตัวเลขค่าไฟฟ้าเดือนนี้ล้วน ๆ

ส่วนเรื่องในเมียนมา เป็นเรื่องของมหาอำนาจผลักดันให้เกิด ไม่ใช่เรื่องที่เกิดเองตามธรรมชาติ คนที่รับเงินต่างชาติมา จะผลักดันให้ประเทศไทยรับลูกใคร ให้ไปทำอะไร ให้ไปหนุนหลังใครก็คิดดี ๆ

'อ.ต่อตระกูล' ยก!! 1,200 โดรนแปรขบวนสุดอลังในวันมหาสงกรานต์ ฝีมือคนหนุ่มสาวที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ควรต้องสนับสนุน

(19 เม.ย.67) รองศาสตราจารย์ ต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กระบุว่า..

เรื่องดี ๆ วันศุกร์ 
คนไทยทำได้เอง !
บังคับโดรนพร้อม ๆ กัน 1,200 ลำ 
ให้บินแปรขบวนไปแสดงบนท้องฟ้าเป็นรูปต่าง ๆ ได้ อย่างสวยงาม ในวันมหาสงกรานต์

ใครคือผู้จัดการบินแสดง? ตอนแรกผมเดาผิดว่าน่าจะเป็นบริษัท ARV (AI & Robotics Venture) บริษัทไทยผู้พัฒนาโดรนแปรอักษรรายแรกของอาเซียน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของปตท.สผ  ที่ได้ให้ความสนับสนุนมาหลายปีแล้ว

แต่กลุ่มผู้จัดทำตัวจริง เขาแจ้งผมมาว่ากลุ่มเขาเป็นคนทำ กลุ่มนี้ชื่อ ไทยโดรนโชว์ เป็นแผนกหนึ่งของ บ.อัลติเมท เทคโนโลยี จำกัด

เป็นคนหนุ่มสาว ที่จะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยต่อไป เราต้องสนับสนุนเขากันหน่อย          

ติดต่อเขาได้ที่ Line ชื่อ @thaidroneshow เขารับงานจัดแสดง

'คู่รักชาวเกาหลี' แชร์ประสบการณ์ทำกระเป๋าตังค์หายบนรถเมล์ สุดท้ายได้คืน เพราะพี่ๆ พนักงานบนรถ 'เก็บไว้ให้-พาไปรับคืนถึงที่'

(2 พ.ค. 67) จากเพจ 'BKKWheels' ได้โพสต์ข้อความเล่าเรื่องราวคู่รักเกาหลีที่ได้มาเที่ยวเมืองไทย พร้อมทั้งได้สัมผัสกับน้ำใจของคนไทย ว่า...

บ่อยครั้งที่ผมมักจะเห็น YouTuber ชาวต่างชาติรีวิวประเทศไทย ถึงอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว หรือใด ๆ ต่าง ๆ ก็ตามที่เขาได้พบในประเทศเรา ในตอนสรุปสุดท้ายพวกเขาส่วนใหญ่จะพูดเหมือน ๆ กันว่า แต่สิ่งที่ดีที่สุดในการมาท่องเที่ยวเมืองไทย ก็คือ 'คนไทย'

และคลิปคู่รักชาวเกาหลีจากช่อง Nice Week ก็เช่นกัน ที่แชร์ประสบการณ์ทำกระเป๋าตังค์หายบนรถเมล์แต่ได้คืน ซึ่งในฐานะคนไทยที่ได้ดูคลิปนี้ผมก็รู้สึกทึ่งเหมือนกัน กับสิ่งที่พนักงานรถเมล์สาย 76 ทำให้กับนักท่องเที่ยวทั้งสอง ดูแล้วก็รู้สึกประทับใจและขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกคนจริงๆ ที่มอบประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายนี้ให้กับแขกผู้มาเยือน

>> เรื่องย่อ

นักท่องเที่ยวสองคนได้ทำคอนเทนต์ รีวิวรถเมล์ในกรุงเทพฯ ในรูปแบบต่าง ๆ พวกเขาขึ้นลงรถเมล์อยู่หลายคัน ลองรถร้อน รถเย็น จนนาทีที่ 1:53 ของคลิป พวกเขาพบว่ากระเป๋าตังค์หายไป ซึ่งเขาน่าจะขอความช่วยเหลือ จากพนักงานบนรถเมล์ที่เขานั่งอยู่ คงจะพยายามตามหากันจนนั่งไปจนสุดสาย 

