‘ชัชชาติ’ สั่งสอบปม ‘ซื้อเครื่องออกกำลังกาย’ แพงเกินเหตุ ลั่น!! ผิดเป็นผิด หากพบทุจริตพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย

(6 มิ.ย.67) จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย เปิดเผยถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ กทม. โดยพบเห็นความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อแพงจริง โดยเป็นการจัดซื้อของ ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท แบ่งเป็นที่ศูนย์วารีภิรมย์ 4,999,990 บาท และ ศูนย์วชิรเบญจทัศ วงเงิน 4,998,800 บาทนั้น

ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. และนายต่อภัสร์ ยมนาค ผู้พัฒนาระบบ actai.co แถลงกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในศูนย์กีฬาฯ

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ทราบเรื่องการถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดซื้อที่มีความผิดปกติจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว จากการสุ่มตรวจของ สตง. ซึ่งยอมรับว่าจากข้อมูลบางส่วนพบการจัดซื้อมีราคาสูงกว่าท้องตลาด แต่ขั้นตอนทางฝ่ายสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม.ชี้แจงว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 มีการทำ TOR ผ่านขบวนการ e-bidding เรียบร้อยแล้ว

การจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ให้อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการอนุมัติวงเงินแตกต่างกันไปตามลำดับตำแหน่ง ผู้บริหารกทม.ไม่สามารถเข้าไปสั่งการนอกเหนือ พ.ร.บ.กำหนดไว้ได้ และยืนยันฝ่ายบริหาร กทม.ไม่เคยสั่งการให้ทุจริต

ทั้งนี้ กรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการป้องกันการทุจริต ตรวจสอบและรายงานข้อมูล ให้ สตง.รับทราบแล้ว ถ้าตรวจสอบพบคนที่กระทำความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เราเอาจริงเอาจัง ไม่ยอมรับต่อการทำผิด ข้อมูลที่ออกมาเชื่อว่าประชาชนรับไม่ได้ หากราคาเกินไป อธิบายไม่ได้ คงต้องมีคนรับผิดชอบ

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า โครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายดังกล่าว คณะกรรมการได้ตรวจรับมาแล้ว จึงไม่อยากให้โทษผู้ว่าฯ คนเก่า ไม่เกี่ยวกับโครงการเก่า เป็นโครงการในสมัยนี้ มีบางโครงการที่ถูกตัด จึงต้องใส่โครงการใหม่เพิ่มตามงบประมาณ การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมีมานานแล้ว หลายผู้ว่าฯ ราคาอาจจะอ้างอิงมาจากสมัยก่อน แต่การซื้ออยู่ในงบประมาณที่เราอนุมัติ ดังนั้น จึงไปโทษคนอื่นไม่ได้

ส่วนราคาเครื่องออกกำลังกายแพงหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ อาจเป็นการชี้นำ หากเกิดข้อสงสัย ต้องมีการตรวจสอบและชี้แจง และจะขยายการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ในระดับโครงสร้างเพื่อให้โครงการอื่นมีความโปร่งใส เนื่องจากปัญหาทุจริตมีมานานและฝังรากลึก

“ผมไม่กลัว เพราะไม่เคยสั่งให้ทำอะไรผิด ไม่เคยบอกให้ทำอะไรไม่ดี เรายินดีให้ตรวจสอบ ผมยืนแก้ผ้าให้ดูได้เลย เพราะไม่เคยกลัว ผิดก็ต้องผิด เพราะไม่เคยสั่งให้ทำผิด เราไม่กลัวที่จะไปสอบทุกคน ฝ่ายบริหารยืนยันว่าไม่เคยไปสั่งให้ทำไม่ดี เราเน้นความโปร่งใส” นายชัชชาติ กล่าว

ด้านนายศานนท์ กล่าวว่า เรื่องการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในศูนย์กีฬาฯ มีการจัดซื้อจัดจ้างมาตั้งแต่เดือน มี.ค.65 ก่อนที่ผู้บริหาร กทม.ชุดนี้จะเข้ามา ราคาประมาณ 600,000 บาท ตลอดจนปี 66 และ 67 มีการจัดซื้อ และมาเกิดเรื่องตามข่าวในปี 67

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวและโครงการอื่น ๆ มีรายละเอียดจำนวนมาก จำเป็นต้องช่วยกันตรวจสอบหลายฝ่าย โดยในปี 2568 กทม.มีแผนจัดทำร่างโครงการ Open Bangkok โดยร่วมกับ https://actai.co เพื่อสามารถตรวจสอบได้ทั่วถึง ให้ทุกโครงการ ตรวจสอบได้ เช่น หากพบการเสนอราคาต่ำเกินกว่า 40% ประชาชนสามารถร้องเรียนเพื่อตรวจสอบได้

ขณะที่นายต่อภัสร์ กล่าวว่า เว็บไซต์ actai.co เป็นการเชื่อมข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง เพื่อเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ ทั้งหมดโดยละเอียด เช่น สัญญา งบประมาณ ประวัติผู้เสนอราคา สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 5 ปี เมื่อประชาชนเข้าไปค้นหาและรับทราบข้อมูลแล้วพบว่ามีความเสี่ยง สามารถนำข้อมูลไปร้องเรียนเพื่อการตรวจสอบต่อไปได้ โดยเว็บไซต์ดังกล่าว เป็นเพียงการนำเสนอ เปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนเท่านั้น ในอนาคตอาจมีการเชื่อมโยงข้อมูลทรัพย์สินนักการเมืองเพิ่มเติม

นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน สตง. สุ่มตรวจโครงการของ กทม. ซึ่ง กทม.ให้ข้อมูลทั้งหมด 9 โครงการที่มีการตรวจสอบซึ่งอยู่ในส่วนของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ซึ่ง กทม.พร้อมให้ความร่วมมือ ส่วนผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง โดยการป้องปรามการกระทำทุจริตได้เน้นย้ำตามนโยบายของผู้ว่าฯ มาตลอด


ที่มา : Khaosod