อย่ากลัว!! 'กฎหมายอาญา' หากไม่ได้ทำความผิด แต่เมื่อทำผิด!! ไม่ว่าจะมาตราไหนย่อมต้องติดคุก

หลายคดี 112 ถูกตีฟันเข้ามาพร้อม ๆ กันในวันที่ 27 พ.ค. 67 โดยศาลได้ตัดสินจำคุก 2 ผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่...

(1) น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล กรณีการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อ 11 กันยายน 2564 เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง แต่กลับปราศรัยเกี่ยวข้องพาดพิงกับการออก พ.ร.บ.ระเบียบราชการในพระองค์ 2560 และ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2561 จนเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอาญาตามมาตรา 112  

เช่นเดียวกับ (2) นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์หรือ แอมมี่ เดอะ บอตทอม บลูส์ ศิลปิน-แกนนำม็อบป่วนเมือง และนายธนพัฒน์ หรือปูน กาเพ็ง ซึ่งเป็นจำเลย 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 'มาตรา 217' ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 

(3) เมื่อคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้ง 2 ได้ร่วมกันวางเพลิง โดยใช้น้ำมันก๊าดราดใส่ และจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งประดิษฐานติดตั้งบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมจนได้รับความเสียหาย

เช่นเดียวกับบรรดาตัวตึงเหล่านี้ ได้แก่ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ 25 คดี, อานนท์ นำภา 14 คดี, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี, ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี, ‘แพรว’ เบนจา อะปัญ 8 คดี, ‘ไบร์ท’ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 8 คดี, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี, พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี, ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี และ ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี 

แน่นอนว่าชีวิตของคนเหล่านี้จะต้องวนเวียนขึ้นศาลและเข้าคุก หรือไม่ก็ต้องหลบหนีการดำเนินคดีออกนอกประเทศไปอีกนาน

นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 - 10 พฤษภาคม 2567 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ไปทั้งสิ้น 303 คดี มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 272 คน 

หากย้อนไปก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว คดีความผิดตามมาตรา 112 เกิดขึ้นในแต่ละปีน้อยรายมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการนำเอาสถาบันฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยที่ผู้มีอำนาจรัฐหรือรัฐบาลในเวลาต่อมาไม่ได้พยายามตั้งใจที่จะป้องปรามหรือป้องกันแก้ไขเรื่องราวที่ไม่ถูกต้อง แต่มีผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อชาติบ้านเมืองนำมากล่าวเท็จ ใส่ร้าย ยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความเข้าใจผิดในสถาบันฯ อยู่เรื่อยมา

ในเวลาต่อมา มีกลุ่มบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นคนรุ่นใหม่แต่มีพฤติกรรมและพฤติการณ์ที่เป็นพวกปฏิกษัตริย์นิยม (Anti-Royalism) เข้ามามีบทบาทในสังคมและการเมือง คนพวกนี้ต่างยุยงให้ท้าย แต่ไม่ออกหน้า ทำตัวเป็นอีแอบหลังเด็ก ๆ และเยาวชนที่พวกตนหลอกล่อและล้างสมองให้เกิดความงมงายเพื่อต่อต้านสถาบันฯ อย่างไร้เหตุผล จากการชุมนุมโดยอ้างสิทธิเสรีภาพอย่างปราศจากขอบเขต ปราศรัยบนเวที และส่งต่อแนวคิดผ่านโซเชียลมีเดีย 

ซ้ำร้ายยัง 'ชักชวน-บีบบังคับ' ให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยได้บิดเบือนอ้างว่า กฎหมายนี้ทั่วโลกไม่มีใครนำมาใช้ และไม่เป็นธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั่วโลกยังใช้กฎหมายมาตรานี้อยู่ ซ้ำยังบังคับใช้อย่างจริงจังและรุนแรงอีกด้วย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเพียงกฎหมายป้องกันการหมิ่นประมาทหนึ่งในกฎหมายหมิ่นประมาท 3 จำพวกเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทของนานาประเทศได้แก่...

1) หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (ม.326 ประมวลกฎหมายอาญาของไทย)

2) หมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ม.136ประมวลกฎหมายอาญา และหากหมิ่นประมาทศาลก็จะมีความเฉพาะเจาะจงลงไปอีก)

3) หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ (ม.112 ประมวลกฎหมายอาญาของไทย) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

ตัวอย่างของกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 112 ในประเทศต่าง ๆ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาทิ...