จนกระทั่งน่าจะพบว่ากระเป๋ารถเมล์อีกคันเก็บไว้ให้ คนขับรถเมล์และพนักงานบนรถจึงช่วยขับรถเมล์แบบส่วนตัว พาพวกเขาตามไปรับกระเป๋าตังค์คืนมาได้ ดูแล้วรู้สึกสุดยอดจริง ๆ ในน้ำใจของพนักงานรถเมล์สายนี้ และสายที่เก็บกระเป๋าได้ 

เรื่องผ่านมา 1 เดือนแล้ว แต่ยอดวิวมีเพียง 5 พันกว่าวิวเท่านั้น เลยเอาเรื่องนี้มาแชร์ ในมุมดี ๆ ของรถเมล์ไทยครับ

'เจ้าของอู่ที่พะงัน' ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลบฝน พร้อมให้น้ำดื่ม ด้านฝรั่งถามเท่าไร? เจ้าของบอกให้ฟรี อุตส่าห์ตั้งใจมาเที่ยวตั้งไกล

ไม่นานมานี้ เจ้าของเพจ 'Pim Car Garage' โดยเจ้าของร้านอู่สมโชค เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ได้โพสต์คลิปพร้อมข้อความหลังให้ที่พักหลบฝนแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ระบุว่า...

"ฝรั่งคงคิดว่า 'ของฟรี' ไม่มีในโลก เขามาขอหลบฝน เรายื่นน้ำให้ 3 ขวด พร้อมชวนมานั่งด้านใน เขาก็ถามทันทีว่า "How much" พอบอกไปว่า "Free" ทำหน้าไม่เชื่อ แค่น้ำเอง ... เธอมาเที่ยวบ้านเมืองเรา เธอมาตั้งใจมาตั้งไกล เราในฐานะเจ้าบ้านขอบคุณเธอแค่นี้ (จิ๊บ ๆ มาก)"

เจ้าของอู่ยังบอกอีกว่า ชาวต่างชาติกลุ่มนี้ดื่มน้ำจนหมดขวด แถมเก็บขวดกลับไปทิ้งเอง พร้อมทั้งเผยอีกว่า เวลาใครผ่านร้านก็ให้น้ำดื่มหมด คนไทยก็ให้

ยอมรับเลยว่าทัศนคติของพี่เจ้าของอู่ท่านนี้คงชนะเลิศในใจนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้ไปนานแสนนาน รวมไปถึงคนไทยที่เห็นแล้วก็ยังอดใจฟูตามไม่ได้ และงานนี้เชื่อได้ว่าประเทศไทยคงจะได้รับรีวิวดี ๆ จากชาวโลกเพิ่มมาอีกหนึ่ง

'สภาพัฒน์ฯ' เผยผลสำรวจ คนไทยยื่นแบบภาษีเงินได้เพียง 35.7% อึ้ง!! ภาพรวมความรู้ด้านภาษีต่ำ แถมไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย

(28 พ.ค. 67) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยมุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย ระบุว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยยังมีข้อจำกัดด้านความครอบคลุมและครบถ้วน ซึ่งเกิดจากแรงงานไทยมากกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้การตรวจสอบรายได้มีข้อจำกัดและเป็นช่องโหว่ให้คนบางกลุ่มเลือกไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนทั้งหมดที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบฯ แต่เป็นผลจากสาเหตุอื่น อาทิ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ

สศช. จึงร่วมกับ บริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด ดำเนินการสำรวจและศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษีในกลุ่มประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 35.7% ที่ยื่นแบบฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ และกว่า 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 50.5% ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. เป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ย 12,115 บาทต่อเดือน อีกทั้ง มากกว่าครึ่งมีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

เมื่อพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ภาพรวมคนไทยมีความรู้ในระดับต่ำ โดยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย และกว่า 65.6% ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี อีกทั้ง มากกว่าครึ่งไม่ทราบว่า หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี

