'อลงกรณ์' ชี้ ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะอับจนทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไร้แผนรับมือ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์อดีตรัฐมนตรีและส.ส.6สมัยโพสต์ในเฟสบุ๊ควันนี้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศโดยชี้ว่า “ประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะอับจนทางเศรษฐกิจเพราะรัฐบาลไม่มีแผนรับมือที่ชัดเจนไม่มีแผนแม่บทในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจรวมทั้งแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ทั้งที่รัฐบาลทำงานมาเกือบปี ล่าสุดเพิ่งเรียกประชุม“ครม.เศรษฐกิจ”

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมาแต่ก็ไม่มีแผนหรือมาตรการใดๆออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แม้จะมีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังทรุดหนักมาหลายเดือนแล้วเช่นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้เติบโตเพียง 1.5 %ต่ำที่สุดในอาเซียนและต่ำกว่าปี2566ที่ขยายตัว 1.9 %

ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)น้อยกว่าอินโดนีเซีย7เท่า มาเลเซีย6เท่าและเวียดนามกว่า2เท่าโดยปี 2566 เอฟดีไอ.ไหลเข้าอินโดนีเซีย 21,701 ล้านดอลลาร์, มาเลเซีย 18,500 ล้านดอลลาร์, เวียดนาม 8,255 ล้านดอลลาร์ และไทย 2,969 ล้านดอลลาร์ 

เมื่อไม่มีการลงทุนใหม่ๆก็ไม่มีการจ้างงานเพียงพอต่อลูกหลานที่จบออกมาในแต่ละปี ส่วนมูลค่าการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สร้างรายได้หลักของประเทศก็โดนเวียดนามและมาเลเซียแซงหน้าไปแล้วโดยการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 94,274 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่เวียดนามมีมูลค่า 123,928 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซียมีมูลค่า 100,836 ล้านดอลลาร์สะท้อนถึงภาวะถดถอยของขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย

นอกจากนี้เรายังมีปัญหาโคลนติดล้อ นั่นคือ“หนี้สาธารณะ” ณ 31 มี.ค. 2567 มีจํานวน
11,474,153 ล้านบาท คิดเป็น 63.67% ของ GDP โดยเป็นหนี้ของรัฐบาลกว่า 10,087,188 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลยังมีแผนก่อหนี้เพิ่มขึ้นกว่าล้านล้านบาทในปีงบประมาณ2567-2568แต่ไม่มีแผนสร้างรายได้ที่จับต้องได้

“ประเทศต้องการการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมๆกันโดยมีแผนและกลไกที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียวไม่ได้ 

ผมเคยเสนอนายกรัฐมนตรีให้หยุดหรือลดการเดินสายทั้งในและต่างประเทศลงบ้างแล้วหันมาจัดทำแผนแม่บทในการกอบกู้และปฏิรูปเศรษฐกิจโดยเร่งด่วนให้แล้วเสร็จแต่ก็ไม่ฟังกันจนเศรษฐกิจเริ่มชะงักงัน ถ้ารัฐบาลยังทำงานแบบที่ผ่านมา คนที่เดือดร้อนลำบากที่สุดคือประชาชนและประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการแข่งขันระดับโลกไม่สามารถก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ติดหล่มมากว่า20ปี“