3 ข้อคิดถึงพ่อแม่ ช่วยละลายพฤติกรรมคนเมืองให้หลุดจากหัวเด็ก ลดปัญหา 'วัยรุ่นโปรไฟล์ดี' ก่อเหตุร้ายแรงแบบไม่แคร์สังคม

(7 มิ.ย. 67) จากเฟซบุ๊ก 'Pathom Indraroshom' โดย คุณปฐม อินทโรดม ได้โพสต์เนื้อหาชวนคิดในหัวข้อ 'อะไรทำให้วัยรุ่น 'โปรไฟล์ดี' จากครอบครัวอบอุ่นออกมาก่อเหตุร้ายแรงจนเป็นข่าวมากมาย??' ว่า...

ผมเชื่อว่าเหตุร้ายแบบนี้จะไม่เกิดถ้าพ่อแม่ชนชั้นกลางไม่เลี้ยงลูกเป็น 'เทวดา' เหมือนทุกวันนี้ที่ยิ่งได้เรียนโรงเรียนดี ๆ แล้วเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำแทบจะเห็นโลกแค่มิติเดียว ซึ่งเป็นมิติที่พ่อแม่อยากให้เห็น คือ ได้อยู่ในสังคมที่ดี เพื่อน ๆ ฐานะร่ำรวย ใช้ชีวิตหรูหราสบาย ๆ เพราะคิดว่าเด็กจะได้ดีถ้าไม่ต้องสัมผัสกับมิติอื่นที่อาจเจอสิ่งเลวร้ายอย่างยาเสพติด เซ็กซ์ การทะเลาะวิวาท ฯลฯ เหมือนลูกคนจนที่ตัวเองรังเกียจ

ผลที่ได้คือ ลูกรู้จักแค่โลกกลวง ๆ มิติเดียว และคิดว่านั่นคือโลกทั้งใบ เมื่อเจอกับความผิดหวังก็รับไม่ได้ เพราะคิดว่าโลกนี้มีแค่นั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่!

ลองเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ผมเองขอสนับสนุนให้...

1. ทำงานหาเงินด้วยตัวเองในช่วงปิดเทอม อันนี้ทำได้ตั้งแต่ยังเรียนมัธยม เลิกคิดได้แล้วว่าลูกฉันเป็นคนชั้นสูงจะต้องไม่ทำงานใช้แรงงาน เพราะยิ่งคิดแบบนี้ก็ยิ่งส่งเสริมให้เขาอยู่ในโลกแคบ ๆ การทำงานจะล้างจานหรือเป็นเด็กเสิร์ฟจะทำให้เขารู้จักค่าของเงินและทำให้เขาได้สัมผัสคลุกคลีกับเพื่อนร่วมงานที่มาจากครอบครัวที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้เขามองโลกได้หลายมิติมากขึ้น

พ่อแม่ต้องไม่อายที่บอกว่า 'ลูกฉันเป็นเด็กเสิร์ฟ' แต่ต้องพูดให้ลูกภูมิใจว่าลูกฉันรู้จักรับผิดชอบและเปิดโลกหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง

อย่า! ส่งเสริมให้ลูกทำงานฉาบฉวยที่ไม่ได้สร้างความรู้ใด ๆ แต่ได้เงินง่าย ๆ เพราะเก็งกำไร เช่นเอาเงินเก็บไปลงทุนคริปโตตามกระแส หรือการขายของออนไลน์ที่แค่หาของถูกมาขายแพง ๆ โดยไม่ได้พัฒนาความรู้ใด ๆ เพราะทำแบบนี้อาจได้เงินง่ายแต่ไม่ยั่งยืนและเขาจะเมินงานทั่วไปที่สร้างความมั่นคงระยะยาวแต่เขาจะดูถูกว่าได้เงินน้อย

2. หาที่ฝึกงาน จะบริษัทเล็กใหญ่ไม่ต้องเลือกมาก ยิ่งได้ทำงานที่ตรงกับสาขาที่เรียนก็ยิ่งดี และต้องไม่เกี่ยงแม้เขาจะใช้เราแค่ไปชงกาแฟก็ตาม การฝึกงานเป็นการได้คลุกคลีกับคนที่ทำงานในสายเดียวกัน ได้รู้จักทำงานเป็นทีม

ไม่ต้องรอให้ถึงชั้นปี 3 ค่อยไปฝึกงานตามระเบียบมหาวิทยาลัย แต่ไปได้เร็วเท่าไรยิ่งดี เดี๋ยวนี้เด็กปี 1 ก็เริ่มมาฝึกงานกันแล้ว

3. ไปออกค่ายอาสาสมัคร ไปเป็นครูอาสา ใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสัก 1-2 เดือนช่วงปิดเทอม ได้สัมผัสกับวิถีชาวบ้าน ได้เห็นว่าเพื่อนวัยเดียวกันเขาไม่ได้แค่เรียนหนังสือ แต่เขาทำงานเก็บเงินสร้างบ้าน บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัวเพราะพ่อตายตั้งแต่ยังเด็ก เขาจะหันมานับถือคนเหล่านี้ ว่าเป็น 'คนจริง' ไม่ใช่นับถือลูกคนรวยขับซูเปอร์คาร์ที่ได้มาจากธุรกิจสีเทา 

ทั้งหมดคือ การละลายพฤติกรรมคนเมือง ซึ่งพ่อแม่ชนชั้นกลางพยายามทำสิ่งที่ตรงกันข้ามมาโดยตลอด ผมเชื่อว่าผลจากการประคบประหงมลูกเกินความจำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กยุคนี้มีปัญหาครับ