25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ‘ในหลวง ร.6’ เสด็จฯ เปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ สถานีที่คนไทยเรียกติดปากว่า 'หัวลำโพง'

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ หรือที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า ‘หัวลำโพง’

หากย้อนกลับไป ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’ ได้เปิดเดินรถครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 จากสถานีกรุงเทพ-กรุงเก่า (ปัจจุบันคือสถานีอยุธยา) โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี ทรงเป็นประธานในการเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ นับเป็นการเริ่มต้นรถไฟของรัฐบาลสยามอย่างเป็นทางการ ทำให้สถานีรถไฟกรุงเทพกลายเป็นสถานีรถไฟสายหลักของประเทศไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ ภายหลังมีการขยายทางรถไฟไปตามมณฑลต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปริมาณรถไฟเพิ่มขึ้นจนสถานีกรุงเทพเริ่มคับแคบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้กรมรถไฟหลวงขยายสถานีรถไฟกรุงเทพให้ใหญ่โต เพื่อรองรับการเดินรถโดยสารและสินค้าที่มีมากขึ้นในปี พ.ศ. 2453

โดยสถานีกรุงเทพใหม่ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามกับโรงเรียนสายปัญญา เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเป็นสัญญาณให้รถไฟขบวนแรกวิ่งเข้าสู่สถานีกรุงเทพ

ส่วนสาเหตุว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงเรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ เป็น ‘สถานีหัวลำโพง’ เป็นเพราะก่อนที่จะมีสถานีกรุงเทพ ยังมีทางรถไฟสายแรกที่วิ่งจากกรุงเทพไปสมุทรปราการ เรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ ซึ่งเป็นทางรถไฟที่ได้สัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก และเดินรถครั้งแรกในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 ก่อนหน้าสถานีกรุงเทพถึง 3 ปี มีสถานีต้นทางอยู่ที่ริมคลองหัวลำโพงตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม สถานีนี้จึงมีชื่อว่า ‘สถานีหัวลำโพง’ ตามชื่อคลองที่ทางรถไฟขนานไป

หลังจากที่สถานีกรุงเทพได้รับการปรับปรุงมาอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ทั้งสองสถานีจึงห่างกันเพียงแค่ข้ามถนน ทำให้คนส่วนใหญ่เรียก ‘สถานีกรุงเทพ’ ว่า ‘สถานีรถไฟหลวงที่หัวลำโพง’ ภายหลังการเดินทางไปปากน้ำสะดวกมากขึ้นทำให้กิจการรถไฟสายปากน้ำได้รับความนิยมลดลง จึงมีการยกเลิกกิจการของรถไฟสายนี้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา เหลือเพียงสถานีกรุงเทพ ที่คนส่วนใหญ่เรียกกันติดปากว่า สถานีหัวลำโพงมาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก TODAY