‘วราวุธ’ วอน!! ปชช. ‘หยุดให้เงินขอทาน’ ชี้!! ยิ่งให้เหมือนยิ่งหนุนให้ลามเป็นอาชีพ

(11 มิ.ย.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดการปัญหาขอทาน ว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ร่วมงานกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือทางกรุงเทพฯ เอง เราออกตรวจตรากันเดือนละ 5 ครั้ง

โดยในแต่ละครั้งนั้น เราจะมีการดำเนินการจับผู้ที่เป็นขอทาน หากพบว่าเป็นชาวต่างชาติก็จะส่งกลับภูมิลำเนา หากพบว่าเป็นคนไทยจะมีการดำเนินการต่างกันไปคือ จะส่งไปที่สถานดูแลบุคคลไร้ที่พึ่งของกระทรวงฯ มีการฝึกอาชีพและสนับสนุนให้หางานทำ หนึ่งในเหตุผลที่ทางกระทรวงเคยได้สอบถามจากขอทานบางคนที่กลับมาขอทานใหม่ คือเงินค่าปรับถูกกว่ารายได้ และมีรายได้สูง

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ต้องถามว่าการที่ขอทานรายได้ดีจนค่าปรับดูคุ้มที่จะกลับมาขอทานใหม่ ต้องสงสัยว่ารายได้ขอทานมาจากไหน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากท่องเที่ยว หรือเราๆ ท่านๆ กันทั่วไป เพราะสังคมไทยของเราเป็นสังคมเอื้ออาทร ขอทานในรูปแบบใหม่ จะมาในรูปแบบของเด็ก หรือใช้สัตว์เลี้ยง และหากพบว่ามีเด็กด้วยนั้น เราจะทำการตรวจสอบว่า ผู้ใหญ่มาด้วยเป็นญาติกันหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็จะมีการดำเนินคดี

นายวราวุธ เปิดเผยว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น เราจับขอทานไปได้ประมาณ 7,000 กว่าคน ซึ่งประมาณ 30% เป็นชาวต่างชาติ แต่การที่เรามีขอทานวนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เป็นจำนวนที่มากขึ้น ต้องขอความร่วมมือประชาชนหยุดการให้ทาน ทุกวันนี้เรามีการลงพื้นที่ขอทานเดือนละ 5 ครั้ง หากจะให้เจ้าหน้าที่ของเราลงตรวจขอทานทุกวัน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเจ้าหน้าที่ พม.ยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ให้ช่วยแจ้งเข้ามาหากพบเห็นขอทาน ทางกระทรวงฯ พร้อมจะรับเรื่อง และออกไปดำเนินการทันที

เมื่อถามถึงรายได้ที่ขอทานได้จากนักท่องเที่ยว มีประมาณเท่าไหร่ นายวราวุธ กล่าวว่า ยังไม่มีการยืนยัน แต่ในช่วงไฮซีซั่น หากเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ ด้วยความไม่รู้ ก็จะมีการให้กันอยู่เรื่อยๆ มีบางคนได้เดือนละเกือบ 100,000 บาท ตนไม่แน่ใจว่า เป็นการทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม การทำเป็นขบวนการแบบนี้ ผู้ที่เป็นตัวการจะต้องโดนดำเนินคดีตามกฎหมาย บางครั้งการที่มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาแล้ววางขอทานจุดนั้นจุดนี้ เมื่อรวมรายได้กันแล้ว ก็ไม่แปลกใจที่จะได้หลักหมื่น แต่ที่ได้เฉียด 100,000 บาทนั้น อาจจะต้องรวมกันหลายๆ คนเข้ามา สมมติว่า เดือนหนึ่งได้มาคนละ 20,000 บาท แล้วโดนปรับครั้งละ 5,000 บาท ในมุมมองของคนทำอาชีพขอทาน ก็ถือว่าคุ้มค่า ดังนั้น การที่เราให้ทาน เป็นการสนับสนุนให้มีการขอทานมากขึ้น

เมื่อถามว่า หากขอทานที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งถูกส่งกลับภูมิลำเนาไปแล้วยังกลับเข้ามาอีก สามารถจัดการอะไรได้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า คงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเราคงไปตรวจตราตะเข็บชายแดนไม่ได้ ต้องสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะทางด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือตามช่องทางธรรมชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร จะให้เราไปอยู่ตามจุดแดน ก็คงไม่ใช่หน้าที่ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเรา


ที่มา: Matichon