อีอีซี เดินหน้าสร้างการรับรู้ระดับพื้นที่ต่อเนื่อง เปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ฉะเชิงเทรา ดึงพลังสตรี ร่วมพัฒนาอาชีพ สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้เข้าถึงชุมชน

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ นายประสิทธิ์ อินทโชติ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นายธีระพล สุ่มมาตย์ นายอำเภอบางน้ำเปรี้ยว และนางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ณ ชมรมผู้สูงอายุ ดอกลำดวน มัสยิดดารุ้ลคอยร็อต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้กลุ่มสตรีในพื้นที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญ บอกเล่าถึงประโยชน์และความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี เข้าตรงถึงชุมชน และเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ในพื้นที่ สร้างโอกาสการพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พื้นที่และชุมชน  

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเปิดศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี นำร่อง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งนี้ ถือเป็น ศูนย์ฯ พลังสตรี นำร่องในพื้นที่ อีอีซี ครบทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา อีอีซี ได้เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชาวนาภูมิปัญญาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพื่อดึงพลังของกลุ่มสตรี มาเป็นตัวแทนสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน ร่วมถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี และประโยชน์สำคัญที่จะได้รับ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง กลุ่มเครือข่ายพลังสตรี อีอีซี จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้สินค้าและบริการของชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของนักลงทุน ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่อีอีซี จะส่งเสริมคู่ไปกับการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี นำร่อง ฉะเชิงเทรา แห่งนี้ จะประสานกับอีอีซี ทำกิจกรรมประโยชน์ต่อสาธารณในพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการ ในระดับวิสาหกิจชุมชน ไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพื้นที่ อีอีซี มีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น สร้างโอกาสให้แก่สินค้าชุมชน สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงการท่องเที่ยวของชุมชนให้มีมาตรฐาน รองรับการเข้ามาใช้จ่ายของนักลงทุน และผู้ที่จะมาทำงาน และอยู่อาศัยในพื้นที่ อีอีซี ต่อไป

สำหรับที่ตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน ตั้งอยู่ภายในมัสยิสดารุ้ลคอยร๊อต อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวมุสลิม แต่สามารถอยู่ร่วมกับชาวพุทธได้อย่างกลมกลืน พื้นที่นี้จึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นเครือข่ายศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และสามารถนำความรู้ประสบการณ์กลับมาขยายผลในพื้นที่ทั้งประชาชนและโรงเรียนต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต กิจกรรมตลาดนัดในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้มีผู้มาติดต่อ และเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เยาวชนจากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ยังเป็นเครือข่ายเยาวชน อีอีซี ที่เข้มแข็งมีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้รับรางวัลจากโครงการ อีอีซี สแควร์ ถึง 2 ปี ศูนย์เครือข่ายพลังสตรี อีอีซี ณ ชมรมผู้สูงอายุดอกลำดวน จึงเป็นอีกกลไกสำคัญของ อีอีซี ที่สามารถขยายการรับรู้และสร้างความเข้มแข็งไปยังกลุ่มผู้นำศาสนา ชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ได้อีกด้วย