ด้านทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา อาทิ ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษี เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเต็มใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่า ประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ

สำหรับปัจจัยที่จูงใจให้คนไทยยื่นแบบฯ พบว่า กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษีคือ การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า

ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องดำเนินการ ดังนี้

1. การสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประชาชน ตั้งแต่วัยเด็ก และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย 

2. การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการนำภาษีไปใช้ของรัฐ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษีโดยการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินนโยบายและการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายที่เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และการสื่อสารสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ

3. การมีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ อาจพิจารณาการยกเว้นหรือลดบทลงโทษต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการจูงใจอื่น 4. การตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่จงใจทำผิดเป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว และ 5. การอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯ ซึ่งหากพัฒนาระบบให้สามารถประมวลผลข้อมูลรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีบุคลากรคอยสนับสนุนและช่วยเหลือในแต่ละกระบวนการ

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความพร้อมและความรู้สึกสบายใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและจะเป็นผลดีในระยะยาว สำหรับการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต จากการมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น

‘ต่างชาติ’ ข้องใจ!! ทำไม ‘คนไทย’ ชอบเล่นโทรศัพท์เสียงดังในที่สาธารณะ ด้านชาวเน็ตช่วยตอบ การกระทำนี้เจอได้ทุกที่ แต่คนไทยมัก ‘เมิน-อดทน’

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.67 ชาวต่างชาติรายหนึ่งได้ตั้งกระทู้เรดดิทสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนไทย หลังจากพบว่าคนไทยชอบเล่นโทรศัพท์ โดยเปิดเสียงดังในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการดูวิดีโอ การดูอินสตาแกรม หรือแอปฯ อื่น ๆ

โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ของเขา สิ่งนี้เกิดขึ้นแทบทุกที่และทุกเวลา ไม่ว่าจะบนรถเมล์ที่มีผู้โดยสารแออัด หรือจะบนรถทัวร์และเรือ ซึ่งเขาไม่เข้าใจอย่างมาก เพราะมองว่าในหลาย ๆ พื้นที่และในหลายวัฒนธรรม การเปิดเสียงดังในที่สาธารณะนั้นไม่เหมาะสม แต่ในไทยมันไม่ใช่

เขาคบแฟนสาวชาวไทยได้ปีครึ่งซึ่งเธอทำแบบนี้เช่นกัน เขาเคยถามเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่เธอเคยอยู่อเมริกามาระยะหนึ่งและเคยเดินทางไปต่างประเทศ เธอน่าจะรู้ว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในวัฒนธรรมอื่น เขาจึงอยากรู้ว่ามีใครเคยเจอสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ และสามารถอธิบายได้หรือไม่ว่า ทำไมในไทยถึงไม่ใช่เรื่องใหญ่และเป็นที่ยอมรับโดยทั่ว

สำหรับคำตอบของชาวเน็ตนั้นมองว่า “ไม่ใช่เรื่องปกติทั้งในไทยและในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก” ซึ่งสิ่งนี้พบเจอได้ทุกที่ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย มันเป็นพฤติกรรมที่หยาบคายและไร้ความเกรงใจ บางครั้งที่เห็นว่าไม่มีใครแย้ง อาจเป็นเพราะพวกเขากำลังอดทนกับมัน

โดยมีชาวเน็ตรายหนึ่งให้ความเห็นว่า คนไทยอดทนเก่งและสามารถทนต่อเสียงรบกวนได้สูง พร้อมยกตัวอย่างครอบครัวของภรรยา ภายในห้องมีคนอยู่หลายคน โดย 3 คนกำลังนอน มี 2 คนนั่งคุยเสียงดัง และอีก 2 คนเล่นโทรศัพท์เสียงดัง นอกจากนี้คนไทยยังมีความสามารถเหนือมนุษย์ สามารถหลับได้ทุกที่และรวดเร็ว เขาจึงคิดว่าความสามารถเหล่านี้มาพร้อมกับความสามารถในการเมินเฉยต่อเสียง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top