'ปิยบุตร' รับ!! อยากเห็น 'ก้าวไกล' ทำตัวเป็นแบบอย่าง เลิกไปดูงาน ตปท. ชี้!! เปลืองงบแผ่นดิน ควรค้นคว้าหรือหาผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายแทนดีกว่า

(30 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลาที่เปิดให้ ส.ส.ลงพื้นที่พบปะประชาชน และคณะกรรมาธิการสามัญ และวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ยังมีการประชุมปกติ จากการตรวจสอบพบว่า เดือน พ.ค.-มิ.ย.2567 มี กมธ.หลายคณะมีกำหนดการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ อาทิ

กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร
กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน 
กมธ.การอุตสาหกรรม 
กมธ.มั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
กมธ.การสวัสดิการการสังคม 
กมธ.การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 

ล่าสุด นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เผยกรณีดังกล่าวผ่าน X ระบุว่า “เปลืองงบประมาณแผ่นดิน เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการสื่อสารกว้างไกล ค้นคว้าเองก็ได้ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบรรยายก็ได้ ควรยกเลิกการดูงานต่างประเทศเสีย

หากยังไม่ยกเลิก ต้องควบคุมเคร่งครัด ตัดลดงบ ห้ามไปซ้ำซ้อน เวียนประเทศในยุโรปอยู่ไม่กี่ประเทศ ประเภทปีที่แล้วคณะนี้ไป ปีนี้อีกคณะหนึ่งไป หรือเลือกประเทศที่ ส.ส. อยากไปเที่ยวมากกว่า คิดเรื่องภารกิจ และเมื่อไปแล้ว ต้องทำรายงานการค้นคว้าด้วย

อยากเห็น ส.ส.ก้าวไกล ทำเป็นตัวอย่างครับ ถ้า ส.ส.ก้าวไกล ทั้งพรรค ประกาศไม่ไปดูงานต่างประเทศ และรณรงค์ให้ยกเลิกงบส่วนนี้ จะดียิ่ง และยังช่วยกดดันไปยัง ส.ส.พรรคอื่นด้วย”

ซึ่งก่อนหน้านี้ 1 สัปดาห์ นายปิยบุตรเคยพูดถึงประเด็นนี้มาแล้ว 1 รอบ ระบุว่า “เดือน พ.ค. มิ.ย. สภาปิดสมัยประชุม และเป็นเทศกาล “ดูงานต่างประเทศ” ของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส่วน ส.ว.ชุดนี้ ที่หมดวาระแล้ว ก็เพิ่ง “ทิ้งทวน” ไปดูงานต่างประเทศเมื่อไม่กี่เดือนก่อน)

สภาผู้แทนราษฎรมีคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ แต่ละคณะมีงบประมาณไป “ดูงานต่างประเทศ”

หากไปกันครบทุกคณะ (ซึ่งก็คงครบทุกคณะ เพราะ ประธานคณะใด ไม่จัดไป ก็อาจถูก กมธ.ในคณะไม่พอใจได้) ก็เป็นไปได้ว่า ส.ส.ทั้งสภา จะไปดูงานต่างประเทศกันทั้งหมด

การดูงานต่างประเทศ เป็นเรื่องดี มีประโยชน์ แต่ในโลกปัจจุบัน ที่การสื่อสารและเทคโนโลยีก้าวหน้า การค้นคว้าหาข้อมูลย่อมทำได้กว้างขวาง ลึกซึ้ง และสะดวก บางกรณี สามารถค้นคว้าเอง หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศให้เปลืองงบประมาณก็ได้

เช่นกัน การดูงานต่างประเทศ ทำกันมาหลายปี ทุกยุคสมัย ประเด็น และประเทศที่ไปดูงาน ก็ซ้ำกันไปมา หากประหยัดและรอบคอบ บางทีก็อาจไม่จำเป็นต้องไปดูงานซ้ำซ้อนก็ได้

หากสังเกตดู เราจะพบประเทศที่ ส.ส.ไปดูงาน จะวนเวียนอยู่ที่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น ระยะหลัง ก็เพิ่มประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียมาด้วย

ผมเห็นว่า หากเราเปรียบเทียบกับการเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว การเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี จำเป็นมากกว่า เพราะ นั่นไปในฐานะหัวหน้าของฝ่ายบริหาร เป็นตัวแทนประเทศไปเจรจาการเมือง เศรษฐกิจ และการค้า

ในส่วนของการดูงานต่างประเทศของ ส.ส. หากไม่ยกเลิก ก็ควรลดลง ทั้งกรอบงบประมาณ และจำนวนครั้ง ต้องตีกรอบให้เคร่งครัด มิใช่ซ้ำซ้อนไปมา ปีที่แล้วคณะหนึ่งไปมา ปีนี้อีกคณะไป และไม่ควรเลือกประเทศที่ ส.ส.อยากไปมากกว่าดูจากภารกิจเป็นตัวตั้ง

เมื่อกลับมาแล้ว ส.ส.ก็ต้องรายงานผล ประโยชน์ที่ได้รับ การศึกษาค้นคว้าต่างๆ ด้วย ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต่างก็มีงบไปดูงานต่างประเทศ แต่ละปี ประเทศไทยเสียเงินไปมากมาย ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต่างก็ไม่กล้าวิจารณ์กันเองในเรื่องนี้ เพราะ ทุกคนคงอยากไป เรื่องอะไรจะทุบหม้อข้าวตนเอง

ถึงเวลาที่ควรทบทวนเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ต้องไม่ทำให้ “การดูงานต่างประเทศ” กลายเป็นเรื่องคุ้นชิน จนเป็น “สิทธิพิเศษ” ของบรรดา ส.ส. ส.ว.ที่แต่ละปี จะได้ไปเที่ยวฟรี พักฟรี”


ที่มา: matichon