- สเปน มาตรา 490 และ 491 ของประมวลกฎหมายอาญาควบคุมการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บุคคลใดที่หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น กษัตริย์ ราชินี บรรพบุรุษหรือทายาทมีโทษจำคุกได้สองปี 

- บรูไน การหมิ่นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนถือเป็นอาชญากรรม มีโทษจำคุกสามปี

- กัมพูชา กุมภาพันธ์ 2018 รัฐสภากัมพูชาได้ลงมติให้การกระทำอันเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ใด ๆ ที่มีโทษจำคุกสูงสุดหนึ่งถึงห้าปี และปรับ 2 ถึง 10 ล้านเรียล 

- มาเลเซีย มีกฎหมายที่เจ้าหน้าที่สามารถตั้งข้อหาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันฯ ได้

- โมร็อกโก มีผู้ถูกดำเนินคดีจากข้อความที่ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยบทลงโทษขั้นต่ำสำหรับความผิดดังกล่าวคือ จำคุกหนึ่งปีหากคำแถลงดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นการส่วนตัว (เช่นไม่ออกอากาศ) และจำคุกสามปีหากเผยแพร่ในที่สาธารณะ ในทั้งสองกรณีสูงสุดคือ 5 ปี 

- ซาอุดีอาระเบีย การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ จะถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่มีผลบังคับใช้ในปี 2014 การกระทำที่ ‘คุกคามเอกภาพของซาอุดีอาระเบีย รบกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของรัฐหรือกษัตริย์’ ถือเป็นการกระทำที่เป็นการก่อการร้าย ความผิดดังกล่าวอาจได้รับการลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรง รวมถึงการเฆี่ยนในที่สาธารณะ การจำคุกที่ยาวนาน และแม้กระทั่งการประหารชีวิต อาจมีการพิจารณาโทษเป็นรายกรณี เนื่องจากระบบกฎหมายของซาอุดีอาระเบียมีลักษณะตามอำเภอใจ (น่าแปลกที่บรรดานักเคลื่อนไหวและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ต่างก็ไม่เข้าไปยุ่งเลย)

ตัวอย่างของกฎหมายลักษณะเดียวกับมาตรา 112 ในประเทศต่าง ๆ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่น...

- เยอรมนี การดูหมิ่นประธานาธิบดีผิดกฎหมาย แต่การฟ้องร้องต้องได้รับอนุญาตจากประธานาธิบดี

- ไอซ์แลนด์ การดูหมิ่น ประธานาธิบดี ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้แทน หรือธงชาติ อาจถูกลงโทษโดยจำคุกไม่เกินสองปี สำหรับการละเมิดที่ร้ายแรงมากโทษสูงสุดสามารถขยายได้ถึงหกปี

- โปแลนด์ การดูหมิ่นประมุขต่างประเทศในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 

- รัสเซีย มีนาคม 2019 สภานิติบัญญัติของรัสเซียได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยข่าวปลอมหรือดูหมิ่นประธานาธิบดีรัสเซีย นายกรัฐมนตรี และประมุขต่างประเทศจากนั้นต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 วัน และปรับไม่เกิน 30,000 รูเบิล

- สวิตเซอร์แลนด์ ดูหมิ่นประมุขต่างประเทศต่อหน้าสาธารณชนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บุคคลใดที่ดูหมิ่นอย่างเปิดเผยต่อบุคคลที่เป็นประมุขของรัฐ สมาชิกของรัฐบาล ผู้แทนทางการทูต ผู้แทนอย่างเป็นทางการในการประชุมทางการทูตที่จัดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์หรือผู้แทนอย่างเป็นทางการคนใดคนหนึ่งขององค์กรระหว่างประเทศ หรือแผนกที่ประจำอยู่หรือนั่งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือต้องโทษปรับ

- สหรัฐอเมริกา Craig Robertson ชายผู้ที่โพสต์ข้อความข่มขู่ต่อประธานาธิบดี Joe Biden ทางออนไลน์ ถูก FBI บุกเข้าจับกุมและยิงจนเสียชีวิตภายในบ้านพักของเขาเอง

ข้อมูลต่างประเทศเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้ที่ปลุกปั่นและผู้ที่ถูกหลอกให้เคลื่อนไหวให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้แตกฉานในข้อเท็จจริงและเจตนาของกฎหมาย แต่กล่าวอ้างด้วยความจงใจที่จะให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในสังคม และในทางกลับกันหากมีใครไปด่าว่าบุพการีของคนเหล่านั้นแล้ว คนเหล่านั้นเองยินยอมที่จะไม่แจ้งความดำเนินคดีจับผู้ที่ด่าว่าบุพการีของพวกตนตามประมวลกฎหมายมาตรา 326 หรือไม่? 

แต่ที่แน่ ๆ ก็คือหนึ่งในแกนนำของพวกปฏิกษัตริย์นิยมเอง กลับนำมาตรา 326 ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบรรดาผู้ที่โพสต์พาดพิงตัวเองในโซเชียลมีเดียมากมายหลายคดี 

ฉะนั้นแล้วกฎหมายอาญาทุกมาตรา หากไม่ได้ทำความผิดก็ย่อมที่จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย และเมื่อไม่ได้ทำความผิดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกลัวการถูกดำเนินคดี แต่เมื่อทำผิดกฎหมายในคดีอาญาแล้ว...ไม่ว่ามาตราไหนก็ตาม ย่อมต้องถูกลงโทษ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เหมือนกันกับทุกประเทศบนโลกใบนี้


เรื่อง: บทบรรณาธิการ THE STATES TIMES