Energy Vault ผุดเทคโนโลยีระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแรงโน้มถ่วง เปลี่ยนอาคารสูงและโครงสร้างส่วนบนให้เป็น 'แบตเตอรี่ขนาดใหญ่'

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Energy Vault บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญด้านการจัดเก็บพลังงานยั่งยืนระดับกริด ได้ประกาศความร่วมมือระดับโลกกับ Skidmore, Owings & Merrill (SOM) บริษัทด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมจากชิคาโก สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตร เพื่อเปลี่ยนอาคารสูงและโครงสร้างส่วนบนให้เป็น 'แบตเตอรี่ขนาดใหญ่' โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า 'ระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแรงโน้มถ่วง' (GESS) 

ทั้งนี้ การออกแบบโครงสร้างส่วนบนอาคารนี้ ช่วยให้สามารถบูรณาการ GESS เข้ากับอาคารสูงได้ โดยใช้โครงสร้างกลวงที่มีความสูง 300 - 1,000 เมตร ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้จะมีความสามารถในการจัดเก็บพลังงานตามแรงโน้มถ่วงหลาย GWh เพื่อจ่ายพลังงานให้กับตัวอาคาร รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการพลังงานของอาคารที่อยู่ติดกันด้วย

ในฐานะส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้ SOM จะเป็นสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างแต่เพียงผู้เดียวที่จะพัฒนาโครงสร้างที่ปรับใช้ได้สำหรับระบบจัดเก็บพลังงานด้วยแรงโน้มถ่วง ของ Energy Vault ใหม่ทั้งหมด รวมถึงการผสานรวมเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานด้วยแรงโน้มถ่วงเข้ากับอาคารสูงในเมือง สภาพแวดล้อม และโครงสร้างที่ปรับใช้ได้ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

ความร่วมมือดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก G-VAULT ระบบพลังงานของ Energy Vault ซึ่งเป็นวิธีการกักเก็บพลังงาน มีลักษณะคล้ายกับกระดานหกขนาดยักษ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยการใช้น้ำหนักที่ขึ้นลง และระบบใช้แรงโน้มถ่วง เพื่อกักเก็บพลังงานหมุนเวียน 

SOM และ Energy Vault คาดว่าจะใช้ คอมพิวเตอร์อัจฉริยะและเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ วัสดุที่แข็งแกร่ง และวิศวกรรมสมัยใหม่ เพื่อสร้างระบบที่สามารถยกของหนักเหล่านี้ได้ 

โดยเมื่อมีพลังงานส่วนเกิน (เช่น ในเวลากลางคืน) โครงสร้างส่วนบนเหล่านี้จะใช้ไฟฟ้านั้นเพื่อยกของหนักให้สูงขึ้น เมื่ออาคารสูงเหล่านี้ต้องการไฟฟ้ามากขึ้น เช่น ในช่วงกลางวัน จะปล่อยให้น้ำหนักลดลง และเมื่อมันลดลง ก็จะผลิตพลังงานและจ่ายไฟฟ้าหมุนเวียน

ทุกวันนี้ โครงสร้างส่วนใหญ่ที่เก็บไฟฟ้าส่วนเกินจะใช้ระบบสูบน้ำซึ่งคล้ายกับอ่างเก็บน้ำบนเนิน น้ำไหลลงเนินและสร้างพลังงานเมื่ออาคารต้องการไฟฟ้ามากขึ้น และระบบกักเก็บพลังงานแรงโน้มถ่วง (GESS) ของ Energy Vault ก็ทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่แทนที่จะใช้น้ำ กลับวางแผนที่จะใช้น้ำหนักขนาดยักษ์ 

GESS ต่างจากพลังน้ำสูบ ซึ่งต้องใช้ภูเขาและน้ำ เพราะสามารถสร้างได้เกือบทุกที่ เนื่องจากใช้แรงโน้มถ่วงเพียงอย่างเดียว

SOM และ Energy Vault เชื่อว่านวัตกรรมนี้สามารถไขกุญแจสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการจัดเก็บพลังงานสะอาดจากแหล่งต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ขณะเดียวกันระบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีอายุการใช้งาน 35 ปีขึ้นไป โดยมีการบำรุงรักษาเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ลูกค้าสามารถเลือกขนาดของระบบให้เหมาะสมกับความต้องการทางสถาปัตยกรรมและความต้องการทางเทคนิคได้ 

ส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลในระบบเป็นไปได้เพื่อลดของเสีย และเมื่อติดตั้งแล้ว อาคารสูงเหล่านี้มีศักยภาพในการกักเก็บและจ่ายพลังงานหมุนเวียนให้กับโครงข่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลานานโดยไม่ย่อยสลาย 

ปัจจุบัน Energy Vault กำลังขยายพอร์ตโฟลิโอการใช้งาน GESS โดยเน้นไปที่การขยายการดำเนินงานทั่วโลกในตลาดแอฟริกาและเอเชีย

ทั้งนี้ ผลงานที่ผ่านมา SOM ได้ออกแบบอาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกหลายแห่ง รวมถึง Burj Khalifa, Tianjin CTF Finance Centre, Willis Tower และ One World Trade Center

อย่างไรก็ตาม อาคารสูงที่จะกลายเป็นแบตเตอรี่ขนาดมหึมาเหล่านี้ยังไม่ได้สร้างและยังไม่ได้ระบุสถานที่ที่อาคารเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้น แต่ Energy Vault ได้เริ่มทำงานร่วมกับ SOM ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเพื่อปรับโครงสร้าง สถาปัตยกรรม และเศรษฐศาสตร์ของเทคโนโลยี GESS ให้เหมาะสม